ขนมปัง-ปลาร้า ของกินพระราชทานสมัยกรุงศรีอยุธยา ทูตฝรั่งรีวิวไว้ว่าอย่างไร?

ของกินพระราชทาน
บรรยากาศตลาดสมัยกรุงศรีอยุธยา ในงานจิตรกรรมไทย ที่วัดเชิงท่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขนมปัง, ปลาร้า และอาหารแห้ง คือ “ของกินพระราชทาน” ที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจัดหาให้แก่ชาวต่างสำหรับเป็นเสบียงระหว่างเดินทาง

แล้วฝรั่งที่ได้รับ “ของกินพระราชทาน” เหล่านี้มีความคิดเห็นเช่นไร อร่อยถูกใจหรือไม่ ต้องไปอ่านบันทึกทูตใหญ่ เก๋าประสบการณ์อย่าง ลา ลูแบร์ จะ “รีวิว” ไว้อย่างไร

Advertisement

ขนมปังของกินพระราชทาน

เริ่มจาก ขนมปัง ของกินที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส ชาวยุโรปชาติแรกที่เดินมาสยาม โดยคำว่า “ปัง” ที่ในภาษาไทยใช้เรียกอาหารชนิดนี้มีที่มาจากคำว่า “เปา” (po) ในภาษาโปรตุเกสด้วย

บทรีวิวของ ลา ลูแบร์ เริ่มด้วยการกล่าวถึงข้าวสวยกับขนมปังว่า “ลูกเรือกำปั่นของเรา แสดงความรู้สึกเสียดาย หลังจากที่ได้บริโภคข้าวสุกมากว่า 3 เดือนแล้ว เรากลับต้องไปให้ (บริโภค) ขนมปังแห้งอีก (ตามเคย)”

ฟังดูเหมือนเขาจะปลื้มกับรสชาติของ “ข้าวสวย” เมืองไทยไม่น้อย ส่วนรสชาติของขนมปัง เมด อิน ไทยแลนด์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ (สมัยที่ ลา ลูแบร์ เข้ามา) เขาบันทึกว่า

“อนึ่ง ขนมปังสดที่พระเจ้ากรุงสยามโปรดพระราชทานแก่พวกเรานั้นผากเกินไป กระทั่งว่าข้าวสวยที่หุงด้วยน้ำบริสุทธิ์นั้นมาตร ว่าจะจืดชืดสักเพียงไร ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าน่าบริโภคมากกว่าตั้งเป็นกอง…แม้กระนั้นก็ยังมีชาวยุโรปยืนยันแก่ข้าพเจ้าว่า ขนมปังสดข้าวสาลีของประเทศสยามนั้นดีและที่พวกเรารู้สึกว่าผากไปบ้างนั้น อาจเป็นเพราะเขาได้ปนแป้งข้าวเจ้าเข้าไปด้วยกับแป้งข้าวสาลีเพื่อการประหยัด หรือเกรงว่าขนมปังสด (ที่ทำด้วยแป้งสาลีล้วนๆ) จะขาดมือก็ได้”

ปลาร้า

สำหรับ ปลาร้า อาหารหมักเค็มกลิ่นแรง ชาวอุษาคเนย์ กรุงศรีอยุธยา นิยมมอบเป็นของฝาก ของกินระหว่างเดินทาง ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่เดินมาเชื่อมสัมพันธไมตรี แน่นอนว่า ลา ลูแบร์ ก็ได้รับปลาร้าเช่นกัน

เขาบันทึกประสบการณ์ที่มีร่วมกับปลาร้าไว้ว่า

“เมื่อได้จับปลาเหล่านั้นหมักเกลือไว้ด้วยกันตามวิธีที่ชาวสยามเคยทำกันมา แล้วใส่รวมลงในตุ่มหรือไหดินเผาดองไว้ ปลานั้นจะเน่าภายในไม่ช้า เพราะการหมักเค็มของชาวสยามนั้นทำกันเลวมาก ครั้นปลาเน่าและค่อนข้างจะเป็นน้ำแล้ว น้ำปลาเน่าหรือปลาร้านั้นจะนูนฟอดขึ้นและยุบลงตรงกันกับเวลาที่กระแสน้ำทะเลขึ้นลง

มร. แว็งซังต์ได้ให้ปลาร้าแก่ข้าพเจ้ามาไหหนึ่ง เมื่อกลับมาถึงประเทศฝรั่งเศส และยืนยันแก่ข้าพเจ้าว่าการที่น้ำปลาร้าในไหขึ้นลงได้นั้นเป็นความจริง เพราะเขาได้เห็นมากับตาตนเองแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่อาจพลอยเชื่อให้สนิทใจได้…ไหที่ มร. แว็งซังต์ให้แก่ข้าพเจ้าและข้าพเจ้าได้นำมายังกรุงปารีสด้วยนั้น น้ำปลาร้าหาได้ขึ้นลงดังว่าไม่ อาจเป็นด้วยปลานั้นเน่าเฟะเกินไป”

เมื่อปลาร้ามีหน้าตาเช่นนี้แล้ว ในสายตา ลา ลูแบร์ เขากล่าวถึงรสชาติมันเป็นอย่างไร ดูจากบันทึกของเขาที่ว่า

“ชาวสยามมีความยุ่งยากใจเป็นอันมาก ที่จะหมักเค็มให้ดี เพราะว่าเกลือจะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อสัตว์ได้โดยยากในประเทศที่มีอากาศร้อนจัด แต่พวกก็ชอบบริโภคที่หมักเค็มไว้ยังไม่ได้ที่ และปลาแห้งยิ่งกว่าปลาสดๆ แม้ปลาเน่า (ปลาร้า) ก็เป็นที่นิยมชมชอบไม่น้อยไปกว่าไข่ตายโคม ตั๊กแตน หนู (พุก) แย้ และตัวด้วงจัวแมลงอีกเป็นส่วนใหญ่ ไม่น่าสงสัยเลยว่าธรรมชาติคงจะแต่งให้ชาวสยามหันไปบริโภคแต่อาหารประเภทที่ย่อยง่าย และลางทีสิ่งเหล่านี้อาจมีรสชาติไม่เลวดังที่เราคิดกันก็เป็นได้…แต่ครั้นได้บริโภคเข้าไปแล้วก็พบว่ามีรสชาติเป็นเลิศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2563