สตรี “บุนนาค” ผู้เสริมสร้างอำนาจตระกูลในพระราชสำนักฝ่ายใน เป็นคนโปรดใช่แค่สวย?

สตรี ราชสำนักฝ่ายใน รัชกาลที่ 5
สตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน (องค์เดิม) พระราชวังบางปะอิน (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์)

สกุล “บุนนาค” เป็นสกุลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งแต่ต้นรัชสมัยองค์ปฐมบรมกษัตริย์ เริ่มจากการเป็นสหายสนิทเมื่อครั้งยังเป็นนายทองด้วง และนายบุนนาคคนสามัญ ต่อมานายทองด้วงรับราชการมีหน้าที่และตําแหน่งสําคัญเป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นายบุนนาคสมัครใจเข้ามารับใช้เพื่อนเก่าฐานะทนายหน้าหอ ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจนได้สมรสกับคุณนวล น้องสาวคุณหญิงนาค ภรรยาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

ความสัมพันธ์จึงเพิ่มขึ้น คือเป็นทั้งสหาย เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด และเป็นเครือญาติอันสนิท

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นายบุนนาคเข้ารับราชการมีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา และได้กระชับเกลียวสัมพันธ์ระหว่างสกุล “บุนนาค” และราชจักรีวงศ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยถวายคุณตานีธิดาคนแรกที่เกิดจากคุณลิม ภรรยาเดิมเป็นบาทบริจาริกาในพระองค์

นับได้ว่าคุณตานีหรือเจ้าจอมมารดาตานีเป็นสตรีคนแรกของสกุลบุนนาคที่เข้ารับราชการฝ่ายใน สานสัมพันธ์ฉันเครือญาติของสกุลบุนนาคและราชจักรีวงศ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สกุล “บุนนาค” ถวายตัวเข้ารับราชการ

สมัยต่อมาบุคคลในสกุล “บุนนาค” ถือว่าการถวายบุตรธิดาเข้ารับราชการในพระราชสํานักนั้นเป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง และได้ถือปฏิบัติกันสืบมา ในทุกรัชสมัยจึงมีบุคคลในสกุลบุนนาคถวายตัวเข้ารับราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเป็นจํานวนมาก

การเข้ารับราชการของบุคคลสกุลบุนนาคเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าในทุกสายงาน ซึ่งน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น โอกาสในการถวายตัวใกล้ชิดมีมาก ทําให้ได้เรียนรู้งานและนโยบายบ้านเมือง จึงมีโอกาสแสดงความสามารถให้ตรงตามพระราชประสงค์ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ง่าย

ปัจจัยสําคัญอีกประการหนึ่งคือ คุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลในตระกูล ที่มีความฉลาดเฉลียว อดทน ขยันขันแข็ง และชื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระบรมราชวงศ์ ประการสุดท้ายคือ จํานวนสมาชิกในสกุลซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระจายกันควบคุมหน่วยงานสําคัญของบ้านเมืองแทบจะทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นการสอดประสานเอื้ออํานาจและอิทธิพลให้กันและกัน

ภาพถ่าย พระภรรยาเจ้า พระภรรยา ใน รัชกาลที่ 5 ที่ พระที่นั่งวิมานเมฆ
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชเทวี และพระอัครราชเทวี พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ 5 ณ อัฒจันทร์ พระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาพจาก หนังสือ “พระตำหนักสวนสี่ฤดูพระราชวังดุสิต”)

ส่วนในพระราชสํานักฝ่ายใน สตรีสกุลบุนนาคนับว่ามีจํานวนมาก และได้รับการยกย่องเหนือสตรีสกุลอื่น ๆ ซึ่งก็น่าจะเกิดจากปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว สตรีในสกุลบุนนาคที่ถวายตัวเป็นข้าราชสํานักฝ่ายในทุกรัชกาลนั้นมีทั้งที่มีโอกาสรับตําแหน่งเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชสํานักปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาถวายธิดารวมทั้งสิ้น 8 คน คือ เจ้าจอมมารดาตานี (เจ้าคุณอัง) ธิดาที่เกิดจากเจ้าคุณนวลอีก 3 คนคือ คุณนุ่น (เจ้าคุณวังหลวง), คุณคุ้ม (เจ้าคุณวังหน้า), คุณกระต่าย (เจ้าคุณประสาท) และธิดาที่เกิดจากภรรยาอื่นอีก 4 คน คือ คุณนก คุณส้ม คุณจิตรา และคุณชู

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 รัชสมัยนี้มีสตรีสกุลบุนนาคถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสํานักฝ่ายในจํานวนน้อย น่าจะเป็นเพราะธิดาอันเกิดแต่บุตรชายของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนามีจํานวนยังไม่มาก และยังไม่เจริญวัยควรแก่การถวายตัว

สตรีที่ถวายตัวใน 2 รัชสมัยนี้ส่วนมากเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต) บุตรชายคนสําคัญของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มี 14 คน คือ คุณหญิงแพ, คุณหญิงพลอย, คุณแข (เจ้าคุณตําหนักใหม่), คุณปุก (เจ้าคุณกลาง), คุณหรุ่น (เจ้าคุณ น้อย), คุณหญิงปริก, คุณหญิงสายหยุด, คุณนุ่ม (เจ้าคุณตําหนักเดิม), เจ้าคุณหญิงเป้า, เจ้าคุณหญิงคลี่, คุณหญิงสวน, คุณหญิงปาน, คุณหญิงลิ้นจี่ และคุณหญิงเลื่อน

สตรีสกุลบุนนาค ในรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 รัชสมัยที่เป็นช่วงเวลาที่สายสกุลบุนนาคทั้งหญิงและชายมีจํานวนมากที่สุด เพราะบุตรธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสองมีรวมกันถึง 109 คน เป็น บุตรชาย 55 คน และบุตรชายทั้ง 55 คนมีบุตรธิดาอีกเป็นจํานวนมาก และกําลังเจริญวัยสมควรถวายตัวได้

ใน 2 รัชสมัยนี้จึงมีสตรีสกุล “บุนนาค” ถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสํานักฝ่ายในถึง 34 คน ดังนี้ เจ้าจอมมารดาสําลี, เจ้าจอมหนูสุด, เจ้าจอมวัน, เจ้าคุณจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์), เจ้าจอมมารดาโหมด, เจ้าจอมเหรียญ, เจ้าจอมอ้น, เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ, เจ้าจอมเอื้อน, เจ้าจอมแส, เจ้าจอมแก้ว, เจ้าจอมโหมด, เจ้าจอมจีน, เจ้าจอมเยื้อน, เจ้าจอมวอน, เจ้าจอมอบ, เจ้าจอมพิศว์, เจ้าจอมเลียม, เจ้าจอมแถม, เจ้าจอมเชย, เจ้าจอมปุก, คุณแปลก, คุณพรรณสุริยา, คุณอ้น, คุณหงิม, คุณเชย, คุณปุย, คุณลําจวน, คุณสดับ, คุณสดม, คุณวรันดับ

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าคุณจอมมารดาแพ
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5)

ในจํานวน 34 คนนี้เป็นเจ้าจอมมารดา 4 ท่าน เป็นเจ้าจอม 20 ท่าน นอกจากนั้นก็รับราชการในหน้าที่และตําแหน่งต่าง ๆ บางคนในจํานวนนี้กราบบังคมทูลลาไปมีครอบครัวก็มี

นอกจากสตรีสกุลบุนนาคที่กล่าวนามมาแล้ว ยังมีสตรีที่สืบสายมาจากสกุลบุนนาคและมีพระอิสริยศักดิ์เป็นพระน้องนางเธอ เพราะเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสําลี (สกุลบุนนาค) อีก 3 พระองค์ที่ถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสํานักฝ่ายใน คือ พระองค์เจ้าหญิงบุษบงเบิกบาน พระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา ได้โปรดสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรีเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี และโปรดสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ตําแหน่งอธิบดีบัญชาการวังหลวง รวมเป็นสตรีสกุลบุนนาคและสายสกุลบุนนาคที่ถวายตัวเข้ารับ ราชการในพระราชสํานักฝ่ายใน 2 รัชสมัยนี้ เป็นจํานวน 37 พระองค์, ท่าน

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี

ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวได้ว่าข้าราชสํานักสกุลบุนนาค โดยเฉพาะฝ่ายหน้านั้น มีทั้งอิทธิพลและอํานาจสูงสุดในแผ่นดิน เพราะได้กระจายกันดํารงตําแหน่งบังคับบัญชา หน่วยงานสําคัญในบ้านเมือง เช่น กลาโหม การคลัง การต่างประเทศ พระคลังมหาสมบัติ การเกษตร กองทัพบก โยธาธิการ และตําแหน่งสูงสุดคือ ผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน

ครั้นถึงช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามดึงอํานาจการบริหารบ้านเมืองจากเสนาบดีตระกูลบุนนาคและตระกูลอื่น ๆ มาไว้ส่วนกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูง สุด ประกอบกับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคบางท่านมีอายุมาก วางมือจากราชการแผ่นดินบ้าง ถึงแก่กรรมบ้าง เสนาบดีรุ่น ใหม่ ๆ ก็ยอมรับอํานาจบริหารจากส่วนกลาง ทําให้บทบาทและอํานาจของเสนาบดีสกุลบุนนาคถูกลดลงอย่างนุ่มนวลและแนบเนียน

สตรีสกุลบุนนาคในพระราชสํานักฝ่ายใน

เมื่ออํานาจและอิทธิพลทางการเมืองของสกุลบุนนาคฝ่ายหน้าลดลงนั้น สตรีสกุลบุนนาคในพระราชสํานักฝ่ายในยังคงดํารงอิทธิพลในฐานะคนโปรดอย่างแน่นแฟ้น แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสตรีสกุลอื่น ๆ ที่มีฐานะความสําคัญเท่าเทียมกัน หรือบางครั้งก็เหนือกว่า แต่สตรีสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ดํารงฐานะความเป็นคนโปรดได้จนตลอดรัชสมัย ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติพิเศษส่วนพระองค์หรือส่วนตัวของแต่ละท่าน เช่น

เจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) นับเป็นหม่อมคนที่ 2 ก่อนรัชกาลที่ 5 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่อาจนับว่าเป็นสตรีที่ทรงมีความรักให้เป็นคนแรกก็ว่าได้ เพราะมีหลักฐานปรากฏถึงเรื่องราวของความรักที่ทรงมีต่อคุณแพเยี่ยงหนุ่มสาวทั่วไป

คุณแพเวลานั้นอยู่ในฐานะ หลานสาวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเสนาบดีที่มีอํานาจมากในแผ่นดิน ความสมหวังของทั้งคู่จึงต้องมีพิธีการเป็นครั้งแรก

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าคุณจอมมารดาแพ สกุล บุนนาค
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5)

เจ้าคุณจอมมารดาแพได้ผูกพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ทําให้ทรงต้องรําลึกถึงท่านในฐานะสตรีคนแรกที่ทรงมีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์ โปรดพระราชทานเกียรติยศเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และโปรดยกย่องเหนือเจ้าจอมคนอื่น ๆ จนตลอดรัชสมัย

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงเป็นสายสกุลบุนนาคอีกพระองค์หนึ่งซึ่งผูกพันพระราชหฤทัยสมเด็จพระบรมราชสวามีไว้ได้อย่างแน่นแฟ้นตลอดพระชนมชีพ ด้วยพระคุณสมบัติพิเศษคือความเชี่ยวชาญวิชาการด้านอักษรศาสตร์ ทรงใช้วิชาการนี้ทําคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทางตรงคือรัชกาลที่ 5 โปรดให้ดํารงตําแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ ช่วยงานราชการแผ่นดินแบ่งเบาพระราชภารกิจ ทางอ้อมคือการที่ทรงรับทราบความเป็นไปของบ้านเมือง แนวพระราชดําริ ตลอดจนพระบรมราโชบาย ทรงนําสิ่งเหล่านี้มา เป็นแนวทางการอบรมสั่งสอนและส่งเสริมพระราชโอรสพระองค์ เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระองค์ตามพระราชประสงค์ ทําประโยชน์ในราชการแผ่นดินจนเป็นที่เชื่อถือและไว้วางพระราชหฤทัย และทรงเป็นพระราชโอรสที่โปรดปรานยิ่งพระองค์หนึ่ง

เจ้าจอมก๊กออ ประกอบด้วย เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าจอมทั้ง 4 คนนี้เป็นตัวอย่างของสตรีสกุลบุนนาคที่มีคุณ สมบัติพิเศษ สามารถผูกพันพระทัยพระเจ้าอยู่หัวไว้ได้โดยมิต้องอาศัยอํานาจอิทธิพลของสกุลบุนนาคฝ่ายบุรุษ หรือมิต้องมีพระเจ้าลูกเธอเป็นเครื่องผูกพันน้ำพระทัย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายภาพ กับ เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอื้อน จากสกุล บุนนาค
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายภาพกับเจ้าจอมเอิบ (ซ้าย) เจ้าจอมเอี่ยม (กลาง) และเจ้าจอมเอื้อน (ขวา)

คุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมทั้ง 4 โดยรวม คือ เฉลียวฉลาดในการเรียนรู้น้ำพระทัยและพระราชประสงค์ ขยันขันแข็ง และอดทนในการที่จะปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์ให้ถูกพระราชหฤทัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถวายงานปรนนิบัติธรรมดาหรือ พิเศษ เช่น

เจ้าจอมเอี่ยม จะเป็น ผู้ถวายงานนวดเป็นที่พอพระราชหฤทัย เจ้าจอมเอิบ ถวายงานแต่งฉลองพระองค์ เป็นที่ถูกพระราชหฤทัย เป็นต้น

เล่ากันว่าเจ้าจอมท่านอื่น ๆ มีเวรสําหรับขึ้นเฝ้าถวายงานเป็นบางวัน แต่เจ้าจอมก๊กออนั้นจะต้องขึ้นเฝ้าถวายงานปรนนิบัติเป็นประจําทุกวัน

เจ้าจอมเอิบ จับ กล้องถ่ายรูป ถ่ายภาพ พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ เทศ บุนนาค
เจ้าจอมเอิบกำลังเตรียมการถ่ายภาพเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ผู้เป็นบิดา (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อาจกล่าวได้ว่า สตรีในสกุลบุนนาคหรือที่สืบสายสกุลบุนนาคในพระราชสํานักฝ่ายในเป็นสตรีที่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติแห่งความเป็นกุลสตรีที่สามารถดํารงอิทธิพลในพระราชสํานักฝ่ายในไว้ได้นับแต่เริ่มตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ จนถึงวาระเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีสิ้นสุดความเป็นพระราชสํานักฝ่ายในตามแบบโบราณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “สตรีสกุล ‘บุนนาค’ ในพระราชสำนักฝ่ายใน” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2562