“น้ำชายาเสียง” ตัวช่วยแก้เสียงแห้งใน “พระพิธีธรรม” มีอะไรบ้าง

พระพิธีธรรม น้ำชายาเสียง

การสวด “พระพิธีธรรม” หากพระสงฆ์รูปที่สวดเกิดเสียงแห้งขึ้นมา ก็จะมี “น้ำชายาเสียง” เป็นตัวช่วย แล้ว “น้ำชายาเสียง” ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับพระพิธีธรรมกันก่อน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ “พระพิธีธรรม” ว่า การสวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย กล่าวคือ เมื่อมีบุคคลใดถึงแก่กรรม ผู้เป็นญาติหรือคนใกล้ชิดจะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับผู้วายชนม์

สำหรับผู้สิ้นชีวิตที่มีฐานันดรศักดิ์ชั้นยศ หรืออยู่ในหลักเกณฑ์เทียบเกียรติยศพระราชทานแก่พระศพและศพของสำนักพระราชวัง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษนั้น จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ในการสวดพระอภิธรรมศพ

พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ในงานดังกล่าวนี้เรียกว่า “พระพิธีธรรม” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเฉพาะพระสงฆ์ในพระอารามหลวง ปัจจุบันนี้มี 10 พระอาราม ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดราชสิทธาราม วัดระฆังโฆสิตาราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดอนงคาราม วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดประยุรวงศาวาส ทั้งนี้ ตำแหน่งพระพิธีธรรมเป็นตำแหน่งประจำ “วัด” ไม่ได้เป็นตำแหน่งเฉพาะ “พระสงฆ์” รูปใดรูปหนึ่ง

ในการพระราชพิธี การสวดพระพิธีธรรมจะทำการสวดหลายรอบในหนึ่งวัน การที่พระพิธีธรรมต้องสวดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการเสียงแห้งได้ ในอดีตเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ฝ่ายสังฆการี จึงต้องเตรียมน้ำถวาย เรียกว่า น้ำชายาเสียง

ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ให้รายละเอียดของน้ำชายาเสียงไว้ว่า คือ น้ำร้อนน้ำชาถวายพระภิกษุดื่มแก้เสียงแห้ง เป็นน้ำผลไม้คั้น 8 อย่าง ที่พระสงฆ์ฉันได้ตามพระวินัย เรียกว่า น้ำอัฐบาน น้ำชุบาน หรือน้ำปานะ

น้ำชายาเสียง ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำหว้า น้ำกล้วยที่มีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำมะซาง น้ำผลจันทน์ น้ำเหง้าอุบล และน้ำมะปราง หรืออีกประเภทหนึ่งได้แก่ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำพุทราเล็ก น้ำพุทราใหญ่ น้ำเปรียง น้ำมัน (งา) น้ำนม น้ำยาคู และน้ำรส (ผักดอง)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. พระพิธีธรรม. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 2554

นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. สำนักพิมพ์ มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2562