“ไม้สัก” มีค่าถึงขั้นเป็น “ส่วย” แทนทองคำ ทั้งยังเกี่ยวพันกับการตั้ง “กรมป่าไม้”

ซุง ไม้สัก ล่องลงมาตาม แม่น้ำ
ซุงไม้สักที่มัดเป็นแพล่องลงมาตามแม่น้ำ (ภาพจาก "Twentieth Century Impressions of Siam")

ไม้สัก เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมานับร้อยๆ ปี และครั้งหนึ่งก็เคยมี “ส่วยไม้สัก” ที่หัวเมืองเหนือส่งให้กรุงเทพฯ แทนทองคำ แสดงถึงบทบาทของไม้สักในฐานะของมีค่า นอกจากนี้ ไม้สักก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการก่อตั้ง “กรมป่าไม้” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2439 และโปรดฯ ให้สังกัดกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย 

ในอดีต บทบาทของไม้สักตามข้อมูลที่ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ค้นคว้าและเรียบเรียงเกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นสักไว้ใน “พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย” กล่าวถึงต้นสักหรือไม้สักตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงยุครัตนโกสินทร์ สรุปได้ดังนี้

เริ่มจากสมัยสุโขทัย ต้นสักเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วไป แต่ศิลาจารึกสุโขทัยกลับบันทึกถึงต้นไม้อื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยมากเป็นต้นโพธิ์และไม้ผลต่างๆ มีเพียงศิลาจารึกวัดเสมา สุโขทัย ที่บาทหลวงสมิธค้นพบ ซึ่งกล่าวถึงไม้สักไว้ตอนหนึ่งว่า “ต้องการไม้สักตำลึงหนึ่งเพื่อบูชาครู” นอกจากนี้ก็พบไม้สักในรายการเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปประเทศจีน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคทองของ “ไม้ฝาง” ลูกค้าสำคัญในเวลานั้นคือญี่ปุ่น ที่ใช้ไม้ฝางทำเฟอร์นิเจอร์และสีย้อมผ้าไหม รายงานของแคมป์เฟอร์บันทึกเกี่ยวกับไม้ฝางว่า โกดังสินค้าของชาวดัชต์มีแต่ไม้ฝางกองอยู่มาก ในช่วงนั้นตลาดมีความต้องการไม้ฝางมาก ส่วนไม้สักนั้นในยุโรปนำไปทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว แต่การส่งออกไม้สักของอยุธยามีน้อยมาก

การค้า “ไม้สัก” เริ่มเฟื่องฟูในสมัยกรุงธนบุรี มีคนพม่าเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือของไทย โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าครองนคร เนื่องจากพม่าปิดป่าไม้สัก ช่วงนี้เองที่ฝรั่งจากพม่าและอินเดียเข้ามาทําไม้ในเมืองไทย แต่คนยุโรปก็ยังรู้จักเฉพาะไม้สักอินเดีย การทําไม้สักยุคนี้มีข้อจํากัดและระเบียบที่ยุ่งยากจากฝ่ายรัฐบาลและเจ้าครองนคร ช่วงเริ่มต้นการทําไม้สัก ฝรั่งจึงว่าจ้างคนจีน คนพม่า และคนเหนือ มาช่วยดําเนินงานแทน

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การทําไม้สักยังคงอยู่ในมือของคนจีนและคนพม่า ธุรกิจการค้าไม้สักเป็นของคนจีน ส่วนการทําไม้ การชักลากไม้ เป็นของคนพม่า โดยในปี 2326 การค้าขายไม้สักของไทยมีมูลค่าปีละไม่เกิน 630,000 บาท เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ยังล้าสมัย เงินทุนมีจํากัด และยังไม่มีการส่งออก

ต่อมาไม้สักมีราคาสูงขึ้น บริษัทยุโรปจึงสนใจที่จะทําไม้เสียเอง จนบางครั้งเกิดการแย่งป่าสัมปทาน ต้องแบ่งป่าสัมปทานให้เล็กลง จนสร้างปัญหาให้ผู้ได้รับสัมปทาน ขณะที่ผู้ได้รับสัมปทานก็ทําไม้เกินกําลังผลิตของป่า มีการตัดไม้ออกมากจนยากที่ผู้ครองนครจะควบคุมได้

พ.ศ. 2372 สมัยรัชกาลที่ 3 จดหมายเหตุฉบับที่ 1/1191 ระบุว่า ได้ตั้ง “ขุนจําเริญรักษา” เป็นเจ้าภาษีไม้ขอนสัก โดยครอบคลุมถึงไม้ตะแบก ตะเคียน ยาง และไม้อุโลก สะท้อนถึงความสำคัญของไม้สักในฐานะพืชสร้างมูลค่า

ต่อมาในปี 2388 หัวเมืองฝ่ายเหนือส่งไม้สักเป็น “ส่วย” แทนทองคําให้กรุงเทพมหานคร นับว่าไม้สักมีคุณค่าสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ จดหมายเหตุ ฉบับที่ 16/1204 มีบันทึกเรื่องการติดสินบนเจ้าพนักงานของฝรั่งที่เมาะลําเลิง เพื่อขอตัดไม้ขอนสักที่อยู่ปลายเขตแดนเมืองเชียง ใหม่ เมืองลําพูน เมืองตาก และเมืองระแหง

เวลานั้นป่าส่วนใหญ่ที่มีการทําไม้เป็นป่าของเจ้าครองนคร เช่น เจ้าทิพไกสร เป็นเจ้าของป่าเมืองปายและป่าแม่ฮ่องสอน เจ้ามะโหตรประเทศ เป็นเจ้าของป่าขุนยวมและป่าเมืองยวม พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าของป่าแม่แหยะ ป่าท่าตาฝัง และป่าท่าสองยาง ใครที่เข้าไปตัดไม้ในเขตป่าเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินค่าตอต้นละ 3-5 รูปี (การทํากิจกรรมไม้ในช่วงนั้นจะจ่ายเงินอินเดีย) หากเจ้าของป่ามีอันเป็นไป ก็จะตกเป็นของลูกหลาน

การขออนุญาตทําไม้สักนั้น ผู้ขออนุญาตจะติดต่อกับเจ้าของป่า หากตกลงกันได้ก็ทำหนังสือสัญญาไว้ในใบลาน สัญญาทําไม้จะระบุพื้นที่ที่ให้ทําไม้เท่านั้น มิได้ระบุปริมาณไม้สักที่จะอนุญาตให้ตัด ผู้รับอนุญาตจึงพยายามที่จะกอบโกยผลประโยชน์กันอย่างเต็มที่ ส่วนการชําระเงินค่าตอของการทําสัมปทาน เงินที่ได้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เจ้าครองนครได้ส่วนหนึ่ง, เจ้าของป่าได้อีกส่วนหนึ่ง และเจ้าพนักงานที่ไปเก็บเงินค่าตออีกส่วนหนึ่ง

รูปแบบของการเก็บค่าตอยังคงถือปฏิบัติเรื่อยมา จนปี 2416 มีการปรับปรุงค่าตอเสียใหม่ เมื่อพระนริทราชเสนี ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ขอขึ้นค่าตอเพื่อมอบให้รัฐบาลกลาง เช่น ที่ป่าแม่ยวมจะมีขึ้นอีก 3 สลึง ส่วนป่าแม่ปาย, ป่าท่าตาฝัง, ป่าท่าสองยาง และป่าแม่เมยให้ขึ้นอีก 2 รูปี

หลังจากนั้นมา รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในการทำป่าไม้มากขึ้น

ปี 2417 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติรักษาเมือง จ.ศ. 1236 ว่าด้วยการอนุญาตทําป่าไม้สัก ในปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงให้ตราพระบรมราชโองการว่าด้วยการภาษีไม้ขอนสักและไม้กระยาเลย จ.ศ. 1236 ว่าด้วยการออกอนุญาตไม้และจัดเก็บภาษีให้ได้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

หากมีผู้ใดสนใจทําไม้สักให้ติดต่อผู้รักษาเมือง หรือเจ้าครองนคร และขอสัตยาบันจากรัฐบาล เพื่อให้การเก็บเงินเข้าพระคลังมหาสมบัติเป็นไปอย่างมีระบบ ทางรัฐบาลกลางได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ทําหน้าที่เก็บค่าตอ ขณะที่การทําไม้สักได้ขยายตัวมากขึ้น รัฐบาลก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการเรื่อง “ซื้อไม้ขอนสัก” พ.ศ. 2427, 2430

ขณะเดียวกัน กระแสการอนุรักษ์ป่าไม้ก็เริ่มเกิดขึ้น

ปี 2432 พระยาดํารงค์ราชพลขันธ์ ราชทูตสยามประจํากรุงเบอร์ลิน เสนอให้มีการปรับปรุงกิจกรรมป่าไม้เสียใหม่ ไม่ควรให้มีการทําไม้มากเกินไป และเสนอให้มีการจัดการป่าไม้และในพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกป่าขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

ปี 2435 พระยาสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาการมณฑลพายัพ กําหนดให้แก้ไขสัญญาสัมปทานไม้สักใหม่อีกครั้ง ร่างสัญญาใหม่นี้ได้ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดไม้สัก 1 ต้น จะต้องปลูกไม้สักชดเชย 4 ต้น นับว่าสัญญานี้เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการปลูกไม้สักขึ้นแทนไม้ที่ตัดไป แม้ในทางปฏิบัติจะค่อนข้างหละหลวม

ในช่วงนี้อังกฤษได้จ่ายเงินลงทุนในกิจกรรมทําไม้สักถึง 14 ล้านบาท ขณะนั้นสัดส่วนการทําไม้สักเป็นบริษัทไทยร้อยละ 48 บริษัทอังกฤษร้อยละ 42 และอีกร้อยละ 10 เป็นของบริษัทที่ฝรั่งเศสหนุนหลัง ขณะเดียวกันราชสำนักสยามก็เริ่มใช้ชาวต่างชาติในกิจการป่าไม้

หมอเอ็ม.เอ. ชิค (Dr.M.A. Cheek) ชาวอเมริกัน นายแพทย์ที่ทำกิจการป่าไม้จนร่ำรวย หมอชิคมีความผูกพันกับรัฐบาลสยาม และได้รับมอบหมายให้ดําเนินการค้าไม้สักไทยในตลาดต่างประเทศ และชักชวนให้บริษัทในยุโรปเข้ามาทํากิจกรรมป่าไม้สัก ได้เอาเงินในพระคลังเข้าทํากิจกรรมป่าไม้ แต่การบริหารหย่อนยานจนต้องริบไม้ที่ทําเป็นของหลวง จนเป็นที่มาให้เกิดความคิดที่จะให้กิจกรรมป่าไม้ทั้งหมดเป็นของรัฐ

นายเอฟ. เดอ แคสเตน สกอยด์ (Mr.F. de Castenskiold) ครูชาวเดนมาร์กของกองทหารวัง รัฐสยามจ้างให้ช่วยจัดการเก็บไม้และทําป่าไม้ที่ล้มเหลวของหมอชิค ไปช่วยพิจารณาจัดการกิจกรรมป่าไม้ภาคเหนือ แต่สิ้นชีวิตระหว่างการเดินทางเสียก่อน

นายเอช. เอ เสลด ผู้เสนอให้ตั้งกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก (ภาพจาก”พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย”)

ปี 2438 รัฐสยามว่าจ้าง นายเอช.เอ. เสลด (Mr.H.A. Slade) นายเสลดสำรวจป่าไม้ของไทยอยู่ 4 เดือน 29 วัน และเขียนรายงานถวายกรมหมื่นดํารงราชานุภาพ มีข้อความที่น่าสนใจว่า

“…ป่าไม้ทั้งหลายนั้นควรต้องถือว่าเป็นทุนทรัพย์ของหลวงที่ได้ลงทุนไว้แล้วในกาลก่อนช้านาน เพื่อให้เป็นผลประโยชน์แก่คนที่เกิดในชั้นหลัง เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้จะต้องระวังรักษาทุนทรัพย์ของเดิมนี้ไว้ให้ดี จัดให้ได้ประโยชน์เป็นกําไรให้ได้มากตามแต่จะจัดได้ เก็บกินแต่กําไรไปเท่านั้น ไม่มีอํานาจที่จะจับต้องทุนทรัพย์ของเดิมนั้นได้เลย…”

นายเสลดแนะนําให้ตั้งกรมป่าไม้และเก็บค่าตอ ให้ออกพระราชบัญญัติป่าไม้ ยุติการรับเช่าทําไม้นอกจากจะจําเป็นจริงๆ

ในวันที่ 18 กันยายน ปี 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 62/385 ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เมื่อครั้งดํารงพระยศเป็นกรมหมื่นดํารงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าความคิดของนายเสลดนั้นเป็นความถูกต้องดีแท้ทุกประการ ทรงเสนอว่า เรื่องกรมป่าไม้นั้นเป็นตกลงให้ตั้ง และให้นําร่างพระราชบัญญัติการป่าไม้เสนอที่ประชุมรัฐมนตรี

เพราะ “ไม้สัก” จึงนำสู่การก่อตั้ง “กรมป่าไม้” สํานักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดูแลรับผิดชอบการทําไม้สัก ภายหลังกรมป่าไม้จึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ดร.สุรีย์ ภูมิถาวร. พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2563