ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส” หลังชีวิตสมรสล่มสลาย

หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส หม่อมคัทริน ชายา เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส และหม่อมคัทริน

ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส” หลังชีวิตสมรสระหว่างหม่อมคัทรินและ “เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ” ล่มสลาย

“…ความทุกข์ทรมานที่ฉันได้รับจากเด็กสาวคนนี้ได้หวนกลับมารบกวนจิตใจฉันอีกครั้ง ฉันเกิดความรู้สึกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งก็สงสารที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย อีกด้านก็รู้สึกสะใจที่ในที่สุดพระเจ้าก็ลงโทษความเห็นแก่ตัวของเธอ…”

Advertisement

เป็นข้อความตอนหนึ่งในสมุดบันทึกรายวันของ หม่อมคัทริน ชายาชาวรัสเซียใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เลิกรากันไปแล้ว คำว่า “เด็กสาวคนนี้” หม่อมคัทรินหมายถึง หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ซึ่งเธอปลงใจเชื่อแน่ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตสมรสของเธอและสมเด็จเจ้าฟ้าชายต้องล่มสลายลง

ชีวิตสมรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กับหม่อมคัทริน ซึ่งพบรักและอภิเษกสมรสกันที่รัสเซีย ขณะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศนั้น ทั้งคู่เริ่มต้นชีวิตสมรสด้วยการต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม และแม้แต่ภูมิอากาศ

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของทั้งคู่ขณะนั้นคือ ความไม่พอพระราชหฤทัยและการไม่ยอมรับสะใภ้ต่างชาติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ทั้งคู่ก็ได้ใช้ความรักอันยิ่งใหญ่ล้นเหลือ ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงจนสำเร็จ

หม่อมคัทริน พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พระโอรสและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
หม่อมคัทริน พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พระโอรสและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หม่อมคัทรินสามารถปรับตัวปรับใจให้เข้ากับความแตกต่างเรื่องต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีนาถตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์แห่งสยาม ประกอบกับการให้กำเนิดพระโอรสคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อันเป็นเสมือนโซ่ทองคล้องพระทัยทุกพระองค์ ทั้งคู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่สมรสที่มั่นคงซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว

แต่โดยที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ชีวิตสมรสของทั้งคู่ต้องมีอันสิ้นสุดลง หลังจากที่ครองรักกันยาวนานถึง 13 ปี

สาเหตุของการล่มสลายของชีวิตสมรสครั้งนั้นน่าจะมีหลายสาเหตุ สาเหตุลึก ๆ ที่ไม่ใคร่มีผู้ใดนึกถึงเพราะเป็นสาเหตุที่ค่อย ๆ เกิด แม้คู่สมรสเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนานเท่าใดแล้ว เป็นเสมือนสนิมที่ค่อย ๆ กร่อนกินความรักทีละน้อย นั่นคือ ความเบื่อหน่าย

เมื่อแรกเริ่มชีวิตคู่ สมเด็จเจ้าฟ้าประทานความรักและความเอาพระทัยใส่พระชายาทั้งด้วยความสนิทเสน่หาและพระเมตตาเป็นพิเศษ อันเนื่องมาแต่มีพระดำริเห็นใจพระชายาที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองมาโดยลำพังปราศจากญาติมิตร ต้องเผชิญกับความแตกต่างจากสิ่งที่เคยชิน จึงน่าจะมีทั้งความทุกข์ความว้าเหว่หงอยเหงา

ในส่วนพระชายาซึ่งมีแนวคิดวิถีการดำเนินชีวิตตามขนบวัฒนธรรมของชาวตะวันตก และใช้แนวคิดนี้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตคู่ คือสามีจะต้องปฏิบัติต่อภรรยา เช่นเดียวกับการปฏิบัติตัวของสามีชาวตะวันตก คือจะต้องดำเนินชีวิตเคียงคู่กันในทุก ๆ ด้าน เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำชาเวลาบ่ายร่วมกัน ขับรถเที่ยวหรือไปเที่ยวพักผ่อนร่วมกัน ออกงานสังคมเคียงคู่กัน ปรึกษาหารือในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตร่วมกัน และประการสำคัญคือ ซื่อสัตย์จริงใจไม่นอกใจกัน ตลอดระยะเวลา 13 ปี สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาวสยามได้ปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางดังกล่าว

เมื่อความรักลดน้อยลง สิ่งที่เหลือคือหน้าที่ความผูกพันและความเคยชิน สมเด็จเจ้าฟ้าชายทรงล่วงรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของพระองค์ ครั้งที่หม่อมคัทรินขอประทานพระอนุญาตกลับไปพักผ่อนและเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้พระสวามีต้องประทับอยู่กับพระโอรสตามลำพังที่วังปารุสกวัน หลังจากที่ทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบสามีภรรยาชาวยุโรปอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลานาน

เมื่อหม่อมชายาไม่อยู่ และทรงมีโอกาสพบปะกับพระญาติวงศ์ ได้ทรงสนทนา มีกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน ทำให้ทรงรู้สึกเสมือนผ่อนคลายความเคร่งเครียดและเหงาหงอย โดยเฉพาะเมื่อทรงได้พบกับพระญาติสาว หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส พระธิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา หม่อมเจ้าหญิงมีพระคุณสมบัติตรงข้ามกับหม่อมคัทริน ซึ่งพระสวามีทรงบรรยายถึงอุปนิสัยไว้ว่า เอาแต่ใจตัวเอง เชื่อมั่นในความคิดของตนเองว่าถูกเสมอ ต้องการให้ทุกคนเห็นด้วยและปฏิบัติตาม

หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์

“…ความไม่พอใจ ของแคทยาในเรื่องราวจุกจิกมากมายหลายเรื่อง คราใดที่เธอเกิดไม่พอใจเรื่องอะไรขึ้นมาก็จะมาลงเอาที่ฉันทุกครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะเอาใจเธอให้เธอมีความสุข… เธอไม่เพียงต้องการให้ทุกคนทำอย่างที่เธอต้องการแต่ยังให้ทุกคนต้องคิดอย่างที่เธอคิดด้วย…”

แต่สําหรับหม่อมเจ้าหญิงสาว ซึ่งมีพระชันษาเพียง 15 ปี มีพระอารมณ์แจ่มใสร่าเริงอยู่เป็นนิตย์ ทรงสำราญกับการเล่นสนุกอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เสียงใสประดุจเด็กน้อย ทำให้บรรยากาศและผู้คนรอบข้างพลอยสดชื่นแจ่มใสไปด้วย

โดยเฉพาะ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงรู้สึกเป็นสุขและเพลิดเพลินพระทัย ถึงกับทรงบันทึกไว้ว่า “…มาในคราวนี้ที่แคทยาไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างดีขึ้น…” อย่างหนึ่งที่ดีขึ้นคือ ความใกล้ชิดสนิทสนมกับหม่อมเจ้าหญิงสาวและเปลี่ยนแปลงเป็น “…เราสองคนต่างเข้าใจและชอบพอกันและกันมากขึ้น…”

จนเมื่อถึงเวลาที่หม่อมคัทรินกลับเมืองไทย ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ก็กลายเป็น “การผูกพันอย่างลึกซึ้ง” จนไม่อาจที่จะทรงแยกจากหม่อมเจ้าหญิงได้ และไม่ว่าหม่อมคัทรินจะขอร้องอ้อนวอนให้ทรงคิดถึงความหลัง ความรักความผูกพัน หรือแม้กระทั่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงอุปนิสัยไม่ดีบางประการของตนเอง เพื่อที่จะได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตรักกันใหม่

ส่วนความสัมพันธ์กับหม่อมเจ้าหญิงนั้นขอให้เป็นเพียงความสัมพันธ์กันฉันญาติสนิท คือยังคงติดต่อคบหาสมาคมกันได้ แต่ขอเพียง “…ฝ่าบาทจะต้องทรงให้สัญญากับหม่อมฉันว่า จะไม่ทรงลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น…” เป็นคำขอที่พระสวามีมิอาจทรงปฏิบัติได้ เพราะทรงมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับชายไทยทั่วไปในสมัยนั้นว่าการที่ผู้ชายจะมีภรรยากี่คนก็ไม่แปลก หากสามารถที่จะให้ความสุขแก่ภรรยาทุกคนได้อย่างทั่วถึง

เมื่อเธอแจ้งความประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะเป็นฝ่ายเดินออกจากชีวิตสมรสนั้น หัวใจของเธอสลายแล้วโดยสิ้นเชิง และเธอปลงใจเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าหม่อมเจ้าหญิงผู้นั้นคือต้นเหตุแห่งการล่มสลายในชีวิตคู่ของเธอ

13 ปีผ่านไป ใน พ.ศ. 2475 ชีวิตของหม่อมคัทรินและหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสได้เวียนมาพบกันอีกครั้งที่ปารีส ครั้งนี้หม่อมเจ้าหญิงอยู่ในฐานะชายาของหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ ซึ่งได้ทรงสมรสกันหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระสวามี หม่อมเจ้าหญิงกำลังประชวรด้วยโรคร้าย ต้องเสด็จมารักษาพระอาการประชวรที่ยุโรป หม่อมคัทรินบรรยายสภาพของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสไว้ว่า

หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส และหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส และหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์

“…เธอซีดไปทั้งร่างเหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมเสวยอะไร ผอมเหลือแต่กระดูก หมอที่รักษาอยู่บอกว่าไม่มีความหวังอะไรมากนัก…” จากสภาพหม่อมเจ้าหญิงที่ปรากฏขณะนั้นทำให้หม่อมคัทรินหวนรำลึกถึงเรื่องราวหนหลังโดยเฉพาะความเจ็บช้ำที่เธอได้รับจากสตรีผู้นี้

ดังปรากฏความในใจของเธอในบันทึกส่วนตัวตอนหนึ่งว่า “…ความทุกข์ทรมานที่ฉันได้รับจากเด็กสาวคนนี้ได้หวนกลับมารบกวนจิตใจฉันอีกครั้ง ฉันเกิดความรู้สึกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งก็สงสารที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย อีกด้านก็รู้สึกสะใจที่ในที่สุดพระเจ้าก็ลงโทษความเห็นแก่ตัวของเธอ…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘สงสาร’ หรือ ‘สะใจ’ ความในใจของแคทยา” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2563