ชีวิตรักหม่อมแคทยา และประเพณีอันน่ารังเกียจ

หม่อมคัทริน หรือหม่อมแคทยา (ภาพจากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

“—ประเพณีหลายเมียซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากนั้นเป็นที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผู้ชายบางคนมีเมียถึงสิบคน บางคนก็มากกว่านี้ คนหนึ่งเป็นเมียหลวง ส่วนที่เหลือก็เป็นเสมือนข้าช่วงใช้ในบ้าน—

เป็นข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่หม่อมคัทริน นามเดิมว่า เอกาเทรินา อิวาโนวา เดสนิตสะกี้ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า แคทยา ชายาชาวรัสเซียของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ ที่เขียนถึงอิวานพี่ชายคนเดียวที่อยู่ในรัสเซีย เล่าถึงประเพณีบางอย่างของสยามที่แตกต่างจากชาวยุโรป และเป็นประเพณีที่เธอรังเกียจ ไม่ยอมรับ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพบรักและเข้าอภิเษกสมรสกับหม่อมคัทริน ขณะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศรัสเซีย เมื่อทั้งคู่กลับมาครองรักกันในสยาม ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันในทุก ๆ ด้าน หม่อมคัทรินสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

แต่มีสิ่งหนึ่งที่หม่อมคัทรินบอกกับตนเองว่ารับไม่ได้ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับเธอ นั่นคือประเพณีการมีเมียหลายคนของผู้ชายชาวสยาม

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและแคทยา (ภาพจากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

แม้หม่อมคัทรินจะประจักษ์ใจถึงความแตกต่างกันของแนวคิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดังกล่าว แต่ครั้งนั้นการปฏิบัติพระองค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายชาวสยามทำให้เธอเชื่อมั่นในความรักและความซื่อตรงที่ประทานให้เธอเพียงคนเดียวดังปรากฎความรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจที่จะกล่าวว่า “เล็กมีเพียงฉันคนเดียว” และหม่อมคัทรินยังมีความหวังว่า ประเพณีที่เธอรังเกียจนี้คงจะได้รับการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า

ดังปรากฏความหวังนี้ในจดหมายที่เธอมีถึงพี่ชายที่รัสเซียฉบับหนึ่งว่า “—ฉันได้แต่หวังว่า เมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ทรงขึ้นครองราชย์ ประเพณีหลายเมียคงเลิกลากันไป เพราะราษฎรส่วนใหญ่ก็มักจะทำตามพระเจ้าอยู่หัวของตน เป็นที่รู้กันว่า เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะมีมเหสีองค์เดียว เพราะเชื่อในเรื่องผัวเดียว เมียเดียว—” 

แต่ความมั่นใจและความภาคภูมิใจในระยะแรกของการครองคู่กันก็ค่อย ๆ ลดถอยลงด้วยเหตุผลและเหตุการณ์ที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาส่ชีวิตคู่ของเจ้าชายผู้สูงศักดิ์ชาวสยามกับหญิงสามัญชนชาวรัสเซีย ทำให้เกิดช่องว่างกว้างขึ้นทุกที จนชีวิตรักของเธอไม่อาจข้ามพ้นประเพณีที่เธอรังเกียจได้

เวลาผ่านไปนำความสนิทสเน่หาให้จางลงเหลือเพียงความผูกพันและหน้าที่ ซึ่งทั้งคู่ยังไม่อาจรู้สึกได้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายังไม่ทรงรู้พระองค์ว่าชีวิตคู่ของพระองค์เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและกดดันจากนิสัยและการปฏิบัติตัวของหม่อมคัทรินที่เอาแต่ใจตัวเอง

จนเมื่อคราวหนึ่งที่หม่อมคัทรินเดินทางไปพักผ่อนที่รัสเซียบ้านเกิดเป็นเวลานาน และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าทรงมีโอกาสพบปะสนิทสนมกับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระธิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หม่อมเจ้าหญิงพระองค์นี้ เพิ่งมีพระชันษา 15 ปี

ทรงเป็นเด็กสาวไร้เดียงสา มีแต่ความสนุกสนานรื่นเริงปราดเปรียวคล่องแคล่ว ทรงสำราญกับการเล่นไม่รู้จักเหนื่อย ทรงสรวลเสียงกังวานใสโดยเฉพาะเมื่อได้ฟังเรื่องที่ถูกพระทัยจะทรงสรวลจนตัวงอ ทรงนำพาความสดใสร่าเริงเผื่อแผ่ไปยังผู้คนรอบพระองค์ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายหนุ่มซึ่งทรงเพิ่งตระหนักพระทัยถึงความเคร่งเครียดและกดดันจากการปฏิบัติตัวของหม่อมคัทริน ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “—ความไม่พอใจของแคทยาในเรื่องราวจุกจิกมากมายหลายเรื่อง คราใดที่เธอเกิดไม่พอใจเรื่องอะไรขึ้นมาก็จะมาลงเอาที่ฉันทุกครั้ง—” 

หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์ (ภาพจากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

และเมื่อหม่อมแคทรินกลับมาสยามอีกครั้งก็พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระสวามีกับหม่อมเจ้าหญิงสาวนั้นลึกซึ้งเกินกว่าทั้งสองจะถอนตัวจากกันได้ โดยเฉพาะสมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทรงปฏิเสธที่จะเลิกความสัมพันธ์กับหม่อมเจ้าหญิง ด้วยเหตุผลของผู้ชายในสมัยนั้นที่ว่า

“แคทยาเอาแต่เรียกร้องให้ฉันเลิกราจากหญิงชวลิตฯ อย่างเด็ดขาดและไม่ยอมให้คบหากันต่อไป ถ้าฉันยอมตามใจแคทยา มันก็จะดูไม่ยุติธรรมนักสำหรับหญิงชวลิตฯ และที่สำคัญ ฉันจะเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีต่อไปได้อย่างไร—เพราะถ้าฉันยอมให้ในคราวนี้ ฉันก็คงจะต้องยอมในในทุก ๆ เรื่อง ไปจนตาย—“ และทรงให้คำแนะนำเป็นแนวทางให้หม่อมชายาไม่อาจจะคิดและปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้

ดังปรากฏในจดหมายที่เขียนโต้ตอบพระสวามี ความว่า “—รับสั่งของฝ่าบาทซึ่งบ่งเป็นนัยความหมายว่า หากแม้นหม่อมฉันทำเป็นไม่สนใจไยดี หึงหวงจนออกนอกหน้าแล้ว หม่อมฉันก็จะไม่รู้เรื่องที่ฝ่าบาทแอบไปพบกับท่านหญิงชวลิตฯ เป็นรับสั่งที่ทำให้หม่อมฉันเสียใจมาก และหม่อมฉันยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ได้—”

ด้วยแนวคิดวิถีชีวิตและประเพณีที่ต่างกันทำให้หม่อมคัทรินไม่เข้าใจถึงแนวพระดำริของพระสวามีที่ให้เธอทำเหมือนไม่รู้เรื่องนี้ และแม้สถานการณ์จะคับขันเพียงใด หม่อมคัทรินก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะยื้อชีวิตคู่ให้ยาวนานต่อไป วิธีหนึ่งคือการปรับปรุงตัวเอง

แต่ในยามที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทรงกำลังมีหม่อมเจ้าหญิงสาวสดอยู่เต็มพระทัย จึงทรงยืนยันและหวังว่าหม่อมชายาจะยอมรับสภาพเช่นหญิงสยามในสมัยนั้น “—เธออาจจะคิดได้และยอมรับหญิงชวลิตฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวภายใต้การดูแลของเธอ”

โดยทรงให้เหตุผลตามแบบผู้ชายชาวสยามในสมัยนั้น “—ทั้งนี้เพื่อที่ว่าอย่างน้อยที่สุดฉันจะได้มีใครสักคนคอยปรนนิบัติให้ความสุขแก่ฉัน ทำให้ฉันปลอดโปร่งและผ่อนคลายจากความเคร่งเครียดในหน้าที่การงาน” แต่แม้จะทรงอ้างเหตุผลใด ๆ ก็ตาม หม่อมชายายังไม่อาจที่จะเข้าใจในแนวคิดนี้ของพระองค์ได้

เรื่องความแตกต่างกันของแนวคิดวิถีชีวิตและประเพณีที่ว่า “—ประเพณีหลายเมียซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากนั้น—ไม่สามารถจะทนอยู่ร่วมกับสิ่งนี้ได้— เป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่าร้างสิ้นสุดการครองรักครองคู่ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายและหม่อมต่างชาติคนแรกของสยาม

 


คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ชีวิตคู่ของหม่อมแหม่ม” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2554

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 สิงหาคม 2561