ข่าวลือปฏิวัติ-ลอบทำร้ายรัชกาลที่ 7 คราวสมโภชพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 ลือไปไกลถึงลอนดอน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับที่หน้าพลับพลาสูงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ด้านนอกพระบรมมหาราชวัง รถม้าประดิษฐานรัฐธรรมวิ่งผ่านหน้าพระที่นั่ง บนถนนสนามไชย เป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2475, ข่าวลือ การปฏิวัติ
พระบรมฉายาลักษณ์ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับที่หน้าพลับพลาสูงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ด้านนอกพระบรมมหาราชวัง รถม้าประดิษฐานรัฐธรรมวิ่งผ่านหน้าพระที่นั่ง บนถนนสนามไชย เป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2475” (ภาพสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1,สำนักพิมพ์ต้นฉบับ)

ใน พ.ศ. 2475 เป็นวาระครบรอบ 150 ของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และการประดิษฐานพระราชวงศ์จักรี ได้มีการจัดพระราชพิธีสมโภชพระนคร แต่ในช่วงเวลานั้นกลับมี “ข่าวลือ” ต่าง ๆ อาทิ ข่าวลือการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข่าวลือการลอบทำร้ายรัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งข่าวลือเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น

ข่าวลือเรื่องพระราชวงศ์นี้ เสทื้อน ศุภโสภณ กล่าวไว้ว่า

“มีข่าวลืออันสู้ไม่เป็นมงคลเกี่ยวกับราชจักรีวงศ์เกิดขึ้นเนือง ๆ เป็นต้นว่า…ราชวงศ์จักรีจะมีอำนาจอยู่ได้ 150 ปี ซึ่งกำหนดเวลาที่พยากรณ์ไว้นี้ก็ได้มาถึงแล้ว

บ้างก็ว่าดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจอมนักรบพระนามกระเดื่อง กำลังเสด็จมาทวงบัลลังก์คืน! ยิ่งกว่านั้น ยังมีการยืนยันกันอีกว่า ได้มีผู้พบเห็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ เสด็จมาสำแดงเดชปรากฏพระวรกายให้เห็นในยามค่ำคืนอยู่เนือง ๆ บ้างก็ว่าได้มีผู้พบเห็นตาชีปะขาวมาแสดงปาฏิหาริย์เดินไปเดินมาอยู่บนสะพานพุทธฯ ซึ่งกำลังรอทำพิธีเปิดในวันฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ในยามดึกดื่น แล้วก็อันตรธานหายไป… เหล่านี้ล้วนแต่เป็นข่าวลือที่ทำลายขวัญของเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีทั้งนั้น!”

ข่าวลือข้างต้นมีความเกี่ยวข้องกับข่าวลือการปฏิวัติ และข่าวลือการลอบทำร้ายรัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์ ข่าวลือเหล่านี้ไม่เพียงแต่ลืออยู่แค่ในประเทศ ยังแพร่หลายไปถึงต่างประเทศด้วย โดย หม่อมเจ้า ดำรัสดำรง เทวกุล อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ถึงกับมีโทรเลขมาถึง กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

ข้อความในโทรเลขของทูตไทย ลงวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1932 มีความว่า “Please treat this as strictly confidential. Rumour has reached me from Bangkok that an attempt on the lives of His Majesty the King and Princes will be made during 150th Anniversary and that explosive and ammunition have disappeared from Arsenal.”

กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ 7 ผ่านราชเลขาธิการ ความว่า “ด้วยอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนมีโทรเลขลงวันที่ 29 เดือนนี้ว่า มีข่าวลือไปถึงอัครราชทูตว่า มีผู้พยายามจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวงานฉลองพระนคร ฯลฯ ดังมีความพิสดารแจ้งอยู่ในสำเนาคำแปลโทรเลขที่ข้าพเจ้าส่งมายังเจ้าคุณ ณ ที่นี้แล้ว

ข่าวนี้ก็ลือกันอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว ย่อมต้องออกไปถึงคนไทยที่อยู่ในยุโรปเป็นธรรมดา คิดด้วยเกล้าฯ จะตอบไปว่า ไม่ควรตกใจอย่างใดเลย ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสอันสมควร ขอเจ้าคุณได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท การจะควรประการใด แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ”

เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ มีข้อความตอบกลับ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ความว่า “ลายพระหัตถ์ลับที่ ก. 504/20169 ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2474 ประทานสำเนาคำแปลโทรเลขอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เรื่องข่าวลือว่ามีผู้พยายามจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวงานฉลองพระนคร ซึ่งทรงพระดำริจะตอบไปว่าไม่ควรจะตกใจอย่างใดเลยนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว”

[หมายเหตุ : การนับศักราชในสมัยนั้นยังนับแบบเก่า เดือนมีนาคม พ.ศ. 2474 เป็นเวลาไม่ถึง 3 เดือน ก่อนการปฏิวัติ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475]

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นในสมัยนั้น บันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “กลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 1932 ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่นั้น ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อย ๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร 150 ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินการติดต่อกันห้าวัน โดยที่มีวันที่ 6 เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น”

ขณะที่ เสทื้อน ศุภโสภณ อธิบายว่า ในวันประกอบพระราชพิธีเปิดสะพานพุทธฯ ในวันที่ 6 เมษายน ทางราชการเพิ่มกำลังอารักขาเป็นพิเศษ ทั้งตำรวจและทหารเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ได้ทำการอารักขาอย่างกวดขันที่สุด แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ด้วยดี “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระประมุขพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีแววแห่งความโล่งพระทัยปรากฏอยู่บนพระพักตร์อย่างเห็นได้ชัด”

แผ่นดินรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี เวียนเทียบรอบพระอุโบสถพุทธรัตนสถาน และบันทึกเหตุการณ์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 150 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นในวันที่ 4 เมษายน รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ มาประกอบพระราชพิธีบวงสรวงที่ท้องสนามหลวง ขณะที่เสด็จฯ ขึ้นไปบนพระมณฑปที่บวงสรวงท้ายพลับพลา เพื่อจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระรัตนตรัย และสักการะบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ก็มีลมพัดทำให้ไฟดับลง แม้นว่าพระองค์จะทรงพยายามจุดหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทรงจุดเทียนที่เตรียมไว้ได้ทั้งหมด ทูตญี่ปุ่นบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ในพระราชพิธีสำคัญเช่นนี้ควรจะมีฉากกั้นลม แต่ไม่มีใครเตรียมการไว้ และกล่าวว่า “ฉะนั้น ถ้าย้อนหลังกลับไปพินิจดู เรื่องนี้แสดงลางบอกเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่ถึงสามเดือน การปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้น”

เดิมฝ่ายปฏิวัติมีความคิดที่จะใช้ช่วงวันพระราชพิธีสมโภชพระนครลงมือปฏิบัติการ แต่ที่ประชุมมีมติไม่ลงมือในวันดังกล่าว โดยฝ่ายปฏิวัติยึดแผนการที่มีหลักสำคัญอยู่ที่ “หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเสียเนื้อ” และ “มิให้กระทบกระเทือนเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินสมควร” และจะไม่ “ก่อให้เกิดความตื่นเต้นหวาดเสียวแก่ประชาชนมากเกินไป… ให้มีความละมุนละม่อม” ซึ่งกว่าที่แผนการจะ “นิ่ง” ก็ล่วงเข้าสู่เดือนมิถุนายน ไม่กี่วันก่อนการปฏิวัติจะเกิดขึ้น

ด้านทูตญี่ปุ่น บันทึกถึงการล้มเลิกแผนการของฝ่ายปฏิวัติในพระราชพิธีสมโภชพระนคร ความว่า “แต่ว่าในเรื่องนี้ผู้เขียนได้ทราบภายหลังว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติในช่วงพิธี โดยอาศัยช่องว่างที่ข้าราชการและประชาชนกำลังชุลมุนกับงานพิธีเป็นประโยชน์ในการก่อการปฏิวัติ แต่กลุ่มผู้วางแผนการปฏิวัติสำนึกว่าในช่วงงานพิธีนั้นมีประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งคนต่างชาติเข้าร่วมงาน ถ้าหากเกิดการปฏิวัติขึ้นในโอกาสนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องที่น่ากลัวขึ้น การปฏิวัติในช่วงเวลานั้นจึงถูกระงับไป”

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือ การปฏิวัติเป็นที่ทราบของฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างดี แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการที่จะยับยั้งการปฏิวัติ ดังที่ทูตญี่ปุ่นบันทึกว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ไม่สนพระทัยเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์มีพระดำริว่า คนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร 150 ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้”

แต่กว่าที่ฝ่ายรัฐบาลจะดำเนินการต่อต้านการปฏิวัติได้ทันท่วงที เวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว ด้วย พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจภูธร ซึ่งได้เสนอรายงานเรื่องการปฏิวัติไปหลายครั้ง เตรียมจะจำกุมผู้ต้องสงสัยที่จะก่อการปฏิวัติพร้อมกันในช่วง 11 นาฬิกา ของวันที่ 24 มิถุนายน แต่ฝ่ายปฏิวัติก็ชิงลงมือในช่วงเช้าของวันนั้นก่อนแล้ว

ทูตญี่ปุ่นกล่าวว่า “เรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้… เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์.

ยาสุกิจิ ยาตาเบ. (2562). บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม. แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.

เสทื้อน ศุภโสภณ. (2535). ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช. กรุงเทพฯ : ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง.

ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2564