สาเหตุที่ปธน. “ลินคอล์น” ปฏิเสธ “ช้างพระราชทาน” จากรัชกาลที่ 4

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อับราฮัม ลินคอล์น
อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 16

เหตุใด ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอย่าง “ลินคอล์น” จึงปฏิเสธ “ช้างพระราชทาน” จากรัชกาลที่ 4 ?

…ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในระดับสูงมีพัฒนาการเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1856 เป็นต้นมา ในช่วงระยะแรก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชสาส์น และของขวัญพระราชทานประธานาธิบดีแฟลงกลิน เพียซ (Flanklin Pierce) ในปี ค.ศ. 1856 ประธานาธิบดีเจมส์ บิวแคเนน (James Bucanan) ในปี ค.ศ. 1859 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1861

ในพระราชสาส์นพระราชทานประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียซ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องให้สหรัฐอเมริกาช่วยไทยโดยทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ถ้ามีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างอังกฤษและไทย แต่ประธานาธิบดีมิได้แสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องดังกล่าว

ในพระราชสาส์นฉบับสุดท้ายในปี ค.ศ.1861 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างแก่ประธานาธิบดีเพื่อช่วยในกิจการคมนาคมหลังจากที่ทรงทราบว่า สหรัฐกำลังทดลองใช้อูฐ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้มีจดหมายกราบบังคมทูลว่า รัฐบาลชุดนี้จะรอช้าในการที่จะรับสิ่งของที่มีประโยชน์ที่เหมาะกับสหรัฐในปัจจุบัน ‘ภูมิอากาศในประเทศนี้ไม่ได้มีอุณหภูมิต่ำเหมาะสำหรับช้าง’

ประธานาธิบดียังได้อธิบายอีกว่า ‘พลังไอน้ำที่ใช้ในการคมนาคมทั้งบนบก และในน้ำในประเทศนี้ เป็นสิ่งที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการขนส่งภายในประเทศ’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยกับคำตอบของประธานาธิบดีลินคอล์น พระองค์จึงได้ส่ง ช้างพระราชทาน ที่ทรงเตรียมไว้สำหรับสหรัฐไปยังฝรั่งเศสแทน และความสัมพันธ์ระดับสูงระยะแรกนี้ได้ยุติลงหลังเหตุการณ์ดังกล่าว…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งมาจากบทความ “ความคิดของคนอเมริกันที่มีต่อเมืองไทยในอดีต (ค.ศ.1821-1932)” เขียนโดย ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2561