เปิดกรุสมบัติรัชกาลที่ 4 ไปอยู่ในฝรั่งเศส สู่กำเนิด “มิวเซียมสยาม” ในวังฟองเตนโบล

ข้าวของ เครื่องใช้ เครื่องบรรณาการ จัดแสดง ใน พระราชวังฟองเตนโบล
กรุสมบัติ รัชกาลที่ 4 ในพระราชวังฟองเตนโบล มุมหนึ่งของมิวเซียมสยามใน "ซาลองยูเจนี" เมื่อ พ.ศ. 2547 (ภาพจากเอกสารแนะนำพระราชวังฟองเตนโบล เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2547

เปิด “กรุสมบัติ” รัชกาลที่ 4 ไปอยู่ในฝรั่งเศส สู่กำเนิด “มิวเซียมสยาม” ในวังฟองเตนโบล กรุงปารีส

พระราชเทวีองค์หนึ่งของจักรพรรดิฝรั่งเศส พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ “ศิลปวัฒนธรรม” ในอู่อารยธรรมเก่าแก่เช่นยุโรปอย่างครึกโครม พระนางทอดทิ้งยุคเรอเนซองส์ที่ฝรั่งเศสเป็นหัวหอกอยู่อย่างไม่สนใจใยดี ไม่ทรงนึกเสียดายฟื้นฟูศิลปวิทยาที่บรรพชนเป็นต้นแบบให้ยุโรปมาหลายร้อยปี โลกในฝันของพระนางกลายเป็นดินแดนอุษาคเนย์ในจินตนาการตามที่นักผจญภัยเล่าขานกันต่อๆ มา และตำนานขุมทรัพย์ทางโบราณคดีในแหลมอินโดจีน ที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสรุกคืบเข้าไปอย่างย่ามใจ

ราชนินีองค์นั้นไม่ใช่มารี อังตัวเน็ต ของหลุยส์ที่ 16 และไม่มีส่วนคล้ายโจเซฟีนของนโปเลียนที่ 1 แม้แต่น้อย แต่พระนางเป็นจักรพรรดินีคู่บัลลังก์ของนโปเลียนที่ 3 แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ผู้มีพระนามอันไพเราะว่า “ยูเจนี” ทว่าเรื่องของพระนางจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพงศาวดารไทยโดยที่เราไม่รู้ตัว

เมื่อสองปีมาแล้วผู้เขียนอ่านพบบทความน่ารู้ในหนังสือโบราณคดีเล่มหนึ่ง กล่าวถึง “กรุสมบัติคิงมงกุฎ” ในดินแดนโพ้นทะเล รายงานนั้นกล่าวไว้สั้นๆ แต่ชวนติดตามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการชั้นสูง รวมมูลค่ามหาศาลหลายแสนฟรังก์ เมื่อเกือบ 150 ปีมาแล้ว ไปพระราชทาน นโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ทรัพย์สมบัติทั้งหมดบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่ รวมได้ถึง 48 กล่อง บรรทุกเรือรบฝรั่งเศสเต็มลำ ไปพร้อมด้วยคณะทูตชุดใหญ่ที่สุด รวมได้ 27 คน ฝ่าคลื่นลมรอนแรมมาทางคลองสุเอซ ที่เพิ่งขุดสำเร็จใหม่เข้ามายังทวีปยุโรป

สิ่งของมีค่าเหล่านั้นผ่านพ้นวิกฤติการณ์สงครามกลางเมือง และสงครามโลกหลายครั้ง และไม่น่าเชื่อว่าจะพ้นเงื้อมมือพวกนักล่าสมบัติมาได้ ในขณะที่พระราชวังอันประเมินค่ามิได้ของฝรั่งเศสหลายแห่ง ถูกเผาผลาญวอดวายไปในกองเพลิง แต่กรุสมบัติพระจอมเกล้าฯ ก็อยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ เป็นที่เล่าลือว่าถูกเก็บซ่อนไว้ ณ พระราชวังเก่าๆ แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด

พระราชวังเก่าๆ นั้นชื่อ “ฟองเตนโบล” ตั้งอยู่ที่เมืองฟองเตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ทุกวันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เพราะไม่ได้อยู่ในเส้นทางตลาดทัวร์ที่นิยมกันจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น

กรุสมบัติพระจอมเกล้าฯ มีความสัมพันธ์กับ “จักรพรรดินียูเจนี” อย่างไรไม่มีใครคาดเดาได้ ถึงแม้ราชบรรณาการมูลค่ามหาศาลจะถูกนำขึ้นทูลถวายนโปเลียนที่ 3 เป็นผลสำเร็จก็ตาม แต่เฉพาะพระราชสาส์น ร.4 เท่านั้นที่ถึงพระองค์

พงศาวดารฝรั่งเศสสำหรับจักรพรรดิที่ 2 (ค.ศ. 1848-1874) เขียนว่า ยังมีสภาพสตรีหมายเลข 1 อดีตลูกสาวขุนนางจากสเปน จะเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อไปในสมัยนั้น การเดินทางมาฝรั่งเศสครั้งหนึ่งของเธอสามารถพลิกชีวิตเด็กสาวช่างฝัน ให้กลายเป็นจักรพรรดินีผู้สูงส่งขึ้นมาจริงๆ เมื่อเธอเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับทายาทที่เหลืออยู่ของพระราชวงศ์โบนาร์ฟาต ผู้มีนามว่า “หลุยส์ นโปเลียน” ปูทางให้ฝรั่งเศสคืนสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้งหนึ่ง หลุยส์ นโปเลียน ราชาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ แล้วจึงสถาปนาลูกสาวขุนนางผู้โชคดีคนนั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส [1]

เรื่องที่โจทก์กันมากในสมัยนั้น คือการที่ยูเจนีเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจักรพรรดิที่ 2 ในฝรั่งเศส เป็นผู้ทำให้ชีวิตในราชสำนักสดชื่นมีชีวิตชีวา ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของพระนาง คือควบคุมดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกำกับตกแต่งพระราชวังขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ถึง 4 แห่งให้น่าอยู่เสมอสำหรับองค์พระจักรพรรดิ ซึ่งจะแปรพระราชฐานแวะเวียนไปจนทั่วในรอบ 1 ปี

ฤดูกาลในฝรั่งเศสมีผลให้การใช้ชีวิตในราชสำนักหมุนเวียนไปตามวังต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบเมืองหลวง ตลอดฤดูหนาวพระราชวงศ์จะประทับอยู่ที่พระราชวังตุยเลอรีย์ (Les Tuileries) ในกรุงปารีส ฤดูใบไม้ผลิย้ายไปที่วังแซงคลูท์ (St. Cloud) ในฤดูร้อนผ่อนคลายกันอยู่ที่วังฟองเตนโบล (Fontainebleau) ใบไม้ร่วงไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าวังกองเปียญ (Complegne) [2]

แต่ที่ไหนๆ ก็ไม่วิเศษเท่าฟองเตนโบล นโปเลียนที่ 3 สพพระเนตรยูเจนีเป็นครั้งแรกที่นี่ จากการที่เธอถูกเชื้อเชิญให้เป็นแขกมาร่วมในงานประจำปีหลังฤดูล่าสัตว์ในปี ค.ศ. 1852 ฟองเตนโบลจึงมีความหลังสำหรับทั้ง 2 พระองค์มากกว่าที่อื่นหมด และเป็นเหตุให้คนไทยกลุ่มแรกไปที่นั่นเมื่อเดินทางไปถึงฝรั่งเศสกลางฤดูร้อนในปี ค.ศ. 1864 พร้อมกับพระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และของมีค่าจำนวนมาก ก็มาถึง “วังรัก” ของพระองค์ทั้งสองด้วยความประจวบเหมาะ

ผู้เขียนรอคอยจดหมายตอบจากทางฟองเตนโบล ในการขออนุญาตเข้าไปหาข้อมูลเรื่องกรุสมบัตินี้นานหลายสัปดาห์ จนคิดว่าจดหมายไปไม่ถึงแน่แล้ว วันหนึ่งก็มีคำตอบกลับมาว่าอนุมัติให้เข้าชมได้ พร้อมกับแจ้งข่าวดีบางอย่างที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่า ทางพระราชวังก็ได้ค้นพบเอกสารบางอย่างจากสมัยนั้น ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาก จะเก็บไว้ให้ชม

อีกสามสัปดาห์ต่อมาผู้เขียนก็ไปถึงฟองเตนโบล สิ่งแรกที่ได้ชมคือ เอกสารชุดดังกล่าวที่เพิ่งถูกค้นพบเช่นกัน เป็นภาพเก่า 2 ภาพ อายุ 131 ปี จากหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนโปเลียน ช่วยให้ประวัติศาสตร์ดูมีชีวิตขึ้นมาอีก ฉบับแรกจากปี ค.ศ. 1861 กล่าวถึงการจัดแสดงของมีค่าจากพระบรมมหาราชวังกรุงปักกิ่ง ของพระเจ้าเซียงเฟ็งฮ่องเต้ ที่ถูกทหารฝรั่งเศส “ฉกฉวย” ออกมา เพื่อนำกลับไปถวายนโปเลียนที่ 3 [4]

ส่วนฉบับที่สองจากปี ค.ศ. 1863 ลงข่าวการเสด็จเปิดมิวเซียมสยามของยูเจนีอย่างเป็นทางการ เพื่อจัดแสดงเครื่องบรรณาการอันล้ำค่าของคิงมงกุฎ [5] ล้วนเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าตื่นเต้นมาก แม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกรุสมบัติ “ยังต้องอึ้ง” เอกสารทั้ง 2 ชิ้นนี้นับว่าเก่าที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุดตั้งแต่ของทั้งหมดเดินทางมาถึงฝรั่งเศส แล้วเรื่องก็เงียบหายไปหลังสิ้นรัชกาลนโปเลียนที่ 3 แล้ว

สิ่งที่น่าตกใจที่สุดในหน้าข่าววันนั้น คือรายการว่าส่วนหนึ่งของกรุสมบัติจากเมืองจีน (พ.ศ. 2547 จัดแสดงอยู่ในที่เดียวกันกับของไทย-ผู้เขียน) เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศส “ปล้นเงียบ” มาได้ เพราะในข่าวลงว่า “ฉกฉวยออกมาได้” จากพระราชวังต้องห้ามเมื่อกรุงปักกิ่งแตก [4]

ในขณะที่ของอีกส่วนหนึ่งต่างหากส่งมาอย่างเอิกเกริก ฝรั่งเศสส่งเรือรบไปถึงกรุงเทพฯ เพื่ออัญเชิญมา เต็มไปด้วยพิธีรีตอง ซึ่งพอจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นกุศโลบายในพระราชวินิจฉัยของ ร.4 แต่กลับเป็นความหรูหราตระการตาในสายตาพระเนตรของยูเจนี! เครื่องบรรณาการจากไทยจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุที่ทหารฝรั่งเศสโจรกรรมมาจากกรุงปักกิ่งแต่อย่างใด

การล่มสลายของอาณาจักรจีนเป็นข่าวสะเทือนขวัญที่ทำให้คนตื่นตกใจไปทั่วทั้งโลก ในขณะที่พระวิเทโศบายทวนกระแสของคิงมงกุฎ เป็นสิ่งที่นักล่าเมืองขึ้นจับตามองอย่างรำคาญใจ การโค่นล้มเมืองจีนลงได้ย่อมเป็นชัยชนะอันงดงามในสายตาจักรพรรดินิยมตะวันตก เป็นการรอคอยที่คุ้มค่าไม่มีอะไรมาทดแทนได้ และเป็นบทเรียนราคาแพงที่สุดสำหรับชาวเอเชีย

สื่อมวลชนฝรั่งเศสประโคมข่าวกันอย่างมันมือ

ฝรั่งเปิดโปง “ความอื้อฉาว” เรื่องที่มาของวัตถุล้ำค่าจากเมืองจีน ว่าเป็นความชอบธรรมที่เกิดขึ้นของฝ่ายตน [3]…

“การดำเนินชีวิตของชาวยุโรปในกรุงจีนมีความตรึงเครียดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 ชาวยุโรปรวมถึงบาดหลวงชาวฝรั่งเศสถูกสังหารอย่างสยดสยอง สนธิสัญญาที่พระเจ้าเซียงเฟ็งฮ่องเต้ทำไว้กับฝ่ายเราไม่ได้รับความเคารพ พระองค์ทำการรุนแรงต่อชาวต่างชาติ และทำทารุณกรรมต่อทูตที่ส่งไปเจรจา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1860 ฝรั่งเศสและอังกฤษ ยื่นต่อจักรพรรดิจีนให้เคารพทูตของพวกเรา แต่ไม่ทรงสามารถตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าได้ ในปีนั้นเองกองกำลังผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศสจึงยกพลขึ้นบก และเข้าโอบล้อมกรุงปักกิ่ง เกิดการสู้รบกันขึ้นเป็นสงครามชื่อ ‘ป.ลีโก’ พอตกเย็นวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1860 กองกำลังฝรั่งเศสสามารถไล่ล่าทัพจีนจนแตกกระเจิง เราเคลื่อนพลเข้าสู่เมืองต้องห้าม และเข้ายึดครองพระบรมมหาราชวังที่เรียกว่า ‘ยวน-มิง-ยวน’ ได้สำเร็จ

จักรพรรดิจีนและมเหสีอีกหลายพระองค์ หลบหนีออกไปในเวลากลางคืนสู่แคว้นมองโกเลีย ทหารฝรั่งเศสรอคอยการมาถึงของกำลังผสมฝ่ายอังกฤษ

เขตพระราชฐานชั้นในประกอบด้วยพระตำหนักน้อยใหญ่กว่า 20 แห่ง ท้องพระคลังเต็มไปด้วยเงินตรา และราชสมบัติจำนวนมหาศาลอยู่ในสภาพปกติ ประมุขฝ่ายจีนไม่สามารถออกไปได้ทันเวลา ด้วยสิทธิอันชอบธรรมของผู้ชนะ กองทัพชาวยุโรปเข้าหยิบฉวย ‘ทรัพย์เชลย’ ได้โดยเสรี ปราศจากการขัดขวางใดๆ ทรัพย์สินที่พบในพระราชวังถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน สำหรับพวกเราและอังกฤษ ในขณะนั้นก็มีนักล่าสมบัติชาวจีนเข้ามาขโมยสิ่งของบางอย่างออกไปด้วย ในที่สุดท่านลอร์ดเอลกิน ผู้บัญชาการกองกำลังผสม ก็มีคำสั่งให้เผาพระราชวังลงเสียในวันที่ 18 ตุลาคม

ทหารของเราขนย้ายสมบัติจากกรุงจีน นำกลับมาฝรั่งเศสอย่างปลอดภัย แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระจักรพรรดินียูเจนี มีทั้งเครื่องเพชรพลอย หยก สถูปเจดีย์ทองคำ และเครื่องลายคราม นอกจากนั้นยังมีเสื้อเกราะและอาวุธโบราณแบบจีนจำนวนมาก สมบัติทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังฟองเตนโบลในภายหลัง

นโปเลียนที่ 3 และยูเจนีทรงสนพระทัยของเหล่านั้นมาก มีพระดำรัสให้กว้านซื้อส่วนที่ขาดหายไปในตลาดมืด เพื่อสะสมไว้ในครบสมบูรณ์ที่สุดในห้องจีนของพระอัครมเหสี

เมื่อของมาถึงใหม่ๆ ท่านแม่ทัพนำขึ้นถวายที่พระราชวังตุยเลอรีย์ ในกรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1861 ซึ่งยูเจนีโปรดให้นำออกแสดงต่อสาธารณชนทันที [3] รูปในการจัดแสดงนิทรรศการทรัพย์เชลยนี้ปรากฏอยู่ในภาพที่ 1 จากเอกสารที่พบเมื่อเร็วๆ นี้ คำว่า ‘ห้องจีน’ เกิดขึ้นเมื่อรวมเรียกวัตถุโบราณที่นำมาจากพระราชวังในปักกิ่ง”

จักรพรรดินียูเจนียังไม่ได้คิดทำอะไรกับสมบัติเหล่านั้นจนอีกหลายเดือนต่อมา ในขณะที่การรุกรานเอเซียดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดและต่อเนื่อง เกิดการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมทุกหย่อมหญ้า ยกเว้นราชอาณาจักรเล็กๆ แห่งหนึ่งในอุษาคเนย์ เริ่มมีความเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้น

พงศาวดารฝรั่งเศสกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า… [3]

“27 มิถุนายน ค.ศ. 1861 ราชทูตพิเศษจากคิงมงกุฎได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ฟองเตนโบล บรรณาการจากสยามประกอบด้วยพระบรมรูปของคิงมงกุฎ และเครื่องราชูปโภคหลายสิบชิ้นที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์จริงๆ ฯลฯ ในเดือนเดียวกันนั้นยูเจนีโปรดให้จัดแสดงของขวัญในห้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัง จักรพรรดินีทรงยินดีกับของมีค่าเหลานี้ ถึงกับมีพระราชเสาวนีย์ให้นายช่างชื่ออเล็กซี พากกา ออกแบบดัดแปลงส่วนหนึ่งของพระตำหนักด้านหลัง งานเริ่มทันทีกลางปี ค.ศ. 1862 แล้วเสร็จในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1863

วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1863 ตู้ขนส่งพัสดุภัณฑ์ขนาดยักษ์ จำนวน 15 ตู้ ถูกลำเลียงทางรถไฟมายังฟองเตนโบล จ่าหน้าถึงจักรพรรดินี เครื่องตกแต่งทั้งหมดถูกนำเข้าติดตั้ง โดยการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามพระราชเสาวนีย์ตามลักษณะแบบแผนของชาวตะวันออกไกลทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ปี 1863 เป็นต้นมา นโปเลียนที่ 3 พร้อมทั้งพระมเหสีมักจะใช้เวลาพักผ่อนพระอิริยาบทเป็นประจำในส่วนนี้ของพิพิธภัณฑ์ จนติดปากกันเรียกว่า ‘ซาลองยูเจนี’ จนตลอดรัชกาล”

ภาพที่เป็นหลักฐานเก่าที่สุดของมิวเซียมสยาม (ดูรูปที่ 1) เป็นภาพนโปเลียนที่ 3 และยูเจนีเสด็จไปเปิด “พิพิธภัณฑ์ไทย” ด้วยพระองค์เอง (เวลานี้ [พ.ศ. 2547] คือส่วนหนึ่งของห้องจีนนั่นเอง-ผู้เขียน) สังเกตได้ว่าตำแหน่งของที่จัดแสดงในมุมต่างๆ ของห้องยังอยู่ในสภาพแบบเดิมทั้งสิ้น

นโปเลียนที่ 3 และ ยูเจนี เยียมชม ของล้ำค่า จัดแสดงใน มิวเซียมสยาม
ภาพที่ 1 นโปเลียนที่ 3 และ ยูเจนี เสด็จไปเปิด มิวเซียมสยาม เมื่อ ค.ศ. 1863 ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2547

29 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ผู้เขียนเดินเข้าไปใน “มิวเซียมสยาม” อย่างระมัดระวัง พบเสลี่ยงองค์งามวางอยู่บนพระแท่นสูงเด่น มีกระจกปิดกั้นไว้เป็นสัดส่วน พระโธรนเก้าอี้ภายใต้พระกลดองค์มหึมากางออกอย่างสง่าผ่าเผย อานม้าและสายบังเหียนหลวง งาช้างไทย พระกลดเดินสายปักดิ้นเงินดิ้นทองหลายองค์ พัดยศปักลายไทย คฑามีพุ่ม พระแสงของ้าวที่มีใบมีคดกริบ นอกนั้นยังมีเครื่องประดับพระราชอิสริยยศ เช่น สายรัดพระองค์ ฝังอัญมณี จี้มรกฏประดับเพชร แหวนฝังเพชรและมรกต ดาบฝักถม ตลับและเครื่องทองคำลงยา จัดแสดงอยู่ในตู้ต่างๆ หลายใบ

ข้าวของ เครื่องใช้ เครื่องบรรณาการ ใน กรุสมบัติ รัชกาลที่ 4 ที่ พระราชวังฟองเตนโบล ฝรั่งเศส
กรุสมบัติ รัชกาลที่ 4 ในพระราชวังฟองเตนโบล มุมหนึ่งของมิวเซียมสยามใน “ซาลองยูเจนี” เมื่อ พ.ศ. 2547 (ภาพจากเอกสารแนะนำพระราชวังฟองเตนโบล เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2547

นอกจากนั้นยังมีภาพวาดพระแก้วมรกตทรงเครื่องสามฤดูบนผืนผ้า และที่ล้ำค่าที่สุดคือพระมหามงกุฎสยาม สัญลักษณ์ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องหมายตัวแทนของพระองค์ ส่วนเป็นของขวัญที่นโปเลียนที่ 3 และยูเจนีพึงพอพระทัย เวลานี้พบว่ามีอยู่จริง ในสภาพที่สมบูรณ์ บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเกราะคุ้มกันภัยพิบัติต่างๆ ที่เคยรุมเร้าพระราชหฤทัย ร.4 อยู่ตลอดเวลา

โครงการมิวเซียมสยามเปรียบเสมือนพระราชเสาวนีย์ของจักรพรรดินียูเจนี ในนามของพระจักรพรรดิที่ตอบพระบรมพจนารถของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีไปถึงทั้งสองพระองค์ว่า…

“กรุงสยามไว้ใจว่ายศของกรุงสยามจะยั่งยืนมั่นคงดำรงเป็นปรกติอยู่ได้ ก็เพราะกรุงฝรั่งเศสทรงพระเมตตาปรานีอนุเคราะห์กรุงสยาม” [6]

กรุสมบัติพระจอมเกล้าฯ ในพระราชวังฟองเตนโบล เป็นมรดกสยามชุดใหญ่ที่สุด ที่ถูกนำออกไปนอกประเทศไทยครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นขุมทรัพย์ทางโบราณคดีล้ำค่าของไทย ที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศให้รำลึกถึงตลอดไป

ขอขอบคุณ MME Lucienne Leveque และเจ้าหน้าที่ Chateau de Fontainebleau ทุกท่านในความเอื้อเฟื้อนำชม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] David Duff, Eugenie and Napoleon 3, Newyork 1978
[2] John Bierman, Napoleon 3 and his Carnival Empire, Newyork 1988
[3] Chateau of Fontainebueau, an Official Guide Book Paris 1996
[4] นสพ. Le Monde Illustre ค.ศ. 1861, Paris
[5] นสพ. L’Illustration ค.ศ. 1863, Paris
[6] พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหามงกุฎราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ 2521


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เปิดกรุสมบัติพระจอมเกล้าฯ กำเนิด ‘มิวเซียมสยาม’ ในวังฟองเตนโบล” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2564