“หลวงพรหมเสนา” ขุนศึกร่วมรบ “พระเจ้าตาก” ตั้งแต่ทัพ 1,000 นาย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประกอบ เรื่อง หลวงพรหมเสนา
จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ "สมรภูมิปากพิง" แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรและวางแผนการรบที่สมรภูมิปากพิง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นผู้กอบกู้บ้านเมืองให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง หลังกรุงศรีอยุธยาแตกไปใน พ.ศ. 2310 แต่การรวบรวมให้กลับมาดังเดิม ต้องอาศัยทหารร่วมรบมากมาย ซึ่งพระเจ้าตากทรงมี “ขุนศึกคู่ใจ” ที่ช่วยพระองค์รบมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “หลวงพรหมเสนา”

จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ นำกองทัพเรือมาถึงบ้านปากพิง เมืองพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

“หลวงพรหมเสนา” รับราชการกับพระเจ้าตากมาตั้งแต่ที่เมืองตาก-ระแหง และติดตามกองทัพมากรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2307 

เหตุที่ทำให้ทราบว่าท่านอยู่กับพระเจ้าตากมาตั้งแต่ต้น เพราะบรรดาศักดิ์ของท่านเป็นตำแหน่งสำคัญที่เจ้าเมืองมักตั้งให้บรรดาบ่าวไพร่คนสนิท (มักพบบ่อยในกรมการเมืองเหนือ)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ท่านมีส่วนสำคัญมากในช่วงต้นเส้นทางสำหรับการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีหลักฐานกล่าวไว้ว่าท่านเป็นขุนศึกที่ร่วมรบกับพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งแต่ทรงนำทัพเพียง 1,000 นาย 

ท่านเชี่ยวชาญเรื่องธนู วิชาอาคม รวมถึงเป็นหมอสักยันต์ให้ทหารเมื่อต้องออกรบ

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

อย่างที่ทราบกันว่าท่านอยู่กับพระเจ้าตากมานาน ท่านจึงเป็นขุนศึกที่มีความสำคัญมาก ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญมากมาย อย่างในศึกที่เมืองระยอง พงศาวดารก็กล่าวถึงท่าน ดังนี้…

“ครั้นเพลาค่ำประมาณทุ่มเศษอ้ายเหล่าร้ายยกทหารลอบเข้ามาตั้งค่ายล้อมได้ ๒ ด้านแล้วโห่ร้องยิงปืนน้อยระดมบุกเข้ามาจึงตรัสให้ดับแสงเพลิงเสียจัดทหารประจำที่สงบไว้แล้วเสด็จด้วยทหารไทยจีนถือปืนคาบศิลา พระเชียงเงินท้ายน้ำ หลวงชำนาญไพรสณฑ์ หลวงพรหมเสนา…แล้วให้ทหารปืนเข้าตะลุมบอนฟันแทงข้าศึกหักเอาค่ายได้อ้ายเหล่าร้ายล้มตายแตกยับเยิน”

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังเป็นผู้จับกุมเจ้าเมืองระยองอีกด้วย…

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงการบุกตีเมืองจันทบูร รวมถึงประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี กลับไม่พบชื่อของท่าน ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดกันว่าท่านอาจเสียชีวิตหรือได้เลื่อนตำแหน่ง รับบรรดาศักดิ์อื่น หรือได้เป็นเจ้าพระยานครสวรรค์ในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากท่านพระยาผู้นี้เคยเป็นตำแหน่งพระยาอนุรักษ์ภูธรมาก่อน 

แม้จะยังไม่ชัดเจนในชีวิตช่วงบั้นปลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่ผ่านมาท่านถือเป็นขุนศึกร่วมรบสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เก่งกาจและเปี่ยมไปด้วยความภักดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. วัดเสี่ยงทายพระบารมี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและทหารคู่พระทัยจากเมืองตาก ใน ศิลปวัฒนธรรม เดือน พฤศจิกายน 2567 ปีที่ 46 ฉบับที่ 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2567