ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวของ “นายหมุด” (จักรีแขก) ทหารมุสลิม คู่พระทัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตมากว่า 200 ปี หลาย “เรื่อง” เกี่ยวกับพระองค์ยังเป็นที่ร่ำลือ ไม่ว่าจะเป็นคุณูปการที่กอบกู้บ้านเมือง พระอัจฉริยะภาพทางการทหาร ความผิดปกติของพระสติ แม้แต่เรื่องราวของนายทหารสำคัญก็ยังถูกพูดถึง อาทิ พระยาพิชัยดาบหัก หรือในที่นี่ซึ่งจะพูดถึงคือ ทหารมุสลิม คู่พระทัย
หลายเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องเล่าที่เราเคยฟังกันในลักษณะของตำนานเรื่องเล่าที่ผสมปนเปทั้งเรื่องเท็จ เรื่องจริง และหลายเรื่องก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เรื่องเล่าที่พูดถึงนั้นมีหัวข้อเกี่ยวกับ “ทหาร” ของพระเจ้าตากที่ชื่อ “นายหมุด” ด้วย
บทความเรื่อง “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ” ของปเรตร์ อรรถวิภัชน์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 เล่าเรื่องนายทหารมุสลิมคนสำคัญของกรุงธนบุรี “เจ้าพระยาจักรี (หมุด)” ว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือ “นายหมุด” เป็นแขกสุหนี่เชื้อสายเปอร์เซีย เดิมเป็นข้าราชสำนักอยุธยา ตำแหน่งหลวงนายศักดิ์ (หมุด) ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยอากรจากหัวเมืองตะวันออก และได้เงินจากพระยาจันทบุรี 300 ชั่ง
แต่เมื่อนายหมุดทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็ไม่ได้นำเงินส่วยอากร 300 ชั่งที่เก็บได้คืนแก่เจ้าเมืองจันทบุรี และตัดสินใจอาสาร่วมทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
นายหมุดมีชื่อเต็มว่า “มะหะหมุด” เป็นบุตรของขุนลักษมณา (บุญยัง) เป็นหลานปู่ของพระยาราชบังสัน (ฮะซัน) เป็นลูกหลานผู้สืบสกุลของดะโต๊ะโมกอล แขกมุสลิมนิกายสุหนี่ พื้นเพเดิมมาจากเปอร์เซีย มาตั้งรกรากที่เมืองสาเลห์ ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนหนีฝรั่งล่าอาณานิคมมาอยู่หัวเขาแดง ใกล้อำเภอสทิงพระ เมืองสงขลา ประมาณ พ.ศ. 2147
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีบรมราชโองการให้พระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกทัพลงไปตีเมืองสงขลาจนได้ชัยชนะ คราวนั้นเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงพ่ายแพ้สงครามและถูกเผาเสียหายเกือบทั้งเมือง
หลังสงคราม พระยารามเดโชซึ่งเป็นแขกมุสลิมนิกายสุหนี่ กราบบังคลทูลขอพระราชทานอภัยโทษลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน แต่ให้กวาดต้อนคนออกจากพื้นที่ ผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปย้ายไปเมืองไชยา หนุ่มสาวรวมไปถึงนายฮะซัน ให้เข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา
ช่วงปลายอยุธยา นายหมุด ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศน์ มีตำแหน่งที่หลวงศักดิ์นายเวร คนจึงเรียก “หลวงนายศักดิ์”
นายหมุดร่วมรบในทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างต่อเนื่อง เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ ตั้งแต่การช่วยสนับสนุนพระเจ้าตากที่เมืองจันทบุรี และมีบทบาทสำคัญในการช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กอบกู้เอกราช
การศึกเมื่อต้นแผ่นดิน เช่น การปราบก๊กพระเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระหลังกรุงแตก เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ก็เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังไปปราบ แม้บทความระบุว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากหมู่ทหารแตกสามัคคีต้องถอยทัพ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ยกทัพหลวงมาหนุนจนยึดเมืองได้ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หนีลงไปปัตตานี แต่พงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ออกติดตามและจับกุมพระเจ้านครศรีธรรมราชได้
เมื่อทำศึกกับเขมรก็รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพเรือ ฯลฯ และเนื่องจากความดีความชอบในการกู้เอกราช หลวงนายศักดิ์ (หมุด) จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายมราชที่แม่ทัพเรือ เวลาต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ดำรงตำแหน่งสมุหนายกคนแรกของกรุงธนบุรี
เมื่อถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปร่วมในการฝังศพที่มัสยิดต้นสน (มัสยิดกุฎีใหญ่) จากนั้นแต่งตั้งพระยายมราช (ทองด้วง) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี
อ่านเพิ่มเติม :
- ปีสุดท้ายของพระเจ้าตาก ปีที่เต็มไปด้วยพระคุณ แต่โชคไม่อำนวย
- วังหน้า “พระยาเสือ” เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก ขุนศึกที่พระเจ้าตากโปรดปรานทำอะไรบ้าง?
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ” ใน, นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 7 เดือนพฤษภาคม 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562