วังหน้า “พระยาเสือ” เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก ขุนศึกที่พระเจ้าตากโปรดปรานทำอะไรบ้าง?

พระบวรราชานุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้า “พระยาเสือ” พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก สวนสาธารณะทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี
(ซ้าย) พระบวรราชานุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า “พระยาเสือ” (ขวา) พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าพระยาเสือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อบ้านเมืองนี้อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินของใคร จนเป็นที่ยอมรับว่าทรงเป็นนักรบคนสำคัญพระองค์หนึ่งในแผ่นดินกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งยังกินตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ถือเป็นข้าหลวงเดิมที่พระเจ้าตากทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านผู้นี้เป็นขุนศึกคู่บัลลังก์รบเคียงคู่กับพระเจ้าตากมาตั้งแต่ศึกกู้แผ่นดินหลังกรุงศรีอยุธยาแตก โดยมีความก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับ คือ เมื่อแรกถวายตัวร่วมรบกับพระเจ้าตาก ได้เป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจ แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และกินตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เมืองชั้นเอกของหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นตำแหน่งสุดท้าย

ตลอดรัชสมัยพระเจ้าตาก ได้เป็นแม่ทัพสู้ศึกสำคัญมิได้ขาด และเป็นบุคคลหนึ่งที่พระเจ้าตากทรงรักจนฆ่าไม่ลงดังที่ปรากฏความโดยพิสดารในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดยสังเขปดังนี้

พระเจ้าตาก
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

คืนหนึ่งพระเจ้าตากทรงนั่งพระกรรมฐานที่พระตำหนักแพ โดยมีสมเด็จพระวันรัตน (ทองอยู่) นั่งกำกับเป็นประธาน เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ข้ามฟากมาจากบ้านประสงค์จะเข้าเฝ้า เจ้าพนักงานที่ล้อมวงรักษาการอยู่ เห็นเข้าจึงร้องห้ามมิให้เฝ้าเพราะทรงนั่งพระกรรมฐานอยู่ ฝ่ายพระยาพิทักษภูบาล จางวางรักษาพระองค์ ก็ได้โบกมือให้ออกไปเสีย แต่เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าใจผิดคิดว่ากวักมือเรียก จึงค่อยย่องเข้าไป สมเด็จพระวันรัตน (ทองอยู่) แลเห็นเข้าก็ถวายพระพรว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ย่องเข้ามาจะทำร้ายพระองค์เป็นแน่ พระเจ้าตากลุกกระโดดเข้าจับตัวเจ้าพระยาสุรสีห์ไว้ได้โดยฉับไว แต่เมื่อค้นตัวดูไม่พบอาวุธซ่อนอยู่ จึงมีพระราชดำรัสถามว่าเหตุใดจึ่งย่องเข้ามาในที่ห้าม จะเปนกระบถฤา

เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่าพระยาพิทักษภูบาลกวักมือให้เข้ามา ฝ่ายพระยาพิทักษภูบาลก็แก้ว่าไม่ได้กวักมือเรียก แต่โบกมือให้ออกไป พระเจ้าตากจึงมีพระราชดำรัสว่า ตัวเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ย่อมรู้กฎหมายข้อห้ามดี เมื่อทำผิดเช่นนี้จะว่าอย่างไร เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า โทษนี้ต้องริบราชบาตร เฆี่ยน ๙๐ ที แล้วประหารชีวิตเสียไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

วังหน้า “พระยาเสือ”
พระบวรราชานุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า “พระยาเสือ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร

พระเจ้าตากได้ทรงฟังก็สังเวชพระทัยกลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่ได้ ทรงกันแสงแล้วตรัสว่า ปรับโทษหนักเกินไปข้าได้สัญญาไว้กับเจ้าเมื่อเจ้ารับแม่ของข้ามาให้แก่ข้านั้น ข้าว่าข้าจะไม่ฆ่าเจ้าให้ปรับโทษให้เบาลง เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไม่ประหารชีวิต ก็ต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วจำคุกไว้จนตาย

พระเจ้าตากจึงมีพระราชดำรัสอีกว่า หากจำคุกจนตาย ข้าจะได้ใครใช้เล่า พี่เจ้าคนเดียวไม่ภอใช้ให้ปรับใหม่เบาลงอีก เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นให้เฆี่ยน 60 ที แล้วถอดเป็นไพร่ พระเจ้าตากทรงไม่ยอมอีก มีพระราชดำรัสว่าเปนไพร่ เข้าใกล้พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ข้าจะปรึกษาหาฤากับใครเล่าเจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วอยู่ในตำแหน่งเดิม พระเจ้าตากก็ทรงพอพระทัยพ่อชอบใจแล้ว เรื่องจึงยุติลง

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพระเจ้าตากกับเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นไม่ธรรมดารวมไปถึงความไว้วางใจในข้อราชการที่ทรงตั้งให้กินเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองสำคัญระดับเมืองลูกหลวง คุมยุทธศาสตร์หัวเมืองฝ่ายเหนือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ถือว่าเป็นความไว้วางใจแบบไม่ธรรมดาเช่นกัน

จนเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีเป็นกลียุค บทบาทของเจ้าพระยาสุรสีห์ถูกผลักให้ต้องมาอยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าเหนือหัวกับพี่ชายผู้ยิ่งใหญ่กว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ความเคลื่อนไหวของผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกเมื่อเกิดเหตุรัฐประหารกรุงธนบุรี ปรากฏอยู่แล้วในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ทั้งที่มีเนื้อความตรงกันและแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการตรวจสอบท่าทีของเจ้าพระยาสุรสีห์ที่มีต่อเหตุการณ์นี้

จุดกำเนิดอวสานกรุงธนบุรี จับความได้เมื่อเกิดเหตุกบฏขึ้นที่กรุงกัมพูชา พระเจ้าตากจึงมีพระราชดำรัสให้แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ตระเตรียมทัพยกไปปราบกบฏ ณ กรุงกัมพูชา มีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้า พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามอดีตเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกองหนุน (เอกสารบางฉบับว่ากรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่) พระยานครสวรรค์เป็นยกกระบัตรทัพ พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศเป็นทัพหลัง พระยาธรรมาเป็นกองลำเลียง ทั้ง 6 ทัพรวมพล 10,000 นาย

การตระเตรียมทัพครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่ เดือนยี่ ปีชวด เมื่อข่าวกบฏกรุงกัมพูชาแจ้งมาถึงพระเจ้าตาก กำลังพล 10,000 นาย จัดกระบวนทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นมีพระยาสุริยอภัย หลานเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่

หนึ่งปีถัดมา ในเดือนยี่ ปีฉลู จึงออกเดินทัพสู่กรุงกัมพูชา เป้าหมายคือตีเมืองพุทไธเพชรให้ได้ตามพระราชประสงค์ หากสำเร็จตามนี้ก็จะตั้งให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้อยู่ครองกรุงกัมพูชาสืบไป

ถึงตอนนี้ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการวางกำลังทหารเข้ายึดกรุงกัมพูชา แต่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีเนื้อความเล่าถึงตอนนี้ว่ากองทัพกรุงธนบุรีมีการจัดวางกำลังทัพอย่างไร

วังหน้า “พระยาเสือ”
พระบวรราชานุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ณ กองพลทหารราบที่ ๙ ค่ายกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตั้งทัพใหญ่อยู่ ณ เมืองนครเสียมราบ ให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปทางเมืองปัตบองฟากทะเลสาบข้างตะวันตก เอากองทัพเขมร พระยายมราช และพระยาพระเขมรทั้งปวงยกออกไปตีเมืองพุทไธเพชร ทัพพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงคราม ก็ยกหนุนออกไป และให้ทัพพระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศ และทัพพระยาธรรมายกไปทางฟากทะเลสาบฝ่ายตะวันออก ไปตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำพงสวาย

การเดินทัพไปสู่จุดต่างๆ ในกรุงกัมพูชานั้น ใช่ว่านึกอยากจะไปจุดไหนตามแผนการรบก็ไปได้โดยสะดวก ตรงกันข้าม การไปสู่จุดหมายตามเนื้อความในพระราชพงศาวดารนั้นต้องตีดะกับกองทัพฝ่ายตรงข้ามที่คอยต่อต้านอยู่

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา กล่าวถึงการรุกรบของเจ้าพระยาสุรสีห์ในสนามรบว่า

ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกทัพมาถึงเมืองกำปงสวาย ก็เข้าตีเมืองกำปงสวายและขับไล่กองทัพออกญาเดโช (แทน) ซึ่งตั้งรับอยู่ที่เนินปูเปล แตกหนีเข้าป่าไปสิ้น แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพมาตั้งอยู่ที่เปียมจีกอง แลข้ามมาตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำด้วย

องพอมา แม่ทัพญวน จึงจัดให้องกวางนัมกับออกญากะลาโหม (ปา) ยกทัพญวนแลเขมรไปตั้งรับทัพเจ้าพระยาสุรสีห์อยู่ที่เกาะอันแดด (เกาะลอย) แลจัดให้ออกญายมราช ชื่อปาง ยกทัพญวนเขมรไปตั้งรับทัพพระองค์เจ้าน้อย (กรมขุนอินทรพิทักษ์) ที่ปากคลองขุด ตั้งแต่เดือนยี่ จนถึงเดือนสี่ ปีฉลู

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุไว้ชัดเจนว่า เดือนยี่ ปีฉลู กองทัพกรุงธนบุรีออกเดินทางเข้าสู่กรุงกัมพูชา สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ที่ว่าแม่ทัพญวนออกตั้งรับกองทัพกรุงธนบุรีตั้งแต่เดือนยี่เช่นกัน หมายความว่าการรบในศึกครั้งนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนยี่จนถึงเดือน 4 จะเห็นได้ว่าทั้งเจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพอื่นๆ รบบุกตะลุยสู่หัวใจของกรุงกัมพูชาตามคำสั่งพระเจ้าตาก

แต่เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพใหญ่กลับมีท่าทีต่างออกไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าดูเหมือนจะระแวงการข้างในอยู่มากแล้ว จึงได้รั้งรอไม่ดูจะทำการเดินออกเร็ว

สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารที่ว่า เจ้าพระยาจักรีออกคำสั่งยกทัพกลับไปยึดกรุงธนบุรีก่อนเดือน 4 ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มเกิด กบฏพระยาสรรค์

แต่ก่อนเมื่อพระยาสรรค์ยังไม่เข้าตีกรุงธนบุรีนั้น ฝ่ายพระยาสุริยอภัยผู้ครองนครราชสีมาได้ทราบข่าวว่าแผ่นดินเป็นจลาจลมีคนขึ้นไปแจ้งเหตุ จึงออกไป ณ เมืองนครเสียมราบ แถลงการแผ่นดินซึ่งเกิดยุคเข็ญนั้นแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกๆ จึงให้พระยาสุริยอภัยรีบยกกองทัพลงมายังกรุงธนบุรีก่อน แล้วจะยกทัพหลวงตามลงไปภายหลัง…”

และในเดือน 4 อีกเช่นกัน เจ้าพระยาจักรีก็ได้เจรจาความสงบศึกกับแม่ทัพญวน อ้างเหตุความไม่สงบในกรุงธนบุรี จากนั้นจึงมีคำสั่งเลิกทัพไปยังแนวหน้า รวมถึงกองทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์

ฝ่ายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อให้พระยาสุริยอภัยมาแล้ว จึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินอันเป็นจลาจล ให้คนสนิทถือไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญ ให้กองทัพเขมร พระยายมราช เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้อย่าให้รู้ความ แล้วให้รีบเลิกทัพกลับเข้ามา ณ กรุงโดยเร็ว แล้วให้บอกไปถึงพระยาธรรมาซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำพงสวาย ให้จับกรมขุนรามภูเบศจำครบไว้ แล้วให้เลิกทัพตามเข้ามา ณ กรุงธนบุรี

เนื้อความตรงนี้นำไปสู่ปริศนาข้อใหญ่ที่ว่า หากเจ้าพระยาสุรสีห์รู้เห็นแผนการยึดกรุงธนบุรี ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือน 4 นานแล้ว (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2550) เหตุใดจึงไม่รั้งรอแต่กลับบุกตะลุยทำการรบจริงในดินแดนกรุงกัมพูชา และเหตุใดเจ้าพระยาจักรีจึงต้องสั่งเบรกทัพให้เจ้าพระยาสุรสีห์เลิกทัพกลับบ้าน โดยอ้างเหตุแผ่นดินอันเป็นจลาจลทั้งที่กบฏพระยาสรรค์ยังไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าคำสั่งเลิกทัพนี้เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีเจรจาสงบศึกกับแม่ทัพญวน ดังนั้นคำสั่งการเข้าตีกรุงกัมพูชาจากพระเจ้าตากยังมีผลอยู่ การศึกของแม่ทัพต่างๆ รวมทั้งกรมขุนอินทรพิทักษ์จึงดำเนินต่อไปจนกระทั่งคำสั่งเลิกทัพนี้ตกมาถึง

วังหน้า “พระยาเสือ”
พระบวรราชานุสาวรีย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ประดิษฐาน ณ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร

บทบาทของเจ้าพระยาสุรสีห์ก่อนการยึดกรุงธนบุรี จึงน่าจะยังคงเป็นบทบาทของแม่ทัพหน้ากรุงธนบุรี กระทำการรบอันเป็นคำสั่งของพระเจ้าตาก จนกระทั่งมีคำสั่งเลิกทัพจากแม่ทัพใหญ่ให้ยกกลับมายังกรุงธนบุรี

ต่อมาหลังการยึดกรุงธนบุรีสำเร็จแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์จึงรับบทนักฆ่าในฐานะวังหน้าในแผ่นดินกรุงเทพฯ

เจ้าพระยาสุรสีห์ปรากฏตัวในพระราชพงศาวดารอีกครั้ง หลังจากมีการยึดกรุงธนบุรีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว 9 วัน และสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในแผ่นดินใหม่

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตอนนี้คือเกิดความแตกต่างระหว่าง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งถูกชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ยังมีพระองค์อยู่ กับ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งถูกชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4

กล่าวคือ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงบทบาทของกรมพระราชวังบวรฯ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำรัฐประหารไว้น้อยมาก มีเพียงการรับคำสั่งให้ยกทัพกลับกรุงธนบุรีเท่านั้น แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้ปรากฏบทบาทของพระยาเสือไว้หลายประการ โดยเฉพาะบทบาทความดุร้ายหลังการรัฐประหาร

พระราชกรณียกิจแรกของวังหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ ตามที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา คือ สั่งฆ่าโจทก์เก่าของพระองค์ทันที 80 คนให้ตำรวจไปจับข้าราชการทั้งปวง บรรดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้นแปดสิบคนเศษ

เรื่องนี้น่าสงสัยว่ากรมพระราชวังบวรฯ มีความขุ่นเคืองใดถึงต้องประหารชีวิตข้าราชการมากมายถึงเพียงนั้น ทั้งที่ทรงขึ้นไปรับราชการที่หัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุรัฐประหารนานถึง 12 ปี (จุลศักราช 1132-44) ในขณะที่เจ้าพระยาจักรีประหารชีวิตเจ้านายขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากในเหตุการณ์ครั้งนี้ไปเพียง 40 คน เท่านั้น

พระราชกรณียกิจลำดับต่อมา คือตามล่ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ขณะมีคำสั่งเลิกทัพ ในคำสั่งนั้นรวมไปถึงการล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้อย่าให้รู้ความ ว่าจะมีการเลิกทัพเพื่อทำรัฐประหารพระเจ้าตาก โดยใช้กองทัพกัมพูชาซึ่งอยู่ฝ่ายกรุงธนบุรีจำนวน 3,000 นายล้อมไว้

การใช้กองทัพกัมพูชาชาวต่างชาติล้อมไว้นี้ เป็นกลอุบายหมายจะให้กรมขุนอินทรพิทักษ์จะได้ไม่รู้ความว่ากำลังถูกฝ่ายเดียวกันปิดล้อมอยู่ (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ว่า กรมขุนอินทรพิทักษ์มีกำลังในมืออยู่ 200 ถูกกองทัพกัมพูชา 3,000 นาย และกองทัพญวน 8,000 นาย ปิดล้อม)

ไม่มีหลักฐานใดบอกให้รู้ว่าทำไมฝ่ายเจ้าพระยาจักรีจึงไม่สั่งจับกรมขุนอินทรพิทักษ์ ทั้งที่มีกำลังต่างกันอย่างมาก แต่กลับสั่งจับกรมขุนรามภูเบศซึ่งอยู่ในกองทัพบุกกรุงกัมพูชาครั้งนี้ด้วย อีกทั้งยังถูกประหารไปพร้อมกับกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กลุ่มพระยาสรรค์ และญาติวงศ์พระเจ้าตากที่เป็นชาย ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกลุ่มแรกที่ถูกประหาร

นอกจากนี้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยังสามารถตีฝ่าวงล้อมทหารนับพันนับหมื่นออกมาได้อย่างอัศจรรย์จนกระทั่งหนีเข้ามาในเขตเมืองปราจีนบุรี จึงได้รู้ความว่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่แล้ว ก็ได้หนีเข้าป่าหลบซ่อนตัวในเขตเมืองสระบุรี พร้อมพระยากำแหงสงครามกับบ่าวอีก 5 คน

กรมพระราชวังบวรฯ ทรงทราบข่าวจากกรมเมืองปราจีนบุรี จึงอาสานำพล 6,000 เศษ ออกตามจับกรมขุนอินทรพิทักษ์ ในวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 ห่างจากวันเปลี่ยนแผ่นดิน 22 วัน ในที่สุดก็จับได้แล้วนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงตอนนี้ไว้อย่างรวบรัดว่า ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงชุมพล 6000 เศษแยกกันออกเป็นหลายกอง ไปล้อมจับขุนอินทรพิทักษ์ได้ที่ตำบล เขาน้อยใกล้ปถวี ทั้งขุนชะนะและพรรคพวกเป็น 7 คน คุมเอาตัวลงมา ณ เมืองธนบุรี ณ วันเสาร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 6 กราบทูลพระกรุณาแล้วให้ประหารเสีย

แต่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงรายละเอียดก่อนการประหารกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ว่า

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 6 แรม 8 ค่ำ ทรงพระกรุณาให้ถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยง ด้วยตัวหาความผิดมิได้ กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้การว่าไม่ยอมอยู่ จะขอตายตามบิดา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงดำรัสให้เอาตัวนายจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์ และขุนชนะพระยากำแหงสงครามนั้นไปประหารชีวิตเสีย

เหตุใดกรมขุนอินทรพิทักษ์จึงได้โอกาสรอดชีวิตถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อตีฝ่าวงล้อมทหารนับพันนับหมื่นมาได้อย่างน่าสงสัย กับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับบทบาทของกรมขุนอินทรพิทักษ์หรือไม่ เนื่องจากในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตาก กรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่เป็นที่โปรดของพระเจ้าตาก มีเหตุต้องพระราชอาญาถูกสั่งรื้อตำหนัก ถอดยศ และการมีพระราชประสงค์จะให้อยู่ครองกรุงกัมพูชาหลังศึกครั้งนี้เท่ากับเป็นการถอดเสียจากตำแหน่งรัชทายาท ในฐานะสมเด็จพระมหาอุปราชกรุงธนบุรี

นอกจากนี้ เราไม่ทราบว่าระหว่างกรมขุนอินทรพิทักษ์กับกรมพระราชวังบวรฯ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะมีความโปรดปรานส่วนตัวกันมากน้อยเพียงใดหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คำสั่งประหารกรมขุนอินทรพิทักษ์ครั้งนี้ ถือเป็นคำสั่งแรกที่กรมพระราชวังบวรฯ จะมีส่วนในการสำเร็จโทษพระราชวงศ์พระเจ้าตาก ผู้ที่เคยเว้นชีวิตพระองค์มาก่อน

คำสั่งที่ 2 ของกรมพระราชวังบวรฯ ที่เกี่ยวพันกับพระญาติวงศ์พระเจ้าตาก คือการสั่งฆ่าล้างครัวกราบทูลว่า บรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสิน จะขอรับพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า”

ดูเหมือนว่าเนื้อความในคำสั่งนี้จะขัดกับเนื้อความในพระราชประสงค์แรกที่ทรงมีต่อกรมขุนอินทรพิทักษ์ที่ว่าถ้าอยู่จะยอมเลี้ยงแต่มาคราวนี้ถึงกับทรงสั่งฆ่าบุตรชายน้อยๆของพระเจ้าตาก

อย่างไรก็ดีวรรคทองที่ว่า ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก นี้ ปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ว่า ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก ในกรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ส่วนเนื้อความนี้ที่ใช้ในกรณีพระเจ้าตาก ปรากฏอยู่ใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีเฉพาะฉบับพระราชหัตถเลขา เพียงแห่งเดียว และมาปรากฏอีกครั้งใน ประชุมพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) แต่ในประชุมพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระ ข้อความนี้ถูกยกออกทั้งหมด

ความแตกต่างในบทบาทของ วังหน้าพระยาเสือที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะบทบาทความโหดร้ายของพระยาเสือที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความขัดข้องขุ่นใจระหว่างวังหลวงวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4 หรือไม่เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

ทั้งนี้จะเห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าตาก โดยกระทบผ่านทางพระญาติวงศ์บ้าง หรือการกล่าวถึงบทร้ายของวังหน้าพระยาเสือในบางครั้ง เช่น เรื่องที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงสาปแช่งผู้ที่จะมายึดวังให้ผีสางเทวดาบันดาลอย่าให้มีความสุขนั้น มักผลุบโผล่อยู่ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “วังหน้า ‘พระยาเสือ’ เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2560