ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้า “พระยาเสือ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีบทบาทสําคัญต่อบ้านเมืองนี้อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินของใคร จนเป็นที่ยอมรับว่าทรงเป็น “นักรบ” คนสําคัญพระองค์หนึ่งในแผ่นดินกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
ล่าสุด ปลายเดือนธันวาคม 2566 มีข่าวดีที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ เมื่อ “พระแสงราวเทียน” ใน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง เพราะสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้มีอายุสืบย้อนไปถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเคยเชื่อกันว่าหายสาบสูญไปหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งถูกนำออกมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ในพิธีสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์และพระแสงราวเทียนที่เคยหายสาบสูญมากยิ่งขึ้น
ย้อนไปเมื่อครั้งพระองค์ยังกินตําแหน่ง เจ้าพระยาสุรสีห์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ถือเป็น “ข้าหลวงเดิม” ที่ พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่ง
พระองค์เป็นขุนศึกคู่บัลลังก์รบเคียงคู่กับพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งแต่ศึกกู้แผ่นดินหลังกรุงศรีอยุธยาแตก โดยมีความก้าวหน้าในราชการเป็นลําดับ คือ เมื่อแรกถวายตัวร่วมรบกับพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมตํารวจ แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และกินตําแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ สําเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เมืองชั้นเอกของหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นตําแหน่งสุดท้าย
ตลอดรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นแม่ทัพสู้ศึกสําคัญมิได้ขาด และเป็นบุคคลหนึ่งที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักจน “ฆ่าไม่ลง” ดังที่ปรากฏความโดยพิสดารในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดย สังเขปดังนี้
คืนหนึ่งพระเจ้าตากทรงนั่งพระกรรมฐานที่พระตําหนักแพ โดยมีสมเด็จพระวันรัตน (ทอง อยู่) นั่งกํากับเป็นประธาน เวลานั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ ข้ามฟากมาจากบ้านประสงค์จะเข้าเฝ้า เจ้าพนักงานที่ล้อมวงรักษาการณ์อยู่ เห็นเข้าจึงร้องห้ามมิให้เฝ้าเพราะทรงนั่งพระกรรมฐานอยู่
ฝ่ายพระยาพิทักษภูบาล จางวางรักษาพระองค์ ก็ได้โบกมือให้ออกไปเสีย แต่เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าใจผิด คิดว่ากวักมือเรียก จึงค่อยย่องเข้าไป
สมเด็จพระวันรัตน (ทองอยู่) แลเห็นเข้าก็ถวายพระพรว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ย่องเข้ามาจะทําร้ายพระองค์เป็นแน่ พระเจ้าตากลุกกระโดดเข้าจับตัวเจ้าพระยาสุรสีห์ไว้ได้โดยฉับไว แต่เมื่อค้นตัวดูไม่พบอาวุธซ่อนอยู่ จึงมีพระราชดํารัสถามว่า “เหตุใดจึงย่องเข้ามาในที่ห้าม จะเป็นกระบฤฤา”
เจ้าพระยาสุรสีห์ จึงกราบทูลว่า พระยาพิทักษภูบาลกวักมือให้เข้ามา ฝ่ายพระยาพิทักษฏบาล ก็แก้ว่าไม่ได้กวักมือเรียก แต่โบกมือให้ออกไป พระเจ้าตากจึงมีพระราชดํารัสว่า ตัวเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ย่อมรู้กฎหมายข้อห้ามดี เมื่อทําผิดเช่นนี้จะว่าอย่างไร เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า โทษนี้ต้องริบราชบาตร เฆี่ยน 90 ที แล้วประหารชีวิตเสียไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
พระเจ้าตากได้ทรงฟังก็สังเวชพระทัย “กลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่ได้” ทรงกันแสงแล้วตรัส ว่า ปรับโทษหนักเกินไป “ข้าได้สัญญาไว้กับเจ้าเมื่อเจ้ารับแม่ของข้ามาให้แก่ข้านั้น ข้าว่าข้าจะไม่ฆ่าเจ้า” ให้ปรับโทษให้เบาลง เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไม่ประหารชีวิต ก็ต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วจําคุกไว้จนตาย
พระเจ้าตากจึงมีพระราชดํารัสอีกว่า หากจําคุกจนตาย “ข้าจะได้ใครใช้เล่า พี่เจ้าคนเดียว ไม่ภอใช้” ให้ปรับใหม่เบาลงอีก เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นให้เฆี่ยน 60 ที แล้วถอด เป็นไพร่ พระเจ้าตากทรงไม่ยอมอีก มีพระราชดํารัสว่า “เป็นไพร่ เข้าใกล้พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ข้าจะปรึกษาหาฤากับใครเล่า”
เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วอยู่ในตําแหน่งเดิม พระเจ้าตากก็ทรงพอพระทัย “พ่อชอบใจแล้ว” เรื่องจึงยุติลง
จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ “ส่วนตัว” ระหว่างพระเจ้าตากกับ เจ้าพระยาสุรสีห์ นั้น “ไม่ธรรมดา” รวมไปถึงความไว้วางใจในข้อราชการที่ทรงตั้งให้ “กินเมือง” พิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองสําคัญระดับเมืองลูกหลวงคุมยุทธศาสตร์หัวเมืองฝ่ายเหนือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ถือว่า เป็นความไว้วางใจแบบ “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- วังหน้า “พระยาเสือ” เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก ขุนศึกที่พระเจ้าตากโปรดปรานทำอะไรบ้าง
- คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่ง
- ที่มาชื่อวัดชนะสงคราม และเรื่องเล่าทัพวังหน้าพระยาเสือถวาย “เสื้อยันต์” บูชาพระ
- “พระแสงราวเทียน” ของ “วังหน้าพระยาเสือ” สมบัติชาติที่สูญหาย คืนสู่วัดมหาธาตุฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ปรามินทร์ เครือทอง. “วังหน้า ‘พระยาเสือ’ เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก” เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 23 กุมภาพันธ์ 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2562