คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้

เจ๊ก คนจีน พายเรือ ขายของ กับสาวๆ ชาวสยาม จิตรกรรมฝาผนัง ภายใน พระวิหารน้อย วัดกัลยาณมิตร
"เจ๊ก" พายเรือขายของกับสาวๆ ชาวสยาม - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารน้อย วัดกัลยาณมิตร

อ่านหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนฯ” ของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ หน้าคำนำพิมพ์ครั้งแรกพูดถึง คนจีน ด้วย คำว่า เจ๊ก อธิบายไม่กระจ่าง ส่วน “เจ๊กปนลาว” ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ไม่ได้บอกว่าอะไร เพียงแต่บอกว่าเป็นคำดูถูกสั้นๆ เท่านั้น จึงพยายามค้นคว้าคำว่า “เจ๊กมาเล่าสู่กันฟัง”

ทั่วโลกไม่มีใครรู้จักคำว่า “เจ๊ก” แม้แต่ คนจีน ในเมืองไทย และ คนจีน บนผืนแผ่นดินใหญ่หรือชาวจีนไต้หวันต่างไม่รู้จัก คำว่า เจ๊ก ซึ่งคนไทยเรียกคนจีนเป็นสรรพนามแทนที่จะเรียกว่า คนจีน แต่ใช้คำว่า “เจ๊ก” แทน คำนี้มาจากไหนอย่างไร

“เจ๊ก” คำนี้คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีนรู้จักมานาน คาดว่าประมาณ 100 ปี เป็นคำเรียกของคนไทยเรียกคนที่มีสัญชาติจีน เชื้อชาติจีนเป็น “เจ๊ก” เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ไหหลำ หรือฮกเกี้ยน ถูกเรียกเป็น “เจ๊ก” ทั้งสิ้น

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยเป็นคนยากจน เป็นชาวนา ไม่มีการศึกษา ขนบธรรมเนียมไม่นุ่มนวลเหมือนคนไทย จึงมองว่าคนจีนเป็นคนไม่มีกิริยามารยาท พูดจาโฮกฮาก คนไทยถือว่าไม่มีสมบัติผู้ดี นึกจะถ่มน้ำลาย หรือขากเสลดก็จะขากถุยลงบนพื้นบ้าน ไม่ว่าเป็นปูนซีเมนต์ หรือพื้นดิน ทำให้สกปรกน่าสะอิดสะเอียน เวลารับประทานอาหารด้วยตะเกียบก็พูยเอาๆ มูมมาม ซี้ดๆ ซ้าดๆ ตลอดเวลา เป็นที่น่ารังเกียจสำหรับคนไทย

กรรมกรจีนเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จะตั้งเป็นก๊วนอันธพาลขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสถึงสมาคมอั้งยี่ไว้ว่่า “สมาคมลับของชาวจีน ซึ่งเรียกว่า “อั้งยี่” หรือ “ตั้วเหีย” (ความจริงควรเป็น “ตั้วเฮีย” มากกว่า-ผู้เรียบเรียง) ไม่เพียงเท่านั้นชาวจีนเป็นจำนวนมากติดฝิ่น อันเป็นพฤติกรรมร้ายๆ ของคนจีนทั้งสิ้น

จีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” หรือ “เจ๊กเจ็ก” แปลว่า “อา” หรือ “อาว์” บางทีก็ใช้เรียกชื่อคนที่ไม่รู้จักชื่อหรือคนที่นับถือกันว่า “อาเจ็ก” เป็นเสมือนสรรพนามของคนๆ นั้น

คนไทยได้ยินเสียงคนจีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” ก็เรียกตาม ต่อเมื่อเห็นความประพฤติปฏิบัติในทางไม่ดีไม่มีกิริยามารยาท สร้างพฤติกรรมเป็นนักเลงโต “อั้งยี่” ทำให้เกิดความไม่พอใจ จึงแทนที่จะเรียกว่า “อาเจ็ก” กลับเรียกเป็นว่า “ไอ้เจ๊ก” ด้วยความโมโหโทโส คำๆ นี้จึงกลายเป็นคำที่ดูถูกดูแคลนคนจีนไปโดยปริยายดังที่คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ข้างต้น

คนจีน เมื่อถูกคนไทยเรียกว่า “ไอ้เจ๊ก” ก็หาได้ต่อล้อต่อเถียงอะไรไม่ เขาอาจจะไม่เข้าใจคำว่า “ไอ้เจ๊ก” มีความลึกซึ้งแค่ไหนเพียงใด คิดว่าคนไทยเรียกเขาว่าอาเจ็กกระมัง แต่ไหงเรียกว่า “ไอ้เจ๊ก” ไป คงเรียกเพี้ยนไปเอง ไม่เป็นไร

ใครเรียก “เจ๊ก” หรือ “ไอ้เจ๊ก” ก่อนไม่สามารถสืบทราบได้ คาดว่าคงมาจากจุดใหญ่ในกรุงเทพฯ เพราะคนจีนแต้จิ๋วอยู่ในกรุงเทพฯ มาก มีพฤติกรรมเป็นนักเลงโตตั้งสมาคมลับ “อั้งยี่” แล้วคำนี้กระจายไปทั่วประเทศ ถ้าพูดกันตามความรู้สึกของคนไทยแล้วมีึความลึกซึ้งว่าเป็นคำเรียก “ชนิดจิกหัวกบาลเรียกกันทีเดียว” แพร่หลายในหมู่สามัญชนทั่วไปทั้งผู้มีการศึกษาและมีการศึกษาต่ำเรียกตามกันไป

ส่วนคนจีนแต้จิ๋วเค้าเรียกตัวของเขาเองว่า “ตึ้งนั้ง” หรือ “ตึ้งซัวนั้ง” เขาไม่รู้ความหมายของคำว่า “เจ๊ก” หรือ “ไอ้เจ๊ก” แต่พอมาถึงหลานจีนซึ่งมีการศึกษารู้ซึ้งถึง คำว่า เจ๊ก และ “ไอ้เจ๊ก” ดีว่าเป็นคำพูดในเชิงดูถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนที่ซมซานหนีร้อนมาพึ่งเย็น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มนัส โอภากุล. (กุมภาพันธ์, 2537). “คนจีนมาถึงเมือง”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 15 (ฉบับที่ 4) : หน้า 74-79.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561