ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ฉลอง สุนทราวาณิชย์ |
เผยแพร่ |
ในบรรดาศาสตร์ทั้งหลายที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา โหราศาสตร์ดูจะเป็นศาสตร์หนึ่งที่กล่าวได้ว่าเป็นศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด มีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยการกำหนดฤดูกาลการเพาะปลูกและปฏิทิน โดยกำหนดพิธีการทางศาสนา เทศกาลบวงสรวงเทพเจ้า และโดยกำหนดพระราชพิธีและกิจกรรมอื่น ๆ ของรัฐหรือพระมหากษัตริย์ เช่น การเคลื่อนพลกรีฑาทัพ ฯลฯ นอกไปจากนั้นโหราศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศาสตร์อื่น ๆ เช่น ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ และแม้แต่ศาสตร์ใหม่ ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ศาสตร์
ศาสตร์เพื่อมวลชน
ดังนั้นแม้ว่าความคิดและวิทยาการของโลกจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีการพัฒนาตัวมันเองช้ามาก ในด้านรูปแบบและเทคนิควิธีการ แต่โหราศาสตร์ก็หาได้เสื่อมความนิยมไปจากประชาชนไม่ ในทางตรงกันข้าม มีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นชัดว่า ในขณะที่เดิมโหราศาสตร์เป็นสิ่งที่ผูกขาดเฉพาะในราชสำนัก ในสังคมของชนชั้นสูงฝ่ายปกครอง หรือในสังคมของพระหรือนักบวช ในปัจจุบันโหราศาสตร์ได้ขยายแวดวงออกมาถึงมือประชาชนสามัญมากขึ้น ถึงกับบางครั้งมีการอ้างว่า โหราศาสตร์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงตนเองจากโหราศาสตร์เพื่อศักดินาเป็นโหราศาสตร์เพื่อมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ทุกวันนี้เราจะพบว่าโหราศาสตร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย เกือบทุกตรอก ถนน หรือซอย จะมีป้ายโฆษณาสำนักโหรหรือไม่ก็มีสำนักโหรตั้งอยู่ วัดที่มีพระที่เป็นโหรมีชื่อก็จะมีคนขึ้นคึกคัก โบสถ์หรูหรา กุฏิติดแอร์ มีทั้งตู้เย็น ทีวี แถมรถเก๋งอย่างดี ส่วนพระที่เป็นโหรก็มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าคุณเร็วกว่าพระอื่น ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเกือบทุกฉบับ คอลัมน์โหราศาสตร์ก็ดูจะเป็นของขาดไม่ได้ บางฉบับถึงกับพัฒนาวิธีการนำเสนอเพื่อเป็นการดึงดูดคนอ่านในรูปแบบที่แปลก รายการโทรทัศน์ก็มีเรื่องโหราศาสตร์จนเกิดคำพูดที่ติดปากว่า “ฟันธง” ปิดท้ายคำทำนายทายทัก
การเมืองเรื่องของโหร
นอกไปจากนั้น สำหรับสังคมไทยโหราศาสตร์ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองอยู่ไม่น้อย ในการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายเผด็จการเท่าที่ผ่านมาโหรผู้ให้ฤกษ์มีความสำคัญมากเท่ากับเสนาธิการฝ่ายยุทธการ หรือฝ่ายกำลังพล นักการเมืองและนายทหารชั้นสูงสมัยประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม ส่วนใหญ่ก็ยังมีโหรประจำตัวสำหรับคอยชี้นำทางปฏิบัติให้อยู่
ปรากฏการณ์ที่คนให้ความสนใจหลงใหลโหราศาสตร์มากขึ้นนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนระดับหนึ่งที่มีปัญหาด้านการครองชีพแร้นแค้น ก็เนื่องมาจากการที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีที่พึ่งที่หวังสำหรับอนาคตของตนได้อีกแล้ว สังคมที่ตนอยู่ก็ไม่ได้เอื้อโอกาสที่จะทำให้วิถีชีวิตของตนดีขึ้น มิหนำซ้ำยังถูกคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และมีอิทธิพลอยู่ในสังคมกดขี่ขูดรีดอยู่ทุกวิถีทางทั้งโดยตรงโดยอ้อม ทั้งยังได้มอมเมาความคิดที่ให้ยอมรับสภาวะที่เป็นอยู่และอดทนรอให้ “บุญ” และ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” มาช่วยเหลือ
อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ในต่างประเทศโหราศาสตร์ก็ได้เข้ามาสัมผัสกับมวลชนมากขึ้น ในบางกรณีถึงกับกลายเป็นเรื่องระดับชาติ อย่างที่เราคงเคยจำได้ว่าในรอบ 10-20 ปีหลังนี้ ได้มีโหรระดับชาติหลายคนที่สร้างข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลกอยู่เสมอ และมีผลในการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคมอยู่มากพอสมควร ด้วยการทำนายว่าโลกจะแตกภายใน 5 ปีบ้าง ผู้นำสำคัญคนโน้นคนนี้จะตายภายในปีนี้ หรือไม่ก็หมดอำนาจบ้าง หรือไม่ก็สงครามโลกจะเกิดขึ้น คนจะตายกันหมดเพราะระเบิดปรมาณู ฯลฯ ซึ่งก็ปรากฏว่าผิดเสียมากกว่าถูก
อดส่งโหรออกนอก
ในประวัติศาสตร์ไทยก็ปรากฏว่าได้มีโหรไทยอยู่ 2 ท่าน สามารถทำนายประวัติศาสตร์โลกได้ถูกต้องค่อนข้างแม่นยำอย่างน่าทึ่ง โดยที่ท่านเจ้าตัวผู้ทำนายเองก็คงจะไม่ตั้งใจและนึกไม่ถึง เนื่องจากการทำนายครั้งนี้เป็นการทำนายของโหรหลวงในราชสำนักไทย จึงไม่ได้มีการเผยแพร่ออกสู่โลกภายนอก และคำทำนายก็ถูกเก็บรักษาในแฟ้มเป็นอย่างดี จนกระทั่งถูกค้นพบโดยบังเอิญในแฟ้มเอกสารประวัติศาสตร์ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพราะฉะนั้นความสามารถของโหรไทย 2 ท่านนี้ในสมัยนั้นจึงไม่มีโอกาสดังเป็นพลุแตกเหมือนโหรอื่น ๆ ในปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นป่านนี้โหรไทยคงเป็นที่เรียกร้องของคนทั่วโลก และคงมีโอกาสเป็นสินค้าออกไปขุดทองที่เมืองนอก เหมือนอย่างหมอไทย พยาบาลไทย แรงงานไทย และโสเภณีไทย
คำทำนายของโหรไทยทั้ง 2 ท่านนี้คือหลวงโลกทีปและหลวงไตรเพท ซึ่งเป็นโหรหลวงประจำราชสำนักของรัชกาลที่ 5 [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. บัญชีเอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงต่างประเทศ หมู่ที่ 19 (ว่าด้วยรัสเซีย) เลขที่ 26 เรื่องดวงชะตาแกรนดุ๊กอาเล็กซิส มกุฎราชกุมารรัสเซีย (รหัสไมโครฟิล์ม มร.5 ต./64)]
การต่อต้านจักรวรรดินิยม
ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในคำทำนาย 2 ฉบับที่มีส่วนไปพัวพันกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลกนี้ ควรที่จะทราบเบื้องหลังที่ทำให้เกิดคำทำนายดังกล่าวบ้างเล็กน้อย
ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ประเทศไทยเปิดความสัมพันธ์กับต่างประเทศทางตะวันตกมากมายหลายประเทศ และในขณะเดียวกันก็ต้องถูกคุกคามจากภัยจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคมของฝรั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งแข่งขันกันอย่างหัวหกตีนขวิด เพื่อที่จะเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในประเทศไทย และมีผลทำให้ดินแดนที่ไทยถือว่าได้ปกครองอยู่ในขณะนั้นถูกเฉือนไปเป็นอันมาก รวมไปถึงผลประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ต้องสละไปชั่วคราว
นโยบายของประเทศไทยในการต่อต้านจักรวรรดินิยมในขณะนั้นก็คือ พยายามปรับปรุงกิจการบริหารประเทศให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพกว่าเดิม และรวมทั้งการผูกมิตรกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อที่ว่ามหาอำนาจเหล่านั้นจะได้เกรงใจกัน ไม่กล้าฮุบเอาประเทศไทยไปเป็นเมืองขึ้นอย่างหน้าตาเฉย หรือพูดง่าย ๆ ก็เป็นการค้านอำนาจกันเองระหว่างมหาอำนาจต่าง ๆ
รัชกาลที่ 5 ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อันสนิทสนมแน่นแฟ้นกับราชสำนักของมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นราชสำนักในอังกฤษ ราชสำนักเยอรมัน ราชสำนักเดนมาร์ก หรือราชสำนักรัสเซีย ได้เสด็จไปเยือนยุโรปด้วยพระองค์เองถึง 2 ครั้ง ในระหว่างที่ทรงครองราชย์ และได้เชื้อเชิญพระราชวงศ์ชั้นสูงในราชสำนักเหล่านั้น เสด็จเยือนประเทศไทยในหลายโอกาส นอกจากนั้นยังได้ทรงส่งพระราชโอรสของพระองค์ไปศึกษาในประเทศเหล่านั้น อย่างเช่น เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาทรงครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6) ที่ประเทศอังกฤษ เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่เยอรมนี กรมหมื่นนครไชยศรีฯ ที่เดนมาร์ก บรรดาพระราชโอรสทั้งหลายนี้เองที่ได้กลายเป็นสื่อกลางของความสัมพันธ์ระหว่ารัชกาลที่ 5 กับราชสำนักเหล่านั้น
มหามิตรรัสเซีย
ในบรรดามหาอำนาจยุโรปเหล่านี้ ราชสำนักรัสเซียนับเป็นราชสำนักยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีความสนิทสนมด้วยดียิ่งเป็นพิเศษกว่าราชสำนักอื่น ๆ เริ่มด้วยการเชิญเสด็จมกุฎราชกุมารรัสเซีย (ต่อมาครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์องค์สุดท้ายของรัสเซีย พระนามนิโคลัสที่ 2) มาเยือนประเทศไทยในตอนต้นของปี พ.ศ. 2434 ในโอกาสที่มกุฎราชกุมารนิโคลัสเสด็จผ่านประเทศทางเอเชียทางชลมารคเพื่อไปไซบีเรีย การรับเสด็จครั้งนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งเท่าที่ราชสำนักไทยเคยจัดมา
การคุกคามของฝรั่งเศสต่อไทยในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกรณี ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องพึ่งรัสเซียในการช่วยเจรจากับฝรั่งเศส ในการเสด็จเยือนยุโรปครั้งแรกของพระองค์ ในปี พ.ศ. 2440 ก็ทรงกำหนดให้รัสเซียเป็นประเทศแรกที่เสด็จเยือนอย่างเป็นทางการ ประการสำคัญในปีต่อมา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยส่งพระราชโอรสองค์ที่โปรดที่สุด คือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ไปศึกษาที่ประเทศรัสเซีย โดยทรงฝากฝังไว้กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งก็ได้ทรงรับเป็นผู้อุปการะและทรงให้ความสนิทสนมแก่เจ้าฟ้าจักรพงษ์อย่างดียิ่ง โดยทรงถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของพระองค์เอง
ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ดังกล่าว ได้มีผลให้พระราชวงศ์ทั้งสอง คือราชวงศ์จักรีและราชวงศ์โรมานอฟสนิทสนมกันมาก รัชกาลที่ 5 เองมีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เพื่อปรึกษาและขอความสนับสนุนเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการเมืองและรวมทั้งเกี่ยวกับการศึกษาและความเป็นอยู่ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์อยู่เนือง ๆ
ปัญหาหนึ่งที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ทรงกลัดกลุ้มพระทัยมากอยู่ในขณะนั้นก็คือ สายโลหิตของพระองค์ที่พระมเหสีอเล็กซานดราทรงให้กำเนิด 4 พระองค์แรกเป็นพระธิดาทั้งหมด ยังหามีราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อไม่ จนถึงขนาดที่บางครั้งทรงต้องพึ่งทางไสยศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ผล
อย่างไรก็ดีในที่สุดหลังจากที่ทรงรอคอยมาได้ 10 ปี ในเดือนสิงหาคม 2447 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ได้พระราชโอรสสมพระทัยปรารถนา ทรงนามว่าอเล็กซิส ทั่งทั้งรัสเซียในเวลานั้นได้มีการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีอย่างขนานใหญ่ที่ในที่สุดมกุฎราชกุมารก็ได้ประสูติ ในวันเดียวกับที่มกุฎราชกุมาร (หรือเรียกในภาษารัสเซียว่า Tsarevitch) อเล็กซิสประสูตินั่นเอง พระยาศรีธรรมสาสน (ทองดี สุวรรณศิริ) อัครราชทูตไทยที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงของรัสเซียในเวลานั้น (ปัจจุบันคือนครเลนินกราด) ก็ได้มีโทรเลขเข้ามาทูลฯ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ เสนาบดีต่างประเทศของไทย ซึ่งกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ก็ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแก่รัชกาลที่ 5 ให้ทราบ และได้มีพระราชโทรเลขแสดงความยินดีไปยังราชสำนักรัสเซียโดยทันที
ดวงรัชทายาท
ในเดือนต่อมา ภายหลังที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับรายงานละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาประสูติขององค์มกุฎราชกุมารอเล็กซิสที่อัครราชทูตไทยส่งมาถวาย พระองค์ได้มีพระราชกระแสให้กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ “สอบวันแลเวลาประสูตรตรงกับวันเรา ส่งไปให้โลกทีปผูกดวงดูสักที…” [พระราชกระแสรัชกาลที่ 5 วันที่ 21 กันยายน ร.ศ. 123) ในเอกสารรัชกาลที่ 5 ต 13.1 (เจ้านายต่างประเทศประสูติโอรสธิดา) เลขที่ 7 (สมเด็จพระนางเจ้ารัสเซียประสูติพระโอรส)] การที่ทรงสั่งให้สอบวันและเวลาการประสูติก็เนื่องมาจากว่า นอกจากเวลาที่รัสเซียและไทยจะต่างกันมากแล้ว ระบบปฏิทินที่รัสเซียใช้เวลานั้นก็ยังต่างไปจากสากลนิยมอีกด้วย คือช้ากว่าวันในปฏิทินสากลนิยม 13 วัน
3 วันต่อมา กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ก็ได้มีรับสั่งให้หลวงโลกทีป โหรหลวงดำเนินตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ตามร่างหนังสือที่มีไปถึงหลวงโลกทีป ที่แนบวันเวลาที่คำนวณออกมาอย่างละเอียดดังนี้
“ร่างหนังสือกรมราชเลขานุการ ที่ 66/884 วันที่ 24 กันยายน ร.ศ. 123”
“ถึงหลวงโลกทีป ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผูกดวงพระชาตาแกรนดดุกอเล็กซิส มกุฎราชกุมารกรุงรัสเซียทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ส่งจดหมายวันประสูตรมาพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว”
“ประสูตรวันที่ 30 กรกฎาคม คฤสตศักราช 1904 เวลาบ่ายโมง 1 กับ 15 นาที ตามวิธีวันที่ใช้ในประเทศรัสเซีย แลเวลาที่กรุงเซนตปิเตอสเบอค”
“วันรัสเซียช้ากว่าวันที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ 13 วัน ต้องเอา 13 บวก”
เวลาที่กรุงเซนตปิเตอสเบอคแก่กว่าเวลาที่เมืองกรินิช 2 โมง 1 นาที 13 วินาที”
“เวลาที่กรุงเทพฯ แก่กว่าเวลาที่เมืองกรินิช 6 โมง 41 นาที 52 วินาที”
“เอาอันน้อยลบอันมาก ตกเปนเวลากรุงเทพฯ แก่กว่าเวลาที่กรุงเซนตปิเตอสเบอค 4 โมง 40 นาที 39 วินาที ต้องเอาไปบวกเวลาประสูตร”
“จึ่งตกเปนวันเวลาในกรุงเทพฯ เปนวันที่ 12 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 123 เวลาบ่าย 5 โมง กับ 55 นาที 39 วินาที นี้เปนวันแลเวลาที่จะผูกดวง”
[ร่างหนังสือกรมราชเลขานุการ ถึงหลวงโลกทีป เอกสารรัชกาลที่ 5 ต 13.1 เลขที่ 7) (รหัสไมโครฟิล์ม มร.53/61)]
ตามร่างหนังสือข้างต้น จะเห็นว่ากรมราชเลขานุการมีความประสงค์ที่จะให้หลวงโลกทีปผูกดวงแต่เพียงผู้เดียว และให้ผูกตามวันและเวลากรุงเทพฯ เท่านั้น อย่างไรก็ดีในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน กรมราชเลขานุการก็ได้รับคำทำนาย 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นคำทำนายของหลวงโลกทีปทำนายตามเวลาที่กรุงเทพฯ ที่คำนวณออกมา ส่วนอีกฉบับหนึ่งเป็นคำทำนายของหลวงไตรเพท ทำนายตามเวลาที่รัสเซีย ซึ่งคำทำนายอันหลังนี้เข้าใจว่าคงจะทำขึ้นเป็นพิเศษนอกเหนือที่กรมราชเลขานุการสั่ง เพราะไม่ปรากฏในร่างหนังสือที่อ้างถึงข้างต้นได้กล่าวไว้
เลขที่ 26
ตามเวลาที่กรุงเทพฯ
หลวงโลกทีป ทำนาย
แกรนดดุกอเล็กซิสมกุฎราชกุมาร ประสูตร์วันที่ 12 สิงหาคมรัตนโกสินทรศก 123 ตรงกับคฤศตศักราช 1904 ซึ่งตรงตามจันทรคติณวัน 6 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรงฉอศกศักราช 1266 เวลาบ่าย 5 โมงกับ 55 นาที 39 วินาที ตามวิธีเวลาที่ใช้ในกรุงเทพ, ลักขณาสถิตย์ณราษีธนู เกาะฉัฐณวางค์ (4) ทุติยตรียางค์ (3) เสวยบุพพาสาทฤกษ์ 20 ประกอบไปด้วยมหัดธโนฤกษ์
วัน 6 เปนวันมรณะแลอุปาสนะโลกยวินาศน์ด้วยในคัมภีร์อุทาสินรามัญ พยากรณ์ว่า ใครอุบัติวันนั้นย่อมเปนผู้มาแต่นรก มักชอบบริโภคอาหารอันประกอบไปด้วยของสดคาว แลเสพย์อาหารมากกว่ามนุษย์ธรรมดา
ลักษณาสถิตย์ณธนูราษี ทายตามพยากรณ์ว่า ที่เกิดนั้นทิศอิสาณมีสวนแลป่า ทิศบูรพาแลอาคเณย์มีสถานอันเปนที่เคารพนับถือของชาติสาสนา
พยากรณ์ตามส่วนลักษณาว่า มีรูปฉวีวรรณ์ขาวงามสอาด ประกอบด้วยสติปัญญา ทั้งถ้อยคำเจรจาก็อ่อนหวานไพเราะ จะบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติเปนอันมาก
นัยหนึ่งพยากรณ์ตามส่วนลักษณาที่ราหูร่วมธาตุกับลักษณา แลเปนกาฬกิณีทั้งราหูร่วมธาตุกับพฤหัศบดีด้วย ว่ารูปแลพรรณ์สติปัญญาถ้อยคำเจรจาทรามกว่าธรรมดา ทั้งโภคก็ขาดถอยไม่บริบูรณ์เต็มที่
ในไวยทั้ง 3 ที่เปนไป ปถมวัยมัชฌิมวัยจะได้รับความเดือดร้อนเปนอันมาก ต่อปัจฉิมวัยจึงจะได้รับความศุข ล่วงอายุถึง 78 ปีเปนไขยเขตร์สิ้นกำลังแห่งชาตาแล
พระเคราะห์ 3 4 5 7 ขับออกทวารได้ชาตาชื่อทุกขะตะ ในพยากรณ์ว่าจะตกทุกข์ได้ยากถึง 3 หน แม้จะมีโภคะสมบัติไม่วัฒนาการยืนยงคงอยู่เปรียบปานประหนึ่งว่า แม้แต่อาหารที่จะหาบริโภคได้ก็ขัดสน ใจมักเปนบาปไม่เปนที่ยินดีแห่งชนทั้งหลาย ถ้าประกอบกิจทางใช้อาวุธก็จะถึงแก่ความมรณะด้วยคมอาวุธ
พระเคราะห์ราหูเปนกาฬกิณีสถิตย์ณราษีสิงห์ แลเปนปัตนิในคัมภีร์พยากรณ์ว่า ญาติสาโลหิตจะมีความรังเกียจติเตียนหาเหตุต่าง ๆ ให้เสื่อมเสียซึ่งวงษ์ตระกูล
พระเคราะห์ราหู ร่วมธาตุกับพระพฤหัศบดี แลร่วมกับพระเคราะห์ 246 ในคัมภีร์ทักษาพยากรณ์ว่า ชนทั้งหลายจะมีความหมิ่นประมาททั้งพาหนะที่เปนทวิบาทว์จัตุบาทว์ อีกโภคทรัพย์ก็จะไม่ดำรงค์อยู่ได้นาน มีแต่จะอันตรทานล่วงโรยเสื่อมถอยไปโดยไม่เปนประโยชน์
อนึ่งแม้จะมีอำนาจหรือกำลัง ก็ไม่เปนที่ยำเกรงแก่บุคคล กับจะได้รับผลแห่งความประมาท ล่วงเลยจนถึงต้นตระกูล
พระเคราะห์เสาร์สถิตย์ณมังกรราษี เปนเกษตรในมหาทักษาพยากรณ์ว่า จะมีอิศิริยศแลกำลังอำนาจมาก แต่มักมีสัตรูคิดประทุษฐร้ายอยู่เสมอ เปรียบประดุจดังเงาติดตามตัวไปเปนนิตย์
พระเคราะห์อังคารสถิตย์ณราษีกรกฏเปนนิตย์ ในพยากรณ์ทำนายว่า ตั้งแต่อายุ 30 ขึ้นไป แม้ว่าจะกระทำกิจการอันใดมักไม่ยั่งยืนโดยมีเหตุให้มากีจกั้นไปต่าง ๆ
พระเคราะห์อาทิตย์สถิตย์ณกรกฎราษี เปนมหาจักร์ในพยากรณ์ว่า เปนอนุชาตบุตร์ ประกอบด้วยสิลปวิทยาต่างๆ แลจะได้สืบตามตระกูลวงษ์ต่อไป แต่ความประพฤติ์มักพอใจมากไปด้วยเมถุน อันมิได้ปราศจากโทษแห่งกามมิจฉาจาร
ตามพื้นแห่งชาตานี้ รวมใจความตามในคำพยากรณ์ว่า ตั้งแต่อุบัติ์คู่ครรภ์มารดามา กระทำให้บิดามารดาแลญาติสาโลหิต ทั้งข้าทาษกรรมกรมีความวิวาทพรัดพรากจากกันแลกันไม่ใคร่ขาด ทั้งสัตรูหมู่อมิตร์มีความหมิ่นประมาทโดยมาก ย่อมจะได้รับความทุกข์ยากก่อน จึงจะได้รับผลแห่งความศุขต่อภายหลัง
ตามเวลาที่รัสเซีย
หลวงไตรเพท ทำนาย
แกรนดดุกอเล็กซิสมกุฎราชกุมาร ประสูตร์วันที่ 12 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 123 ตรงกับคฤศตศักราช 1904 ตามจันทรคติซึ่งตรงกับณวัน 6 1 ฯ 9 ค่ำ ปีมะโรงฉอศักราช 1266 เวลาบ่าย 1 โมง กับ 15 นาที ตามวิธีเวลาที่ใช้ในประเทศรัสเซียนั้น ลักขณาสถิตย์ณราษีดุล เกาะฉัฐณะวางค (5) ทุติยตรียางค์ (7) เสวยสวัสดิ์ฤกษ์ 15 ประกอบไปด้วยเทวีแห่งฤกษ์
ขอพระราชทาน ดวงชาตาดังนี้ซึ่งชนกกรรมนำมาอุบัติบังเกิดในตระกูลใด ๆ ก็ดีในชั้นต้น จัดเปนอะวะชาตบุตร์ คงประพฤติตนอย่างหินชาติ์อันต่ำช้า
คือพระเคราะห์ (ศุกร์) เปนตนุร่วมราษีแห่งกาฬกิณีแลเปนลาภะกับลักขณา (ทำนายว่า) ถึงจะมีตระกูลอันสูงศักดิ์ฉันใดก็ดี ย่อมเสื่อมอำนาจราชศักดิ์ โดยอกุศลกรรมซัดให้เปนคนถอยต่ำกว่าตระกูล
พระเคราะห์ (เสาร์) ซึ่งเปนอุสาหะสถิตย์ ณ ราษีมังกรเปนหริกับตนุ (ทำนายว่า) จักอุสาหะพยายามกิจกานุกิจใดหวังว่าเปนคุณภายหลังจะกลับเปนโทษเพราะฉนั้นจะดำริห์การสิ่งใดมักไม่ตลอด
พระเคราะห์ (พุฒ) เปนกะดุมภะอยู่ด้วยกาฬกิณีณราษีสิงห์ (ทำนายว่า) ทรัพย์สมบัคิทั้งปวงจะอุดมภ์สักเท่าใด ก็ไม่อาจคุ้มครองป้องกันไว้ได้ หรือสัมพันธุ์มิตร์แลวงษ์ญาติ์ย่อมจะแตกต่างทางสามัคคี ไม่เปนที่บำรุงซึ่งกันแลกันให้รุ่งเรืองเจริญได้
พระเคราะห์ (อังคาร) ซึ่งเปนศิริสถิตย์ณราษีกรกฎ เปนวินาศนกับตนุ เพราะฉนั้น (ทำนายว่า) ไม่สามารถจะรักษาอิศิริยศแลปริวารยศรับรองทัพสำภาระชาติตระกูลเนื่องต่อไปได้
พระเคราะห์ (พฤหัศบดี) ซึ่งเปนมนตรีสถิตย์ณราษีเมษ ต้องด้วยบังคับเปน 7 กับลักขณา แต่ร่วมธาตุกับกาฒกิณี เพราะฉนั้น (ทำนายว่า) สติปัญญาแลความคิดโลภเจตนาแต่เจือเปนพาล เพราะฉนั้นประกอบกิจสิ่งใดไม่รู้จักที่ได้ที่เสีย เห็นแต่จะได้นั้นฝ่ายเดียว ไม่เปนที่สรรเสริญแห่งนักปราชฌ์ราชบัณฑิตย์
พระเคราะหฺ (ราหู) ซึ่งเปนกาฬกิณีสถิตย์ณราษีสิงห์ เปนลาภกับลักขณา (ทำนายว่า) ถึงสรรพคุณพระเคราะห์องค์หนึ่งองค์ใดจะให้ผลบ้างย่อมมีกาฬกิณีกีดขวางให้เปนที่ฝืดเคือง ที่สุดจะมีสัมพันธุมิตร์อันสนิทชิดเชื้อ มักจะไม่ซื่อตรงต่อย่อมแตกร้าว ทั้งสัตรูที่จะประทุษฐร้ายก็มีมาก
พระเคราะห์ (จันทร์) ซึ่งเปนเดชสถิตย์ณราษีสิงห์ ร่วมกับกาฬกิณี (ทำนายว่า) เดชานุภาพแลอำนาจราชศักดิ์ย่อมเสื่อมถอยทั้งจิตร์ก็เปนพาลประกอบการทุจริต อนึ่งคนจะย่ำยีล้างอำนาจ ถึงจะมีชนมายุยืดยาวต่อไปย่อมจะไร้ที่พึ่ง
พระเคราะหฺ์ (อาทิตย์) ซึ่งเปนอายุสถิตย์ณราษีกรกฎ เปนวินาศนกับตนุเศษ (ทำนายว่า) เกรงชนมายุจะไม่วัฒนาแต่ปถมวัยไปจนถึงชนมายุ 25 ปี ในระหว่างนี้มักจะเคลิ้มเขลาในส่วนราชการที่ประกอบจะให้โทษเล่ห์ประหนึ่งจะอับปาง
อีกประการหนึ่งต้องด้วยคัมภีร์ขับชาตา พระเคราะห์ทั้ง 8 พระองค์ร่วมเอกราษี (ทำนายว่า) ในตอนต้นย่อมจะทุกข์ยากลำบากเสียก่อนให้จงได้ เมื่อชนมายุวัฒนาต่อ 25 ปีนั้นไปแล้ว ย่อมจะกลับจิตร์เห็นผิดแลชอบ เสมออนุชาตบุตร์ ดำเนินตามวงษ์ตระกูลสืบต่อไป
สิ่งอัปมงคล
คำทำนายดวงชาตามกุฎราชกุมารอเล็กซิส ที่หลวงโลกทีปและหลวงไตรเพททำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปบ้าง เนื่องจากแต่ละท่านใช้เวลาคนละอย่างในการคำนวณและผูกดวง แต่สาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในคำทำนายนั้นก็คล้ายคลึงกันมาก ในประเด็นที่ว่ามกุฎราชกุมารพระองค์นี้จะได้รับความเดือดร้อนแต่วัยประถม แมัจะมีทรัพย์สมบัติมากมายแต่ก็จะรักษาไว้ไม่ได้ จะมีศัตรูคอยทำร้าย จะทำให้พ่อแม่พี่น้องญาติมิตรแตกแยกพลัดพราก ไม่สามารถรักษายศศักดิ์ ฐานะ บริวารของตระกูลได้ ฯลฯ
ความมุ่งหมายในชั้นต้นของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้มีการผูกดวงของมกุฎราชกุมารอเล็กซิสครั้งนี้ ก็คงเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่สนิทสนมเป็นอย่างดีระหว่างพระองค์และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ดังนั้นอาจสันนิษฐานได้ต่อไปว่าพระองค์คงตั้งพระทัยที่จะส่งคำทำนายของโหรหลวงไปให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในฐานะพระสหายและเพื่อเป็นการแสดงความยินดีที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้พระราชโอรสสมพระราชประสงค์ แต่หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นคำทำนายทั้งสองที่ดูจะไม่เป็น “มงคล” แล้ว ก็ไม่ได้โปรดให้ส่งคำทำนายนี้ไปถวายแต่อย่างไร เพียงแต่มีรับสั่งถึงกรมราชเลขานุการ “ให้หลวงประสิทธิ์ดู แล้วหาที่เก็บไว้ให้ดี” เท่านั้น คำทำนายนี้จึงไม่มีโอกาสได้รับการพิสูจน์
เชื่อดีหรือไม่
ถ้าพิจารณาดูสาระสำคัญที่ปรากฏในคำทำนายทั้งสองนี้ ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของมกุฎราชกุมารอเล็กซิส นับตั้งแต่ประสูติ จะเห็นได้ว่าสอดคล้องต้องกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่มกุฎราชกุมารอเล็กซิส ทรงพระประชวรด้วยโรคโลหิตชนิดหนึ่ง (Haemophilia-โรคโลหิตไหลไม่หยุด) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หลังจากที่ประสูติได้ไม่นาน และต้องทนทรมานด้วยโรคดังกล่าวอยู่เสมอ จนไม่อาจดำเนินชีวิตเฉกเช่นเด็กในวัยเดียวกันได้ และทำให้เกือบตกสิ้นพระชนม์หลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ดีการประชวรด้วยโรคดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนถึงวิถีชีวิตของมกุฎราชกุมารองค์นี้เพียงเท่านั้น แต่มีผลที่สัมพันธ์กับชะตากรรมของครอบครัวของพระองค์ นั่นคือราชวงศ์โรมานอฟกับประเทศรัสเซีย และในที่สุดถึงประวัติศาสตร์โลก เพราะการประชวรนี้เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งในการนำไปสู่การปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ และสถาปนารัฐสังคมนิยมรัฐแรกขึ้นในโลกในเดือนตุลาคม 2460 ดังคำกล่าวของ นายปีแอร์ ยิลเลียร์ด ชาวสวิสผู้ถวายการสอนแก่พระราชโอรสและธิดาทุกพระองค์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ว่า
“การประชวรขององค์มกุฎราชกุมารได้นำเงามืดมาสู่ระยะสุดท้ายของรัชกาลพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2…การประชวรนี้เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่นำความหายนะมาสู่พระองค์ เพราะการประชวรนี้เองที่เปิดโอกาสให้รัสปูตินได้เข้ามามีบทบาท และทำให้ราชสำนักต้องห่างเหินจากโลกภายนอกมากขึ้นอย่างน่ากลัว…”
หมอผีครองเมือง
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะให้มกุฎราชกุมารอเล็กซิสขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ในฐานะของซาร์ที่แท้จริง นั่นคือทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดแบบจักรพรรดิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความปรารถนาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับภาวะความเปลี่ยนแปลงในสังคมรัสเซียในขณะนั้น ซึ่งไม่สามารถจะทนต่อความสภาพกดขี่ขูดรีดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อีกต่อไป แต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมีสิทธิในการปกครองมีโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ด้วยการที่ชาวนาจำนวนล้าน ๆ ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นทาสติดที่ดินในพื้นดินของศักดินาเจ้าของที่ดินใหญ่ ๆ (บางคนมีที่ดินนับแสน ๆ ไร่) หรือกลายเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกพวกนายทุนเจ้าของโรงงานขูดรีดทางแรงงานด้วยค่าจ้างที่ต่ำและไร้สวัสดิการ กล่าวโดยทั่วไปประชาชนส่วนใหญ่ในรัสเซียขณะนั้นขาดความมั่นคงในชีวิต ชาวนา และกรรมกรจำนวนมากต้องอดตาย
การประชวรของมกุฎราชกุมารอเล็กซิส ได้ทำให้ภาวะความขัดแย้งนี้รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากที่นายแพทย์หลวงทั่วรัสเซียหมดความสามารถที่จะรักษาให้มกุฎราชกุมารอเล็กซิสหายขาดจากโรคนี้ได้ ในระยะนี้เองที่รัสปูตินได้เข้ามามีบทบาทในการถวายการรักษาอเลซิส รัสปูตินเป็นนักบวชลึกลับจากไซบีเรีย ผู้มีชื่อเสียงอื้อฉาวในทางชู้สาว แต่มีพลังจิตที่มีอำนาจแข็งกล้าและได้รับการยกย่องจากชาวนารัสเซียจำนวนมากว่าเป็นนักบุญ ความสามารถของรัสปูตินสามารถทำให้อาการโรคของมกุฎราชกุมารอเล็กซิสที่กำเริบขึ้นนั้นทุเลาลงจนเป็นปกติ (แต่ไม่หายขาด) นับแต่นั้นมารัสปูตินก็กลายเป็นที่ศรัทธาโปรดปรานของราชสำนัก โดยเฉพาะของพระมเหสีอเล็กซานดรา ซึ่งเชื่อว่ารัสปูตินสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ และช่วยให้อาการโรคของพระราชโอรสของพระองค์หายขาดได้ ดังนั้นรัสปูตินจึงสามารถเข้าออกในราชสำนักได้ทุกเวลา และได้รับพระราชทานเงินและรางวัลอื่น ๆ มากมายรวมทั้งกลายฐานะเป็น “เพื่อนของเรา” ของพระมเหสีอเล็กซานดรา ซึ่งอันที่จริงพระองค์ได้อยู่ใต้อิทธิพลของรัสปูตินอย่างถอนตัวไม่ขึ้นมากกว่า
อิทธิพลของรัสปูตินเริ่มแผ่เข้าไปในราชสำนัก และในหมู่ผู้ดีชนชั้นสูงชาวรัสเซียเกือบทั้งหมด เป็นที่เห็นได้ชัดว่าความพยายามของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในอันที่จะรักษาอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชบัลลังก์รัสเซียไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนของรัสปูตินซึ่งพูดอยู่เสมอว่า ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของชนชั้นชาวนารัสเซียทั้งหมด (รัสปูตินถือว่าตนเกิดในชนชั้นชาวนาและตลอดชีวิตคลุกคลีกับชาวนา) เห็นว่าชาวนารัสเซียถือว่าซาร์เป็นเสมือนผู้แทนของพระเจ้าในโลก ดังนั้นจึงต้องการเห็นซาร์ที่ทรงอำนาจสิทธิขาดเหมือนเทวราช
วาระสุดท้ายของศักดินา
ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กับกลุ่มการเมือง ชาวนา กรรมกรที่เรียกร้องสิทธิจึงทวีความรุนแรงขึ้นทุกที และราชสำนักของรัสเซียก็เริ่มเหินห่างจากประชาชน เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้ฟังจากรัสปูติน คือ ความจริง
อิทธิพลของรัสปูตินในทางที่ไม่ดียังจะเห็นได้จาก การที่ถ้ารัฐมนตรีคนใดในคณะรัฐบาลไม่แสดงความเคารพนบนอบรัสปูติน หรือที่รัสปูตินไม่ชอบหน้าก็อาจจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพียงแต่รัสปูตินเปรยเป็นนัย ๆ กับพระมเหสีอเล็กซานดรา แต่ถ้าใครเป็นคนที่รัสปูตินชอบ ก็จะมีโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีบทบาทของรัสปูตินทางด้านการเมืองในระยะแรกยังอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะรัสปูตินจะมีอิทธิพลมากก็ต่อองค์มเหสีอเล็กซานดรา ซึ่งในระยะแรกไม่ค่อยได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ปล่อยให้เป็นภาระของพระเจ้าซาร์นิโคลัส แต่เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2457 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้เข้าสวมตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดด้วยพระองค์เอง (ทั้ง ๆ ที่ขาดความรู้และประสบการณ์) ทำให้ต้องเสด็จออกไปบัญชาการรบอยู่แนวหน้า การบริหารประเทศทั้งหมดจึงตกอยู่ในกำมือของพระมเหสี โดยมีรัสปูตินคอยเป็นที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลัง ในระยะนี้เองที่สถานการณ์ในรัสเซียอยู่ใสสภาพที่วุ่นวายและเลวร้ายที่สุดเพราะต้องเผชิญกับสงคราม ขณะที่ฝ่ายบริหารไร้สมรรถภาพ กองทัพรัสเซียต้องสูญเสียและพ่ายแพ้ในการรบหลายแห่ง และทหารรัสเซียล้มตายนับแสนคน เพราะคำแนะนำของรัสปูติน ขวัญและกำลังใจของชาวรัสเซียเริ่มหายไป ในขณะเดียวกันในด้านการเมืองภายใน คำแนะนำของรัสปูตินที่แทรกแซงเข้ามาในการแต่งตั้งคนไร้ฝีมือและทุจริต เข้ามารับตำแหน่งทางการบริหาร และปลดคนที่มีความรู้และซื่อสัตย์ออก ทำให้การบริหารยิ่งเลวลง
จุดเริ่มต้นของสังคมนิยม
ความวุ่นวายและการเรียกร้องของกรรมกรชาวนาที่ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะสงคราม และอีกส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเหลวแหลกของฝ่ายบริหาร ได้รับการปราบปรามอย่างรุนแรง ทารุณโหดร้าย และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้น ในที่สุดก็ได้มีเสียงเรียกร้องให้กำจัดรัสปูติน แม้แต่ในหมู่ราชสำนักเชื้อพระวงศ์ หรือพวกอนุรักษนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อรักษาราชวงศ์ไว้ ในปลายเดือนธันวาคม 2459 พระญาติสนิทของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นราชวงศ์โรมานอฟต้องสูญสิ้น ก็ได้ร่วมมือกันหลอกรัสปูตินมาสังหารด้วยยาพิษและปืนพก
อย่างไรก็ดีการกำจัดรัสปูตินก็เป็นการสายไปเสียแล้ว และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ดูเหมือนจะไม่รู้ว่า การตายของรัสปูตินเป็นเสมือนสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า ความไม่พอใจที่ประชาชนรัสเซียรวมทั้งพระญาติที่มีต่อพระองค์และราชวงศ์โรมานอฟมีถึงขีดสุด และควรที่พระองค์จะปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นไม่ถึง 3 เดือนต่อมา ในเดือนมีนาคม 2460 ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็นำไปสู่การยึดอำนาจโดยนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม ทำให้พระองค์ต้องสละราชสมบัติ และพระองค์รวมทั้งครอบครัวถูกควบคุมตัวได้
แต่การยึดอำนาจของฝ่ายเสรีนิยมก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ในรัสเซียคลี่คลายขึ้นแต่อย่างไร ความขัดแย้งยังคงมีอยู่อย่างรุนแรง และทำให้ฝ่ายบอลเชวิคส์ที่นำโดยเลนินยึดอำนาจจากกลุ่มเสรีนิยมได้สำเร็จในเดือนตุลาคมของปีนั้น ซึ่งกลายมาเป็นเหตุการณ์สำคัญที่รู้จักกันดีไปทั่วโลกในฐานะที่เป็นกำเนิดของรัฐสังคมนิยมสมัยใหม่รัฐแรกของโลก
ฤาจะให้โหรครองเมือง
การสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2156 ต้องสิ้นสุดลง แต่ชะตากรรมของราชวงศ์โรมานอฟ โดยเฉพาะของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวหาได้หมดสิ้นเพียงเท่านี้ไม่ วิถีชีวิตของมกุฎราชกุมารอเล็กซิสที่นำรัสปูตินเข้ามามีอิทธิพลและอำนาจมืดในราชสำนักโดยตรง ยังสร้างผลร้ายแรงที่สุดให้เกิดขึ้นกับอำนาจครอบครัวของตนอีก เพราะเมื่อภายหลังต่อมาที่พวกบอลเชวิคส์เข้ายึดอำนาจแล้วได้เพียงไม่ถึง 1 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2461 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2, มเหสีอเล็กซานดรา, มกุฎราชกุมารอเล็กซิส และพระราชธิดาอีก 4 พระองค์ ที่ถูกคุมไว้ในบ้านหลังหนึ่งในไซบีเรียตะวันตก ก็ถูกปลงพระชนม์
แม้ว่าคำทำนายนี้จะไม่ได้เอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก อันเกิดจากดวงชะตาของมกุฎราชกุมารอเล็กซิส แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ในประเด็นที่ว่ามกุฎราชกุมารอเล็กซิสจะนำความวุ่นวายหายนะมาสู่ราชวงศ์นั้นก็เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย
หลวงโลกทีป หลวงไตรเพท และแม้แต่รัชกาลที่ 5 ก็คงจะนึกไม่ถึงว่าคำทำนายทั้งสองนี้ใกล้เคียงความจริงอยู่มาก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โลกในเวลาต่อมา น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสรู้จักชื่อจริงของโหรทั้ง 2 ท่านนี้ เพราะในเอกสารนี้อ้างถึงทั้งหมดไม่ได้เอ่ยถึงชื่อจริงของท่านไว้ด้วย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2561