“วันสงกรานต์” ปีใหม่ไทย แต่ไม่ใช่วันเปลี่ยน “นักษัตร” ในระบบปฏิทินไทย!?

พระพุทธสิหิงค์ ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ นักษัตร สงกรานต์
การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : fb สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“นักษัตร” ในระบบปฏิทินไทย ไม่ได้เปลี่ยนช่วงสงกรานต์ แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “ปีใหม่ไทย” แต่เปลี่ยนในวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เหตุใดเป็นเช่นนั้น? หรือจะเกี่ยวข้องกับการรับอิทธิพลด้านระบบปฏิทินจากจีนผสมกับอินเดีย

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ชวนทำความรู้จักเทศกาลสงกรานต์ไทย แบบเจาะลึกถึงอิทธิพลจาก 2 อู่อารยธรรมสำคัญของโลกอย่างอินเดียกับจีน ว่าส่งผลหรือมีความสำคัญต่อการตกผลึกเป็น “ปีใหม่ไทย” และการนับปีศักราช ข้ามปีนักษัตรในปฏิทินของไทยอย่างไร

ศิริพจน์ เล่าว่า ไทยรับเอาระบบปฏิทินจากอินเดียมา ทำให้รับเอาสงกรานต์จากอินเดียมาด้วย แต่ปีนักษัตรต่าง ๆ อย่าง ชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ นั้นมาจากจีน

“ในอุษาคเนย์ เรามีเดือนอ้าย เดือนยี่ แล้วจับมิกซ์แอนด์แมตช์กัน ในสมัยโบราณ มิกซ์แอนด์แมตช์อีกแบบหนึ่ง แรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย คือปีใหม่แบบโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส่วน) สงกรานต์คือปีใหม่แขก แต่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นปีใหม่ไทย ปีใหม่เขมร ปีใหม่พม่า ปีใหม่ลาว แต่เวลาที่เขานับเปลี่ยนนักษัตร จีนจะนับวันเปลี่ยนนักษัตรที่ ‘วันลิบชุน’ คือช่วงตรุษจีน ช่วงประมาณ ปลาย ๆ มกราคม ต้น ๆ กุมภาพันธ์ ถ้าเราเทียบกับปฏิทินปัจจุบัน”

ศิริพจน์ อธิบายว่า คนโบราณของไทยปรับระบบการนับดังกล่าวเพิ่มเติม ดังมีหลักฐานอยู่ในปฏิทินหลวงที่ราชสำนักทำ เป็นวิธีคำนวณที่เรียกว่า “ปักษคณนา” ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้นก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยทรงใช้วิธีทางคณิตศาสตร์-ดาราศาสตร์แบบชาติตะวันตก ผสมกับของไทย

สังคมไทยในสมัยโบราณก่อนจะมีระบบคำนวนแบบปักษคณนา คือโลกที่ไม่มีนาฬิกา คนโบราณต้องรอหอกลองตีกลองบอกเวลา แต่เมื่อเกิดนาฬิกาขึ้น รัชกาลที่ 4 สามารถคำนวณเวลาเป็นหลักวินาทีได้ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เพราะสามารถระบุเป็นชั่วโมง นาที วินาที ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการคำนวนการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นผลมาจากวิทยาการดังกล่าว

“การคำนวณแบบนี้ถูกใช้ในการทำปฏิทินหลวง และใช้กันจนกระทั่งปัจจุบัน พอเวลาเปลี่ยนปีตามปฏิทินหลวง คือแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เปลี่ยนนักษัตรแบบโบราณของไทย โบราณในที่นี้คือ อย่างน้อยที่สุดก็ต้นรัตนโกสินทร์ เวลาที่เขานับปีจะเปลี่ยนจากชวดมาเป็นฉลู ฉลูมาเป็นขาล หรืออย่างปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็นปีมังกรทอง ปีมะโรง

เปลี่ยนเมื่อไหร่? เปลี่ยนเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ไม่ได้เปลี่ยนที่วันมหาสงกรานต์ คนละอัน อย่าเพิ่งไปเอามาปนกัน เพราะหนึ่งคือมาจากจีน อีกหนึ่งมาจากอินเดีย นี่เป็นอีกเรื่องที่เรามักเข้าใจผิดกันว่าตัวของวันมหาสงกรานต์คือวันเปลี่ยนนักษัตรไปด้วย”

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST “มหาสงกรานต์ ย่านอุษาคเนย์” EP.1 “สงกรานต์ไทย” อิทธิพลยักษ์ใหญ่ จีน-อินเดีย โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2567