ความ “ห้าว” ของเจ้าฟ้ากุ้ง ผู้ไม่กลัวกฎหมาย? เล่นชู้พระสนม-ลอบฟันเจ้าฟ้านเรนทร?

สำเร็จโทษ ท่อนจันทน์ กฎมณเทียรบาล กรมขุนเสนาพิทักษ์
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ผู้ไม่กลัวกฎหมาย? เล่นชู้พระสนม-ลอบฟันเจ้าฟ้านเรนทร?

“เจ้าฟ้ากุ้ง” หรือพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นผู้ที่ถูกวางไว้ให้ปกครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา เพราะเป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถฉลาดหลักแหลมสมกับเป็น “กวีเอก” แห่งยุค “บ้านเมืองดี”

หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสถาปนาพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวังสถานมงคล หรือวังหน้า มีราชสิทธิ์สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ทำให้เกิด “ความริษยา” ขึ้นในหมู่พระราชวงศ์ที่หมายปองราชบังลังก์

Advertisement

เกิดเป็นกรณี “เจ้าสามกรม” ทูลฟ้องพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่าเจ้าฟ้ากุ้งลักลอบเล่นชู้กับพระสนมคนโปรดในพระเจ้าอยู่หัว สุดท้ายเจ้าฟ้ากุ้งก็ถูกพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์

เจดีย์ประธานและฐานพระอุโบสถวัดโคกพระยา วัดที่ วัน วลิต ระบุไว้ในจดหมายเหตุว่าเป็นสถานที่ที่ใช้สำเร็จโทษกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในสมัยอยุธยา

เหตุการณ์เล่นชู้ของเจ้าฟ้ากุ้ง สามารถบ่งบอกพระอุปนิสัยของพระองค์ได้ว่าทรงเป็นคนที่ “ห้าว” ไม่ใช่น้อย เพราะพระองค์ต้องทรงทราบเป็นอย่างดีว่าการประพฤติเช่นนี้เป็นเรื่องผิดมหันต์ และหากโดนจับได้จะต้องพระราชอาญาสถานหนัก แต่เจ้าฟ้ากุ้งก็ยังกระทำเรื่องที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพิโรธ

ย้อนไปตอนต้นรัชกาล พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้ากุ้งก็เคยก่อเรื่องห้าว ๆ ที่ทำให้พระราชบิดาทรงพิโรธหนักมาแล้ว คือกรณีเจ้าฟ้ากุ้งลอบทำร้ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ หรือรู้จักกันอีกชื่อว่าเจ้าฟ้านเรนทร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีศักดิ์เป็นหลานอาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นหลานรักของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมาตั้งแต่แผ่นดินก่อน ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เกิดการแย่งชิงอำนาจในกรุงศรีอยุธยา เจ้าฟ้านเรนทรผู้ทรงมีสิทธิ์ทางสายเลือดอันดับหนึ่งทรงปฏิเสธราชบัลลังก์ และเลือกที่จะยกให้ผู้เป็นอาแทน

ประเด็นนี้อาจมองได้หลายมุมต่างกัน เจ้าฟ้านเรนทรอาจเห็นสมควรว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขณะดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังสถานมงคลมีสิทธิ์ที่จะครองราชย์ตามกฎ หรืออาจมองได้ว่าเจ้าฟ้านเรนทรทรง “เกรงกลัว” อำนาจของอาตนเอง จึงยอมยกราชบัลลังก์ให้

การออกบวชของเจ้าฟ้านเรนทรเปิดทางให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ครองราชย์โดยสำเร็จ แม้จะต้องลงมือปราบกลุ่มต่อต้านไปบ้างก็ตาม ดังนั้น เจ้าฟ้านเรนทรจึงทรงครองบรรพชิตไปตลอดชีวิต เพื่อใช้พระศาสนาเป็นร่มคุ้มกันภยันตรายอย่างไม่ต้องสงสัย อันเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันเรื่อยมาในกรุงศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้านเรนทรเป็นหลานรักของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังจะเห็นได้ว่าทรงแต่งตั้งให้ “ทรงกรม” แม้จะทรงครองบรรพชิต

เรื่องหลานรักนี้ทำให้เจ้าฟ้ากุ้งเกิดความวิตกพระทัยว่าราชบัลลังก์ที่ควรจะเป็นของพระองค์ อาจคืนกลับไปให้เจ้าฟ้านเรนทรผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ไม่น้อยกว่าพระองค์ เพราะต่างก็เป็นพระราชโอรสในพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงหาวิถีทางกำจัดเจ้าฟ้านเรนทร

ludea ยูเดีย

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า ในปีศักราชที่ 1097 ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวร เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดยอดเกาะ ได้เสด็จย้ายมาอยู่ที่วัดโคกแสง ภายในพระนคร เมื่อทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวร จึงได้มาเข้าเฝ้าอยู่เนือง ๆ

ดังนั้นเจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงวางแผนให้พระองค์เจ้าชื่นกับพระองค์เจ้าเกิด (พงศาวดารกรุงเก่าว่าเป็นพระองค์เจ้าชื่นกับพระองค์เจ้าเทศ) ไปนิมนต์ลวงให้เจ้าฟ้านเรนทรทรงทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีรับสั่งให้ไปเข้าเฝ้า เจ้าฟ้านเรนทรทรงหลงกลคิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงเสด็จเข้าสู่พระราชวังหลวงในคืนนั้น

เมื่อเจ้าฟ้านเรนทรเสด็จมายังพระราชวังหลวง เจ้าฟ้ากุ้งที่ทรงแอบอยู่ที่พระทวาร (ประตู) ได้เอาพระแสงดาบฟันเจ้าฟ้านเรนทรแต่ไม่ถึงกับชีวิต คมดาบถูกจีวรขาดเท่านั้น เจ้าฟ้ากุ้งเห็นเช่นนั้นก็ตกพระทัยรีบวิ่งหนีไปหลบในพระตำหนักของพระราชมารดาคือ กรมหลวงอภัยนุชิต

จากนั้น เจ้าฟ้านเรนทรเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเห็นจีวรที่ขาดจึงตรัสถาม เจ้าฟ้านเรนทรทูลแค่ว่า เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นผู้กระทำ แต่แค่หยอกเล่นกันเท่านั้น

เมื่อเจ้าฟ้านเรนทรถวายพระพรลาออกมาแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตก็รีบเสด็จมาทูลอ้อนวอนขอให้เจ้าฟ้านเรนทรช่วยเหลือ เจ้าฟ้านเรนทรก็แนะนำว่ามีทางเดียวคือ ร่มกาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระพุทธศาสนา

กรมหลวงอภัยนุชิตจึงทรงรีบพาเจ้าฟ้ากุ้งขึ้นไปหลบในพระวอ (พระราชยาน) แล้วพากันไปวัดโคกแสงให้ผนวชที่วัดนั้น ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ทรงพระพิโรธ ให้หาตัวเจ้าฟ้ากุ้งมาแต่ไม่พบ แต่ได้ตัวพระองค์เจ้าชื่นกับพระองค์เจ้าเกิดผู้สมรู้ร่วมคิดการนั้น จึงรับสั่งให้นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เสียทั้งสองพระองค์ 

ครั้นเมื่อถึงศักราช 1099 กรมหลวงอภัยนุชิตทรงพระประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ จึงทูลขอต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระราชทานอภัยโทษให้พระราชโอรส พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ทรงให้อภัยโทษ เมื่อหายจากพระวิตกแล้วกรมหลวงอภัยนุชิตก็สิ้นพระชนม์

ฝ่ายเจ้าฟ้ากุ้งเมื่อทราบว่าพ้นจากพระราชอาญา ก็ทรงลาผนวชออกมาถวายงานพระราชบิดาตามเดิม

กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้สถาปนาเจ้าฟ้ากุ้งขึ้นเป็นกรมพระราชวังสถานมงคล ในปีศักราช 1103 ตามที่พระราชโกษาปานบ้านวัดระฆังเป็นผู้กราบทูลพระกรุณาขอ และเหล่าเสนาบดีที่มาประชุมกันก็ล้วนเห็นด้วยกับการนี้

จะเห็นได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นไว้วางพระราชหฤทัยเจ้าฟ้ากุ้งมากขึ้น ดังในปีศักราช 1104 ก็รับสั่งให้ไปเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญของอยุธยา และยังให้เป็นแม่กองทำการรื้อเครื่องบนของพระที่นั่งวิหารสมเด็จที่เก่านั้นลงมาทำใหม่ทั้งหมด

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่ได้ทรงพระพิโรธติดใจเจ้าฟ้ากุ้งมากนัก อาจด้วยเพราะทรงเล็งเห็นว่าแม้พระราชโอรสองค์นี้จะเป็นคน “ห้าว” แต่ก็เป็นคนเก่งมีความสามารถรอบด้าน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับของเหล่าขุนนาง ซึ่งจะทำให้ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์ปลอดภัยมั่นคง

แต่ความห้าวนี้ก็เลยเถิดเกินเรื่องเกินราว เพราะเจ้าฟ้ากุ้งลักลอบเล่นชู้กับพระสนมคนโปรดในพระมหากษัตริย์ จึงนำสู่ “ความตาย” ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คำให้การชาวกรุงเก่า. (2544). นนทบุรี: พิมพ์ลายสือ.

พงศาวดารกรุงเก่า. (2501). กรุงเทพฯ: ไทยเขษม.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2559). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยฯ.

กิตติ โล่ห์เพชรัตน์. (2556). ศึกชิงอยุธยา ก่อนจะล่มสลาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ก้าวแรก.

เทพมนตรี ลิมปพยอม. (2554). ย้อนรอยกบฏเจ้าฟ้ากุ้ง การเมือง การมุ้ง เรื่องยุ่งๆ ในประวัติศาสตร์กรุงศรี. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาสน์การพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2562