ที่มา | ศิลวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน |
เผยแพร่ |
นำเรื่อง
หนังสือ “การบ้านการเมืองเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง” ของ เทพมนตรี ลิมปพยอม กล่าวถึงการประชวรของเจ้าฟ้ากุ้งไว้ดังนี้
“สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระประชวร ด้วยพระโรคสำหรับบุรุษ ไม่สามารถเข้าเฝ้าฯ ได้ถึง 3 ปี ดังหลักฐานในพงศาวดารกล่าวว่า
‘ในปีนี้นั้นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นพระโรคคชราช แต่ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ’ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2516, น. 237)
ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฯ โดยนาย ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ได้เขียนถึงเรื่องดังกล่าวไว้อีกว่า
‘พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ได้ปฏิบัติพระองค์ลงไปในทางที่ต่ำ ซึ่งเป็นเหตุผลเพียงพอที่ขัดต่อการสืบราชบัลลังก์ ซึ่งทำให้พระองค์เสียพระทัยและประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ” (ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, 2522 น. 147-148)
นอกจากนี้จดหมายนิโคลัส แบงค์ (NICOLAAS BANG) พ่อค้าใหญ่ของ VOC ประจำกรุงศรีอยุธยา เขียนถึงข้าหลวงใหญ่ MOSSEL ณ กรุงปัตตาเวีย ลงวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1757 (พ.ศ. 2300) ได้เขียนถึงรายละเอียดที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เกี่ยวกับสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและประวัติศาสตร์ช่วงนี้ว่า
‘เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1756 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในราชสำนักไทย เป็นเวลาราวๆ 1 ปีที่ “KROONPRINS” (มงกุฎราชกุมาร/อุปราช) ประชวรด้วยโรค “MORBUS GALLICUS” กามโรคชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า “FRENCH POK” เลยเข้าวังหลวงไม่ได้ ประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง” (ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2535, น. 1)
สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลประชวรด้วยพระโรคสำหรับบุรุษ ในหลักฐานไทยกล่าวต่อไปอีกว่า พระอาการขั้นสุดท้ายของพระองค์เป็นโรคคชราช หรือคุดทะราด ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโรคที่สังคมรังเกียจจริงๆ เพราะลักษณะของโรคแสดงออกบนผิวหนัง ทำให้เกิดตุ่มใส จนแตกกลายเป็นแผล มีอาการของโรคที่เห็นได้ชัดก็คือ เสียประสาทการทรงตัว เดินช้า เพราะต่อมน้ำเหลืองโตบวม หากดูอาการผิวเผินคล้ายโรคแผลริมแข็งซึ่งจัดให้เป็นสายพันธุ์เดียวกับกามโรค
หลักฐานของฮอลันดาได้ระบุชัดเจนลงไปอีกว่า พระองค์ทรงประชวรพระโรคเป็นกามโรคชนิด FRENCH POX หรือ CONDYLOMA ACCUMINATA ภาษาไทยเรียกว่า โรคหงอนไก่ ซึ่งมีลักษณะของโรคที่ใกล้เคียงกับโรคแผลริมแข็ง อันเกิดตรงที่อวัยวะเพศ ตามข้อพับและลำตัว ซึ่งถ้าหากรักษาไม่ดี แล้วอาจจะเป็นผลเสียทำให้อวัยวะ เช่น แขน ขา มือ และเท้า พิการได้ (คุดทะราด) จนทำให้ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวเสียไป (สัมภาษณ์ผู้อำนวยการศูนย์กามโรค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 25 กุมภาพันธ์ 2536)
อาการพระประชวรของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นอยู่ถึง 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานมาก และอาจจะมีผลข้างเคียงคือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการทางสมองและอารมณ์ไม่ปกติ”
ปัญหา
ข้อความจากพระราชพงศาวดารระบุว่า “ทรงพระประชวรด้วยโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นพระโรคคชราช” สอดคล้องกับบันทึกของตุรแปงที่ระบุว่า “ประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ” ในขณะที่นิโคลัส แบงค์ กล่าวว่า “ประชวรด้วยโรค MORBUS GALLICUS กามโรคชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า FRENCH POX”
ปัญหาที่ต้องวิเคราะห์คือ โรคคชราชคือโรคอะไร เป็นโรคเดียวกันกับ MORBUS GALLICUS หรือ FRENCH POX หรือไม่
ความพยายามของเทพมนตรี ลิมปพยอม ที่จะทำความเข้าใจกับปัญหานี้ มีส่วนทั้งในแง่การทำความกระจ่าง และทำให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้น ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- โรคคชราช ก็คือ โรคคุดทะราด แต่คำอธิบายต่อมา เป็นการอธิบาย โรคซิฟิลิส
2. FRENCH POX คือ CONDYLOMA ACCUMINATA หรือ โรคหงอนไก่ ในภาษาไทยซึ่ง ข้อสรุปนี้ไม่ถูกต้อง ความจริงเทพมนตรีคงหมายถึง CONDYLOMA LATA เป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคซิฟิลิส ส่วนโรคหงอนไก่ถือเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (Sexual transmitted diseases) ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อโรคคนละชนิดกับซิฟิลิส
โรคคชราชคือโรคอะไร
จารึกวัดโพธิ์ ศาลา 7 เสา 10 แผ่น 2 โรงเรียน ได้จารึกเรื่องโรคคชราชไว้ดังนี้
“ปุนะจะปะรัง ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ ว่าด้วยลักษณะคชราด 2 จำพวก สืบต่อไปเป็นคำรบ 2 คือคชราดบอนจำพวก 1 คือคชราดหูดจำพวก 1 อันจะบังเกิดแก่บุคคลทั้งหลาย ตามอาจารย์กล่าวไว้มีประเภทต่างๆ กันดังนี้
อันว่าคชราดบอนนั้น เมื่อแรกจะบังเกิดขึ้น ผุดขึ้นมาคล้ายดอกดาวเรือง กระทำให้คันเป็นกำลัง ครั้นเกาเข้า ก็เปื่อยออกเป็นน้ำเหลืองหยดย้อยไป มิสู้ร้ายนัก เกิดแต่กองอาโปธาตุ
อันว่าคชราดหูดนั้น เมื่อแรกจะบังเกิดผุดขึ้นมามีศีรษะนั้นแข็ง สัณฐานดุจหิดมีพิษน้อย กระทำให้คันเป็นกำลังเป็นประมาณ แต่ยอดจะได้แตกออกนั้นหามิได้ มักบังเกิดกับด้วยลมอันมีพิษนั้นเนืองๆ เกิดแต่กองปัถวีธาตุ วาโยธาตุ ระคนกันให้โทษ
และคชราด 2 จำพวกซึ่งกล่าวมานี้ สรรพยาแก้ได้ดุจกัน ตามอาจารย์กล่าวไว้สืบกันมา ถ้าแพทย์จะรักษาเอาหรดาลทอง, จุณสีเอาเสมอภาคทำเป็นจุณบดด้วยน้ำมะนาวทำแท่งไว้เมื่อจะจุดก็ดี จะทาก็ดีเอามะนาวบีบให้น้ำหยดลงที่มีดพร้าก็ได้ แล้วจึงเอายาฝนลงจุดแก้แผล คชราดทั้ง 2 จำพวก เป็นยาห้ามน้ำเหลือง และชำระโทษอันร้าย และให้ถอนยอดคชราดหายสิ้นดีนักฯ
ยากินภายใน เอายาข้าวเย็นทั้ง 2, รากทองหลางหนาม รากตะขบ, รากพริกเทศ, รากมะกรูด, หญ้าหนวดแมว, เปล่อย มะรุม, กำมะถันเหลือง สิ่งละ 5 ตำลึง ต้มตามวิธีให้กินตามกาล แก้คชราด 2 จำพวก ที่กล่าวมาแล้วนั้นก็หายสิ้นดีนักฯ
ขนาน 1 เอายาข้าวเย็นทั้ง 2 จำพวก คือคชราดบอนแต่คชราดหูดนั้นหายและแก้สรรพคชราดทั้งปวงก็ได้ แก้ทั้งกลาก เกลื้อน มะเร็ง และหิดด้านหิดเปื่อยก็ได้ และแก้ทั้งมะสุริกาโรค 8 ประการก็ได้ หายสิ้นวิเศษนัก ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้”
หนังสือ ศัพท์แพทย์ไทย ได้อธิบายความหมายของคชราช ไว้โดยอ้างอิงจาก คู่มือการศึกษาวิชาเวชกรรม โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สรุปชัดเจนว่า คชราชหูดคือคุดทะราดระยะแรก และคชราชบอนคือคุดทะราดระยะที่สอง นั่นเอง
โรคคชราชกับคุดทะราด
ก่อนจะสรุปว่า โรคคชราชและคุดทะราดเป็นโรคเดียวกันหรือไม่ และเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ต่อไป สมควรทำความรู้จักกับโรคคุดทะราดเสียก่อน เพราะโรคนี้เกือบหมดไปจากประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว และทั่วโลกก็เหลืออยู่น้อย แพทย์ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีน้อยคนที่จะเคยเห็นผู้ป่วยโรคนี้
คุดทะราด เป็นโรคติดต่อ เกิดจากเชื่อกลุ่มสไปโรขีต (Spirochete) ชื่อทรีโปนีมา พัลลิคุม ชนิดเปอร์ทีนิว (Treponema subspecies pertenue) ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง (direct contact) กับผู้ป่วย โดยผู้รับเชื้อมีรอยแผลถลอก หรือขีดข่วน การติดต่อโดยสัมผัสทางอ้อมเช่นจากแมลงหวี่เกิด
ขึ้นได้แต่น้อยมาก โรคนี้มักพบในประเทศร้อนชื้น พบน้อยมากในประเทศหนาว มักเป็นในคนยากจนในชนบทที่การอนามัยส่วนบุคคล (personal hygiene) ไม่ดี ระยะฟักตัวของโรค คือตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเกิดอาการประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน ส่วนมากประมาณ 2 สัปดาห์ อาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก เรียกว่า แม่คุดทะราด (mother yaws) เกิดที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้ที่เชื้อโรคเข้าไป แต่ส่วนมากจะเป็นที่ขาท่อนล่าง และเท้า เพราะมีโอกาสเป็นแผล รอยถลอก ขีดข่วนได้มากกว่าส่วนอื่น อาการเริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลมีสะเก็ดสีเหลืองหรือสีน้ำผึ้งคลุม แผลแม่คุดทะราดจะขยายออกหรือเกิดจากหลายแผลมารวมเป็นแผลใหญ่แผลเดียว ต่อมาแผลจะนูนขึ้น เป็นวงกลมหรือวงรีเป็นดอกคล้ายผลราสเบอร์รี่ของฝรั่ง แผลนี้เลือดออกง่ายแต่ไม่เจ็บ ถ้าลอกสะเก็ดออกจะมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา ในระยะนี้อาจมีอาการทั่วไป เช่น ไข้ ปวดข้อ ปวดเมื่อย แต่ไม่ชัดเจน หรือไม่มีอาการก็ได้ ต่อมน้ำเหลืองใกล้แผลอาจโตแต่ไม่เจ็บ
ข้อแตกต่างที่สำคัญ กับตำราแพทย์แผนไทยก็คือ แม่คุดทะราดจะไม่คันและไม่เจ็บถ้าไม่ติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนด้วย ในขณะตำราของไทยระบุว่าทั้งคชราชหูดและคชราชบอนจะคันมาก สิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ ตำราไทยเปรียบเทียบคชราชบอนว่า ผุดขึ้นมาคล้ายดอกดาวเรือง ในขณะที่ฝรั่งว่าคุดทะราดคล้ายผลราสเบอร์รี่
แม่คุดทะราดจะเป็นอยู่ราว 2-6 เดือน แล้วหายไปได้เอง แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่อาจเหลือรอยแผลให้เห็นเป็นสีคล้ำ มีผู้ป่วยราวร้อยละ 10 ที่ไม่พบแม่คุดทะราด (decapitated yaws) โดยผ่านเข้าสู่ระยะที่สองเลย
ระยะที่สอง หลังจากแผลแม่คุดทะราดหายไปแล้ว หรือยังไม่ทันหายแต่เริ่มฝ่อในช่วงเดือนที่สองถึงเดือนที่สี่ จะมีตุ่มคุดทะราด เป็นตุ่มเล็กๆ หลายตุ่มแล้วนูนโตอย่างรวดเร็ว แตกเป็นแผลคลุมด้วยสะเก็ดสีเหลือง ตุ่มเหล่านี้จะโตขึ้นมีลักษณะที่เรียกว่า ดอกคุดทะราด (papilloma) คล้ายแผลแม่คุดทะราด แต่มักเล็กกว่าและมีหลายแผลเรียกว่า ลูกคุดทะราด (daughter yaws) พบทั่วไปตามร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้าและบริเวณนอกร่มผ้า แต่พบบ่อยตามปาก จมูก ทวาร ถ้าขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หนังจะเป็นแผ่นหนาและอาจแตกออก เรียกว่า หน่อคุดทะราด (crab yaws) เวลาเดินเมื่อหน่อคุดทะราดถูกของแข็งจะเจ็บมาก เป็นที่มาของอาการที่เรียกว่า คุดทะราดเหยียบกรวด (ชื่อเพลงปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง) อาการทั่วไป อาจพบไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ และต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป
ระยะนี้จะเป็นอยู่ 3-4 ปี จากนั้นโรคจะเข้าสู่ระยะที่สาม
ระยะที่สาม จะมีอาการทั้งที่ผิวหนังและกินลึกเข้าไปถึงกระดูก อาการที่พบได้ในระยะนี้ได้แก่ มีตุ่มก้อนหรือแผลลึกตามแขนขา (gummatous lesion) ฝ่ามือฝ่าเท้าหนามีหน่อคุดทะราดขึ้นที่ฝ่าเท้า รายที่กินลึกถึงกระดูกอาจทำให้ตั้งจมูกยุบ (gangosa) หรือกระดูกจมูกบวมนูน (goundou) กระดูกแขนขาโดยเฉพาะกระดูกหน้าแข้งอาจอักเสบจนพิการทำให้กระดูกงอโค้งคล้ายมีดดาบ (sabre tibia) และอาจมีอาการปวดข้อ (rheumatic yaws)
โชคดีที่โรคนี้สามารถกำจัดได้ไม่ยาก เพราะได้ผลดีจากการรักษาด้วยยาฉีดเพนนิซิลลิน และการรักษาความสะอาดของร่างกายให้ดีก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ จนกระทั่ง นายแพทย์มาห์เลอร์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก สรุปว่า เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการกำจัดโรคคุดทะราดก็คือ “สบู่” นั่นเอง โรคนี้จึงแทบไม่พบแล้วในประเทศไทย และเหลืออยู่น้อยในโลก
พิจารณาจากลักษณะอาการของคุดทะราดและคชราชแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าโรคทั้งสองนี้คือโรคเดียวกัน
เพราะแม้รายละเอียดที่สำคัญบางประการ เช่น อาการคัน และการแบ่งระยะของโรคแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ เพราะการวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนไทยในอดีตมักไม่ชัดเจนแน่นอนเหมือนแพทย์ตะวันตกในปัจจุบัน การแบ่งระยะของโรคเป็นสามระยะก็เป็นการพัฒนาวิธีการแบ่งเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและกำจัดโรค และที่สำคัญเป็นการแบ่งหลังจากที่รู้ธรรมชาติของโรคมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากแล้ว
ความเข้าใจหรือข้อสรุปของเทพมนตร์ ลิมปพยอม ที่ว่าคชราชและคุดทะราดเป็นโรคเดียวกัน จึงน่าจะถูกต้อง
FRENCH POX คือโรคอะไร
FRENCH POX คือ โรคซิฟิลิส (Syphilis) นั่นเอง
จากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ก่อนสมัยค้นพบทวีปอเมริกา พบร่องรอยของโรคนี้ในชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา แต่ไม่พบในยุโรป หรือในมัมมี่ของอียิปต์เลย เชื่อกันว่าโรคนี้แพร่ระบาดเข้าไปสู่ยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก หลังจาก โคลัมบัส และลูกเรือเดินทางกลับจากอเมริกาไม่นาน โดยพบครั้งแรกที่เมืองเนเปิลส์ของอิตาลี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2037 ลูกเรือของโคลัมบัส ซึ่งคงจะติดเชื้อซิฟิลิสจากชนพื้นเมืองในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก (West Indies) ของอเมริกาได้ร่วมในกองทัพของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส บุกกรุงเนเปิลส์ทำให้มีการแพร่โรคอย่างกว้างขวางทั้งในค่ายทหารและในหมู่ชาวเมือง ทหารในกองทัพฝรั่งเศสติดโรคนี้กันมากหลังจากเมืองเนเปิลส์ถูกพิชิตในปีต่อมา โรคได้แพร่ออกไปทั่วในช่วง 15 ปีต่อจากนั้น นักประวัติศาสตร์การแพทย์เชื่อว่า มีผู้ติดโรคถึง 10 ล้านคนในช่วงดังกล่าว
ในฝรั่งเศสเรียกโรคนี้ว่า “โรคเนเปิลส์” (Neapolitan disease)
ขณะที่ชาวเนเปิลส์เรียกโรคนี้ว่า “โรคฝรั่งเศส” (French sickness)
French Sickness หรือ French disease หรือ French Pox ก็คือโรคเดียวกัน และตรงกับชื่อภาษาละตินว่า MORBUS GALLICUS นั่นเอง
ชื่อโรคนี้เปลี่ยนเป็น ซิฟิลิส (Syphilis) และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางตั้งแต่ พ.ศ. 2073 หลังจากนายแพทย์ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และกวี ชื่อ กิโรลิโม ฟราคาสโทโร (Girolimo Fracastoro) ได้เขียนมหากาพย์เรื่อง Syphilis Sive Mor Gallicus ตัวเอกของเรื่องเป็นชายหนุ่มชื่อ ซิฟิลิส เป็นเมษบาลหรือคนเลี้ยงแกะซึ่งถูกลงโทษให้ป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากไปกล่าวประณามพระเจ้า
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อ เกิดจากเชื้อกลุ่มสไปโรขีตชนิดทรีโปนีมา พัลลิดุม ชนิดย่อ (Subspecies) พัลลิคุม (Treponema palpalidum) แบ่งอาการเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก เป็นแผลริมแข็ง (hard chancre) มักเกิดขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์หลังรับเชื้อ ตรงบริเวณที่รับเชื้อ ส่วนมากเกิดที่อวัยวะเพศ มักเป็นแผลเดี่ยวๆ ไม่มีกลิ่น ไม่เจ็บ ไม่ปวด แม้ถูกสบู่ก็ไม่แสบ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอาจโต แต่ไม่เจ็บ ไม่ปวดเป็นอยู่ 4-6 สัปดห์ แผลมักหายไปได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษาใดๆ จากนั้นโรคจะเข้าสู่ระยะที่สอง
ผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่มีแผลริมแข็งนำมาก่อน หรือมีแต่ไม่ได้สังเกต เพราะไม่มีอาการรบกวนอื่น และเข้าสู้ระยะที่สองเลย
ระยะที่สอง เป็นระยะออกผื่น ที่เรียกกันทั่วไปว่า ออกดอก โดยจะมีผื่นแดงขึ้นทั่ว ตัวรวมทั้งฝ่ามือฝ่าเท้า อาจมีอาการไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองโตหลายกลุ่ม แต่ไม่เจ็บ อาการเหล่านี้มักเกิด 6-8 สัปดาห์หลังจากระยะแรก โดยเกิดกับผู้ป่วยราวหนึ่งในสาม อีกสองในสาม อาจไม่มีอาการแล้วเข้าสู่ระยะแฝงเลย
นอกจากผื่นแล้ว อาการอื่นอาจมีได้อีก 3 ลักษณะ คือ มี
1. Condyloma lata เป็นตุ่มนูน ผิวบนเรียบ (flat top papule) มักพบบริเวณที่อับชื้น เช่น รอบๆ ทวารหนัก อวัยวะเพศ รักแร้ คล้ายคลึงกับหูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) แตกต่างกันที่หูดหงอนไก่จะมีติ่งเนื้อสีชมพูงอกออกด้านข้างคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ โดยหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัส (Human papilloma virus)
2. mucous patch เป็นแผลตื้นๆ มีเยื่อสีขาวเทาคลุมอยู่ พบที่เยื่อบุในปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ
3. ผมร่วง มักร่วงเป็นหย่อมๆ เหมือนโดนมอดแทะ (Moth-eaten alopecia) เช่นเดียวกับระยะแรก แม้ไม่ได้รับการรักษาอาการในระยะที่สองนี้ ส่วนใหญ่จะหายไปเองหลังจากมีอาการเป็นสัปดาห์ หรืออาจเป็นอยู่นานถึง 12 เดือน จากนั้นผู้ป่วยราวหนึ่งในสามจะเข้าสู่ระยะแฝง (Latent period) ซึ่งมักไม่ปรากฏอาการอะไร นอกจากบางรายมีแผลที่อวัยวะเพศหรือตามเยื่อบุเท่านั้น ระยะนี้มีรอยโรคให้ตรวจได้โดยการตรวจเลือดยังเป็นบวกอยู่
ระยะนี้อาจสั้นเป็นสัปดาห์หรือนานหลายปี จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สาม
ระยะที่สาม ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาราวหนึ่งในสามจะเข้าสู่ระยะที่สามซึ่งมีอาการแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง (benign late Syphilis) มีการทำลายเนื้อเยื่อเป็นลักษณะที่เรียกว่า gumma พบได้ทั้งที่ผิวหนัง และเยื่อบุ ทำให้เป็นแผลเรื้อรั้ง อาจทำลายอวัยวะภายในหรือกระดูก ซึ่งมักเป็นกับกระดูกแขนขาโดยเฉพาะ ถ้าเป็นที่กระดูกหน้าแข้งจะทำให้กระดูกโค้งงอคล้ายมีดดาบ (Sabre tibia หรือ Sabre shin) ซึ่งเป็นรอยโรคในกระดูกที่พบในชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกาตั้งแต่ก่อนยุคโคลัมบัสดังกล่าวแล้ว
2. ซิฟิลิสของหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองและโรคหัวใจ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
3. ซิฟิลิสในระบบประสาท อาจทำให้สมองเสื่อม เสียการทรงตัวหรือมีอาการโรคจิตได้
เปรียบเทียบคุดทะราดกับซิฟิลิส
คุดทะราด กับ ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อกลุ่มสไปโรขีต ชนิดเดียวกันคือ ทรีโปนีมา พัลลิคุม (Treponima pallidum) แต่ต่างชนิดย่อยกัน คือ
คุดทะราด เกิดจากชนิดย่อย เปอร์ทีนิว (Subspecies pertenue)
ซิฟิลิส เกิดจากชนิดย่อย พัลลิคุม (Subspecies pallidum)
พยาธิสภาพและอาการของโรคคล้ายคลึงกัน และแบ่งกว้างๆ เป็น 3 ระยะเหมือนกัน ต่างกันที่ซิฟิลิสทำลายอวัยวะภายในได้รุนแรงกว่า และสามารถแพร่โรคจากแม่สู่ลูกได้ ในขณะที่คุดทะราดไม่แพร่จากแม่สู่ลูก
ยาที่ใช้รักษาทั้งสองโรคเป็นยาชนิดเดียวกันมาโดยตลอด เพียงแต่ขนาดและระยะเวลารักษาแตกต่างกัน
ซิฟิลิสจัดเป็นกามโรค ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่คุดทะรายไม่จัดเป็นกามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง (direct contact)
คุดทะราดมักเป็นกับคนยากจนในชนบท ซึ่งการอนามัยบุคคลไม่ดี แต่ซิฟิลิสในอดีตมักแพร่ระบาดในเมืองจากเพศสัมพันธ์ที่สำส่อน
คุดทะราดมักพบในแถบร้อนชื้น แต่ซิฟิลิสพบได้ทั่วไป
ในอดีต ก่อนที่จะรู้จักธรรมชาติของโรคทั้งสองอย่างลึกซึ้ง เช่นในระยะหลัง นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า โรคทั้งสองนี้เกิดจากเชื้อโรคตัวเดียว แต่เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงในการก่อโรคแตกต่างกัน
จึงไม่แปลกถ้าในสมัยอยุธยาตอนปลายจะมีการสับสนว่า โรคทั้งสองนี้เป็นโรคเดียวกัน
เจ้าฟ้ากุ้งประชวรด้วยพระโรคใดกันแน่
จากหลักฐานในประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยมีการกล่าถึงชื่อโรคเท่านั้น ไม่มีการบรรยายลักษณะและอาการของโรค และจากข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอมาแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เจ้าฟ้ากุ้งน่าจะประชวรด้วยโรคคุดทะราดนั้นเอง ดังเหตุผลต่อไป
1. น่าเชื่อว่าโรคคชราช หรือคชราด และคุดทะราด เป็นโรคเดียวกัน
2. หลักฐานในพระราชพงศาวดารระบุชัดเจนว่าทรงประชวรด้วยพระโรคคชราช ซึ่งแพทย์แผนไทยในขณะนั้นน่าจะรู้จักโรคนี้ดี
3. พระอาการที่ประชวรจน “ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ” น่าจะเป็นผลมาจากคุดทะราดมากกว่าซิฟิลิส เพราะซิฟิลิสระยะแรก ระยะที่สอง และระยะแฝงมีอาการน้อยมาก และมักไม่ปรากฏอาการให้คนทั่วไปได้เห็นอย่างชัดแจ้ง เว้นแต่ระยะที่สองที่อาจมีอาการ “ออกดอก” แต่ก็มักเป็นระยะเวลาไม่นานและคล้ายคลึงกับโรคที่มีผื่นตามตัวได้หลายโรค โดยผื่น “ออกดอก” ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ อาการตุ่ม Condyloma lata ถ้ามีก็มักเป็นในร่มผ้า ไม่เจ็บ ไม่คัน แผลตื้นๆ ในปากถ้ามีก็ไม่มีอาการ ผมร่วงถ้ามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอาการของโรคได้มากมายหลายโรค อาการทั่วไป เช่น ไข้ ก็มักเป็นต่ำๆ ไม่รุนแรง ดังนั้นแม้จะทรงมีพระอาการทุกอย่าง (ซึ่งน้อยรายที่จะเป็นเช่นนั้น) ก็คงไม่รุนแรงจน “ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ”
อนึ่ง ตามประวัติ ระยะแรกที่ซิฟิลิสระบาดในยุโรป เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่สองอาการมักรุนแรงมาก จนผู้ป่วยเสียชีวิตได้บ่อยๆ แต่หลังจากนั้นไม่นานเชื้อโรคได้มีการปรับตัวลดความรุนแรงลง กลายเป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง และคงลักษณะดังกล่าวมาจนทุกวันนี้ ซึ่งความร้ายแรงของโรคมักเกิดในระยะที่สามเมื่อมีการทำลายหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือมีการทำลายระบบประสาท หรือทำให้ทารกในครรภ์ตายหลังคลอด มีผู้หญิงจำนวนมากที่ติดโรค แต่อาการระยะแรกและระยะที่สองมีน้อยมากจนแทบไม่รู้ตัวเมื่อโรคเข้าสู่ระยะแฝง ในการควบคุมโรคนี้จึงต้องมีการตรวจเลือดหญิงมีครรภ์ทุกรายถ้าพบเลือด “บวก” จะได้รักษา และป้องกันการแพร่เชื่อเข้าสู่ลูกในท้อง
ในสมัยเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นระยะเวลากว่า 500 ปี หลังการระบาดครั้งแรกของซิฟิลิสในยุโรป ขณะนั้นซิฟิลิสได้มีการปรับตัวลดความรุนแรงลงไปเป็นเวลานานแล้ว
ตรงกันข้าม อาการของโรคคุดทะราดระยะแรกแม้ไม่รุนแรง แต่ก็มักเป็นบริเวณนอกร่มผ้าให้คนเห็นได้โดยง่าย เมื่อเข้าสู่ระยะที่สองก็จะเป็นกระจายไปกว้าง ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้าก็จะทำให้เดินลำบาก เพราะทำให้เจ็บได้มาก นอกจากนั้นยังมีอาการคันมาก เมื่อเกาก็อาจติดเชื้อโรคอื่น ทำให้เจ็บปวดหรือแผลมีกลิ่นเหม็น ระยะที่สองนี้กินเวลานานถึง 3-4 ปี จึงเข้าได้กับการที่ “ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ”
4. การที่ทั้งพระราชพงศาวดารได้เขียนไว้ว่า “ทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ” กับ ตุรแปง บันทึกว่า “ทรงปฏิบัติพระองค์ลงไปในทางต่ำ…และประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ” และ นิโคลัส แบงค์ เขียนว่าทรง “ประชวรด้วย…กามโรคชนิดหนึ่ง” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในสมัยนั้นคงไม่มีใครทราบว่า คุดทะราด หรือซิฟิลิส มีการติดต่ออย่างไรแน่
และแน่นอนว่ายังไม่มีการจัดว่า ซิฟิลิสเป็นกามโรคหรือที่แพทย์แผนไทยเรียกว่า “โรคบุรุษ” แต่คุดทะราดไม่ใช่กามโรค การที่คุดทะราดมักเป็นกับคนในชนบทที่ยากจน การอนามัยส่วนบุคคลไม่ดี แต่เมื่อเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งทรงเป็นรัชทายาท ประชวรด้วยโรคนี้ จึงไม่แปลกที่จะเป็นที่เข้าใจว่า ทรง “ปฏิบัติพระองค์ลงไปในทางที่ต่ำ” และ “ทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ” หรือ “โรคที่สังคมรังเกียจ” หรือเป็น “กามโรคชนิดหนึ่ง”
ในยุโรปเองกว่าจะทราบว่าซิฟิลิสเกิดจากเชื้ออะไรแน่ ก็ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2448 เป็นเวลาถึง 400 ปีเศษ หลังการระบาดของโรคครั้งแรกในยุโรป
5. จดหมายของ นิโคลัส แบงค์ พ่อค้าใหญ่ชาวฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น เขียนว่า ทรงประชวรด้วยโรค FRENCH POX หรือซิฟิลิส นั้น เป็นไปได้ไหมว่า สมัยนั้นชาวยุโรปส่วนมากไม่รู้จักโรคคุดทะราด เพราะไม่มีหลักฐานว่าพบโรคนี้ในยุโรป ซึ่งเป็นเมืองหนาว เพราะโรคนี้เป็นโรคในประเทศแถบร้อนชื้น ในขณะที่ FRENCH POX หรือซิฟิลิส เป็นโรคที่รู้จักกันแพร่หลายในยุโรป ทำให้ นิโคลัส แบงค์ สับสนว่า พระอาการของเจ้าฟ้ากุ้งคือ โรคซิฟิลิส และเขียนจดหมายไปเช่นนั้น
ช่วงสมัยของเจ้าฟ้ากุ้ง นับเป็นเวลาประมาณ 240 ปี หลังการแพร่ระบาดครั้งแรกของโรคซิฟิลิสในยุโรป ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานมาก แต่โดยที่การคมนาคมติดต่อกันสมัยก่อน มีค่อนข้างจำกัด ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าโรคนี้ได้แพร่ระบาดเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา หรือไม่ ถ้ามี-มีมากน้อยเพียงใด ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญกามโรค หลายท่านก็ไม่มีผู้ใดตอบได้
ประเด็นนี้น่าจะได้มีการศึกษาต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
บรรณานุกรม :
เทพมนตรี ลิมปพยอม. การบ้านการเมืองเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง. พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพมหานคร : บริษัท พิฆเณศพริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2541.
กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติงานการป้องกันและควบคุมโรคคุดทะราด. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, ไม่ระบุปีที่พิมพ์,
ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน. เล่ม 5 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2505-2506.
โครงการประสานงานพัฒนาเครือข่ายสมุนไพร (ปพส.), ตำรายา ศิลาจารึก ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2325 ฉบับสมบูรณ์, นนทบุรี : ศิวประทานพร, 2537.
หน่วยข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ศัพท์แพทย์ไทย. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2535.
นายแพทย์อนุพงศ์ ชิตวรากร, นายแพทย์อภิชาติ ศิวยาธร, นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ชัยศิลปวัฒนา, ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์, คู่มือเวชปฏิบัติ : โรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, ไม่ระบุสถานที่พิมพ์, 2538.
U.S. Department of Health, Education, and Welfare. SYPHILIS a synopsis. U.S. Government Printing Office, Washington, D.C., 1967.
George Cheever Shattack, M.D.. DISEASES OFTHE TROPICS. New York, Appleton
Century-Crofts, Inc., 1951.
Franklin H. Top, Sr., Paul F. Wehrle Editor. Communicable and Infectious Diseases. Seventh Edition, Saint Louis : The C.V. Mosby Company, 1972.
Norman R. Grist, Darrel O. Ho-Yen, Eric Walker, R. Williams. Diseases of Infection, An Illustrated Texbook. Second Edition, New York: Oxford University Press, 1993.
Abram S. Benenson, Editor. Control of Communicable Diseases Manual. Sixteenth Edition Baltimore, M.D. : United Book Press, Inc.1995
Americana Corporation. Encyclopedia Americana Vol.26. 1980.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2565