“คุดทะราดเหยียบกรวด” ทำนองเพลงจากอาการเจ็บป่วย

อาคารสโมสรเสือปา ราชบุรี ถูกใช้เป็นศูนย์คววบคุมคุดทะราดของเขต 7 ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2501 (ภาพจากhttp://doh.hpc.go.th)

คุดทะราดเป็นโรคเขตร้อนที่พบได้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยในอดีต จึงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ในท้องถิ่นอีสานจะเรียกว่า “ขี้โม่” ภาคเหนือเรียก “มะละอัก” ภาคใต้เรียก “เภตรา” มีลักษณะเริ่มแรกเกิดเป็นตุ่มคล้ายหูด ต่อมา “ตุ่มแม่” นี้จะแตกออกกลายเป็นแผลกระจายไปตามผิวหนัง และลุกลามเข้าไปในกระดูก ทําให้กระดูกกุดสั้น จึงมีลักษณะคล้ายโรคเรื้อน ซึ่งนอกจากจะทําให้เกิดอาการเจ็บปวดแล้ว ยังทําให้ผิดรูปร่างและทําให้ผู้ป่วยได้รับความรังเกียจ

ในตํารายาไทย แม้จะมีการกล่าวถึงตํารับยาที่ใช้รักษาคุดทะราดไว้ เช่น ยาเข้าจุนสี แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ชาวบ้านที่เป็นโรคคุดทะราดมักต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด เกิดความพิกลพิการ และการถูกสังคมรังเกียจ ในชนบทอีสาน ผู้คนยังพูดถึงความเจ็บปวดทรมานจากโรคขี้โม่นี้ โดยเฉพาะความทุกข์ในฤดูหนาวที่อาการเจ็บปวดจะมากเป็นพิเศษ ชาวบ้านต้องก่อกองไฟเพื่อเอาอวัยวะส่วนที่เป็นแผลไปอังไฟให้อุ่น เพื่อลดความเจ็บปวด

การรักษาแบบสมัยใหม่ยุคแรก ๆ มีการใช้ยาที่เข้าสารหนูฉีดเพื่อการรักษา แต่ก็ยุ่งยากและไม่ค่อยได้ผล ต่อมาพบว่าสามารถรักษาคุดทะราดได้ด้วยยาเพนนิซิลลิน ในปี พ.ศ. 2493-2513 องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้รณรงค์กวาดล้างโรคคุดทะราดโดยการให้ยารักษา มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ล้านคน ได้รับการรักษาจากการรณรงค์ครั้งนี้

ประเทศไทยได้ร่วมรณรงค์ให้การรักษาผู้ป่วยคุดทะราด โดยในระยะแรกมี “หมอฝรั่ง” มาออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้การรักษาพยาบาลไปในท้องถิ่นต่าง ๆ และต่อมามีการอบรมเจ้าหน้าที่จนสามารถควบคุมโรคคุดทะราดได้ ปัจจุบัน อาจถือว่าโรคคุดทะราดถูกกําจัดจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขไทยอีกต่อไป เพราะไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยอีกเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540

ชาวบ้านในอีสานเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีคนป่วยด้วยโรคขี้โม่เป็นจํานวนมาก ต้องทนทุกข์ทรมานกัน ต่อมา เมื่อมีหมอฝรั่งมาออกหน่วยรักษาคุดทะราด จึงพากันมารับการฉีดยาเพื่อรักษาโรค

ว่ากันว่า เมื่อฉีดยาเพนนิซิลลินไปแค่เข็มเดียว โรคคุดทะราดที่เคยต้องเจ็บปวดทรมานมา บางคนเป็นเวลานับสิบปี ก็หายเป็นปลิดทิ้งทีเดียว อิทธิฤทธิ์ของยาฉีดที่รักษาโรคที่ไม่เคยรักษาได้นี้ ทําให้ชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทเชื่อถือยาสมัยใหม่ โดยเฉพาะยาฉีด ว่าเป็นยาแรงและได้ผลทันใจมาจนทุกวันนี้

ความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคคุดทะราด ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความทุกข์ใหญ่หลวงให้กับชาวบ้าน ปัจจุบันถูกลบเลือนไป เหลือไว้แต่เพียงความทรงจําที่ปรากฏเป็นเพลงปี่พาทย์ที่นักดนตรีไทยได้นําเอาความทุกข์ทรมานของคนป่วยด้วยโรคคุดทะราดมาแต่งเป็นทํานองเพลงที่เรียกว่า “คุดทะราดเหยียบกรวด” ท่วงทํานองเพลงเป็นเสมือนการพรรณนาอากัปกิริยาของคนเป็นคุดทะราดที่ต้องเดินย่ำไปบนก้อนกรวดด้วยความเจ็บปวด

เพลงคุดทะราดเหยียบกรวดนี้มักใช้บรรเลงในการเทศน์มหาชาติ เป็นทํานองแหล่ประจํากัณฑ์ชูชก ที่แสดงอากัปกิริยาของชูชกที่เดินกระหย่องกระแหย่งเหมือนคนป่วยเป็นคุดทะราดเดินไปบนก้อนกรวด

 


ข้อมูลจาก

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461-2561), หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมษายน 2561


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2563