ชะตากรรม “เจ้าศรีสังข์” พระราชนัดดา “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ลี้ภัยการเมืองสู่เขมร

กองทัพหลวง กรุงธนบุรี เมืองพุทไธมาศ
“กองทัพหลวงกรุงธนบุรีเข้าตีเมืองพุทไธมาศของญวน” โคลงภาพพระราชพงศาวดารเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย นายอ่อน

“เจ้าศรีสังข์” เป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ชะตากรรมชีวิตของเจ้าศรีสังข์หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วทรงลี้ภัยไปพึ่ง กษัตริย์เขมร นั้นสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างความชอบธรรมของ “พระเจ้าตาก” ในการขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย

เจ้าศรีสังข์ กับชีวิตหลังกรุงแตก

หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เจ้าศรีสังข์ “ลี้ภัย” มาพึ่งพระบารมี กษัตริย์เขมร คือ พระนารายณ์ราชา (พระอุไทยราชานักองค์ตน) พงศาวดารเขมรกล่าวไว้ว่า

“…ในปีกุญ 1129 (พ.ศ. 2310 แลจุลศักราช 1129 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา ๆ แตก เสียกรุงแก่พม่า ๆ จับได้พระราชวงษานุวงษ์กระษัตริย์ไทย แลกวาดต้อนครอบครัวนำจากเมืองไทยไปเมืองพม่าเปนอันมาก (ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์) เจ้าเสสัง (ศรีสังข์) ออกรบแพ้พม่า หนีจากกรุงศรีอยุทธยามาพึ่งพระบารมี พระบรมบพิตรณกรุงกัมพูชาธิบดี ฯ…”

สอดคล้องกับจดหมายของมองซิเออร์คอร์ บาทหลวงฝรั่งเศส (ลงวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1768/พ.ศ. 2311) ได้บันทึกไว้ว่า

…เมื่อวันที่ 19 เดือนธันวาคมปีกลายนี้ได้มีเจ้าไทยองค์ 1 ทรงพระนามว่าเจ้าศรีสังข์ได้เสด็จมายังเมืองเขมร เจ้าศรีสังข์องค์นี้เป็นพระราชโอรสของพระมหาอุปราช ทรงพระนามว่า วัง (Vang) (หมายถึงเจ้าฟ้ากุ้ง – ผู้เขียน)… ฝ่ายเจ้าศรีสังข์มีพระชนม์์เพียง 22 ปี…”

บาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวถึงอุปนิสัยของเจ้าองค์นี้ด้วยว่า ทรงมีอัธยาศัยดี พระทัยกว้าง พระปรีชาสามารถเฉียบแหลมเกินอายุ โปรดพวกเข้ารีต นับถือพวกฝรั่งเศส และเคยมีพระดำริที่จะเสด็จไปยังประเทศยุโรป

มองซิเออร์คอร์เล่าว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้วนั้น เจ้าศรีสังข์ได้ “ลี้ภัย” พวกพม่า อยู่ตามป่าประมาณ 3 เดือน เมื่อพม่ายกทัพกลับแล้วจึงเสด็จมายังบางกอก แล้วจากบางกอกก็เสด็จมายังบางปลาสร้อย (ชลบุรี) เมื่อพระเจ้าตากทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยามาประทับที่บางปลาสร้อย “…จึงได้จัดเรือให้ออกไปจับเจ้าศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี…”

อย่างไรก็ตาม ในจดหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า เจ้าศรีสังข์ได้ทราบเรื่องที่พระเจ้าตากมีพระราชประสงค์ให้จับพระองค์มายังเมืองจันทบุรีหรือไม่ สันนิษฐานว่า คงทราบพระองค์ดี เพราะมิเช่นนั้นคงไม่เสด็จลี้ภัยไปยังเมืองญวนและเมืองเขมร โดยเจ้าศรีสังข์ได้รับความช่วยเหลือจากพวกเข้ารีต ซึ่งต้องการช่วยให้พระดำริสำเร็จผล คือการเสด็จไปยังประเทศยุโรป

ต่อมา เจ้าศรีสังข์ล่องเรือมาถึงเมืองฮอนดัต แต่พวกบาทหลวงทราบนิสัยเจ้าเมืองคันเคา (พุทไธมาศ) เป็นอย่างดี จึงจัดแจงให้เสด็จต่อไปตามลำน้ำจนถึงเมืองเขมร

ณ เมืองเขมร เจ้าศรีสังข์ยังอยู่ภายใต้การดูแลของพวกบาทหลวงเป็นสำคัญ เมื่อเจ้าศรีสังข์ได้เข้าเฝ้า กษัตริย์เขมร ก็ทรงยินดีต้อนรับ เพราะเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยา กระทั่งเจ้าศรีสังข์กลายเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์

มองซิเออร์คอร์บันทึกว่า “…แล้วพระเจ้ากรุงเขมรได้มีรับสั่งให้สร้างวังให้แก่เจ้าศรีสังข์โดยทำด้วยไม้ไผ่ เจ้าศรีสังข์ได้ไปประทับที่วังนี้โดยไม่สู้เต็มพระทัยเท่าไรนัก และได้อยู่กับพระเจ้ากรุงเขมรจนพระเจ้ากรุงเขมรโปรดปรานมาก เจ้าศรีสังข์จึงวิตกว่าจะเสด็จออกจากเมืองเขมรไม่ได้เสียแล้ว…”

แม้เจ้าศรีสังข์จะลี้ภัยมายังเมืองเขมร แต่ก็ยังคงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปยังประเทศยุโรป เป็นที่น่าสังเกตว่า พระองค์ไม่ได้รู้สึกมั่นพระทัยว่า การประทับอยู่ในเมืองเขมรนั้นทำให้พระองค์ปลอดภัย โดยหากเทียบกับการเสี่ยงชีวิตเดินทางไปยังยุโรป ก็อาจจะคุ้มค่ามากกว่า หรือไม่?

ภาพวาด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน)โดย “ปิยะดา” (ประเวส สุขสมจิตร) จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546

เหตุการณ์ต่อมาปรากฏว่า เจ้าเมืองคันเคาเกิดความไม่พอใจและริษยาขึ้น ในการที่เขมรได้รับรองเจ้าศรีสังข์ และเคืองว่า “…เจ้าไทยได้ผ่านบ้านเมืองของตัวโดยตัวหาได้รู้เรื่องไม่…” จึงต้องการให้นำตัวเจ้าศรีสังข์มายังเมืองคันเคา

เหตุใด “พระเจ้าตาก” ต้องการตัวเจ้าศรีสังข์?

จดหมายอีกฉบับหนึ่งของมองซิเออร์อาโตด์ บันทึกว่า ในเวลานั้นเจ้าเมืองคันเคาได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้าตากฉบับหนึ่ง มีพระราชประสงค์ถึงเจ้าเมืองคันเคาให้ส่งตัว เจ้าศรีสังข์ มาให้พระองค์ ถ้าส่งเป็นไม่ได้ก็ให้ส่งตาย ในการนี้ได้พระราชทานสิ่งของอย่างดีมาให้ด้วย มีปืนใหญ่ 2 กระบอก หล่ออย่างแบบยุโรป และยังทรงสัญญาว่า

“…ถ้าเจ้าเมืองคันเคาส่งตัวเจ้าศรีสังข์ได้แล้ว พระยาตากจะส่งปืนชนิดนี้มาให้อีกหลายกระบอก..” ซึ่ง “…ฝ่ายเจ้าเมืองคันเคาไม่เคยเห็นปืนอย่างนี้เลย มีความยินดีที่ได้มา 2 กระบอกและกระหายอยากได้อีก จึงได้ให้เที่ยวค้นหาตัวเจ้าศรีสังข์ให้จงได้…”

ทว่า เจ้าเมืองคันเคาทราบว่า เมื่อครั้งที่เจ้าศรีสังข์ผ่านมายังเมืองของตนนั้น พวกบาทหลวงฝรั่งเศสได้ “เสือกไส” ให้ไปยังเมืองเขมรอย่างเงียบ ๆ เจ้าเมืองคันเคาโกรธพวกบาทหลวง จึงจับมาคุมขังไว้ยังคุก จากนั้น จึงได้มีการเจรจากันระหว่างพวกบาทหลวงกับเจ้าเมืองคันเคาและฝ่ายญวน โดยให้มองซิเออร์อาโตด์ เดินทางไปยังเมืองเขมร เพื่อเจรจาให้เจ้าศรีสังข์เสด็จมายังเมืองคันเคา แลกกับการปล่อยตัวบาทหลวง

มองซิเออร์อาโตด์เองก็เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าศรีสังข์ แต่ก็ต้องการช่วยเหลือบาทหลวงด้วยกัน จึงตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ก่อนที่จะไปยังเมืองเขมร ต้องปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกคุมขัง, หากเจ้าศรีสังข์เสด็จมายังเมืองคันเคาแล้วจะต้องไม่ควบคุมกักขังพระองค์, ในการที่จะไปเมืองเขมรนี้มิใช่ไปในฐานะราชทูต เพียงแต่จะไปกราบทูลกับเจ้าศรีสังข์อย่างเดียวเท่านั้น และเจ้าศรีสังข์จะเสด็จมาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพระองค์เอง บาทหลวงไม่รับรองว่าจะเสด็จกลับตามคำกราบทูล

มองซิเออร์อาโตด์เข้าเฝ้าเจ้าศรีสังข์ที่เมืองเขมร เจ้าศรีสังข์ทรงทราบดีว่ามาเข้าเฝ้าด้วยเหตุใด จึงรับสั่งว่าทำอย่างไรก็จะไม่เสด็จไปเมืองคันเคา “…เพราะทรงทราบเป็นการแน่นอนว่าเจ้าเมืองคันเคาจะจับพระองค์ส่งให้แก่พระยาตาก และได้รับสั่งต่อไปว่า ‘การที่พระยาตากได้ส่งของดี ๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับจะซื้อศีรษะข้าพเจ้าเท่านั้น’…”

สันนิษฐานว่า เจ้าศรีสังข์ คงมีพระประสงค์ “ลี้ภัย” อยู่กับพวกบาทหลวงเป็นหลัก ไม่ได้เลือกว่าจะประทับที่เมืองญวนหรือเขมร และคงทรงมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปประเทศยุโรปให้ได้ เมื่อตอนที่เสด็จมายังเมืองคันเคานั้น พวกบาทหลวงคงเห็นว่า หากลี้ภัยอยู่ที่นี้จะเป็นการไม่สะดวก เพราะด้วยตัวเจ้าเมืองคันเคานั้นเป็นคนโมโหร้าย ยิ่งดื่มสุรานิ่งโมโหร้ายหนัก พวกบาทหลวงจึง “เสือกไส” ให้ไปประทับยังเมืองเขมรแทน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากที่นั่นเป็นอย่างดี

สุดท้ายแล้ว “เจ้าศรีสังข์” ก็ไม่ได้เสด็จกลับไปเมืองคันเคา

แผนที่ในยุคศตวรรษที่ 18 โดย Jacques Bellin (ค.ศ. 1703-72 หรือ พ.ศ. 2246-2315) นักทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส แสดงที่ตั้งของพะโค, อังวะ และอาระกัน (ตั้งอยู่ในประเทศพม่าในปัจจุบัน) รวมถึง สยาม กัมพูชา และตังเกี๋ย

ต่อมา ในจดหมายมองซิเออร์มอวัน (ลงวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1771/พ.ศ. 2313) เล่าเหตุการณ์ว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2312 “…เจ้าเมืองคันเคาได้เกิดเป็นอริขึ้นกับพระยาตาก พระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใหม่…” นั่นจึงนำมาสู่สงคราม

จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร พ.ศ. 2314 ระบุไว้ว่า “…มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษก ณ กรุงกัมพูชาธิบดี… ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น…” 

แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าตากยังคงมีพระราชประสงค์ให้จับตัวเจ้าศรีสังข์ให้จงได้ นั่นเพราะเพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย

เมื่อตีเมืองคันเคาหรือพุทไธมาศได้แล้ว ก็ไปตีเมืองเขมรต่อ จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรีฯ ระบุว่า “…พระองค์รามราชาบอกหนังสือมาถึง ฯลฯ ณ ศาลา ๆ เอาหนังสือบอกกราบทูลพระฯ ใจความว่า พระองค์อุทัย, เจ้าเสสัง, หนีไปแคว้นเมืองญวน ๆ ไม่ให้เข้าไปจึงยกทัพกลับมา พระองค์รามราชาให้ทหารไปเกลี้ยกล่อม พบกองทัพพระองค์อุทัย ได้รบกัน กองทัพพระองค์อุทัยแตก…”

เจ้าศรีสังข์ ได้ “ลี้ภัย” อีกครั้ง โดยหลบหนีไปยังเมืองญวน ปรามินทร์ เครือทอง วิเคราะห์ว่า คงไม่ได้ถูกจับในเหตุการณ์นี้ เพราะหากถูกจับได้ต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องกราบทูล แต่มิได้ปรากฏในจดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรีฯ แต่อย่างใด

กระทั่ง ณ วันอังคาร เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ พระเจ้าตากยกกองทัพหลวงกลับคืนพระนคร

ไม่กี่เดือนต่อมา ชะตากรรมเจ้าศรีสังข์ปรากฏในพงศาวดารเขมรว่า ลุถึงเดือน 3 ในปีเถาะ 1133 (พ.ศ. 2314) นี้ เจ้าเสสัง (ศรีสังข์) ซึ่งเปนเจ้าไทยที่หนีจากกรุงศรีอยุทธยาครั้งเมื่อพม่ามาตีเมือง มาอยู่เมืองเขมรนั้น ได้สิ้นพระชนม์ลง ฯ”

ปิดฉากชีวิต “เจ้าศรีสังข์” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา ที่ทรง “ลี้ภัย” ณ เมืองเขมรนานหลายปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23 : จดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. (2511). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์). (2550). ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โสภณการพิมพ์

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 66. (2496). พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร. ประจวบ บุนนาค วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496. พระนคร : ร.พ.อุดม. 

ปรามินทร์ เครือทอง. (มีนาคม, 2558). ตามติดปฏิบัติการพระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีฯ. ศิลปวัฒนธรรม, จาก www.silpa-mag.com/history/article_41081


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2563