ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
นับจากวันแรกที่ “พระเจ้าตาก” ยกทัพหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียเมืองนั้น ไม่มีหลักฐานฟันธงได้แน่ชัดว่า ในวันนั้นทรงมีเป้าหมายในการครอบครองราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาหรือไม่ เพราะความคิดนั้นเพิ่งเริ่มมาชัดเจนมากขึ้นเอาตอนที่เดินทัพมาถึงเมืองระยอง และประกาศตัวเป็น “เจ้า” ที่นั่น พร้อมกับมุ่งมั่นที่จะ “กู้กรุงศรีฯ” ให้ฟื้นคืนดังเก่า
แต่เส้นทางการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าตากไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และไม่ได้จบลงที่การขับไล่กองกำลังพม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการยอมรับของประชาราษฎร เหล่าขุนนางอำมาตย์ พระราชวงศ์ และนานาประเทศ
แน่นอนว่าขณะนั้นศรัทธาของประชาราษฎรที่มีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาจะเสื่อมสูญลงไปจนหมดสิ้นแล้ว เนื่องจากไม่สามารถปกปักษ์รักษาพระพุทธศาสนา อาณาประชาราษฎร พระราชวงศ์ ตลอดจนแผ่นดินให้รอดพ้นจากภัยสงคราม จนกระทั่งต้องเสียบ้านเสียเมืองให้กับผู้รุกราน
แต่หลักความเชื่อและการยึดมั่นอยู่ในโบราณราชประเพณี ไม่ได้สูญสลายไปกับความพิบัติครั้งนั้น หน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์จะดีจะร้ายอย่างไร ก็ยังคงอาศัยหลักประเพณีโบราณสืบสายกันเรื่อยมา แม้กระทั่งกษัตริย์ผู้ที่มีประวัติคลุมเครือก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อหาทาง “เชื่อม” สายเลือดศักดิ์สิทธิ์ทางใดทางหนึ่ง กระทั่งอ้างว่าเป็นพระราชโอรส “ลับ” ก็มี
ในขณะที่พระราชประวัติพระเจ้าตากเป็นที่รู้กันชัดเจนไปไกลถึงนานาประเทศว่าไม่ได้มี “เชื้อสาย” ที่จะใช้เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมใด ๆ ได้ นอกจากผลงาน “กู้กรุง” ครั้งนี้เท่านั้น
ครั้นเมื่อถึงคราวจะต้องครองราชบัลลังก์ขึ้นมาจริง ๆ ปัญหา “เชื้อสาย” ก็ได้กลายมาเป็น “อุปสรรค” สำคัญ โดยเฉพาะการยอมรับจากทั้งภายในราชอาณาจักร และแรงกดดันจากภายนอกที่ทวงถามถึงความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ครั้งนี้ จนถึงขั้นเรียกร้องให้ “คืน” ราชสมบัติแก่รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งเวลานั้นมีองค์รัชทายาทที่ปรากฏพระนามในพระราชพงศาวดารและเอกสารต่างประเทศอยู่ 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในกรมขุนเสนาพิทักษ์ “เจ้าฟ้ากุ้ง”) เจ้าจุ้ย (พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัย – เจ้าฟ้าอภัยเป็นพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)
ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้องค์รัชยาททั้ง 3 พระองค์นี้เป็นผู้สืบต่อราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา “อย่างชอบธรรม” คือความยุ่งยากต่อราชบัลลังก์ธนบุรี จนทำให้พระเจ้าตากจำเป็นต้อง “เก็บกวาด” องค์รัชทายาททั้ง 3 พระองค์นี้ ก่อนที่จะได้เป็น “เจ้าแผ่นดินสยาม” อย่างสมบูรณ์
พระเจ้าตาก กับแรงกดดันจากจีน “king of king” แห่งประเทศในทะเลจีนใต้
ตั้งแต่ต้นกรุงธนบุรี มีหลักฐานชัดเจนว่า พระเจ้าตาก ใช้ความพยายามอย่างมากที่ต้องการให้ “รัฐบาลจีน” ยอมรับอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้นำประเทศอื่น ๆ “เกรงใจ” และยอมรับพระราชอำนาจกรุงธนบุรีตามไปด้วย สิ่งที่กรุงธนบุรีจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลจีนก็คือ ผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งการส่งสินค้าพื้นเมืองออกไปขาย และการนำเข้ายุทธปัจจัยที่กรุงธนบุรีต้องการอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ กำมะถัน เหล็ก ทองแดง เพื่อนำมาใช้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์
ดังนั้น พระเจ้าตากจึงทรงส่ง “เฉินเหม่ยเซิง” [1] พ่อค้าชาวจีนเพื่อนำพระราชสาส์นไปยังเมืองกวางโจว เพื่อขอสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
พระราชสาส์นกล่าวถึงการที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลง “กษัตริย์ไทยกับพระอนุชาอีกสองพระองค์รวมทั้งขุนนางอื่น ๆ ไม่สามารถจะกู้ประเทศกลับคืนมาได้” [2]
ที่น่าแปลกคือพระราชสาส์นฉบับนี้ ส่งเมื่อตั้งกรุงธนบุรีเรียบร้อยแล้ว แต่ยังปรากฏว่าพระเจ้าตากทรงแจ้งข่าวต่อรัฐบาลจีนว่า “ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่พบพระอนุชาของกษัตริย์พระองค์ก่อนที่จะอัญเชิญกลับมาครองราชย์” [3]
อันที่จริงถึงเวลานี้น่าจะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าอุทุมพร “พระอนุชาของกษัตริย์พระองค์ก่อน” ที่พระเจ้าตากทรงอ้างถึงนั้น ถูกจับตัวไปเมืองพม่าตั้งแต่ตอนกรุงแตกแล้ว แต่กลับทรงอ้างว่า “ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่พบพระอนุชา” ความข้อนี้เห็นจะจงใจเก็บงำข้อเท็จจริงบางอย่าง เพื่อ “ตัดบท” ข้อสงสัยใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ดี ข้ออ้างนี้ไม่เป็นผล ราชสำนักจีนก็มี “การข่าว” เหมือนกัน และรู้ว่าเวลานั้น ได้เกิดกลุ่มก๊กต่าง ๆ แยกตัวเป็นอิสระ และตั้งกษัตริย์ปกครองตัวเองขึ้นมาในราชอาณาจักร แน่นอนรัฐบาลจีนหมายรวมถึงกลุ่มพระเจ้าตากด้วย ซึ่งรัฐบาลจีนไม่สนับสนุนการกระทำเช่นนี้
“ปัจจุบันเมื่อตัวเขาตายเมืองวอดวายก็บังอาจฉวยโอกาสแห่งวิกฤติการณ์ โดยไม่คำนึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งเจ้านายเก่า แทนที่จะเชิดชูยกย่องรัชทายาททำการกอบกู้เอกราชและแก้แค้นทดแทน กลับคิดตั้งตนเป็นอิสระไม่หยุดหย่อน รวมทั้งเฟ้อฝันที่จะให้ได้รับการแต่งตั้งรับรอง เพื่ออ้างเอาความเป็นใหญ่ ดังนี้ จึงถือเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมและชาติชั้นวรรณะโดยแท้” [4]
ทั้งนี้การติดต่อระหว่างพระเจ้าตากกับราชสำนักจีนนั้น ต้องติดต่อผ่านผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง–กวางซี ชื่อ “หลี่ซื่อเหยา” ซึ่งมีหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหลายก่อนที่จะถวายต่อจักพรรดิเฉียนหลง ซึ่งพระองค์ก็เห็นชอบตามที่หลี่ซื่อเหยากราบทูล
“กันเอินเลอนั้นเป็นสามัญชนธรรมดาซึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวไปดุจโจรสลัด จึงควรเป็นหัวหน้าสลัดมากกว่าที่จะเป็นกษัตริย์ ทั้งไม่ควรเปรียบตนเองเช่นกษัตริย์ แม้ว่าอาณาจักรไทยจะอยู่ในภัยอันตรายและเจิ้นเจาได้ช่วยเหลือไว้ได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเป็นกษัตริย์สืบไป แม้จะกอบกู้เอกราชของชาติไว้ได้ ซึ่งนับว่าเป็นการดี แต่การที่พยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์โดยที่ตนไม่มีเชื้อสายจึงไม่เป็นที่ยอมรับ” [5]
แต่เนื้อความเช่นนี้ออกจะรุนแรงเกินไป จักพรรดิเฉินหลงจึงทรงแนะนำให้เขียนจดหมายที่มีคำอธิบายให้กับกลุ่มก๊กต่าง ๆ คือ กลุ่มของเจิ้นเจาหรือเจิ้นเจ้า (พระเจ้าตาก) และโม่ซื่อหลิง (เจ้าพระฝาง) ว่าจีนไม่สนับสนุนสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
“การที่เจิ้นเจ้าจะให้จีนยอมรับว่าเป็นกษัตริย์และพระราชทานตราตำแหน่งพิเศษมาให้นั้น จีนไม่สามารถให้ได้ เพราะมิได้เป็นไปตามประเพณีเดิมที่ถูกต้องแล้ว เจิ้นเจ้าควรที่จะสืบหาองค์รัชทายาทและช่วยพระองค์ให้กอบกู้ประเทศชาติและอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เจิ้นเจ้าก็มิได้ทำเช่นนี้กลับคิดตั้งตนเป็นกษัตริย์เสียเอง ทางจีนจึงไม่เห็นชอบด้วยกับความไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรมเช่นนี้” [6]
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนมีนโยบาย “ไม่รับรอง” บุคคลที่ไม่มีเชื้อสายอย่างชัดเจน ท้ายจดหมายฉบับนี้ [7] จึงลงท้ายว่า “ทั้งนี้เพราะท่านมิได้เป็นองค์รัชทายาท ท่านควรจะเคารพต่อกษัตริย์บรรพบุรุษเดิม ดังนั้นจึงขอให้ท่านสืบค้นหาองค์รัชทายาทและช่วยพระองค์กอบกู้ประเทศ”
ท่าทีของรัฐบาลจีนเช่นนี้ น่าจะเป็นแรงกดดันให้พระเจ้าตากไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจาก “สืบหา” องค์รัชทายาทตามที่รัฐบาลจีนต้องการ แน่นอนว่าคงไม่ใช่การ “ช่วยพระองค์กอบกู้ประเทศ” แต่ย่อมเป็นเป้าหมายอื่น???
เป้าหมายแรก “กรมหมื่นเทพพิพิธ” เจ้าพิมาย
กรมหมื่นเทพพิพิธทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง เนื่องจากเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงนับได้ว่าทรงเป็น “รัชทายาท” ลำดับต้น ๆ พระองค์หนึ่ง และที่สำคัญทรงเป็นรัชทายาทพระองค์เดียวที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สงครามกรุงแตก จนถึงยุคกรุงธนบุรี มีพระนามในเอกสารจีนว่า “ซ่าหวังจี๋” [8]
หลังจากกรุงแตกแล้วกรมหมื่นเทพพิพิธทรงเคลื่อนไหวอยู่ในเขตเมืองนครราชสีมา และแยกตัวเป็นอิสระ ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน [9]
“พระพิมายนั้นรักใคร่นับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่าเป็นวงศ์ราชตระกูล ช่วยทำนุบำรุงไว้ ครั้นรู้ข่าวว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้ว พม่ากวาดเอาพระราชวงศานุวงศ์ไปสิ้น จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป เรียกว่า เจ้าพิมาย” [10]
จนกระทั่งปี 2311 ชะตาวาสนาและชีวิตโลดโผนของกรมหมื่นเทพพิพิธก็เป็นอันจบลง เมื่อ พระเจ้าตาก โปรดให้ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองโครราช “เจ้าพิมาย” เห็นว่าเมืองโคราชแตกแล้ว จึงทิ้งเมืองพิมาย จะหนีเข้าแดนลาวกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ถูก “ขุนชนะ” จับได้ แล้วนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี (ขุนชนะ – ภายหลังได้ปูนบำเหน็จให้เป็นพระยากำแหงสงคราม ครองเมืองนครราชสีมา)
“จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่ง และกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม จึงดำรัสว่าตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น ครั้นจะเลี้ยงเข้าไว้ก็จะหาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลย จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย” [11]
เป็นอันว่าการ “สืบหา” องค์รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา ตามวิธีของพระเจ้าตาก เรียบร้อยไปหนึ่งพระองค์
แต่หากนับเอาพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในสายของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมี “ลูกเธอ” ทั้งชายหญิงถึง 48 พระองค์ [12] และคงมีจำนวน “หลานเธอ” อีกจำนวนไม่น้อย หากคิดเฉพาะ “เจ้าชาย” ที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก็คงมีมากมายหลายพระองค์เช่นกัน
แต่หลังกรุงแตก นอกจาก “เจ้าหญิง” ลูกเธอหลานเธอ ที่ พระเจ้าตาก “ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม” ไม่กี่พระองค์แล้ว กลับไม่มีบันทึกแน่นอนว่าลูกเธอหลานเธอที่เป็น “เจ้าชาย” สูญหายไปไหนหมด คงเหลืออยู่ในบัญชี “สืบหา” ของพระเจ้าตากเพียง 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าศรีสังข์ และเจ้าจุ้ย เท่านั้น ที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ
กรมหมื่นเทพพิพิธนั้น พระเจ้าตากทรงปิดบัญชี “สืบหา” ไปแล้ว จึงยังเหลืออยู่อีก 2 พระองค์ ที่เป็นเป้าหมาย “สืบหา” ในลำดับต่อไป
พระเจ้าตาก กับปฏิบัติการ “สืบหา” เจ้าศรีสังข์
สำหรับเจ้าศรีสังข์ ปรากฏเรื่องราวอยู่ในบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสไว้ค่อนข้างละเอียด และถ้าบันทึกเหล่านั้นมีความถูกต้องแม่นยำ ก็ถือว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะจากบันทึกนั้นได้เล่าว่า พระเจ้าตาก ปฏิบัติการ “สืบหา” เจ้าศรีสังข์ ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งกรุงธนบุรีเลยทีเดียว
“เมื่อพม่าเข้าไปตีกรุงนั้น เจ้าศรีสังข์ได้เสด็จเล็ดลอดหนีข้าศึกไปได้ จึงเสด็จด้นดั้นอยู่ตามป่าประมาณ 3 เดือน ครั้นพวกพม่ายกกลับไปแล้ว เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จกลับไปยังบางกอก แล้วจากบางกอกได้เสด็จไปที่บางปลาสร้อย ในเวลานั้น พระยาตากซึ่งเป็นชาติจีนครึ่งหนึ่งนั้น กำลังดำริจะเอาราชสมบัติ ได้ทราบว่ามีเจ้าเชื้อพระวงศ์เสด็จไปที่บางปลาสร้อย จึงได้จัดเรือให้ออกไปจับเจ้าศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี” [13]
จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2311 ซึ่งหมายความว่าห่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มากนัก วันเวลาที่เกิดเรื่องขึ้นก็สอดคล้องกับเวลาในพระราชพงศาวดาร คือกรุงแตกในเดือนเมษายน พระเจ้าตากตีเมืองจันท์ได้ในเดือนมิถุนายน และยั้งทัพอยู่นั่นอีก 3-4 เดือน ช่วงนี้เองที่พระเจ้าตากให้จัดเรือออกไปจับเจ้าศรีสังข์
ที่น่าแปลกใจก็คือ ปฏิบัติการ “สืบหา” องค์รัชทายาทครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่พระเจ้าตากยังไม่เผด็จศึกที่ค่ายโพธิ์สามต้น และยังไม่ได้คิดตั้งกรุงธนบุรีเสียด้วยซ้ำ เหตุใดจึงคิดจับองค์รัชทายาทกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เวลานี้?
จากเหตุการณ์นี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระเจ้าตาก “ตัดสินใจ” ที่จะเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา “อย่างแน่นอน” ตั้งแต่ได้เมืองระยอง จึงทรงประกาศตัวเป็นเจ้าขึ้นที่นั่น “เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย” [14]
และเมื่อได้เมืองจันท์มีผู้คนมากขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ยิ่งเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นที่ “อาจ” จะได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา หากศึก “กู้กรุง” ทำได้สำเร็จ
ดังนั้น (หากบันทึกนี้ถูกต้องโดยเฉพาะการตามล่าเจ้าศรีสังข์) แผนการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าตาก น่าจะถูกวางไว้อย่างรอบคอบทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การรวบรวมไพร่พลหัวเมืองชายทะเล รวมไปถึงการ “สกัดราชวงศ์” ไม่ให้กลายมาเป็นเงื่อนไขในการขึ้นสู่ราชบัลลังก์ต้อง “สะดุด” เพราะเหตุเรื่องความชอบธรรม และเชื้อสาย “เจ้า”
การตามล่าเจ้าศรีสังข์จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อพระเจ้าตากส่งคนไป “สืบหา” เจ้าศรีสังข์ที่บางปลาสร้อย เจ้าศรีสังข์ได้หนีรอดได้ และด้วยความสัมพันธ์อันดีกับบาทหลวงฝรั่งเศส จึงได้รับการช่วยเหลือให้หนีออกนอกประเทศได้ เป้าหมายแรกคือการหนีไกลไปถึงเมืองยุโรป แต่ระหว่างการเดินทาง เรือของเจ้าศรีสังข์ถูกโจรสลัดโจมตี จำเป็นต้องหลบหนีเข้ากรุงกัมพูชา
เจ้ากรุงกัมพูชา (เมืองหลวงคือพุทไธเพชร) ขณะนั้นคือพระนารายณ์ราชา (พระอุไทยราชา, นักองค์ตน) ซึ่งเป็นอริอยู่กับพระเจ้าตากจึงให้การต้อนรับเจ้าศรีสังข์เป็นอย่างดี เพราะหากว่าเกิด “เหตุไม่คาดฝัน” ราชบัลลังก์กลับมาเป็นของ “เชื้อพระวงศ์เก่า” อย่างที่รัฐบาลจีนต้องการ พระนารายณ์ราชาก็คงจะได้รับประโยชน์ไปด้วย
อย่างไรก็ดี แม้เจ้าศรีสังข์จะหลบหนีเข้าไปในกรุงกัมพูชา และพระนารายณ์ราชาให้การต้อนรับ แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของคณะบาทหลวงอยู่
ทางด้านพระเจ้าตากเมื่อทราบว่าเจ้าศรีสังข์หนีเข้ากรุงกัมพูชา จึงพยายามติดต่อกับพระราชาเศรษฐีญวน (เอกสารจีนเรียก “ม่อซื่อหลิน”) เจ้าเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน, เอกสารฝรั่งเศสเรียกเมือง “คันเคา”) ให้ช่วยจับเจ้าศรีสังข์ให้ โดยส่งของกำนัลอย่างดีไปให้
“พระยาตากได้ส่งของอย่างดี ๆ มาให้ด้วย มีปืนใหญ่ 2 กระบอก หล่ออย่างยุโรป ซึ่งเป็นของที่ชาวเมืองนี้ตื่นเต้นกันมาก และพระยาตากสัญญาว่า ถ้าเจ้าเมืองคันเคาส่งตัวเจ้าศรีสังข์ให้แล้ว พระยาตากจะส่งปืนชนิดนี้มาให้อีกหลายกระบอก ฝ่ายเจ้าเมืองคันเคาไม่เคยได้เห็นปืนอย่างนี้เลย มีความยินดีนักที่ได้มา 2 กระบอก และกระหายอยากจะได้อีก จึงให้เที่ยวค้นหาตัวเจ้าศรีสังข์ให้จงได้” [15]
พระราชาเศรษฐีญวน ได้ขอตัวเจ้าศรีสังข์จากบาทหลวง แต่ถูกปฏิเสธ จึงดำเนินการกดดันคณะบาทหลวงด้วยการจับตัวบาทหลวง 2 คน ขังคุก เพื่อให้บาทหลวงที่ดูแลเจ้าศรีสังข์ ส่งตัวเจ้าศรีสังข์มายังเมืองพุทไธมาศ แต่การดำเนินการครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะว่าเจ้าศรีสังข์ไม่ยอมปฏิบัติตาม
“การที่พระยาตากได้ส่งของดี ๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับว่าจะซื้อศีรษะข้าพเจ้าเท่านั้น” [16]
เป็นอันว่าเจ้าศรีสังข์รอดตัวไปได้ระยะหนึ่ง
จนถึงปี 2312 มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่าพระราชาเศรษฐีญวนจะยกมาตีกรุงธนบุรี แต่ทางพระเจ้าตากเตรียมการรับศึกทันทีที่ได้ข่าว ทำให้กองทัพพุทไธมาสยุติการเคลื่อนไหวไป เมื่อกลายมาเป็นศัตรูกัน แนวคิดของพระยาราชาเศรษฐีเวลานี้จึงไม่ต่างกับพระนารายณ์ราชา คือต้องการสนับสนุน รัชทายาทกรุงศรีอยุธยาให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้รัชทายาทขึ้นครองราชบัลลังก์ตามทำนองคลองธรรม
และเท่ากับว่า ทั้งกรุงกัมพูชาและญวน ได้ประกาศตัวเป็นศัตรูกับกรุงธนบุรีอย่างเปิดเผย เจ้าศรีสังข์ซึ่งรอดจากการถูกส่งตัวไปได้ บัดนี้จึงอยู่ในแดนศัตรูของกรุงธนบุรีโดยสมบูรณ์
ตี ญวน กัมพูชา “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีฯ
เป้าหมายในการตีญวนและกรุงกัมพูชา ในปี 2314 ครั้งนี้ คือการตีเอาพุทไธเพชรเมืองหลวงกรุงกัมพูชา แล้วจะตั้งพระรามราชา (นักองค์นนท์) ให้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป ซึ่งพระรามราชานี้ทรงเป็นพันธมิตรของพระเจ้าตาก และได้ตามติดกองทัพมาตั้งแต่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา
แต่แน่นอนว่ายังมีเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การ “สืบหา” เจ้าศรีสังข์ ที่พระนารายณ์ราชาสนับสนุนอยู่ และเจ้าจุ้ยที่พระยาราชาเศรษฐีญวนสนับสนุน
“ด้วยมีพระราชประสงค์จะราชาภิเษกนักองค์รามาธิบดีให้ครองกรุงกัมพูชา แล้วจะเอาตัว เจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ และข้าหลวงชาวกรุงเทพฯ ซึ่งไปอยู่ ณ หัวเมืองใด ๆ จงสิ้น” [17]
กองทัพหลวงกรุงธนบุรีไม่ได้มุ่งไปที่เมืองพุทไธเพชรก่อน แต่ยกไพร่พลเข้าโจมตีเมืองพุทไธมาศของญวนเป็นเป้าหมายแรก รบกันไม่นานพุทไธมาศก็แตก พระยาราชาเศรษฐีลงเรือหนีไปได้
ส่วนเจ้าจุ้ย…ไม่รอด
“อนึ่งเจ้าจุ้ยบุตรเจ้าฟ้าอภัย มาอยู่ด้วยราชาเศรษฐี ลงเรือหนีไป ได้ตัวมาให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนยกหนึ่งแล้วให้จำไว้” [18]
ส่วนชะตากรรมของเจ้าจุ้ยจะเป็นอย่างไรนั้น พระราชพงศาวดารไม่ได้ให้ตอนจบไว้ แต่จดหมายเหตุรายวันทัพทิ้งปริศนาให้คิดต่อว่า เจ้าจุ้ย จะรอดหรือไม่รอด
“เจ้าจุ้ย 1 หลวงสงขลา 1 พระยาจันทบูร 1 จีนบุญเส็ง 1 ขุน…1 (รวม) 5 คน เข้ามาเฝ้าพร้อมกัน จึงตรัสสั่งให้ลูกขุนปรึกษาโทษผู้มีชื่อ 5 คน ลูกขุนเอาคำปรึกษากราบบังคมทูลพระกรุณา ใจความให้ประหารชีวิตสิ้นทั้งโคตรโดยบทพระอัยการ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ออกไปปรึกษากันก่อน ว่าอย่างไรที่รอดจากความตายนั้น ให้…ถ้าผู้ใดคิดอย่างไร ก็ให้ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าเห็นชอบด้วยจะพระราชทานชีวิตให้ทำราชการแก้ตัวสืบไป ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ตามโทษานุโทษโดยลูกขุนปรึกษา” [19]
บทสรุปของเจ้าจุ้ยจึงไม่แน่ชัดว่า ลูกขุนปรึกษากันว่าอย่างไร รอดหรือไม่ แต่หลังจากถูกจับครั้งนี้ ก็ไม่มีเรื่องราวของเจ้าจุ้ยปรากฏขึ้นอีกเลยในพงศาวดาร
การ “สืบหา” รัชทายาทกรุงศรีฯ ยังเหลืออีก 1 พระองค์ คือเจ้าศรีสังข์
อวสานเจ้าศรีสังข์
เสร็จศึกที่เมืองพุทไธมาศของญวนแล้ว ก็มาถึงคราวที่กองทัพกรุงธนบุรีจะขึ้นเหนือมาจัดการกับกรุงกัมพูชาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งมีเจ้าศรีสังข์พำนักอยู่ สงครามยึดกรุงกัมพูชาเริ่มขึ้น พร้อม ๆ กับปฏิบัติการตามล่าเจ้าศรีสังข์
“พระองค์รามราชาบอกหนังสือมาถึง ฯลฯ ณ ศาลา ๆ เอาหนังสือกราบทูลพระฯ ใจความว่า พระองค์อุทัย, เจ้าเสสัง, หนีไปแคว้นเมืองญวน ๆ ไม่ให้เข้าไปจึงยกทัพกลับมา พระองค์รามราชาให้ทหารไปเกลี้ยกล่อม พบกองทัพพระองค์อุทัย ได้รบกัน กองทัพพระองค์อุทัยแตก” [20]
จดหมายรายวันทัพสิ้นความเพียงเท่านี้ จึงไม่รู้ชะตากรรมของเจ้าศรีสังข์ว่าเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ได้ถูกจับในคราวนี้ เพราะมิฉะนั้นจะต้องเป็น “เรื่องใหญ่” ที่พระองค์รามราชาต้องกราบบังคมทูลแน่นอน
2 เดือนต่อมา จึงมีข่าวปรากฏในพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่า “ลุถึงเดือน 3 ในปีเถาะ 1133 (พ.ศ. 2314) นี้ เจ้าเสสัง (ศรีสังข์) ซึ่งเปนเจ้าไทยที่หนีจากกรุงศรีอยุธยาครั้งเมื่อพม่ามาตีเมือง มาอยู่เมืองเขมรนั้น ได้สิ้นพระชนม์ลง” [21]
ปิดบัญชีไล่ล่า จีนเปลี่ยนท่าที
หลังจากจัดการกับพวก “ตั้งตนเป็นอิสระไม่หยุดหย่อน” และ “สืบค้น” องค์รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา เรียบร้อยสิ้นกระบวนความในปี 2314 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พระเจ้าตาก ได้ทำตามคำขอของทางการจีนด้วยการช่วยจับกุมเชลยศึกพม่าส่งให้กับทางการจีน ซึ่งเวลานั้น จีน–พม่า ยังคงทำสงครามกันอยู่ รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อพระเจ้าตาก
“รัชทายาทของตระกูลเจา [คำว่าเจาตรงกับคำว่าเจ้า คงจะหมายถึงกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา –ผู้แปล] ตกต่ำถดถอยอย่างที่สุด และสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสิ้นเชิงของกันเอินซื่อ [หมายถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้แปล] สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ราชสำนักชิงจำต้องทบทวนท่าทีที่มีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่” [22]
สุดท้ายรัฐบาลจีนก็ “กลับคำ” เรื่อง “ความชอบธรรม” ในการขึ้นครองราชย์ใหม่
“การแย่งชิงแผ่นดินแล้วเปลี่ยนราชสกุลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ เช่น ราชสกุลเฉิน ม่อ หรือหลี แห่งอาณาจักรอันหนัน [อันนัมหรือเวียดนาม – ผู้แปล] ก็เปลี่ยนแปลงประมุขอยู่หลายครั้งคราว เหตุการณ์เช่นนี้จึงหาได้เกิดขึ้นแก่สยามแต่เพียงแห่งเดียวไม่
นอกจากนั้น เมื่อครั้งโจรพม่าตีสยามจนแตก ผี่เอียซิน (พระยาสิน) ทำการโดยมุ่งหมายตอบโต้เป็นสำคัญ แต่โอกาสอำนวยให้บังเกิดประโยชน์ ร่องรอยแต่น้อยนิดแห่งการทรยศแย่งชิงบัลลังก์ก็หาประจักษ์แต่อย่างใดไม่ ฯลฯ ส่วนความเป็นมาแห่งการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน แล้วสถาปนาตั้งตนเป็นกษัตริย์นั้น ก็หาจำเป็นต้องเคร่งครัดในฐานานุศักดิ์ไม่ จึงไม่สมควรที่จะก้าวก่าย ผี่เอียซิน” [23]
นับแต่ปีที่ 37 แห่งรัชกาลเฉียนหลง ตรงกับพุทธศักราช 2315 เป็นต้นมา เอกสารราชการของราชสำนักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของพระเจ้าตากใหม่ คือไม่ได้เรียกขานว่า “หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” หรือ “พระยาสิน” หรือ “กันเอินซื่อ” แต่เรียกขานว่า “เจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้ง” หรือ “แต้อ๋อง” นั่นเอง [24]
ตลอดรัชกาลสั้น ๆ ของกรุงธนบุรี นอกเหนือจากรัชทายาท 3 พระองค์ “ในพงศาวดาร” ที่ถูก “สืบหา” แล้ว ก็ไม่มีเหตุเรื่องการไล่ล่า รัชทายาท พระราชวงศ์ ของกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นอีก และก็ไม่มี รัชทายาท พระราชวงศ์ ของกรุงศรีอยุธยาลุกขึ้นต่อต้านเพื่อทวงราชบัลลังก์คืนอีกเลย จนกระทั่งเปลี่ยนแผ่นดิน…
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระยาพิชัยดาบหัก” ในคราวตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีฯ พร้อม “พระเจ้าตาก”
- วังหน้า “พระยาเสือ” เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก ขุนศึกที่พระเจ้าตากโปรดปรานทำอะไรบ้าง?
- ข้อสันนิษฐานสุดสะพรึง ตำนาน “โกศอาถรรพ์” พระเจ้าตาก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ต้วน ลี เซิง. พลิกต้นตระกูลไทย. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2529, น. 145.
[2] ณัฏฐภัทร จันทวิช. “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 24 เล่ม 2 (พฤษภาคม 2523), น. 21.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 22.
[4] ต้วน ลี เซิง. พลิกต้นตระกูลไทย. น. 150.
[5] ณัฏฐภัทร จันทวิช. “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน,” น. 23. อนึ่ง กันเอินเลอ, กันเอินซื่อ หมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี, เจิ้งเจา หมายถึงกษัตริย์เจิ้ง,
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 24. “ตราตำแหน่งพิเศษ” หมายถึงตราโลโต รูปอูฐหมอบ ใช้ประทับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามที่มีไปถึงราชสำนักจีน จึงจะเป็นการติดต่อ “อย่างเป็นทางการ” ทำด้วยหยกเป็นแท่นสี่เหลี่ยม มีอักษรภาษาจีนเขียนว่า เสียม โหล ก๊ก อ๋อง
[7] เป็นจดหมายจากหลี่ซื่อเหยา ไม่ใช่พระราชสาส์นตอบของจักรพรรดิเฉียนหลง เนื่องจากมีพระราชดำริว่า เจิ้นเจาเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีสิทธิ์จะมาปฏิบัติเฉกเช่นกษัตริย์อยุธยาพระองค์ก่อนๆ ที่เคยปฏิบัติต่อพระองค์
[8] ผู้ที่รายงานเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลจีนคือ พระยาราชาเศรษฐีญวน (ม่อซื่อหลิน) เจ้าเมืองพุทไธมาศ และเป็นอริกับพระเจ้าตาก
[9] อ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกรมหมื่นเทพพิพิธในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงธนบุรีได้ใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 34 ฉบับที่ 11 กันยายน 2556)
[10] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516, น. 320.
[11] เรื่องเดียวกัน, น. 330.
[12] คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดฯ, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2515, น. 228. อนึ่ง “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ว่ามีพระราชโอรสพระราชธิดาทั้งที่เกิดจากพระมเหสีและพระสนม รวมแล้ว 108 พระองค์ (น.373)
[13] ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, พระนคร : ก้าวหน้า, 2508, น. 426.
[14] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 301.
[15] ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, น. 429,
[16] เรื่องเดียวกัน, น. 436.
[17] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 357.
[18] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 66, กรุงเทพฯ : พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาตรี หลวงจักรวิธานสันทัด (กมล อากาศวิภาต), 2503, น. 10.
[19] เรื่องเดียวกัน, น. 38. อนึ่งนักโทษที่ปรากฏชื่อทั้ง 4 คน นอกจากเจ้าจุ้ยแล้ว อีก 3 คน คือนักโทษคดีเก่าที่หลบหนีมาอยู่เมืองพุทไธมาศ มี หลวงสงขลา คือผู้ที่พาเจ้านครศรีธรรมราชหลบหนีในศึกตีเมืองนครฯ ปี 2312, พระยาจันทบูร คือเจ้าเมืองจันทบูรในศึก “ทุบหม้อข้าวตีเมืองจันทร์” ปี 2310, จีนบุญเส็ง คือคดีจีนเส็ง ซื้อทองพระพุทธรูปขนลงเรือสำเภาแล้วหนีไปได้ ปี 2311.
[20] เรื่องเดียวกัน, น. 36.
[21] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, พระนคร : แพร่พิทยา, 2513, น. 144.
[22] ต้วน ลี เซิง. พลิกต้นตระกูลไทย. น. 157.
[23] เรื่องเดียวกัน, น. 160.
[24] เรื่องเดียวกัน, น. 161.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2562