ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็นสำนวนไทยที่คุ้นเคยกันในสังคมไทย ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกตีมักจะเป็นเด็กๆ แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่คนโดนตีเป็นผู้ใหญ่ ดังเช่น การอบรมลูกหลานด้วย “ไม้เรียว” ของ ทองอยู่ ล่ำซำ
ทองอยู่ ล่ำซำ เป็นน้องสาวนายตันลิบบ๊วย ตระกูลหวั่งหลี และเป็นภรรยาของนายอึ้งยุกหลง (ผู้เป็นผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2)
การอบรมลูกหลานด้วย “ไม้เรียว” ของนางทองอยู่นี้ นางแจ่ม หวั่งหลี ภรรยานายตันลิบบ๊วยซึ่งเป็นพี่สะใภ้ทราบดี เพราะทั้งสองครอบครัวย้ายมาสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ กันที่ถนนสาทรใต้
แต่นางแจ่มก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงกิจการ เพราะถือเป็นเรื่องในครอบครัวของน้องสามี
จนเมื่อบุตรสาวของนางแจ่ม ได้แก่ สงวน หวั่งหลี แต่งงานกับ นายจุลินทร์ ล่ำซำ บุตรชายของนางทองอยู่ นางแจ่มในฐานะแม่ยายจึงต้องวิ่งไปห้ามปราม การอบรมลูกด้วย “ไม้เรียว” ของผู้เป็นน้องสะใภ้
นางทองอยู่ตีลูกชายด้วยเหตุใดไม่แจ้งชัด
แต่ความตอนหนึ่งใน “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) เล่าเหตุการณ์นั้นไว้ดังนี้
“ที่ว่าต้องวิ่งมาห้าม เพราะคุณย่า [นางทองอยู่] จะเรียกลูกชายมาดุตีที่บ้านตน ต้องอธิบายว่าการตีของคุณย่า มีวิธีการเป็นเอกลักษณ์ คือ ให้นั่งคุกเข่าลงอย่างเรียบร้อยแล้วจึงลงไม้เรียว ซึ่งลูกทุกคนก็จะยอมแต่โดยดี มิไย คุณยาย [นางแจ่ม] จะขอร้องคุณย่าให้เลิกระบบนี้กับลูกเขยคุณยายเพียงใดก็ไร้ผล
…วันหนึ่งซึ่งคุณย่าใช้วิธีปิดประตู เพื่อไม่ให้คุณยายเข้ามาขัดจังหวะการลงโทษพ่อข้าพเจ้าด้วยไม้เรียว คุณยายก็วิ่งมาห้ามปรามแต่เข้าบ้านไม่ได้ จึงได้แต่วิ่งรอบๆ แล้วร้องว่า
‘แม่อยู่มีลูกชาย 3 คน จะเฆี่ยนจะตียังไงก็ได้ แต่ฉันน่ะมีลูกเขยคนเดียวนะ’”
อ่านเพิ่มเติม :
- เส้นทางธุรกิจลูกสาวเจ้าสัวต้นตระกูลล่ำซำ แกลบที่โรงไฟฟ้าใช้เกือบทั้งหมด มาจากร้านนี้
- ผู้หญิงอยุธยา แท้จริงแสนลำบาก ต้องทำไร่ไถนา ขายของ เลี้ยงลูก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์). ดุจนาวากลางมหาสมุทร, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, พิมพ์ฉบับพ็อคเก็ตบุ๊ค ครั้งที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2541
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564