13 มิถุนายน 2471 วันทิวงคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

หากพูดถึงบุคคลผู้มีบทบาทในการพัฒนาแผ่นดินสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์หนึ่งที่มีสำคัญคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” ผู้ทรงเป็น พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อ วันพุธ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำ ปีมะแม เอกศก จุลศักราช 1221 ตรงกับวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 พระตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระศรีสลาไลย ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดา 4 พระองค์ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ เป็นพระราชโอรสลำดับสุดท้ายในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)

พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถ และทรงมีพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน กอปรกับการที่ทรงประกอบพระกรณียกิจถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 3 รัชกาล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ถวายงานสนองเบื้องพระยุคคลบาทหลายด้าน ทั้งในกิจการทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการไปรษณีย์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรกของประเทศ โดยทรงปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ของสยามให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย พระองค์จึงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณเป็นพระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ทรงมีพระนิยมในกิจการทหารและทรงมีพระปรีชาสามารถในกิจการทหารมาตั้งแต่พระชันษา 17 พรรษา โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการทหาร และทรงฝึกการบังคับบัญชาทหารให้ทรงมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อกิจการทหารสืบต่อไปในภายหน้า

นอกจากนี้ พระองค์ทรงเคยตามเสด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า รัชกาลที่ 5 และเคยเสด็จเยือนชาติมหาอำนาจทางการทหาร จึงทำให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการบังคับบัญชา และการปรับปรุงกิจการทหารตามพระราชประสงค์ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งทางการทหารที่สำคัญ อาทิ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ระหว่างรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสชวา เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

นอกจากภารกิจในด้านการทหารและความมั่นคงแล้ว ทรงเป็นบุคคลแรกในการริเริ่มกิจการด้านสื่อสารไปรษณีย์ให้เกิดขึ้นในสยามประเทศ เริ่มที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2418 ทรงร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์อีก 10 พระองค์ จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “COURT” ก่อนเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่าข่าวราชการเพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อราชการและความเป็นไปในราชสำนัก ข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองเฉพาะในหมู่เจ้านายเป็นสำคัญ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง

หนังสือพิมพ์ “COURT” ออกฉบับแรกเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2418 ในชั้นต้นองค์คณะผู้ดำเนินการตั้งพระทัยจะทูลเกล้าฯ ถวายและแจกกันในหมู่เจ้านาย โดยในช่วงแรกนั้นผู้รับหนังสือต้องไปรับที่สำนักงาน หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง แต่ต่อมาเกิดภาระในการจัดเก็บมากขึ้น จึงโปรดให้มีบุรุษหนังสือ หรือโปศตแมน (Postman) เพื่อนำส่งให้สมาชิกในตอนเช้าทุกวัน โดยคิดค่าบอกรับหนังสือปีละ 10 บาท ค่านำส่งปีละ 2 บาท พร้อมกันนั้นทรงจัดพิมพ์ตั๋วแสตมป์เพื่อใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือที่จะจำหน่ายแก่สมาชิกผู้รับหนังสือข่าวราชการ

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อชาติบ้านเมืองอย่างมาก ทั้งในฐานะที่เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และดำรงตำแหน่งราชการสำคัญ ของชาติในสมัยนั้น จึงได้รับพระสมัญญาว่าทรงเป็นหลักเมืองหรือหลักแผ่นดินของชาติ

สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทิวงคต ขณะพระชันษา 69 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน .. 2471 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อมรรัตน์ เจือจาน. (2562). สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2562, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2562