แรกเริ่มมีกิจการไปรษณีย์ เราสื่อสารกันด้วยจดหมายเมื่อใด

ไปรสะนียาคาร ที่่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศ ภาพของเอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2523 (เอนกถ่ายขาวดำBW-0511-004-จ11กพ2523)

การติดต่อสื่อสารด้วยจดหมายในยุคแรกไม่ค่อยมีแพร่หลายนัก เพราะนอกจากไม่สะดวกในการฝากส่งแล้ว การศึกษาของประชาชนก็เป็นอุปสรรค จดหมายจึงเป็นการสื่อสารของผู้มีการศึกษา และชนชั้นนำของประเทศ

ปลายรัชกาลที่ 3 กลุ่มมิชชันนารีชาวยุโรปที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในไทย จึงมีการเขียนจดหมายติดต่อกับครอบครัวและมิตรสหายที่ประเทศของตน โดยจัดส่งจดหมายไปทางเรือ และคิดค่าบริการจัดส่ง เนื่องจากยังไม่มีแสตมป์ใช้

Advertisement

สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงติดต่อกับชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปมากขึ้น เช่น ในปี 2398 เซอร์จอห์น บาวริง (Sir John Bowring) ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำประเทศจีน ได้เดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญาบาวริงกับไทย ต่อมามีการจัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ และมีบริษัทของอังกฤษหลายบริษัทมาเปิดกิจการ ทำให้เกิดความต้องการบริการไปรษณีย์ สถานกงสุลอังกฤษจึงเป็นธุระจัดการรวบรวมข่าวสารของชาวยุโรป ส่งลงเรือไปยังสิงคโปร์เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางอีกทอดหนึ่ง

บุรุษไปรษณีย์ ยุคแรกๆ ของประเทศ (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน)

ประมาณปี 2410 สถานกงสุลอังกฤษนำแสตมป์จากสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ (Straits Settlements) อาณานิคมช่องแคบของอังกฤษ (มลายู-สิงคโปร์) มาจำหน่ายเพื่อใช้ในการส่งจดหมายไปพลางก่อน บางช่วงก็ใช้แสตมป์ของฮ่องกง โดยพิมพ์อักษร “B” ใช้แทน Bangkok ทับลงไป ใช้ผนึกจดหมายที่รับฝากส่ง ด้วยขณะนั้นประเทศไทยเรายังไม่มีแสตมป์ของตนเอง (แสตมป์ประทับอักษร “B” ใช้ถึง 1 มกราคม ปี 2429 เมื่อไทยมีกิจการไปรษณีย์ได้ระยะหนึ่ง การใช้สถานกงสุลเป็นที่ฝากส่งจดหมายก็ยกเลิกไป)

ปี 2418 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ร่วมกับเจ้านายอีก 10 พระองค์ ทรงออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น ชื่อ “ข่าวราชการ” หรือ “Court” หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย ทำให้มี “โปสต์แมน” (postman) หรือคนเดินหนังสือ และการจัดพิมพ์ตั๋วแสตมป์เป็นค่าบริการส่งหนังสือ

กลางปี 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ถวายคำแนะนำให้เปิดกิจการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศ ซึ่งพระองค์ก็มีพระราชดำริเห็นชอบ โดยทรงแต่งตั้งสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ทรงมีประสบการณ์จัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวราชการ” ดำรงตำแหน่งอธิบดีสำเร็จราชการ (ระหว่าง ปี 2426-2433)

ส่วนตราไปรษณียากร หรือ “แสตมป์” นั้น เริ่มแรกว่าจ้างบริษัท วอเทอร์โลว์แอนด์ ซันส์ จำกัด (Waterlow and Sons Limited) ประเทศอังกฤษ เป็นผู้พิมพ์ตราไปรษณียากร และนำออกจำหน่ายครั้งแรกในวันเปิด “กรมไปรสนีย์สยาม” (4 สิงหาคม ปี 2426) นักสะสมแสตมป์เรียกแสตมป์ชุดนี้ว่า “โสฬศ” ตามมาตราเงินราณที่อยู่บนแสตมป์ ว่า โสฬศ, อัฐ, เสี้ยว, ซีก, เฟื้อง และสลึง

แสตมป์ รุ่นที่ 1 ออกเมื่อ 4 สิงหาคม 2426 (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน)

สำหรับอาคารที่ทำการเรียกกันว่า “ไปรสะนียาคาร” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ) โดยในระยะแรก กรมไปรศนีย์สยามดำเนินการรับส่งเฉพาะจดหมายและสิ่งของเท่านั้น  ส่วนการโทรเลขยังอยู่ในบริการของกรมโทรเลขสยาม สังกัดกระทรวงกลาโหม จนถึงปี 2441 จึงได้รวมเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข สังกัดกระทรวงโยธาธิการ และย้ายที่ทำการมาอยู่ริมถนนเจริญกรุง เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” ถึงปี 2428 จึงได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์ตามหัวเมืองเป็นแห่งแรกขึ้นที่นครเขื่อนขัณฑ์ (พระประแดง) และสมุทรปราการ

อาคารไปรษณีย์กลางบนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม ภาพถ่ายทางเครื่องบิน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ย้อนยุค, น. ๙๑)

ปี 2520 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ กสท. มีหน้าที่ให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ และต่อมาได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ถึงปี 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แปรสภาพ กสท. ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

อ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

ประวัติกิจการไปรษณีย์ไทย ใน, เว็บไซต์ไปรษณีย์ไทย สืบค้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

สารานุกรมไทยสำหรับเยวชน   โดย พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัล เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2527

ประวัติการไปรษณีย์ไทย ใน, เว็บไซต์มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน สืบค้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2563