กำเนิด “โปสต์แมน” หรือ “บุรุษไปรษณีย์” ในสยาม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการตั้งกงสุลต่างประเทศขึ้นในประเทศ สถานกงสุลประเทศต่างๆ ได้นำระบบการเดินหนังสือ เรียกว่า “การไปรษณีย์” เข้ามาใช้ในการติดต่อกับสถานกงสุลประเทศอื่นๆ

เมื่อปี พ.ศ. 2418 ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “COURT” โดยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์รวมกัน 11 พระองค์ นับเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย ต่อมา พ.ศ. 2419 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ”

เมื่อหนังสือออกฉบับแรกมีผู้สนใจจำนวนมาก โดยผู้ที่ต้องการต้องมารับหนังสือที่สำนักงาน ณ หอนิเพทพิทยาคมในพระบรมมหาราชวัง ริมประตูศรีสุนทรทุกวัน ในทุกวันการมาขอรับหนังสือของสมาชิกไม่พร้อมกันทำให้ต้องเก็บหนังสือค้างไว้จ่ายจำนวนมาก

บุรุษไปรษณีย์ในสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ “Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources”)

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์หนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ 11 พระองค์ โปรดให้มีบุรุษเดินหนังสือส่งให้สมาชิก เรียกว่า “โปสต์แมน” แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีน้ำเงินสะพายกระเป๋าใส่หนังสือนำส่งให้สมาชิกทุกเช้า พร้อมทรงจัดพิมพ์ “ตั๋วแสตมป์” ใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือจำหน่ายให้แก่สมาชิกที่ต้องการ เพื่อใช้ผนึกลงบนหนังสือข่าวราชการเป็นงินค่านำส่งหนังสือ

การออกหนังสือข่าวราชการมีถึง 15 กรกฎาคม 2419 และถูกล้มเลิกไป แต่การเดินส่งหนังสือ หรือการรับส่งจดหมายจากสมาชิกหนังสือพิมพ์ข่าวราชการ โดยเสียค่านำส่งเป็นตั๋วแสตมป์เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับตามที่อยู่ที่เขียนไว้บนหนังสือหรือจดหมาย ก็ควรนับว่าเป็นการเริ่มต้นของการไปรษณีย์ไทย

คำว่า “ไปรษณีย์” มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทย โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงมีความสามารถในด้านอักษรศาสตร์อย่างมาก ทรงได้รับความไว้วางพระทัยจากเจ้านายให้ทรงช่วยบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทยเพื่อทดแทนการใช้คำในภาษาอังกฤษที่มักพบอยู่ในการเรียกชื่อสิ่งของหรือวิทยาการใหม่ที่สังคมไทยแรกรับเข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เช่นคำว่า “ไปรษณีย์” ที่รู้จักกันเรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษคือ “โปสต์”

คงเป็นไปได้ว่า คำว่า “บุรุษไปรษณีย์” คงถูกเรียกตรงตามคำศัพท์ภาษาอังกฤษ “โปสต์” แปลว่า “ไปรษณีย์” และ “แมน” ที่แปลว่า “ผู้ชาย หรือ บุรุษ” ดังนั้น “โปสต์แมน” ก็คือ “บุรุษไปรษณีย์”

 


อ้างอิงข้อมูล :

หนังสือ “ย้อนอดีตการสื่อสารไทย”. จัดพิมพ์โดย การสื่อสารแห่งประเทศไทย. 2533

หนังสือ “พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช”. จัดพิมพ์โดย วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม. 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2560