“ไปรษณีย์ที่ 8” ที่ทำการไปรษณีย์ ส่ง “โพยก๊วน” ไปจีนเป็นหลัก สร้างรายได้จำนวนมากแก่ไทย

ไปรษณีย์ที่ 8
ที่ทำการ "ไปรษณีย์ที่ 8" ในภาพเป็นความเสียหายที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์การประกันภัยไทย)

ใน พ.ศ. 2451 ทางการไทยได้จัดตั้งที่ทำการ “ไปรษณีย์ที่ 8” ขึ้นเป็น “ที่ทำการไปรษณีย์จีน” โดยก่อนการจัดตั้งที่ทําการไปรษณีย์จีนแห่งนี้ ทางการไทยจัดการแก้ไขปัญหาการลักซ่อนรับส่ง “โพยก๊วน” หรือ “การส่งเงินทางจดหมายไปเมืองจีน”

เพราะแม้ว่า ไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ และเปิดการไปรษณีย์กับต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 และกรมไปรษณีย์โทรเลขได้จัดตั้งที่ทำการ “ไปรษณีย์ที่ 2” เป็นที่ทำการสำหรับการรับแลกเปลี่ยนไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศโดยเฉพาะ ที่ตึกเล็กบริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม ตำบลสี่พระยา

Advertisement

หากช่วงเวลานั้น จีนยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ การรับ-ส่งโพย ทางประเทศจีน จึงยังเป็นหน้าที่ของบรรดาเอเยนต์โพยก๊วนที่ตั้งอยู่ตามท้องถิ่นเช่นเดิม ส่วนการส่งกลับเข้ามาก็ยังอาศัยการมัดรวมเป็นห่อฝากเข้ามากับเรือกลไฟเอเยนต์โพยก๊วนในประเทศไทย

รัชกาลที่ 5 จึงรับสั่งให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ใช้ไปยังประเทศอื่นๆ โดยอนุญาตให้นายหน้าโพยก๊วนรวบรวมจดหมายที่ชาวจีนฝากส่งถึงประเทศเข้าเป็นห่อ โดยกำหนดให้เอเยนต์โพยก๊วนในไทยต้องนำห่อจดหมายมาเสียค่าธรรมเนียม ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 2 แต่กลับพบปัญหาลักลอบส่งโพยก๊วน, จดหมายฝาก ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม ดังความในบาญชีรายงานกรมไปรษณีย์ จํานวน ร.ศ. 110 ถึง 113 ว่า

“…การหนีไปรสนีย์ในส่วนหนังสือฝากจากกรุงสยามส่งไปยังเมืองจีนเป็นต้นนั้น จะห้ามปรามให้หมดยังเป็นการขัดข้องทำไปไม่ได้ตลอด แต่อย่างไรก็ดีเหนด้วยเกล้าฯ ว่า 

ยังมีทางอยู่อย่างหนึ่งที่ภอจะเป็นการช่วยต่อสู้ความทำผิดกฎหมายนั้นให้เบาบาง ลงได้บ้างคือคิดตั้งออฟฟิศไปรสนีย์เฉภาะสำหรับการหนังสือจีน เหมือนอย่างที่เขามีใช้กันอยู่แล้วที่เมืองสิงคโปร์ขึ้นในกรุงเทพฯ สักออฟฟิศหนึ่งการนี้ควรจะต้องให้รีบมีขึ้นโดยเร็ว

….คนชาติจีนซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ มีถึงกว่า 100,000 คน แลรวมทั้งกรุงสยามมีประมาณล้านคน…คงจะต้องมีการลักลอบส่งหนังสือออกไปยังเมืองจีนโดยทางผิดกฎหมายไปรสนีย์ คือส่งไปโดยคนสามัญพาไปบ้าง แลคนลูกจ้างในเรือเมล์พาไปบ้างปีละหลายพันฉบับ…ถ้าแม้ได้ตั้งออฟฟิศไปรสนีย์พิเสศสำหรับพวกจีนดั่งที่ได้อธิบายแล้วนั้นคงจะมีผลประโยชน์แก่พระราชทรัพย์ขึ้นได้อีกเป็นอันมาก” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

จนเมื่อ พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 125) จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ ได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์ขึ้นตามท่าเรือต่างๆ ไทยจึงได้ติดต่อเพื่อที่จะส่งหนังสือโพยก๊วนโดยทางไปรษณีย์ตรงไปยังที่ทำการของกรมไปรษณีย์จีนตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งจีนก็ตกลงยินยอมจะจัดส่งต่อไปให้ยังผู้รับ

ทางการไทยจึงคิดเปิดที่ทำการไปรษณีย์สำหรับรับส่งหนังสือจีนโดยเฉพาะขึ้น และนัดประชุมหัวหน้าจีนในกรุงเทพฯ เพื่อสอบถามความคิดเห็นหลายครั้ง ก่อนได้ผลสรุปว่า จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดที่ทำการ “ไปรษณีย์ที่ 8” ขึ้น ที่ถนนเยาวราช ใต้ตรอกเข้าสาร ตำบลสำเพ็ง สำหรับรับส่งหนังสือพวกจีนแลใช้เจ้าพนักงานจีน 

กำหนดเปิดที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2451 ประเมินว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 160,000 บาท/ปี ส่วนเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่างๆ คงไม่เกิน 10,000 บาท/ปี น่าจะทำกำไรสุทธิประมาณ 150,000 บาท/ปี นับว่าเป็นรายได้ที่สูงมากในขณะนั้น

ไปรษณีย์ที่ 8 ได้รับความนิยมอย่างมาก วันที่เรือเมล์ออกจะมีหนังสืออย่างน้อย 6,500 ฉบับ พระยาสุขุมนัยวินิต เสนาธิการกระทรวงโยธาธิการ จึงทำหนังสือขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้แสตมป์ฤชากรมาแทนตั๋วตราไปรษณีย์เป็นการชั่วคราว

ด้วยการติดตั๋วตราไปรษณีย์ที่มีราคาสูงสุดดวงละ 1 บาท เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะหนังสือห่อหนึ่งต้องติดตั๋วตราไปรษณีย์ 200-300 ดวง จึงปรึกษากับกระทรวงการคลังมหาสมบัติ และเห็นควรใช้แสตมป์ฤชากรดวงละ 10, 20 และ 40 บาท แทนเป็นการชั่วคราว จนกว่าตั๋วตราไปรษณีย์ที่มีราคาสูงแบบใหม่จะเข้ามาถึง

พ.ศ. 2500 ไปรษณีย์ที่ 8 ย้ายสำนักงานใหม่ไปตั้งอยู่ที่ตำบลป้อมปราบ และเรียกชื่อใหม่ว่า “ที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ” พ.ศ. 2518 เมื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ คนจีนโพ้นทะเลในไทยสามารถเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองได้ด้วยตนเอง หรือโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์แทน การส่งโพยก็ยุติลง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุชาดา  ตันตสุรกฤกษ์. โพยก๊วน การส่งเงินกลับประเทศโดยชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2532

วิภา จิรภาไพศาล. ” ‘โพยก๊วน’ ประวัติศาสตร์สังคมและเงินตราของจีนโพ้นทะเล” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2567