ที่มา “พระคาถา-ภาษิต” ในพระปฐมสังฆราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20

ตราแผ่นดินประจำรัชกาลที่ ๕ เหนือซุ้มประตูกลางภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ใต้ตราทำเป็นแถบเลียนแบบแถบผ้ามีพระคาถาซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙

เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนที่มาเฝ้ากราบถวายสักการะเป็นครั้งแรก ณ ชาลาหน้าพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ในพระปฐมสังฆราโชวาทนั้น ทรงมีพระดำรัสตอนหนึ่งว่า

ในรัชสมัยของพระองค์ [รัชกาลที่ 5] ก็มีคำภาษิตอยู่บทหนึ่ง บางท่านก็ทราบแล้ว บางท่านก็คงไม่ทราบ เพราะฉะนั้นในฐานะที่ท่านเข้าอยู่มาในวัดนี้แล้ว อาตมาก็จะขอมอบภาษิตนี้ให้ท่านทั้งหลายไปปฏิบัติดู ภาษิตนั้นเป็นภาษาบาลี คำว่า สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ คำนี้ใช้ได้ทุกกาลเวลา ทุกรัชสมัย จนในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบันก็ทำได้ เราทั้งหลายในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทย เราสืบมาบางท่านก็หลายรัชกาล บางท่านก็สองรัชกาล บางท่านก็หนึ่งรัชกาล ก็รักษาคำนี้ไว้ ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความวุฑฺฒิสาธิกา ยังความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้…”

___________________________________

“สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา”
“ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวง ยังความเจริญให้สำเร็จ”

พระคาถาดังกล่าวเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงนิพนธ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อนำไปเป็นพระคาถาจารึกตราแผ่นดิน (ตราอาร์ม) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงใช้เป็นบทอุเทศของพระราชนิพนธ์ว่าด้วยเรื่องความสามัคคีอีกด้วย

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ตราแผ่นดินประจำรัชกาลที่ 5 บนหนังสือราชการสมัยรัชกาลที่ 5

“คาถานี้ เป็นคาถาซึ่งจารึกไว้ในอาร์มแผ่นดิน เป็นคาถาที่ว่าทั่วไปในหมู่ทั้งปวงไม่ว่าชาติในภาษาใดหมู่ใดที่ทำการอย่างใด แต่เมื่อจะว่าให้เฉพาะกรุงสยาม ว่าเป็นตามกาลซึ่งเป็นเวลาในบัดนี้ และไม่ว่าถึงคนทั้งปวงซึ่งเป็นหมู่ใหญ่ทั่วไป ยกเอาพวกที่เป็นผู้รับราชการ เป็นผู้ปกครองรักษาและเป็นผู้ทำนุบำรุงบ้านเมือง จะประพฤติอย่างไร จึงจะเป็นการสมควรถูกต้องด้วยคาถาสุภาษิตนี้ และจะได้รับคามเจริญตามคาถาสุภาษิตนี้” (พระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่องความสามัคคี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชน, 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2560