พระสังฆราชที่ลพบุรี สมัยพระนารายณ์ ติดรูปภาพใครไว้ที่ผนังบนกุฏิ?

ในบักทึกของบาทหลวงตาชารด์ บาทหลวงคณะเยซูอิตที่เดินทางเข้ามาอาณาจักรอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการกล่าวถึง พระสังฆราช ติดรูปภาพไว้ที่ผนังบนกุฏิ รูปภาพนั้นเป็นภาพใคร? ได้มาอย่างไร?

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งที่เมืองลพบุรี เมื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน ไปเข้าประชุมขุนนางล่าช้า จนสมเด็จพระนารายณ์ตรัสถามถึงสาเหตุ ฟอลคอนจึงกราบบังคมทูลเหตุที่มาช้า เนื่องจากไปเข้าร่วมฟังธรรมเทศนาและร่วมพิธีมิซซา จากนั้นจึงกราบบังคมทูลธรรมเทศนานั้นให้ทรงรับฟัง ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์พอพระราชหฤทัย ถึงกับประกาศในที่ประชุมว่า “อยากจะให้บรรดาพระบาทหลวงชาวฝรั่งเศสพูดภาษาสยามได้ เพื่อที่จะได้ทรงฟังบ้าง”

ทางด้านบาทหลวงคณะเยซูอิตเองก็มีความประสงค์จะเรียนรู้ภาษาของชาวสยาม โดยเฉพาะภาษาบาลีและคำราชาศัพท์ ดังนั้น ฟอลคอนจึงแนะนำกับบาทหลวงว่าเพื่อที่จะให้เข้าใจภาษาสยามได้โดยสะดวก บาทหลวงทุกรูปต้องแยกจากกัน ไม่ให้ได้พูด ได้ยิน ได้ฟัง ภาษาฝรั่งเศสเลย ต้องพูดคุยหรือคลุกคลีอยู่แต่เฉพาะคนสยามเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้อยู่เนืองนิตย์แล้วก็จะเข้าใจและพูดได้ในที่สุด

บาทหลวงตาชารด์บันทึกว่าฟอลคอนกล่าวไว้ว่า “พระภิกษุสงฆ์นั้นตามปรกติแล้วท่านก็พูดอยู่ในหมู่พวกเดียวกันเอง และจะได้ประโยชน์มากทีเดียวถ้าพวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกับพวกท่านได้ในอาวาส…” ดังนั้น ฟอลคอนจึงเสนอจะกราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้พระภิกษุสงฆ์รับบาทหลวงจำนวนหนึ่งไว้

ต่อมา ฟอลคอนนำเรื่องดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงเห็นชอบด้วย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสังฆราช 2 องค์ “ซึ่งทรงเปรื่องปราชญ์ที่สุดในกรุงศรีอยุธยาและเมืองละโว้” มาสอนภาษาให้บาทหลวง และให้พาไปพำนักอยู่ด้วย ทว่า “พระบรมราชโองการนี้ไม่เป็นที่พอใจของพระราชาคณะทั้งสองท่านนั้นนัก แต่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยดุษณีภาพ…”

บาทหลวง 2 จาก 3 คน ได้เข้าพำนักและคลุกคลีกับพระสังฆราชอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาร่วม 1 เดือน (อีกคนหนึ่งยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในวัดเพราะกุฏิที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานยังสร้างไม่เสร็จ) บาทหลวงตาชารด์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ไปเยี่ยมบาทหลวงและได้เห็นรูปภาพบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ติดไว้ที่ผนังบนกุฏิ ดังนี้

(ภาพประกอบ) “วัดวาอาราม กุฏิพระสงฆ์ และบ้านเรือนริมน้ำ” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

ข้าพเจ้าใคร่จะไปเยี่ยมบาทหลวงทั้งสองกับพระสังฆราชผู้สอนภาษาให้ด้วยความสุภาพและด้วยความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อแสดงให้พระภิกษุทั้งหลายกับคนสยามอื่น ๆ ประจักษ์ในความชอบพอสนิทสนมกับหลวงพ่อเหล่านี้ ม. ก็องสตังซ์ (ฟอลคอน – ผู้เขียน) กับพระบาทหลวงเยซูอิตอีกสองสามรูปได้สมทบไปเยี่ยมด้วยพร้อม ๆ กัน

ฝ่ายพระสังฆราชซึ่งได้รับแจ้งให้ทราบเจตนารมณ์ของเราแล้ว ก็คอยเราอยู่ที่กุฏิของท่าน ที่ตรงหน้าประตูทางเข้านั้น มีอ่างดินขนาดใหญ่ใส่น้ำไว้เต็ม สำหรับพระภิกษุและคนสยามใช้เป็นที่ล้างเท้าก่อนที่จะย่างเข้าไปในกุฏิของท่าน ม. ก็องสตังซ์ถอดรองเท้าวางไว้ที่ประตู และเราก็กระทำตามอย่าง เป็นความสุภาพที่กระทำกันในหมู่เจ้านายใหญ่โตของบ้านเมือง เพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าของสถานที่

เมื่อเราเข้าไปนั้น พระภิกษุที่เรากระทำคารวะถวายหาได้ลุกจากอาสนะที่ท่านนั่งพับเพียบอยู่ไม่ อาสนะนั้นเป็นแท่นสูงราวครึ่งฟุต ปูด้วยพรมเปอร์เซียขนาดสี่ฟุตจัตุรัส ส่วนที่เหลือของพื้นห้องลาดด้วยเสื่อเนื้อละเอียด ซึ่งเราลงนั่งขัดสมาธิใกล้ ๆ กับท่าน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า ที่ฝาห้องเหนือศีรษะของท่านขึ้นไปนั้น ติดตั้งพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหาราชของเราซึ่งหลวงพ่อรูปหนึ่งนำมาถวาย ท่านได้กล่าวขวัญถึงพระองค์ด้วยความเคารพเป็นพิเศษ แสดงว่าท่านได้รับคำบอกเล่าถึงพระคุณธรรมอันยิ่งใหญ่มาแล้วเป็นอย่างดี

ครั้นมีผู้เรียนให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจะทรงจัดข้าพเจ้ากลับไปยังประเทศฝรั่งเศส ท่านก็มิเว้นจะแสดงความชื่นชมยินดีในเกียรติที่ข้าพเจ้าได้รับ คือจะได้ไปเข้าใกล้เบื้องยุคลบาทพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงมีความสำคัญแก่ประเทศฝรั่งเศสและแก่พิภพจบจักรวาลอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเรานั้นย่อมเป็นที่น่ายินดีโดยเฉพาะทีเดียวในประการที่ว่าพระกิตติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ระบือลือเลื่องเข้าไปถึงในวัดวาอารามทั้งหลาย และเจ้าอาวาสซึ่งเคยชินกับการได้รับความยกย่องบูชาจากประชาชนพลเมืองและเจ้าใหญ่นายโตในบ้านเมือง และเหยียดหยามคนทั้งปวงว่าต่ำต้อยด้อยศักดิ์กว่าตนนั้น กลับมายกย่องรับถือและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราฉะนี้…”

พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ พระสังฆราช ติดไว้ที่ผนังบทกุฏิก็คือ ภาพวาดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส น่าเสียดายที่บาทหลวงตาชารด์ไม่ได้ระบุรายละเอียดของรูปภาพนั้นเลย

ภาพวาด พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สันต์ ท. โกมลบุตร (ผู้แปล). (2519). จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์ ค.ศ. 1687-1688. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2564