ทาสแมวต้องอ่าน “ลักษณะแมวให้คุณ-ให้โทษ” บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา

แมวด่าง แมวขาวปลอด ภาพเขียน แมวให้คุณ แมวให้โทษ ตำราแมว
(จากซ้าย) แมวชนิดที่ 16-17-18. แมวด่าง 5 แห่ง, แมวขาวปลอด, แมวด่างที่หางจนถึงปลายจมูกเป็นแมวที่มีคุณ ใครเลี้ยงจะเป็นเศรษฐี ได้ลาภสัตว์สองเท้า, สัตว์สี่เท้า ฯลฯ (ภาพจากตำราดูลักษณะแมวและนก ฉบับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)

แมว หนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมประจำบ้าน ที่มนุษย์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา, เลี้ยงจับหนู, เลี้ยงเป็นธุรกิจ, เลี้ยงเอาบุญ ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไร ถ้าแมวที่เลี้ยงมีลักษณะเป็น “แมวให้คุณ” ตามลักษณะที่ปรากฏใน ตำราแมว ด้วยก็ยิ่งเป็นเรื่องดี

ว่าแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “แมวให้คุณ” หรือ “แมวให้โทษ” ใน ตำราแมว มีรูปพรรณสัณฐานเช่นใด?

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์ “มัชชารนีติ” คือ ตำราดูลักษณะแมว ซึ่งพระองค์ทรงอธิบายว่า

“ตำราแมวนี้ ปรากฏอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ท่านรจนาไว้เป็นภาษาไทย…ข้าฯ แปลภาษาไทยกลับเป็นภาษามคธ ก็เพื่อทำความคล่องแคล่วในคาถาพันธ์ หรือว่าเพื่อแก้ความรำคาญ

หากตรงไหนยังบกพร่อง ข้าฯ ก็เพิ่มเติมลงไปบ้างตามสมควร หากที่ใดพิสดารเกินไป ข้าฯ ก็ย่นกล่าวแต่โดยย่อบ้าง ขอผู้มีปัญญาจงสอดส่องเอาเองว่ามีอักขรวิบัติตรงไหนบ้าง…”

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (รศ. สุเชสวน์ พลอยชุม -แปลเป็นภาษาไทย) แบ่งเป็นแมว (ให้) คุณ 26 ชนิด แมว (ให้) โทษ 12 ชนิด รวมทั้งหมด 38 ชนิด สรุปได้ดังนี้

แมวให้คุณ เลี้ยงแล้วชีวิตดี

แมว (ให้) คุณ ตามตำราโบราณ มีทั้งหมด 26 ชนิด ได้แก่

1. แมวที่หูทั้งสอง และเท้าทั้งสี่ขาว นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนพระจันทร์ เป็นแมวที่จะให้ได้สิ่งที่ต้องการทั้งปวง ผู้เลี้ยงแมว ทำสิ่งใดก็จะมีผลมาก เมื่อแมวเช่นนี้ตายลง เจ้าของพึงฝังเสีย แล้วจึงค้นนัยน์ตาและกระดูกที่เป็นหิน ณ ที่ที่ฝังไว้นั้น หาไม่พบอะไร ก็ให้บูชากระดูก เมื่อทำการเซ่นสรวงเป็นอันดีแล้ว เจ้าของจะได้เป็นเศรษฐี

2. แมวที่นัยน์ตา ลิ้น ขน และเล็บดำ เป็นแมวประเสริฐ จะทำให้เกิดทรัพย์สมบัติ หรือไม่ก็จะได้เป็นเศรษฐี

3. แมวที่ด่าง 9 แห่ง เป็นแมวมีคุณ เช่นเดียวกับแมวชนิดที่ 2 เจ้าของผู้เลี้ยงจะได้สมบัติ เว้นแต่ทรัพย์แผ่นดินเท่านั้น

4. แมวที่ด่าง 9 แห่ง เป็นแมวที่จะทำให้คลาดแคล้วจากอันตราย เจ้าของทำกิจการใดก็จะมีผลลัพธ์ดี ร่ำรวยด้วยสมบัติ ไร่นา [แยกแมวชนิดที่ 3 และ 4 ตามต้นฉบับ]

5. แมวที่มีจุดขาว 9 แห่ง ลำตัวดำ เป็นแมวที่มีอำนาจ ผู้ใดเลี้ยงแมวนี้ไว้จะเป็นคนมียศศักดิ์ตลอดกาล

6. แมวที่มีสีขนเกือบจะเป็นสีแดง เป็นแมวที่มีอำนาจ เป็นแมวมงคล ผู้ฉลาดพึงเลี้ยงไว้ จะได้ยศศักดิ์ ข้าทาสบริวาร ทรัพย์สิน แลฐานันดร

7. แมวที่มีสีดอกเลา มีนัยน์ตาใสเหมือนน้ำค้าง เป็นแมวที่มีฤทธิ์มาก ผู้ที่มีบุญแต่ปางก่อนจึงจะได้แมวชนิดนี้ ใครมีแมวชนิดนี้จะเป็นที่รักของคนทั้งหลาย เป็นผู้พร้อมมูลไปด้วยสมบัติ ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น เมื่อแมวนั้นตายลงเจ้าของควรฝังเสีย ทำเช่นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

8. แมวที่ลำตัวขาวปลอด ตามีสีเหมือนปรอท อยู่ในเรือนใคร ทรัพย์สมบัติในเรือนนั้นจะมั่นคงถาวร ผู้เป็นเจ้าเรือนจะมียศ มีความสุขตลอดไป

9. แมวที่มีลำตัวสีดำ นัยน์ตาดำสุกใส เท้าขาวและมีแถบขาวตั้งแต่หางจรดปลายจมูก ใครเลี้ยงไว้หากเป็นคนยากจนก็จะกลายเป็นเศรษฐี จะได้ข้าทาส บ้านเรือนไร่นา ถ้าเป็นข้าราชการจะได้เป็นถึงเจ้าประเทศราชได้รับมอบหมายราชกิจไว้ในมือ

10. แมวที่ด่างตรงกลางหลังและที่ไหล่ (จะงอยบ่า) เป็นแมวที่มีคุณพร้อม มีสิริและเดช

11. แมวที่ด่างตรงโคนหางและที่กลางหลัง เป็นแมวมีสิริ เป็นเยี่ยมด้วยความเจริญ

12. แมวที่มีคอด่าง เป็นแมวที่จะนำทรัพย์สินมาให้ ผู้ใดที่เลี้ยงไว้จะมั่งมีทรัพย์สิน

13. แมวที่ด่างตรงแสกหน้า เป็นแมวที่มีเดชและมีคุณ ผู้ใดเลี้ยงไว้จะมีอำนาจวาสนามาก

ภาพเขียนแมว แมว
บน-แมวชนิดที่ 12 ด่างตรงคอ ล่าง-แมวชนิดที่ 13 ด่างตรงแสกหน้า (ภาพจากตำราดูลักษณะแมวและนก ฉบับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)

14. แมวที่ด่างตรงกลางกระหม่อม เป็นแมวที่มีอำนาจวาสนาสูงส่ง คุณวิเศษอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องกล่าว

15. แมวที่ด่างตรงกลางกระหม่อมและกลางหลัง เป็นแมวที่มีคุณสารพัด ประหนึ่งว่า สุวรรณภาชน์

16-17-18. แมวด่าง 5 แห่งหนึ่ง, แมวขาวปลอดหนึ่ง, แมวด่างที่หางจนถึงปลายจมูกอย่างงดงามหนึ่ง เป็นแมวที่มีคุณนานัปการ  กล่าวโดยรวมคือ  ผู้ใดเลี้ยงไว้จะได้เป็นเศรษฐี ได้ของมีชีวิต เช่น ภรรยา, สัตว์สองเท้า, สัตว์สี่เท้า เป็นต้น ได้ของไร้ชีวิตมามากมาย เช่น ที่ดินและเงินทอง

19. แมวที่มีเท้าทั้งสี่ขาว เป็นแมวที่คู่ควรกับตระกูลชั้นสูงที่เกี่ยวกับราชตระกูล และตระกูลนั้นย่อมจะเจริญเป็นอันดี

20. แมวที่สะดือด่าง เป็นแมวที่คู่ควร เหมาะกับชาวเรือซึ่งท่องเที่ยวไปในทะเล เลี้ยงไว้จะเจริญด้วยลาภ

แมว ภาพเขียนแมว
บน-แมวชนิดที่ 19 แมวสำหรับตระกูลชั้นสูง ล่าง-แมวชนิดที่ 20 แมวดีสำหรับชาวประมง (ภาพจากตำราดูลักษณะแมวและนก ฉบับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)

21. แมวด่างตรงคอ ผู้ฉลาดพึงเลี้ยงไว้จะได้ทรัพย์สินและลาภยศ

22. แมวที่ด่างตรงจมูก วิญญูชนพึงเลี้ยงไว้ จะได้สิ่งมีค่า มีช้างม้า เงินทอง

23. แมวที่กลางหลัง หาง และหู เป็นสีดำ ผู้ใดเลี้ยงจะได้เป็นขุนนาง มียศ มีชื่อเสียง

24. แมวที่ตะโพก (สะโพก) ไหล่ และปลายหางดำ ผู้ใดเลี้ยงไว้จะมีความเจริญรุ่งเรือง ได้เป็นเจ้าคนนายคน

25. แมวที่ด่างตรงหูทั้งสองข้าง เป็นแมวที่คู่ควรแก่ภิกษุเท่านั้น และภิกษุนั้นจักได้บริวารและได้เป็นคณาจารย์

26. แมวที่ด่างตรงคาง ผู้ใดเลี้ยงไว้ หากเป็นข้าราชบริพารก็จักได้เป็นขุนนาง หากทำให้ทรงโปรดปรานจะได้ครองแว่นแคว้น

แมวให้โทษ เลี้ยงแล้วชีวิตวุ่นวาย?

แมว (ให้) โทษ ตามตำราโบราณ มีอะไรบ้าง มาดูกัน

27. แมวที่มีสีเหลืองทั้งตัวสลับด้วยลายแดงทั่วตัว (ลายหมือนเสือ) ไม่ควรเลี้ยงไว้ เพราะเจ้าของจะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่การทะเลาะวิวาท และทำให้ครอบครัวนั้นมีบุตรน้อย

28. แมวที่ร้องเสียงเล็กเสียงใหญ่ จิตใจดุร้าย ชอบกัดกัน ผู้ใดเลี้ยงไว้ก็จะมีแต่ความวิบัติและอันตรายตลอดเวลา

29. แมวที่มีขนสีดำแซมขนสีขาวทั่วทั้งตัว ไม่ควรเลี้ยง เพราะจะทำให้เจ้าของมีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ ศัตรูใส่ความ และจะเกิดความเสียหายนานัปการ

30. แมวที่หางด่าง เป็นแมวของอมนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงไว้อันตรายจะเกิดขึ้น ไฟไหม้บ้าน หรือถึงแก่มรณะ ถ้าเลี้ยงไว้ควรปล่อยไป

31. แมวหางงอ (หางคด) เหมือนเสวียนหม้อข้าว เป็นแมวมีโทษเหมือนเพชรที่แตกแล้ว พึงไล่ไป หรือปล่อยไปเสีย

32. แมวที่ตัวสีดำ ตาขาว ผู้ใดเลี้ยงไว้ จักมีแต่ความเดือดร้อนทุกข์ยาก ทรัพย์สินเสียหาย ช้างม้าล้มตาย บริวารข้าทาสหน่ายหนี ญาติมิตรเสียชีวิต ร่างกายเกิดโรคภัยจนถึงแก่ความตาย

33. แมวที่ด่างตรงสะเอว มีตาแดงเหมือนดอกทองกวาว กลางวันชอบหลบซ่อนอยู่ตามข้างยุ้งฉางข้าว เมื่อมีคนมาพบเห็นเข้าจะหลบหนีออกไปจากที่ซ่อน ใครเลี้ยงไว้จะประสบแต่ความพินาศ ไฟจะไหม้บ้านเรือน

34. แมวที่ขาวปลอด และมีนัยน์ตาแดงเหมือนตากระต่าย ใครเลี้ยงไว้จะมีแต่การทะเลาะวิวาท บริวารข้าทาสหนีหาย ผู้เป็นที่รักจะเสียชีวิต ตัวเองจะตกยากกลายเป็นทาส

35. แมวที่ตกลูกตาย เป็นแมวชั้นต่ำมีแต่จะทำให้เกิดชื่อเสียงในทางเลว ผู้ฉลาดพึงปล่อยมันไปเสีย ผู้ใดเลี้ยงไว้จะมีภัยใหญ่หลวง เกิดความวิบัติฉิบหาย

36. แมวที่กินลูกตัวเอง เป็นแมวกาลกิณีโดยแท้เทียว ใครเลี้ยงไว้จะได้รับแต่อวมงคล ลูกเมียจะเสียชีวิต สัตว์จะทำร้าย บริวารข้าทาสหนีหาย วัวควายล้มตาย ตัวเองเจ็บหนัก ทั้งต้องราชทัณฑ์

37. แมวที่ตัวลายพร้อยดูคล้ายเสือดาว ใครเลี้ยงไว้จะประสบความหายนะ ไม่มีความเจริญ บริวารข้าทาสเสื่อมสิ้น แม้ตัวเองก็จะเสียชีวิต

38. แมวที่มีตัวลายพร้อยคล้ายเสือโคร่ง ใครเลี้ยงไว้ บ้านนั้นจะถูกฟ้าผ่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจะพินาศป่นปี้

ที่ว่ามาคือลักษณะของ “แมวให้คุณ” และ “แมวให้โทษ” ตามตำราโบราณ แต่ขึ้นชื่อว่า แมว-สัตว์เลี้ยงแสนรักแล้ว ไม่ว่าจะสีอะไร ลักษณะแบบไหน ทาสแมวก็เลี้ยงและก็รักอยู่ดี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. “มัชชารนีติ” ใน, ตำราดูลักษณะแมวและนก ฉบับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. ผู้จัดพิมพ์ วัดบวรนิเวศวิหาร พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2566