เหมียวครองโลก! ยุคราชวงศ์ถังเคยมีพิธี “เซ่นไหว้แมว” หากเลี้ยงต้องมี “สินสอด”

Divid Cat by Yamaguchi Soki, Naha City Museum of History, Naha, Okinawa, Japan

“แมว” เป็นสัตว์ที่อยู่คู่โลกมาอย่างยาวนาน ทั้งยังปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์จีนอยู่หลายครั้ง ซึ่ง ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะผู้คนยุคนั้นมีพิธี “เซ่นไหว้เทพเจ้าแมว” ทั้งยังให้เกียรติเหล่าเหมียวถึงขั้นต้องมี “สินสอด” เพื่อรับเลี้ยงอีกด้วย  

การ “เซ่นไหว้แมว” เป็นพิธีที่ปรากฏในสมัยราชวงศ์ถัง มักจัดขึ้นช่วงฤดูทำนา เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ พิธีดังกล่าวมีต้นตอมาจากประชาชนต้องการขอบคุณเหล่าแมวที่ช่วยจัดการหนูนา ซึ่งทำลายผลผลิตการเกษตรของพวกเขา 

พงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่า” ได้บันทึกการ “เซ่นไหว้เทพเจ้าแมว” และอธิบายพิธีกรรมดังกล่าวไว้อย่างละเอียดว่า

“เมื่อถึงทุกสิ้นปี การทำนาแล้วเสร็จ ฮ่องเต้จะจัดพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า 100 องค์ในเขตชานเมืองทางใต้ของเมืองหลวง ซึ่งเทพเจ้าแมวก็เป็นหนึ่งในนั้น…อาหารที่จะนำมาบูชาแมวเป็นชุดเล็ก คือแกะและหมูอย่างละหนึ่ง”

ไม่เพียงแค่เซ่นไหว้แมวที่เป็นเทพเจ้า แต่ชาวบ้านในยุคราชวงศ์ถังยังให้เกียรติแมวในชีวิตจริงอีกด้วย ยุคนั้นหากผู้ใดต้องการเลี้ยงแมว จะต้องได้รับคำมั่นสัญญาจากเจ้าของแมวตัวเมียเสียก่อน แล้วรอให้ลูกแมวคลอด หรือหากจะรับแมวแม่ลูกอ่อนออกไปก็ต้องส่ง “สินสอด” ให้ คล้ายกับการแต่งงานเลยทีเดียวเชียว!

พิธีการมอบสินสอดนั้นเป็นจริงเป็นจัง ถึงขั้นปรากฏหลักฐานในหนังสือ “อุทยานแมว” ไว้ว่า

“คนโบราณต้องจ่ายสินสอดแมว”

แต่ละพื้นที่จะมีการให้สินสอดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าอาณาบริเวณนั้นมีสิ่งของขึ้นชื่อหรือผลผลิตที่หาได้ตามท้องถิ่นคืออะไร อย่างชาวแต้จิ๋วใช้น้ำตาล ชาวเส้าซิงใช้ป่านรามี ชาวเจ้อเจียงใช้เกลือกับน้ำส้มสายชู เป็นต้น

หากให้คิดตามวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าผู้คนราชวงศ์ถังนั้นเป็น “ทาสแมว” เลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หู ชวน อัน. ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว. แปลโดย อารยา เทพสถิตย์ศิลป์. กรุงเทพ: มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2566