เส้นทางการกำเนิด “พระจุฑาธุชราชฐาน” พระราชวังแห่งเดียวในไทยที่ตั้งบนเกาะ

พระราชวัง พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง
ภาพมุมสูงของเกาะสีชัง และ พระจุฑาธุชราชฐาน (ภาพจาก YouTube / maitchon tv)

บน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วปรากฏการสร้างพระราชวัง “พระจุฑาธุชราชฐาน” สำหรับเป็นที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระราชวงศ์ แต่การดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ก็มีอันต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางส่วนออกไป

ก่อนที่พระราชวังจะถูกสร้างขึ้น 1 ปีคือในช่วง พ.ศ. 2431 บนเกาะสีชังเคยใช้เป็นที่ประทับของ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งทรงประชวรอยู่ โดยแพทย์หลวงได้ถวายคำแนะนำให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ เกาะสีชัง เนื่องจากจะได้รับอากาศจากชายทะเล ซึ่งจะทำให้อาการประชวรทุเลาลงได้

ในขณะนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับตามคำแนะนำของแพทย์หลวง เสด็จมาประทับที่เรือนของหลวงซึ่งเป็นที่ฝรั่งเช่าอยู่และติดต่อกับเขตวัด เชื่อกันว่าในช่วงเวลานั้นเกาะสีชังเป็นแหล่งที่ชาวต่างประเทศนิยมเดินทางไปรักษาตัวกันมาก อีกทั้งยังปรากฏว่า เคยใช้เป็นที่ประทับพักฟื้นขอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ อีกพระองค์

ต่อมาปี 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนขึ้น 3 หลัง ได้แก่ เรือนวัฒนา เรือนผ่องศรี และเรือนอภิรมย์ ตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และพระนางเจ้าสายสวลีภิรมย์ ตามลำดับ พร้อมทั้งพระราชทานให้เป็นสถานที่พักฟื้นผู้ป่วย

หลายต่อหลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับยังเกาะสีชัง จนกระทั่งปี 2435 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานขึ้น เนื่องจากพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ซึ่งประทับ ณ เกาะสีชังทรงพระครรภ์และใกล้มีพระประสูติกาล จนกระทั่งพระโอรสประสูติและได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามพระราชฐานแห่งใหม่นี้ว่า “พระจุฑาธุชราชฐาน”

สมัยรัชกาลที่ 5

พระราชฐานแห่งนี้ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ และพระที่นั่งเมขลามณี พร้อมทั้งสร้างตำหนักขึ้นอีก 14 ตำหนัก โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นแม่กอง ออกแบบโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาสตรศุภกิจ ภายในเขตพระราชฐานยังมีสระน้ำ ธารน้ำ บันได และทางเดินเท้า

ปี 2436 เกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เกิดข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องเขตแดน ฝรั่งเศสเข้ามาปิดล้อมอ่าวไทยรวมทั้งส่งทหารขึ้นมาที่เกาะสีชัง การดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งและตำหนักต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จจึงหยุดก่อสร้างลง

ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนพระที่นั่งและพระตำหนักที่สร้างด้วยเครื่องไม้บางส่วนออกไปสร้างที่อื่น บางแหล่งข้อมูลบอกว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำไปสร้างที่ใดบ้าง แต่บางแหล่งก็ระบุชื่อเช่น พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ พระที่นั่งเครื่องไม้สักทอง 3 ชั้น โดยโปรดให้เชิญมาสร้างใหม่ใกล้พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2443 พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ และเชื่อว่ารื้อไม้สักทองมาจากพระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ อันเป็นหนึ่งในพระที่นั่ง 4 องค์ของ “พระจุฑาธุชราชฐาน”

ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระราชวังไม่ถูกใช้เป็นที่แปรพระราชฐานอีกเลย มีเพียงหน่วยงานราชการที่เข้าไปใช้ประโยชน์เท่านั้น

(ภาพจาก YouTube / maitchon tv)

ปัจจุบัน

ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ ในปี 2521 จากนั้นจึงนำพื้นที่บางส่วนไปจัดตั้งเป็นสถานีวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เวลาต่อมาในปี 2533 จุฬาฯ ร่วมกับกรมศิลปากรปรับปรุงพื้นที่ส่วนพระราชฐานประมาณ 219 ไร่ อันมีอาคารสำคัญ 5 หลังคือ เรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร รวมถึงจุดสำคัญอื่นๆ เพื่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

เมื่อ พ.ศ. 2545 จึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ที่เดินทางเข้ามายังเขตพระราชวัง จะพบเห็นว่าพื้นที่ด้านนอกถูกจัดเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชลทัศนสถานและข้างๆ กันยังมีศาลศรีชโลธรเทพที่เป็นศาลเจ้าซึ่งชาวเกาะสีชังให้ความเคารพนับถือ ก่อนจะไปยังเขตพระราชวังด้านในที่สามารถไปยังสะพานอัษฎางค์ เป็นสะพานยาวที่ทอดยาวลงไปในทะเลซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของที่นี่ หรือถ้าหากเดินไปตามชายหาดก็จะพบกับอัษฎางค์ประภาคาร

ภาพถ่ายประภาคารจากมุมสูง (ภาพจาก YouTube / maitchon tv)

ในส่วนเขตพระราชวังด้านใน ปัจจุบันพบว่ายังเหลืออาคารให้เห็นคือ เรือนสีเขียวที่เรียกตามสีของอาคาร ตึกวัฒนาหรือเรือนวัฒนา ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญบนเกาะสีชัง เรือนผ่องศรีปัจจุบันใช้จัดนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคลสำคัญที่มีบทบาทในเกาะสีชัง เรือนอภิรมย์ปัจจุบันใช้แสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับวัดอัษฎางนิมิต วัดที่มีพระอุโบสถเจดีย์สีขาวที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่สามารถใช้เป็นจุดชมวิวได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เว็บไซต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน. เข้าถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563.

พันธุ์ไม้ในพระจุฑาธุชราชฐาน, เว็บไซต์ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หนังสือ “พฤกษชาติ ลดา จุฑาธุช” โดย นันทนา อังกินันท์ และคณะ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เข้าถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563.

มติชนทีวี. “ร้อยเรื่องราว 100ปี จุฬาฯ ตอน พระราชวังบนเกาะแห่งเดียวของไทย”. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=qVTCtdf6AbA. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2563.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 7 ธันวาคม 2563