“ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส” พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5

ภาพถ่าย พระองค์เจ้า ประภาพรรณพิไลย และ ประไพพรรณพิลาส ฝาแฝด รัชกาลที่ 5
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส พระราชธิดาแฝดในรัชกาลที่ 5

ประภาพรรณพิไลย ประไพพรรณพิลาส พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด 77 พระองค์ (ไม่นับรวมที่ตกพระโลหิต 20 พระองค์) ในจำนวนนี้ทรงมี “ฝาแฝด” เพียงคู่เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า “ประภาพรรณพิไลย” และ “ประไพพรรณพิลาส” ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของพระบรมชนกนาถ ทว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส เจริญพระชันษาได้ 1 ปี 3 เดือนเท่านั้นก็สิ้นพระชนม์ ยังความโทมนัสแก่พระพุทธเจ้าหลวงอย่างยิ่ง

ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด มีพระราชโอรส พระราชธิดา พระโอรส พระธิดา เป็น “ฝาแฝด” แห่งราชวงศ์จักรีทั้งหมด 4 คู่ สร้างความยินดีในพระราชหฤทัยและพระทัยแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่ยิ่ง

เจ้านาย “ฝาแฝด” แห่งราชวงศ์จักรี

เจ้านาย “ฝาแฝด” ในพระบรมราชจักรีวงศ์ มีปรากฏดังนี้

คู่แรก คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแฝดชายและหญิง ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 2) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เมื่อ พ.ศ. 2353 และสิ้นพระชนม์ในวันประสูติทั้ง 2 พระองค์

คู่ที่ 2 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแฝดหญิง 2 พระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหนูจีน เมื่อ พ.ศ. 2354 และสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนม์เพียง 6-7 วัน ตามลำดับ

คู่ที่ 3 คือ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแฝดชาย 2 พระองค์ ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 5) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมหลวงปริก เจษฎางกูร เมื่อ พ.ศ. 2400 และสิ้นพระชนม์ในปีเดียวกันทั้ง 2 พระองค์

พระนามฝาแฝด “ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส”

ล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระประสูติการ “ฝาแฝด” คู่ที่ 4 ใน ราชวงศ์จักรีอีกครั้ง หลังว่างเว้นมาเกือบ 30 ปี

วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 เจ้าจอมมารดาพร้อม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระประสูติการพระเจ้าลูกเธอ พระองค์หญิง 2 พระองค์ เป็นฝาแฝดกัน นับเป็นพระราชโอรส-พระราชธิดา ลำดับที่ 50 และ 51 ในรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังสร้างความตื่นเต้นดีใจแก่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ เล่ารายละเอียดไว้ในหนังสือ “ในกำแพงแก้ว” (พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุงใหม่ สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจดหมายเหตุรายวันความว่า

“เราตื่นนอนเช้า นายบอกว่า ลูกแม่พร้อมเป็นองค์หญิงทั้งสององค์ เรากินข้าวแล้วแต่งตัวไปบนทูลหม่อมบนเสวยแล้วเสด็จเรือนเจ้าสาย แล้วเสด็จเรือนแม่พร้อมองค์หญิงน่าเอ็นดูนอนกระโจมเดียวกัน เราออกรักมาก…”

รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามพระราชธิดาฝาแฝด 2 พระองค์ว่า “ประภาพรรณพิไลย” และ “ประไพพรรณพิลาส” (บ้างสะกด ประไภยพรรณพิลาส, ประไพพรรณพิลาศ) ทั้ง 2 พระองค์ทรงพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่ชื่นชมแก่ทุกพระองค์และทุกคนที่ได้เห็น รัชกาลที่ 5 โปรดพระราชธิดาทั้งสองอย่างมาก โปรดเกล้าฯ ให้พี่เลี้ยงเชิญตามเสด็จยังที่ต่าง ๆ โดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ให้หลังพระประสูติการเพียงปีกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ต้องทรงประสบเหตุการณ์สูญเสียในพระชนมชีพ เมื่อพระองค์เจ้าหญิง ประไพพรรณพิลาส ทรงป่วยหนัก รัชกาลที่ 5 ทรงกังวลพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ถึงกับมิได้เสด็จออกทรงราชการตามปกติ

ถัดจากนั้นเพียงสองวัน คือวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 เวลาเช้าตรู่ เจ้านายพระองค์น้อยก็สิ้นพระชนม์ ยังความโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นอันมาก

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เล่าต่อในหนังสืออีกว่า เย็นวันที่สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพพระราชทานพระเกียรติตามราชประเพณี สรงพระศพแล้วเชิญพระโกศพระศพไปไว้ที่หอธรรมสังเวช อันเป็นหอบำเพ็ญกุศลพระศพเจ้านายราชนารี ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง นับแต่วันสรงพระศพเป็นต้นไป รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงฟังพระสวดพระอภิธรรมที่หอธรรมสังเวชทุกคืน เว้นแต่วันที่มีการพระราชพิธีสำคัญอื่นตรงเวลากันเท่านั้น

พระองค์ทรงกะการพระราชทานเพลิง พระองค์เจ้าหญิง ประไพพรรณพิลาส เป็นพิเศษ ให้สมกับความที่โปรดปรานเสน่หา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์น้อย (ต่อมาคือสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เป็นแม่กองสร้างพระเมรุเป็นการเฉพาะ ที่สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เรียกพระเมรุคราวนั้นว่า พระเมรุบรรพต มีสัณฐานใหญ่โตและประดับตกแต่งวิจิตรพิสดารด้วยความตั้งใจ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 1 เดือนเต็ม ๆ

ส่วนรถทรงพระศพที่จะเดินกระบวนแห่จากพระบรมมหาราชวังไปวัดราชบพิธฯ ก็เป็นรถพิเศษ โปรดให้ทำขึ้นเฉพาะเพื่อการนี้ เมื่อทำเสร็จได้นำมาถวายเพื่อให้รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง และโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เชิญเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และ “แม่พร้อม” ผู้เป็นเจ้าจอมมารดา ออกไปดูรถ

เมื่อถึงวันเชิญพระศพออกพระเมรุ ทรงขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าจัดกระบวนรถยนต์แห่เครื่องสังเค็ดเข้าขบวนพระศพ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งส่วนของหลวงและของเจ้าภาพ คือ เจ้าจอมมารดาพร้อม อย่างเต็มที่

วันพระราชทานเพลิง คือ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2429 อันเป็นเวลาห่างจากวันที่สิ้นพระชนม์ถึงเดือนเศษแล้ว จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จดบันทึกไว้ว่า “ทรงโศกาดูรเศร้าพระราชหฤทัยเป็นอันมาก”

การสูญเสียพระราชธิดาผู้เป็นที่รักพระองค์นี้ รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระราชอนุชาในพระองค์ ซึ่งขณะนั้นพระชันษา 30 ปี รับราชการเป็นอธิบดีศาลรับสั่งชำระความฎีกา แต่งโคลงสี่สุภาพและภุชงคประยาตฉันท์ ถวายรำพันความในพระราชหฤทัย ปรากฏในแผ่นศิลาจารึกที่พระอนุสาวรีย์ในบริเวณวัดราชบพิธฯ

กรมหลวงพิชิตฯ ทรงแต่งถวายได้ดียิ่ง ถึงขั้นที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชา ทรงลงความเห็นว่า

“ฉันท์และโคลงจารึกอนุสาวรีย์นี้ใครได้อ่านมีความเห็นเป็นอันเดียวกันว่าแต่งดีที่สุดในกลอนไทย ไม่ว่ากวีคนใดที่ปรากฏมาแต่ก่อน แต่งดีกว่านี้ได้ มีคำกระซิบกล่าวกันในเวลานั้นว่า กรมหลวงพิชิตฯ ทรงแต่งดีได้อย่างนี้ อาจจะร้อนพระทัยในภายหน้า เมื่อโปรดฯ ให้แต่งสำหรับจารึกอื่นซึ่งสำคัญยิ่งขึ้นไป กรมหลวงพิชิตฯ จะไม่สามารถทรงแต่งได้ดีถึงอนุสาวรีย์นี้ คำที่กล่าวนี้ทราบถึงกรมหลวงพิชิตฯ ครั้นภายหลังมาก็เป็นจริงอย่างที่เขาว่า เคยตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันจริงของเขาเสียแล้วนะน้องเอ๋ย…”

ด้าน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย หลังเจ้าจอมมารดาพร้อมผู้เป็นพระมารดาถึงแก่กรรม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงทูลต่อรัชกาลที่ 5 ขอรับมาอภิบาลเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ทรงมีพระชันษายืนยาวมาจนถึงแผ่นดินในหลวง รัชกาลที่ 9 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2491 พระชันษา 63 ปี มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2493 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธงทอง จันทรางศุ, ในกำแพงแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.

นนทพร อยู่มั่งมี. “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ‘ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก’ ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2566.

“๑๓ สิงหาคม ๒๔๒๘ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส” เฟซบุ๊ก พระนครคีรี กรมศิลปากร. วันที่ 13 สิงหาคม 2563.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 28 มีนาคม 2566