สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระชนมายุยืนยาว ทรงรับสั่งฝากฝังอะไร ไฉนไม่เป็นตามพระราชประสงค์?

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระพันวัสสาฯ หรือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พ.ศ. 24052498) เป็นเจ้านายฝ่ายในที่มีพระชนมายุยืนยาวพระองค์หนึ่ง  ทรงผ่านการสูญเสียพระราชโอรส, พระราชธิดา, พระราชสวามี และพระราชนัดดา ทำให้ทรงไม่ประมาทต่อความตาย ทรงรับสั่งฝากฝัง, จัดการทั้งบุคคล, สิ่งของต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน

แต่ทั้งหมดกลับไม่ได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะ “บุคคล” ที่พระองค์ทรงรับสั่งฝากฝังเรื่องต่างๆนั้น เสด็จสวรรตบ้าง, สิ้นพระชนม์บ้าง, สิ้นชีพิตักษัยบ้าง ฯลฯ ไปก่อนทั้งสิ้น

Advertisement

สมภพ จันทรประภา เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ, (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิง จีริก กิติยากร ณ เมรุวัดเพทศิรินทราวาส 29 ตุลาคม พ.ศ. 2528) ไว้ว่า

“สมเด็จฯ เป็นผู้ไม่ทรงประมาทต่อมรณะ ทรงเตรียมพร้อมไม่พรั่นพรึง พระราชทรัพย์ทรงจัดการเรียบร้อย ข้าหลวงมหาดเล็กทรงฝากฝังสมเด็จพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ให้ทรงเลี้ยงดูต่อไป พร้อมทั้งการทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาที่เป็นการส่วนพระองค์

แม้แต่เครื่องทรงพระศพของพระองค์เองก็ทรงเลือกจัดเตรียมไว้นานมาแล้วนับตั้งแต่พระภูษา, ฉลองพระองค์ ทรงสะพัก ครั้งแรกทรงฝากไว้กับคุณเจริญ โชติกะสวัสดิ์ ข้าหลวงคนสนิท คุณเจริญถึงแก่กรรมทรงฝากไว้กับ ม.จ.ไขศรี ปราโมช

ครั้น ม.จ.ไขศรีถึงชีพิตักษัยก็ทรงฝาก พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิทพระราชธิดาเลี้ยง พระองค์เจ้าเยาวภาฯ สิ้นพระชนม์ ทรงฝากไว้ที่ ม.จ.มาราวดี เทวกุล แต่ม.จ.นาราวดี ก็ถึงชีพิตักษัยไปก่อน

องค์สุดท้ายที่ทรงฝากคือ ม.จ.พิจิตรจิราภา เทวกุล แต่ก็ถึงชีพิตักษัยไปก่อนเช่นกัน นับแต่นั้นมาก็ไม่ทรงฝากฝัง มอบหมายกับท่านผู้ใด

สําหรับพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาเลี้ยงนั้นเคยตรัสว่า องค์วาปี ฉันไม่ฝากหรอก เพราะจะกลัวผี

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงบาตร

เมื่อ สมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จสวรรคต พระองค์เจ้าวาปีฯ ที่พระองค์ไม่ทรงฝากนั้นคือผู้ที่ทรงทําพระธุระในเรื่องแต่งพระบรมศพ และไม่ได้ทรงใช้พระภูษา, ฉลองพระองค์ ฯลฯ ตามที่ทรงฝากไว้ แต่ทรงจัดหาจัดทำจัดใหม่มาถวาย เพราะที่ทรงฝากต่อ ๆ กันมานั้น เมื่อทรงเปิดออกมาก็พบว่า เก่าเก็บจนเปื่อยใช้การไม่ได้เสียแล้ว

ทั้งหมดก็เป็นเพราะว่า “สมเด็จพระพันวัสสาฯ” มีพระชนมายุยืนยาวนั่นเอง เมื่อเสด็จสวรรคตมีพระชนมายุ 93 ปี 3 เดือน 7 วัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2564