ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
พัทยา เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เงียบสงบ ธรรมชาติงดงาม แต่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักทั่วไป ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ห่างจากกรุงเทพประมาณ 150 กิโลเมตรเศษ มีอ่าวและชายหาด ที่สวยงาม และสามารถลงเล่นน้ำได้ ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร
ส่วนชื่อเมืองที่เรียกว่า “พัทยา” นั้น สันนิษฐานเป็น 2 แนวทาง ด้วยกันคือ
หนึ่งมาจากคำว่า “ทัพพระยา” เนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าพระยากําแพงเพชร นำทัพเดินทางไปจันทบุรีรวบรวมไพร่พลเพื่อกอบกู้บ้านเมือง เดินทางผ่านชลบุรี และได้มาตั้งค่ายพักค้างที่พัทยา 1 คืน ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ดังนี้ “ครั้นวันรุ่งขึ้น ณ วันที่ 3 2 ค่ำ นายกล้ำคุมไพร่ 100 นำเสด็จไปถึงพัทยา หยุดประทับแรมที่นั่น รุ่งขึ้นมา ยกมานาจอมเทียน ประทับแรมที่นั่นคืนหนึ่ง จึงยกมาแรมทัพไก่เตี้ย…”
อีกหนึ่งมาจากคำว่า “พัทธยา” ซึ่งเป็นชื่อลมประจำฤดูของไทยชนิดหนึ่ง ที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูต้นฝน (ประมาณดือนพฤษภาคม-ปลายเดือนตุลาคม) ชื่อ “ลมพัทธยา” เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ เมื่อลมพัทธยาพัดมาก็เป็นสัญญาณของฤดูฝน
ส่วนที่ชื่อเมืองเหลือเพียง “พัทยา” เช่นปัจจุบัน อาจเป็นการกร่อนลงในการออกเสียงหรือการเขียน อันเนื่องจากวีรกรรมของพระเจ้าตากสินมหาราช หรือชื่อลมประจำฤดู ทางใดทางหนึ่ง
แล้วพัทยา เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวประมง มาจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อใด
จุดเริ่มต้นในฐานะเมืองท่องเที่ยวของพัทยา คาดว่าน่าจะเกิดใน พ.ศ. 2497 เมื่อไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้นำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ การเป็นสมาชิก ส.ป.อ. ทำให้ไทยมีเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามอยู่เป็นเวลานาน ( พ.ศ. 2497-2518) ที่สำคัญคือการขอตั้ง “ฐานทัพชั่วคราว” ในประเทศไทยของอเมริกา เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติการ
สถานการณ์ดังกล่าว “พัทยา” จึงเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีสำหรับกองทัพอเมริกาในขณะนั้น
ทหารสหรัฐจากสมรภูมิเวียดนามที่ปฏิบัติภารกิจครบกำหนด จะมีทหารผลัดใหม่ไปเปลี่ยนเวรให้ทหารชุดเดิมได้หยุดพักผ่อน โดยทหารแต่ละผลัดจะมีจำนวนประมาณ 400-500 คน ระยะเวลาการพักผ่อนของทหารแต่ละผลัดประมาณ 1 สัปดาห์ และทหารอเมริกันเริ่มมาพักผ่อนที่พัทยาครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2502
ชาวพัทยาและประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงพยายามหาสินค้าและบริการต่างๆ มาค้าขายกับทหารอเมริกา แต่ไม่นานนักลงทุนต่างถิ่นก็เข้ามาลงทุนในพื้นที่ทำให้เกิดการจ้างงานและกิจการใหม่ๆ ขึ้น เช่น ร้านอาหาร, บ้านพักตากอากาศ, โรงแรม, บังกะโล, ร้านจำหน่ายของที่ระลึก, สถานบันเทิง ฯลฯ แทนอาชีพประมง ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้ในกิจการโรงแรม
พ.ศ. 2506 โรงแรมโอเรียนเต็ลจากกรุงเทพฯ ได้ลงทุน 25 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงแรมสาขาที่พัทยา ชื่อ โรงแรมนิภา ลอดจ์-โรงแรมแห่งแรกของพัทยามาตรฐานระดับนานาชาติ เป็นโรงแรมขนาดใหญ่มีจำนวนห้องพััก 112 ห้อง เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507
จากนั้นก็มีโรงแรมขนาดใหญ่อื่นๆ ทยอยเปิดตัวตามมา เช่น เดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 โรงแรมไฮแอท พัทยาพาเลซ ขนาด 145 ห้อง, เดือนเมษายน พ.ศ. 2514 โรงแรมโอเชี่ยนวิว ขนาด 66 ห้อง เป็นต้น
เมื่อสงครามเวียดนามยุติลง กองทัพอเมริกายกกำลังพลกลับประเทศ แต่เมืองพัทยาก็ขึ้นแท่นเป็นเมืองท่องเที่ยวที่รู้จักกันไปทั่วโลกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในท้องถิ่น, แรงงานที่เข้ามาประกอบอาชีพ และนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศที่เดินทางมาพักผ่อน ฯลฯ ล้วนแต่เกินกำลังที่สุขาภิบาลนาเกลือจะจัดการได้
รัฐบาลจึงพิจารณาให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเมืองพัทยาใหม่ จากเดิมที่เป็น “สุขาภิบาลนาเกลือ” เมื่อ พ.ศ. 2499 พื้นที่ครอบคลุมเขตตำบลนาเกลือและพัทยาใต้ มาเป็นรูปการบริหารพิเศษเรียกว่า “เมืองพัทยา” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 และตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ขึ้น โดยนำเอารูปแบบการบริหาร แบบผู้จัดการเทศบาล (City Manager)
อ่านเพิ่มเติม :
- “หัวหิน” เมื่อชนชั้นสูงฮิต ทำไม ร. 6 ทรงไม่เสด็จฯ ทรงพอพระราชหฤทัย “หาดเจ้าสำราญ”
- ชื่อ “อู่ตะเภา” มาจากไหน? สู่จุดกำเนิด “สนามบินอู่ตะเภา” ฐานทัพอเมริกาใช้บอมบ์อินโดจีน
ข้อมูลจาก :
นางสาวขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ. “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ปีการศึกษา 2546.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
สานานุกรมวัฒนธรรมภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2566