บันทึกเรื่องไฟราคะทางเพศของ “ขันที” และวิธีงอกอวัยวะกลับมาที่รุนแรงตามความเชื่อ

ขันที ขันทีวังหลวง พระนางซูสีไทเฮา
(ซ้าย) ภาพจิตรกรรมกลุ่มขันที จากสุสานเจ้าชาย Zhanghuai, 706. Qianling, Shaanxi (ขวา) พระนางซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง พร้อมกับขันทีวังหลวง (ภาพจาก http://puyi.netor.com/gallery) [Public Domain]

“การตอน” เพศชาย หรือ ขันที เป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นในหลายพื้นที่ตั้งแต่ยุคโบราณ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยสำหรับผู้ถูกตอนนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่ประสบชะตากรรมต้องปรับตัวให้อยู่รอดและดำเนินชีวิตต่อไปทั้งในเชิงสังคม การเมือง และความต้องการส่วนตัว ซึ่งรวมถึงเรื่องทางเพศด้วย

คำว่า “ขันที” อาจเป็นคำที่ผูกโยงกับภาพของอัตลักษณ์แบบจีน แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหลักฐานทางอารยธรรมจากภูมิภาคอื่นก็พบเห็นการตอนด้วย นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการตอนมนุษย์โดยเจตนาเกิดขึ้นในเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่รายละเอียดอื่นยังคงเป็นเพียงการบอกเล่าและคาดการณ์

ในรอบพันปีหลังจากนั้นก็พบ “การตอน” ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลายในแต่ละวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการตอนในหมู่นักร้อง ตอนในข้าราชสำนัก ตอนในหมู่ทหารรักษาพระองค์ หรือข้าราชบริพารที่ทำหน้าที่ดูแลหญิงสาวในราชสำนักหรือคนรับใช้ในฮาเร็ม (พื้นที่เฉพาะสำหรับสตรีของผู้มีอำนาจในวัฒนธรรมแบบมุสลิม)

“ขันที” ในจีน

สำหรับในตะวันออกแล้ว ขันทีในจีนน่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุด ขันทีที่มีชื่อโด่งดังมากที่สุดในมุมมองชาวตะวันตกคือ เจิ้งเหอ ขันทีนักสำรวจทางทะเล ซึ่งเชื่อกันว่าออกสำรวจทางทะเลในระยะทางไกลที่สุดในยุคนั้น อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดของขันทีในจีนก็ยังคลุมเครือ ไม่สามารถหาหลักฐานที่บ่งชี้ต้นกำเนิดได้อย่างชัดเจน แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวข้องกับโจงกง พระอนุชาของพระเจ้าโจวอู่หวัง ผู้ปราบพระเจ้าโจ้ว และสถาปนาราชวงศ์โจว ประมาณ 1,046 ปีก่อนคริสตกาล

โจวกง ชื่อจริงว่า ต้าน แซ่จี เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าโจวเหวินหวัง เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพระเจ้าโจวอู่หวัง ปราบพระเจ้าโจ้ว ภายหลังโจวกงยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าเฉิงหวัง โอรสของพระเจ้าโจวอู่หวัง ที่ขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมายุยังน้อย ในยุคสมัยนั้นโจวกง เป็นผู้วางระบบกฎหมายเป็นกรอบการบริหารประเทศ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการลงโทษ ชาร์ลส ฮูมานา (Charles Humana) และหวังอู่ (Wang Wu) บรรยายว่า การตอนเป็นหนึ่งใน 5 บทลงโทษ

ช่วงเวลานั้น อาชญากรและเชลยศึกจะถูกจับมาลงโทษด้วยการตอน หลายคนอาจจินตนาการว่ายุคนั้นคงมีอาชญากรให้ได้ลงโทษกันมากมาย แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่พบว่า ครอบครัวชนชั้นล่างก็ยังถูกกดดันให้ส่งมอบลูกชายมาให้ราชสำนักตอนในช่วงที่การดูแล “ฮาเร็ม” (ในแง่พื้นที่สำหรับสนมนางกำนัลในราชสำนัก) กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าที่พิเศษสำหรับขันที ก็คงพอเห็นภาพว่าต้องการคนมากแค่ไหน

การเสียสละขนาดนี้ก็ย่อมได้รับผลตอบแทนอย่างงาม ในอีกด้านหนึ่ง เส้นทางนี้เป็นหนทางสำหรับชนชั้นล่างในการก้าวขึ้นมามีอำนาจ ในสถานะเป็นคนรับใช้ที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย หรืออาจมีโอกาสได้ดูแลบริหารกิจทางการเมือง เนื่องด้วยลักษณะที่สามารถเข้าถึง เป็นผู้สนิทสนมได้กับทั้งชายและหญิง กลุ่มขันทีจึงกลายเป็นมีอิทธิพลต่อทั้งองค์จักรพรรดิ หรือองค์ชายในยามที่ชนชั้นสูงเหล่านี้ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด

ตำแหน่งแห่งหนของขันทีในจีนโบราณขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์จักรพรรดิ (หรือบางกรณีอาจขึ้นกับอารมณ์ด้วย) จักรพรรดิบางพระองค์ที่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน หรือพระองค์ไม่วางพระทัยหมู่ขุนนางในราชสำนัก อาจแต่งตั้งขันทีให้มีอำนาจมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการทหาร ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ หรือฝ่ายปกครอง แม้ว่าหน้าที่แต่เดิมของขันทีคือการดูแลฮาเร็มก็ตาม

เมื่ออธิบายบริบทโดยรวมแล้ว คราวนี้ลองกลับมาที่ประเด็นหลักในที่นี้ ว่าด้วยเรื่องการจัดการความต้องการส่วนตัวกันบ้าง ก่อนที่จะบรรยายเรื่องความต้องการส่วนตัว อาจต้องบรรยายข้อมูลระดับขั้นของการตอนขันทีก่อน

การตอนขันที

ชาร์ลส ฮูมานา และหวังอู่ อธิบายว่า การตอนมี 3 ประเภท ได้แก่ การตอนทิ้งทั้งหมด, ตัดเฉพาะองคชาติหรือลึงค์ ซึ่งยังทำให้มีความรู้สึกต้องการทางเพศบ้าง และ การกำจัดอัณฑะ (กรณีนี้รวมถึงกลุ่มอาชญากรหรือเชลยศึกที่ถูกลงโทษ)

ใน 2 กรณีแรก เมื่อแผลสมานแล้ว จะใช้ท่อที่ทำจากโลหะ, ไม้ไผ่ หรือฟาง สอดเข้าไปเพื่อช่วยในการปัสสาวะ ยิ่งเมื่อพวกที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 มีความต้องการทางเพศ ส่วนนี้ก็จะช่วยขับอสุจิออกมา หากเป็นในยุคที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย คงเทียบได้กับองคชาติเทียมที่มี “อสุจิ” กล่าวคือ เป็นเสมือนอุปกรณ์ที่ช่วยให้ขันทีที่แต่งงานไปก่อนแล้วทำเสมือนว่าใช้ชีวิตแบบครอบครัวได้

โดยส่วนใหญ่แล้วการตอนเป็นขันทีมักทำตั้งแต่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะสำหรับคนที่สมัครใจเข้ารับใช้องค์จักรพรรดิ และดังที่เล่าก่อนหน้านี้แล้วว่ามีผู้ปกครองในชนชั้นล่างจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นบุตรก้าวขึ้นมามีอำนาจ ขณะที่การตอนหลังจากวัยเจริญพันธุ์แล้วถือเป็นเรื่องเสี่ยงถึงแก่ชีวิตมากกว่ากรณีกระทำก่อนวัย อัตราการเสียชีวิตในหมู่ผู้ตอนหลังวัยเจริญพันธุ์แล้วอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3

แน่นอนว่า ขันทีย่อมเคยรับรู้เรื่องความต้องการทางเพศ ไฟปรารถนาเหล่านี้มักสร้างความลำบากให้กับขันทีที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเป็นอย่างมาก

หลังจากยุคราชวงศ์โจวไปแล้ว กลุ่มขันทีก็ยังคงไม่ได้ห่างหายไปจากวงจรอำนาจ ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฉียนหลง (ปี 1736-1796) จนถึงช่วงตกต่ำของราชสำนักในปี 1911

เป็นที่รู้กันว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงโปรดปรานศิลปะและวรรณกรรมอย่างมาก พระองค์มักมอบหน้าที่การบริหารจัดการบ้านเมืองให้เหล่าขันที ความหย่อนยานในการบริหารของราชวงศ์ทำให้เหล่าขันทีเรืองอำนาจ และใช้ชีวิตหรูหราไม่ต่างจากเจ้าชีวิตมากนัก เมื่อเหล่าขุนนางและราชการสูญเสียอำนาจให้กับขันที ราชสำนักภายในเริ่มปั่นป่วน แม้จะมีเหล่าสนมนางกำนัลมากมาย แต่สภาพเวลานั้นพวกนางกลายเป็นรับคำสั่งจากขันทีไป ยุคสมัยนั้นเปิดโอกาสให้ขันทีได้มีเวลาไปอุทิศกับความปรารถนาและความเชื่อโบราณว่าด้วยการฟื้นฟูความเป็นชายกลับมา

ความเชื่อในหมู่ขันที

พวกเขามีทรัพยากรและเวลามากมายอย่างเหลือเฟือให้ทดลองกิจกรรมทางเพศที่เชื่อว่าอาจช่วยให้อวัยวะที่สูญเสียไปนั้นกลับคืนมา ขั้นตอนแรกตามความเชื่อโยงเข้ากับเรื่องพลังหยิน ที่เชื่อว่าต้องใช้ผู้หญิงมากระตุ้นส่วนที่เป็นบาดแผลอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับรู้ถึงความซาบซ่านที่ถูกขยายยืดออกไปยาวนานอย่างต่อเนื่องแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดพลังหยางที่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูอวัยวะคืน

ราชสำนักในเวลานั้นไม่ได้เป็นเพียง “สนามเด็กเล่น” เท่านั้น ในการอธิบายของนักวิชาการ สภาพยังเป็นเสมือน “ลานรบ” แต่ในขณะเดียวกันทั้งขันทีและสนมกำนัลต่างก็อยู่ในสภาวะสับสนแสนสาหัส

บันทึกในศตวรรษที่ 13 บรรยายว่า “ส่วนที่เป็นแผลที่สมานกันแล้วกลายเป็นเสียหายด้วยเพลิงราคะอย่างบ้าคลั่ง มีความรู้สึกว่าเส้นเลือดกำลังจะระเบิดออกมา แต่ไม่มีใครรู้เลยว่ามันไม่สามารถฟื้นฟูได้”

ในขณะเดียวกันเหล่าสตรีเพศก็ต้องพบกับการทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าจะเป็น “การใช้งาน” อย่างไม่มีวันหยุดหย่อนจากขันที เพื่อกระตุ้นแก่นแห่งหยิน บันทึกเกี่ยวกับความพยายามฟื้นฟูทางเพศคืนมาสามารถพบได้ทั่วไป และแน่นอนว่า ไม่มีบันทึกว่ามีผู้ใดประสบความสำเร็จได้อวัยวะชิ้นที่ 2 กลับมาในชีวิตแบบที่มีหลักฐานชัดแจ้ง อย่างไรก็ตาม เหล่าราชวงศ์ และเจ้าชีวิตของเหล่าขันทีในสังกัดยังคงกังวลว่า บางทีอาจฟื้นฟูกลับมาได้จริง และมักมีคำสั่งจากเจ้าผู้ปกครองที่วิตกกังวลมากเกินไปให้ตัด(แต่ง)บริเวณที่ถูกตอนแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันเหตุไว้ก่อน

ความต้องการทางเพศของขันที

บันทึกของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน นักสำรวจชาวบริติช (ปี 1821-1890) ซึ่งอ้างว่าพบกับภรรยาของขันทีระหว่างการเดินทาง บรรยายความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากสามี เมื่อขันทีพยายามอย่างยากลำบากเพื่อให้ถึงจุดสุดยอด (กรณีนี้อาจเป็นการตอนขั้นที่ 2) เธอต้องชูหมอนเพื่อให้สามีของเธอกัดเอาไว้ ไม่อย่างนั้น หัวไหล่ แก้ม และหน้าอกของเธอคงถูกกัดไม่มีชิ้นดี

บันทึกเรื่องความต้องการทางเพศของขันทีในจีน สอดคล้องกับบันทึกของ Alev Croutier นักเขียนหญิงที่เกิดในตุรกีเมื่อปี 1954 เธอมีบรรพบุรุษที่เติบโตที่ฮาเร็มในมาเซโดเนีย และนำเรื่องราวมาบอกเล่าในหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1989 เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าถึงขันทีในฮาเร็มโลกมุสลิมว่ามีความต้องการทางเพศเช่นกัน แม้ว่าอวัยวะทางเพศจะถูกตัดออก ยิ่งเมื่อถูกตอนก่อนวัยเจริญพันธุ์ยิ่งไม่สามารถขจัดความต้องการทางเพศได้

เธอบรรยายว่า ขันทีที่ถูกตัดเฉพาะอัณฑะจะยังสามารถแข็งตัวและมีความสุขกับเซ็กซ์ได้ แต่จากบันทึกของเซอร์ริชาร์ด แล้ว สภาพแข็งตัวจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่หัวใจยังเต้นและยังมีความต้องการ

ขณะที่ขันทีซึ่งแต่งงานกับผู้หญิงในฮาเร็มก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องอาศัยนอกฮาเร็ม บันทึกคำให้การของหัวหน้าขันทีผิวสีในสมัยศตวรรษที่ 11 บรรยายว่า เขาไม่ได้มองหาความรัก แต่มองหาความชอบความหลงใหล ซึ่งเขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ยากปฏิเสธนี้ได้ในเขตวัง

ความเชื่อเรื่องวิธีการฟื้นฟูอวัยวะที่ได้รับความนิยมในจีนอีกประการคือ การใช้สมองมนุษย์แบบสด ๆ เป็นตัวช่วย ขันทีชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจในการสั่งตัดศีรษะเชลยศึกหรืออาชญากรทั่วไป ขันทีที่มีความเชื่อเรื่องการฟื้นฟูอวัยวะมักสั่งให้เปิดศีรษะ และนำชิ้นส่วนสมองมาให้ในขณะที่ชิ้นส่วนยังอุ่นอยู่ หากการบรรยายเหล่านี้ว่าสยดสยองแล้ว นักวิชาการด้านจีนยังระบุว่า ในสังคมที่อยู่ภายใต้ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติในสมัยนั้น ยังทำให้เกิดตำรับหรือสูตรยาบำบัดต่าง ๆ ที่ใช้ชิ้นส่วนหรืออวัยวะภายในมนุษย์เป็นส่วนประกอบ

อาจเป็นเรื่องบังคับและจำเป็นเล็กน้อย ที่ต้องจบลงด้วยการย้ำเรื่องผลลัพธ์จากการพยายามเหล่านี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีบันทึกใดที่บ่งบอกถึงความสำเร็จแบบจับต้องได้ และคงเป็นการปิดฉากที่เหมาะสมสำหรับเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อนี้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

Croutier, Alev. Harems : the World behind the Veil. New York : Abbeville Press, 1989

Humana, Charles., Wang Wu. Chinese Sex Secrets : A Look Behind the Screen. Hong Kong: CFW Publications Limited, 1998


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2562