ตำนาน “พระเจ้าโจ้ว” กษัตริย์รักกินดื่มที่สุด มีสระเหล้าใหญ่ขั้นพายเรือได้จนสิ้นราชวงศ์

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพทิวทัศน์ในประเทศจีน

ประวัติศาสตร์จีนหลายพันปีที่ผ่านมามีจักรพรรดิหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าพูดถึงกษัตริย์ที่รักการดื่มเหล้ามากที่สุด นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งชี้นิ้วเลือกไปที่พระเจ้าซางโจ้ว หรือพระเจ้าตี้ซิน กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง

หลังผ่านยุคประวัติศาสตร์จีนโบราณมาแล้ว เรื่องราวของราชวงศ์ซาง ถือเป็นช่วงเวลาแรกเริ่มที่มีชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุจีน ขณะที่ยุคก่อนหน้านั้นอย่างราชวงศ์เซีย ถือเป็นช่วงต้นประวัติศาสตร์ช่วงที่เรื่องราวยังเป็นสมัยกึ่ง “นิยาย” อยู่ นักประวัติศาสตร์รับรู้กันว่า เมื่อประมาณ 1,075-1,046 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าซางโจ้ว ขึ้นครองราชย์ ตามบันทึกและเรื่องเล่าของจีนอธิบายไว้ว่า พระเจ้าซางโจ้ว เป็นกษัตริย์ที่มีอุปนิสัยดื้อรั้น ไม่ฟังใคร ใช้กำลังทหารตามพระทัย

นอกเหนือจากนี้ หลี่เฉวียน ผู้รวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์จีนยังอธิบายลักษณะพิเศษในสมัยพระเจ้าซางโจ้วอีกว่า กษัตริย์พระองค์นี้ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่รักการดื่มเหล้ากินเนื้อมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนก็ว่าได้ ในพระราชวังของพระองค์มี “สระเหล้าดงเนื้อ” ให้พระองค์และเหล่าบริวารดื่มกินอย่างเต็มที่

หลี่เฉวียน ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” บรรยายว่า พระราชวังของพระเจ้าซางโจ้วหรูหราอลังการอย่างมาก สร้างขึ้นจากหยก ภายในมีลู่ไถ หรือบัลลังก์รูปกวางสูงกว่า 3 เมตร ด้านข้างแห่งนี้เองที่มีสระเหล้า เป็นสระที่บรรจุด้วยเหล้าเต็มพื้นที่ นักประวัติศาสตร์บรรยายว่า ขนาดใหญ่ถึงขั้นลงไปภายเรือแล่นได้ สามารถเลี้ยงผู้คนได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

ส่วน “ดงเนื้อ” ที่ว่านั้น หลี่เฉวียน อธิบายว่า บนต้นไม้มีเนื้อแขวนเรียงรายเต็มไปหมด แค่ปลิดลงมาก็รับประทานได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีพระกระยาหารสำราญถึงเพียงนี้ พระเจ้าโจ้วจึงมักดื่มเหล้าเสพสุขกับเหล่าบริวารพร้อมหญิงงาม

สาวงามที่พระเจ้าโจ้วทรงโปรดมากที่สุดคือ ต๋าจี่ กษัตริย์พระองค์นี้ตามใจสตรีคนโปรดเสียทุกอย่าง แม้นางจะดูเหมือนไม่มีพิษภัย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต๋าจี่ เป็นสตรีที่ไม่ค่อยถูกกับขุนนางที่มีคุณธรรมและมีความสามารถ เนื่องจากขุนนางกลุ่มนี้เป็นผู้ขัดขวางทัดทานการเสพสุขสำราญของกษัตริย์ หลี่เฉวียน บรรยายว่า มีเรื่องเล่ากันว่า ต๋าจี่ออกคำสั่งให้จับขุนนางกลุ่มนี้มากำจัดทิ้งตามอำเภอใจ และหากการฆ่าทิ้งไม่ได้เป็นเรื่องเหี้ยมโหดมากพอ หลี่เฉวียน ยังอธิบายว่า บันทึกบางแห่งเล่าว่า บทลงโทษที่ทารุณในสมัยราชวงศ์ซางก็เป็นนางช่วยพระเจ้าโจ้วคิดค้นขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือการลงโทษที่เรียกว่า “เผาทั้งเป็น”

วิธีการคือ ให้นักโทษเดินบนเสาทองสำริดที่ทาน้ำมัน ด้านข้างสุมกองไฟไว้โดยรอบ แน่นอนว่าไม่มีใครทรงตัวได้ เดินไปไม่นานก็ตกลงบนกองไฟถูกไฟคลอกสิ้นชีพซึ่งคงเป็นภาพที่น่าสยดสยอง แต่ไม่ใช่สำหรับกษัตริย์พระองค์นี้และสตรีคนโปรดซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน

เหล่าพระญาติรอบข้างต่างกล่าวเตือนสติพระเจ้าโจ้วแต่ก็ไม่เป็นผล จีจื่อ ลูกพี่ลูกน้องก็เป็นคนรอบข้างที่ตักเตือนพระเจ้าโจ้ว แต่พระองค์ไม่รับฟัง ทรงจับจีจื่นขังคุก ลูกพี่ลูกน้องรายนี้แกล้งเป็นบ้าจึงรอดมาได้ ขณะที่เวยจื๋อฉี่ พี่ชายต่างมารดาหลบหนีไปอยู่ต่างเมือง ปี่ก้าน ผู้เป็นอาของพระเจ้าโจ้วทนไม่ไหว เข้ามาทัดทานในวัง 3 วัน 3 คืนโดยไม่ยอมกลับ

พระเจ้าโจ้ว โกรธและตรัสกับขุนนางว่า ปี่ก้านเป็นนักปราชญ์ มีคำกล่าวว่า หัวใจนักปราชญ์มี 7 ห้อง พระองค์จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเป็นคำกล่าวที่จริงหรือไม่ พระองค์สั่งฆ่าปี่ก้าน และควักหัวใจออกมา ขุนนางทั้งหลายไม่มีใครกล้าอีก และเริ่มหาข้ออ้างจากไป บางรายก่อนจากไปก็หยิบฉวยของเซ่นไหว้จากศาลบรรพบุรุษ เหล่าขุนนางไปขออาศัยบารมีพระเจ้าโจวอู่ ที่เตรียมแย่งชิงอำนาจการปกครอง

เมื่อพระเจ้าโจ้วสูญเสียขุนนางและชนชั้นสูงที่เป็นผู้สนับสนุน เหล่าพันธมิตรและนครรัฐต่างประกาศอิสรภาพ พระเจ้าโจ้วทรงสั่งกองทัพที่เข้มแข็งออกปราบปราม อย่างไรก็ตาม พระเจ้าโจวอู่ที่เตรียมตัวกำจัดกลุ่มซางมายาวนานก็รวบรวมกองทัพที่ยิ่งใหญ่ นักประวัติศาสตร์อธิบายกองทัพครั้งนั้นมีรถม้า 300 คัน ทหารองครักษ์ 3,000 คน พลทหารอีก 45,000 คน รวมทั้งชนเผ่าและประเทศที่มาสวามิภักดิ์อีก 8 กลุ่ม ข้ามแม่น้ำหวงเหอ โจมตีเฉาเกอ เมืองหลวงของซาง (อยู่ในอำเภอฉีของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)

เดือนยี่ ปีเจี๋ยจื่อ กองทัพใหญ่เดินทางถึงเมื่องมู่เหย่ ห่างจากเมืองเฉาเกอ 70 ลี้ พระเจ้าโจ้วสั่งกองกำลังออกต่อต้าน แต่กองทหารไม่ยินยอมช่วย ทหารของซางในแนวหน้ากลับมาสู้รบกันเองอีก พระองค์ไม่มีกำลังทหารเพียงพอสำหรับออกต่อต้าน พระองค์ไม่ต้องการเป็นเชลยศึก ทรงขึ้นไปบนบัลลังก์รูปกวางแล้วสั่งให้คนจุดไฟเผาพระองค์เอง ราชวงศ์ซางถึงกาลล่มสลาย พระเจ้าอู่หวัง โอรสของพระเจ้าโจวเหวินหวัง ผู้นำของชาวโจว สถาปนาราชวงศ์โจวอย่างเป็นทางการ

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเล่าเรื่องพงศาวดาวจีนในบทความ “พงศาวดารจีนกับภาพยนตร์กำลังภายใน” ว่า จีนมีความเชื่อเรื่องเทพยดาฟ้าดิ้น เชื่อในเทวดาที่เป็นคู่ อาทิ ผู้หญิงกับผู้ชาย มืดกับสว่าง และฟ้ากับดิน ชาวจีนจึงมีการบูชาฟ้าดิน แต่มีเพียงจักรพรรดิเท่านั้นที่ทำพิธีบูชาฟ้าดิน ส่วนเจ้านายหรือผู้ปกครองแคว้นแค่สามารถทำพิธีบูชาเทพยดาอื่น อาทิ ข้าว น้ำ ได้เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงมีคติความเชื่อเสมอมาว่า เมื่อกษัตริย์องค์ไหนประพฤติชอบถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ฝนฟ้าจะตกตามฤดูกาล แต่กษัตริย์ที่ประพฤติไม่ถูกต้อง ฝนฟ้าจะแห้งแล้ง ทำให้ประชาชนลำบาก เมื่อนั้นจึงเป็นโอกาสที่ผู้อื่นจะเล็งช่วงชิงอำนาจในราชสมบัติแทน ราชวงศโจวเมื่อขึ้นครองราชย์ก็หาว่ากษัตริย์ราชวงศ์ซาง ประพฤติโหดร้ายไม่เป็นธรรมเช่นกัน

ราชวงศ์ซางที่มีอำนาจ 17 ยุค กษัตริย์ปกครอง 31 พระองค์ รวมแล้วมีอายุราว 553 ปีก็ถึงกาลสูญเสียประเทศ



อ้างอิง:

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “พงศาวดาวจีนกับภาพยนตร์กำลังภายใน”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2529)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2562