ดูแนวคิดรื้อ “นครวัด” และปราสาทขอม สมัยรัชกาลที่ 4 สู่การจำลองนครวัด ตั้งที่วัดพระแก้ว

ปราสาทนครวัดจำลอง จำลอง ปราสาทนครวัด สมัย รัชกาลที่ 4 ใน วัดพระแก้ว
ปราสาทนครวัดจำลอง

ดูแนวคิดรื้อ “นครวัด” และปราสาทขอม สมัย รัชกาลที่ 4 แต่ล้มเหลว สู่กำเนิด “ปราสาทนครวัดจำลอง” ตั้งที่ วัดพระแก้ว

“พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4” ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค พ.. 23562413 ค.. 1813-70) มีเรื่องราวที่แปลกประหลาดและน่าสนใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการรื้อปราสาทขอม นครวัด” ในกัมพูชา เพื่อนำเข้ามาไว้ในสยามประเทศสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

Advertisement

กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าให้ไปรื้อปราสาทหิน นครวัด” ของกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี) และได้ให้ “พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวง พระนครธมพระนครวัด กลับมากราบทูลว่ามีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้”

นครวัด สมัย รัชกาลที่ 4
ลานหินสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เลยรับสั่งให้ไปรื้อปราสาทตาพรหม” ซึ่งมีขนาดย่อมกว่าปราสาทหลังนี้ในปัจจุบัน จะเป็นที่นิยมชมชอบของบรรดานักท่องเที่ยวมาก (ที่จะกรี๊ดกร๊าดถ่ายรูปกัน) เพราะเป็นปราสาทที่ฝรั่งเศสหาได้บูรณะไม่ ปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิมๆ มีต้นไม้และรากไม้ (ต้นสปง) โอบล้อมปกคลุมอยู่เต็มไปหมด และก็ดูเหมือนจะเป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Tomb Raider ที่มีนางเอกสาวสวยสุดเซ็กซี่คือ แองเจลีนา โจลี นำแสดง

พระราชพงศาวดารฯ” กล่าวต่อไปว่ามีการส่งคนออกไป “4 ผลัดๆ ละ 500 คน ให้แบ่งเป็นกองชักลากบ้าง กองส่งบ้างตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาทเมื่อ ณ วันเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ 

เหตุการณ์รื้อปราสาทด้วยจำนวนไพร่พลถึง 2 พันคนนี้ เกิดขึ้นในปี พ.. 2410 (.. 1867) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์กัมพูชา คือ สมัยของพระเจ้านโรดม ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.. 2402-47 (หรือ ค.. 18591904) สมัยนั้นกัมพูชาตกต่ำอ่อนแอจนกลายเป็นประเทศราชของทั้งสยามและเวียดนาม ก่อนที่จะหนีไปยอมรับการเป็นรัฐในอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.. 2410 (.. 1867)

ในสมัยดังกล่าวเมืองเสียมราฐ (หรือเสียมเรียบ) และเมืองพระตะบอง ยังขึ้นโดยตรงกับทางกรุงเทพฯ โดยมีขุนนางท้องถิ่นตระกูลอภัยวงศ์ปกครองอยู่ และพระสุพรรณพิศาล ขุนนางเมืองนี้นั่นแหละ ที่ถูกรับสั่งให้ไปเป็นหัวหน้าควบคุมการรื้อปราสาทตาพรหม

เราไม่ทราบเหตุผลเบื้องหลังที่แน่ชัดว่า ทำไมรัชกาลที่ 4 ถึงโปรดจะให้รื้อปราสาทหินมหึมานั้นจากกัมพูชาในช่วงนั้น สมัยดังกล่าวจะตรงกับการที่ฝรั่งเศสกำลังคืบคลานเข้ามาเขมือบดินแดนอินโดจีน โดยจะค่อยๆ ได้เวียดนาม กัมพูชา และลาวไปเป็นอาณานิคมตามลำดับ (โปรดสังเกตคำว่าอาณานิคมกับคำว่าประเทศราช ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างกันของตะวันตกกับตะวันออก) และก็แข่งกับอังกฤษที่ได้เขมือบบางส่วนของพม่าและมลายูไปแล้ว ทำให้สยามตกอยู่ในฐานะกันชน (buffer) 

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การรื้อถอนปราสาทหินครั้งนั้นล้มเหลว และพระราชพงศาวดารฯ กล่าวไว้อย่างน่าตกใจว่า มีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 พระวังตายคน 1 บุตรพระสุพรรณพิศาลตายคน 1 ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตรป่วยเจ็บหลายคน แต่ไพร่นั้นไม่ทำอันตรายแล้วหนีเข้าป่าไป

ปราสาทนครวัดจำลอง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพถ่ายโดย นนทพร อยู่มั่งมี)

เป็นอันว่าในสมัยนั้น มีชาวกัมพูชาหรือเขมร ตั้งตัวเป็นเสมือนกองจรยุทธ์และก็โกรธแค้นการลักลอบเข้าไปรื้อปราสาทของเขาถึงขนาดยิงฟันบรรดาขุนนางหัวหน้าที่ควบคุมไป ถึงกับล้มตายเป็นจำนวนมาก และก็เป็นเหตุทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการรื้อปราสาทหินดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้จำลองปราสาทนครวัดเล็กๆ ดังที่ พระราชพงศาวดารฯ ได้กล่าวไว้ว่า

“ให้ช่างกระทำจำลองตามที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้” ซึ่งก็คือที่ วัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังนั่นเอง

และเมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนมาเยือน นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี พ.. 2532 (.. 1989) ในช่วงของการเจรจาความเมืองยุคของการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าของอุษาคเนย์ ก็ยังขอแวะไปชมปราสาทจำลองนี้

ปราสาทนครวัด ปราสาทนครวัดจำลอง ใน วัดพระแก้ว
ปราสาทนครวัดจำลอง บนฐานไพทีข้างพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในหนังสือ วิถีไทย การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อ 2540. หรืออ่านเพิ่มเติม http://lib.dtc.ac.th/ebook/SocialScience/tbpj174.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2560