เหตุใด อ็องรี มูโอต์ จึงกลายเป็นผู้ค้นพบปราสาทนครวัด

ปราสาทนครวัด นครวัด กัมพูชา เขมร สมัย พระนคร
ภาพวาดนครวัดจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine เมื่อ ค.ศ. 1866

ชื่อของ อ็องรี มูโอต์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ “ผู้ค้นพบปราสาทนครวัด” ขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์กันว่า ความคิดนี้เป็นมายาคติ เพราะ “เมืองพระนคร” และ “ปราสาทนครวัด” ไม่เคยสาบสูญไปโดยสิ้นเชิง และยังคงเป็นที่รู้จักของชาวเขมรเสมอมา ในฐานะศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์เพื่อการจาริกแสวงบุญ ทั้งก่อนหน้ามูโอต์ ก็มีชาวตะวันตกคนอื่นเคยเดินทางมาแล้วด้วย

ค.ศ. 1586 อันโตนิอู ดา มักดาเลนา (Antonio da Magdalena) บาทหลวงโปรตุเกส เป็นชาวตะวันตกผู้ค้นพบนครวัดคนแรก ที่เดินทางมายังปราสาทนครวัด และจึงส่งมอบบันทึกของเขาให้ จีโอกู ดึโกวตู (Diogo de Couto) นักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส ซึ่งเขียนไว้ว่ายากนักที่จะพรรณนา ปราสาทนครวัด ด้วยปลายปากกาของเขา

ค.ศ. 1609 บาร์โตโลเม เด อาร์เฆ็นโซลา (Bartolome de Argensola) ชาวสเปน เดินทางไปนครวัดและบันทึกสภาพของเมืองพระนครไว้อย่างละเอียด โดยเปรียบเปรยว่าเมืองนี้ช่างยิ่งใหญ่นัก ไม่ต่างจากแอตแลนติสในงานเขียนของเพลโต

ค.ศ. 1668 เชยเวรย (Chevreuil) นักบวชฝรั่งเศส มาเยี่ยมชมนครวัด และบันทึกไว้ว่ามันเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของอาณาจักรต่างๆ ในแถบนี้มาช้านาน

ค.ศ. 1857 ชาร์ลส์ เอมิล บุยเยอโวซ์ (Charles Emile Boulevaux) นักบวชฝรั่งเศส ที่ประจำอยู่ที่เมืองพระตะบอง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่การเยี่ยมชมเมืองพระนครในหนังสือของท่านชื่อว่า “การเดินทางในอินโดจีนระหว่างปี 1848-1856”

ฟากตะวันออกก็มีทำเนียบนักเดินทางสู่นครวัดเช่นกัน

ค.ศ. 1296 โจวต้ากวน ราชทูตชาวจีน บันทึกการเดินทางเข้ามายังเมืองพระนครไว้ใน “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละ” ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ที่เมืองพระนครยังมีชีวิต และคับคั่งไปด้วยผู้คน

ค.ศ. 1632 เคนเรียว ชิมาโน (Kenryo Shimano) ชาวญี่ปุ่น เดินทางมานครวัด หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเขาเป็นผู้วาด “ภาพวาดแผนผังปราสาทนครวัดที่เก่าที่สุด”

สำหรับประเทศไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลเจ้าสามพระยา (ครองราชย์ ค.ศ. 1424-1448) เคยยกกองทัพไปโจมตีเมืองพระนคร และนำเทวรูปศักดิ์สิทธิ์มาไว้ยังอยุธยา และรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ ค.ศ. 1630-1656) ทรงให้ช่างไปจำลองปราสาทนครวัด เพื่อเอาแบบมาสร้างเป็นปราสาทนครหลวงในกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ ค.ศ. 1851-1910) มีพระราชดำริให้ไปรื้อปราสาทหิน “นครวัด” ที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี) แต่เกิดอุปสรรคมากมาย จึงโปรดให้มีการจำลอง ปราสาทนครวัด มาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแทน

แล้วทำไม อ็องรี มูโอต์ จึงกลายเป็นผู้ค้นพบนครวัด

เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับบันทึกของมูโอต์ที่ชื่อว่า “บันการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ” ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งส่งอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชาวตะวันตกที่สนใจอารยธรรมตะวันออก ทำให้มูโอต์กลายเป็นผู้ค้นพบนครวัด

ประกอบกับบันทึกของมูโอต์สามารถพรรณนาให้เกิดความน่าสนใจต่อเรื่องราวที่นำเสนอ เพราะมันเต็มไปด้วยสีสัน ความตื่นเต้น และวิธีการบรรยายของเขา ช่วยทำให้ชาวตะวันตกเกิดจินตภาพที่ชัดเจนต่อปราสาทนครวัดโดยง่าย ด้วยการเปรียบเทียบว่านครวัดนครธมเหมือนกับสถาปัตยกรรมกรีก โรมัน และอียิปต์

ดังเช่นข้อความที่ว่า[นครวัด] ยิ่งใหญ่อลังการกว่างานสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือของชาวกรีกและโรมัน..” และ “ใครเล่าจะสามารถระบุนามไมเคิล แองเจโลแห่งดินแดนตะวันออก ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ประสานทุกชิ้นส่วนได้ลงตัวเหมาะเจาะด้วยศิลปะอันน่าชื่นชมเป็นที่สุด…” เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “คำนำเสนอ” ใน, บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2565