ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
วารสาร “นักล่าอาณานิคม” ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ “นครวัด” ?
เรื่องของเมืองเขมรที่เกี่ยวข้องกับสยาม ดูผิวเผินเหมือนจบลงตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 การที่สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ พระราชบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยขอความคุ้มครองจากฝรั่งเศส และตัดความสัมพันธ์กับทางกรุงเทพฯ อย่างไม่เหลือเยื่อใย การโยกย้ายเมืองหลวงเก่าที่สยามตั้งให้จากอุดงมีชัยมาเป็นพนมเปญ จบลงด้วยการที่สยามเสียดินแดนเขมรส่วนนอกในรัชกาลนั้น
พงศาวดารไทยก็แทบจะไม่กล่าวถึงราชสำนักเขมรอีกเลย จวบจนปี พ.ศ. 2449 เหตุการณ์บางอย่างกดดันให้ครอบครัวขุนนางสยามสายสกุลอภัยวงศ์ต้องอพยพออกมาจากเมืองพระตะบอง และสยามจำต้องสละเมืองเสียมราฐ อันเป็นที่ตั้งของมรดกโลกคือนครวัดอย่างอาลัยอาวรณ์ ซึ่งทั้งหมดมาสิ้นสุดเอาเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 นี่เอง เกิดอะไรขึ้นกับประวัติศาสตร์อันสับสนช่วงนั้น? บทความนี้คือองค์ความรู้ที่ขาดหายไป
เมื่อ 100 ปีมาแล้วนับถึงปีนี้ คือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 (นับอย่างตะวันตก คือปี ค.ศ. 1906) สยามและฝรั่งเศสตกลงทำสัญญาฉบับหนึ่งร่วมกัน ใจความสำคัญในสัญญามีผลให้สยามได้จังหวัดตราดคืน แต่ต้องสูญเสียเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2449 สัญญาฉบับนี้ได้รับการอนุมัติ (หรือที่เรียกให้สัตยาบัน-ผู้เขียน) โดยรัฐสภาฝรั่งเศส ครั้นต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทางการของทั้งสองฝ่ายจึงรับและส่งคืนดินแดนให้แก่กันอย่างเป็นทางการ อันเป็นสาเหตุให้ “นครวัด” ซึ่งอยู่ ณ เมืองเสียมราฐต้องหลุดลอยไปด้วย
เกิดอะไรขึ้นในปีนั้น ที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนดินแดนกัน? และสัญญาฉบับนี้สำคัญอย่างไรถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปลงพระนามกำกับถึงกรุงปารีส? เป็นเหตุการณ์ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง และเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลำดับเรื่องราวก่อน-หลังทัน มีความจำเป็นต้องอธิบายที่มาของดินแดนเจ้าปัญหาตั้งแต่ต้นดังนี้
พงศาวดารเขมรในประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์การเมืองของเขมรที่เกี่ยวข้องกับสยาม เริ่มประมาณสมัยอยุธยาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ต่อไปจะใช้ปี ค.ศ. เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารฝรั่งเศส-ผู้เขียน) เมื่อนักองค์จัน (Ang Chan) กษัตริย์เขมรผู้เข้มแข็งและมีอำนาจที่สุดใน “ยุคหลังนครวัด” รุกล้ำเข้ามาหลายครั้ง และกลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ต่อมาแม้เมื่อสิ้นรัชสมัยของกษัตริย์องค์นั้นแล้ว ความกดดันจากเขมรในช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นระยะเดียวกับที่สยามเผชิญกับการคุกคามของพม่า จนต้องเสียกรุงครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1569
แต่ภายหลังที่พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) กษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1581 อำนาจพม่าที่มีต่อสยามก็เสื่อมคลายลง และเป็นโอกาสให้สยามได้หันมาต่อสู้อย่างเต็มที่ต่อการคุกคามจากเขมร โดยในปี ค.ศ. 1593 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงจัดทัพไปตีเขมร ยึดได้เสียมราฐ (Siemreab) จำปาศักดิ์ (Champassak-ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของลาว และเคยเป็นศูนย์อำนาจสำคัญของเขมรโบราณ-ผู้เขียน) รวมทั้งพระตะบอง (Battambang) และโพธิสัตว์ (Pursat)
สรุปได้ว่า เหตุการณ์ช่วงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระตะบองได้กลายเป็นศูนย์กลางของอิทธิพลของสยาม และได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ปัญหาเขมรกลายเป็นชนวนสำคัญของการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสยามกับญวน และดินแดนภาคตะวันตกของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระตะบอง” ก็กลายมาเป็นฐานปฏิบัติการของสยามสำหรับการเข้าไปมีบทบาทในเขมร[8]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เสด็จออกไปปราบกบฏเมืองเขมรปี ค.ศ. 1780 ไม่ทันไรก็ต้องเสด็จกลับเข้ามาระงับยุคเข็ญในกรุงธนบุรี เมื่อกองทัพสยามกลับมาแล้วประเทศเขมรก็ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร และสมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ขุนนางเขมร สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ลอบมีหนังสือเข้ามาทูลขอพระยายมราช (แบน) ผู้เป็นเพื่อนกันให้ออกไปปราบพวกกบฏที่เหลืออยู่ พระยายมราช (แบน) จึงยกทัพไปยังเมืองพระตะบองเป็นครั้งแรก และได้ปะทะกับทัพเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับตัวได้แล้วฆ่าเสีย แล้วพระยายมราช (แบน) ก็ทำการในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการประเทศเขมรไปพลางๆ
ต่อมาประเทศเขมรก็แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ประจวบกับมีสงครามแขกจามจะยกมาตีเขมร พระยายมราช (แบน) เห็นจะสู้ไม่ได้จึงพาเจ้านายเชื้อพระวงศ์เขมรที่เหลืออยู่มีนักองค์เอง เจ้าชายองค์น้อยมีพระชันษาเพียง 10 ปี อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ
รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม นอกจากนั้นเจ้าหญิงซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของนักองค์เองอีก 2 องค์ คือ นักองค์อีและนักองค์เภานั้น สมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ทรงรับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอก ส่วนพระยายมราช (แบน) ได้รับแต่งตั้งจากความดีความชอบเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ต้นตระกูลอภัยวงศ์ นับแต่นั้น
เมื่ออำนาจแขกจามในเขมรเสื่อมลง เหล่าขุนนางจึงได้ร้องขอพระราชทานรัชทายาท คือนักองค์เอง ออกไปครองประเทศเขมร รัชกาลที่ 1 ยังไม่ทรงอนุญาตเพราะทรงเห็นว่านักองค์เองยังทรงพระเยาว์อยู่มาก เกรงจะมีอันตราย แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ออกไปรั้งราชการกรุงกัมพูชาอยู่ ณ เมืองอุดงฤาชัย ตั้งแต่ปีมะโรงฉศก ตรงกับปี ค.ศ. 1784 ต่อมาเมื่อนักองค์เองทรงเจริญพระชันษาและได้ทรงผนวชแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกมาครองเขมรสืบทอดต่อมา โดยได้รับพระราชทานนามว่าสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี[4]
จากการที่สมาชิกในราชวงศ์เขมรเข้ามาสมานสัมพันธ์กับพระราชวงศ์จักรีทั้งทางตรงคือนักองค์อีและนักองค์เภาได้เป็นพระสนมเอกในกรมพระราชวังบวรฯ และทางอ้อมคือนักองค์เองได้รับสถาปนาเป็นพระราชบุตรบุญธรรมในรัชกาลที่ 1 ทำให้เชื้อพระวงศ์เขมรถือเป็นประเพณีที่จะจัดส่งกุลบุตรกุลธิดาเข้ามาฝากตัวในราชสำนักกรุงเทพฯ และพระเจ้าแผ่นดินไทยได้กลายเป็นผู้อุปถัมภ์และผู้แต่งตั้งกษัตริย์เขมรนับแต่นั้น
การเมืองที่เกิดจากระบบพ่อปกครองลูกได้ผูกมัดจิตใจให้เกิดความจงรักภักดีระหว่างสองราชอาณาจักรตลอดมา กษัตริย์เขมรที่เคยเสด็จมาพำนักและเจริญพระชันษาในกรุงเทพฯ สืบสันตติวงศ์ต่อกันมาในระยะนั้นมีสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองค์เอง) สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์)
ประเพณี “กินเมือง” กับสายสกุลอภัยวงศ์
การแต่งตั้งเจ้าเมืองในสมัยโบราณ ที่สืบเนื่องกันลงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏว่าได้แต่งตั้งกันมาแล้วแต่ความเหมาะสมของบุคคล และสภาพความเป็นไปของท้องถิ่น แต่ส่วนมากแล้วพระเจ้าแผ่นดินมักจะทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ หรือไม่ก็ข้าราชการคนสำคัญออกไปเป็นเจ้าเมืองตามหัวเมืองน้อยใหญ่ ให้มีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ ผู้ได้รับแต่งตั้งมักเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการรบทัพจับศึก จึงเห็นได้ว่าเจ้าเมืองเก่าๆ มีชื่อเป็นนายทหารแทบทั้งสิ้น เช่น เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นพระยาคำแหงสงคราม เป็นต้น
ครั้นต่อมา เมื่อการศึกสงครามคลายความจำเป็นและห่างออกไปตามกาลสมัย ผู้ที่ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อมา มักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการหาผลประโยชน์ให้แก่ท้องพระคลังหลวง และเป็นผู้ที่ไพร่บ้านพลเมืองรักใคร่นับถือเป็นสำคัญ ระบบการตั้งเจ้าเมืองแบบนี้เรียกประเพณีกินเมือง
นอกจากนั้นในสมัยก่อนยังมีหัวเมืองอีกประเภทหนึ่งเรียกหัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองชนต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนติดต่อกับประเทศอื่น หัวเมืองเหล่านี้มีเจ้าเมืองซึ่งเป็นท้าวพระยาหรือเจ้านายของชนชาตินั้นๆ เป็นผู้ปกครองตามจารีตประเพณีของท้องถิ่น แต่ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองนั้น จะต้องบอกเข้ามาทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง และเจ้าเมืองนั้นจะต้องถวายต้นไม้ทองเงินกับเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด 3 ปีต่อครั้ง มิฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็จะทรงแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางออกไปปกครองเช่นในกรณีของหัวเมืองเขมรที่กำลังกล่าวถึงนี้ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางไทยออกไปกินเมือง[6]
เพื่อตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ในฐานะที่ประเทศเขมรเรียบร้อยก็ได้อาศัยน้ำพักน้ำแรงของท่านผู้นี้อยู่มาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงได้ทรงขอเมืองพระตะบองกับเมืองเสียมราฐ ให้พระยาอภัยภูเบศร์เป็นบำเหน็จรางวัลครอบครอง และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยตรง เพื่อคอยคุ้มครองประเทศเขมรอย่างใกล้ชิด สมเด็จพระนารายณ์ฯ (นักองค์เอง) ก็ทรงยินดียกเมืองพระตะบองกับเสียมราฐ รวมทั้งนครวัดและนครธม ถวายตามพระราชประสงค์
เขมรจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตั้งแต่นั้นมา คือส่วนที่ขึ้นกับสยามโดย ตรงเรียกว่า “เขมรส่วนใน” ประกอบด้วยหัวเมืองหลักๆ คือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ โปริสาท และอุดงฤาไชย มีเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นเจ้าเมือง ส่วนที่เหลือเรียก “เขมรส่วนนอก” คือหัวเมืองตั้งแต่พนมเปญไปจนจรดเขตแดนภาคตะวันออกติดชายแดนญวน มีเจ้าเขมรปกครองต่างหาก อนึ่ง ประเพณีกินเมืองสิ้นสุดลงภายหลังปี ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) เมื่อเกิดการปฏิรูปการปกครองขึ้น
การกินเมืองของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) มีลักษณะพิเศษคือ ถึงแม้จะขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่เพราะเป็นเมืองเขมร จึงโปรดให้ปกครองกันเองตามประเพณีเขมร และให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เก็บภาษีอากรใช้จ่ายในการปกครองโดยลำพัง ตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองเขมรส่วนใน จึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลูกหลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ตลอดมา รวมเวลา 112 ปี (ค.ศ. 1794-1906) นับได้ 5 รัชกาล มีชื่อเจ้าเมืองสืบกันลงมาดังนี้
เจ้าเมืองคนที่ 1 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน)
คนที่ 2 พระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) (เดิมชื่อพระยาพิบูลย์ราช ชื่อแบนเหมือนบิดา)
คนที่ 3 พระยาอภัยภูเบศร์ (รส)
คนที่ 4 พระยาอภัยภูเบศร์ (เชด)
คนที่ 5 เจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช
คนที่ 6 พระยาอภัยภูเบศร์ (ม่วง)
คนที่ 7 เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย)
คนที่ 8 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) (เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย ก่อนคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส ค.ศ. 1906)[3]
ฝรั่งเศสเล็งเห็นความสำคัญของดินแดนเขมร
ความสำเร็จของเซอร์จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring) ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีอังกฤษในการทำสัญญาเบาริ่งกับสยามในปี ค.ศ. 1855 สร้างความหนักใจให้ฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในผู้นำลัทธิจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกับอังกฤษ ฝรั่งเศสไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงส่งมงติญี (Monsieur de Montigny) ทูตของตนเข้ามายังราชสำนักสยามบ้างในปี ค.ศ. 1856
ฝรั่งเศสพุ่งเป้าหมายอย่างรวดเร็วไปยังราชอาณาจักรเขมร ความทะเยอทะยานด้านอาณานิคมของฝรั่งเศสปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อบรรดานักการเมืองของฝรั่งเศสเข้าใจถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง โดยหวังที่จะใช้แม่น้ำนี้เป็นเส้นทางใหม่เข้าสู่เมืองจีนและทิเบตอันอุดมสมบูรณ์และเป็นดินแดนในฝันของบรรดามหาอำนาจในยุโรป ความมั่งคั่งของทะเลสาบเขมร และแหล่งจับปลาขนาดใหญ่ดึงดูดความสนใจของฝรั่งเศสมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากเขมร นอกจากชัยภูมิอันล้ำเลิศของเขมรที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำโขงแล้ว เขมรยังมีทรัพยากรป่าไม้และแหล่งอัญมณีอันประเมินค่ามิได้ จำพวกพลอย ไพลินและนิล จำนวนมหาศาล ซึ่งจะนำความมั่งคั่งร่ำรวยมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ
ก่อนหน้านั้นเขมรเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่กอปรด้วยเดชานุภาพ มาบัดนี้ลดอำนาจลงเหลือเพียงหัวเมืองไม่กี่แห่ง ซึ่งทั้งญวนและสยามต่างก็แย่งชิงกันครอบครองช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ภายหลังที่ฝรั่งเศสรบชนะญวนจึงยึดโคชินไชนา (ญวนใต้) ไป ฝ่ายสยามก็ได้เมืองมโนไพร ท่าราชปริวัตร พระตะบอง และเสียมราฐรวมทั้งนครวัด [5]
ราชอาณาจักรเขมรจึงเป็นเพียง “รัฐกันชน” ระหว่างชาติทั้งสอง รัฐกันชนนี้เองจึงเป็นที่ฝรั่งเศสหมายมั่นที่จะได้ไป ทั้งนี้เพราะต้องการสถาปนาโคชินไชนาให้สมบูรณ์ ซึ่งก็ใกล้จะเป็นของฝรั่งเศสในไม่ช้าและจะได้ใช้เป็นฐานสำหรับขยายอิทธิพลให้กว้างไกลยิ่งขึ้นไปทางเหนือ
อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1856 แทนที่จะกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศส กลับเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสยึดกรุงเทพฯ เป็นที่มั่น อันเป็นที่ที่ฝรั่งเศสจะใช้ก่อความเดือดร้อน และความระแวงสงสัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ดังที่ทรงหวาดระแวงอยู่แล้ว ทั้งยังเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าใจถึงผลประโยชน์ อันจะเกิดจากการแผ่อำนาจไปยังราชอาณาจักรเขมร ซึ่งบังเอิญโชคร้ายที่ตกเป็นประเทศราชของสยาม การอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศสทำให้สยามลุกขึ้นต่อต้าน ด้วยสยามเป็นชาติที่หวงแหนสิทธิความเป็นเจ้าอธิราชของตน และเคร่งครัดต่อการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนที่ตนครอบครองอยู่[5]
รักสามเส้า สยาม-เขมร-ฝรั่งเศส สมัย ร.4
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตระหนักถึงพิษภัยจากการคุกคามของฝรั่งเศสมีมากกว่าอังกฤษ ในขณะที่พระองค์ทรงแสวง หาหนทางที่จะป้องกันมิให้ฝรั่งเศสคุกคามสยามประเทศ พระองค์ก็ยังต้องทรงพะว้าพะวังกับการกีดขวางมิให้เขมรหันไปคบค้ากับฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะไม่ทรงสามารถต้านทานความดื้อดึงของฝรั่งเศสได้ ท่าทีของสยามในยุคนี้ดำเนินอยู่แบบรักสามเส้าคือไม่มีใครสมหวังได้ทั้งหมด กล่าวคือถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงรักษาสัมพันธภาพกับฝรั่งเศสไว้ได้ พระองค์ก็ต้องทรงยอมให้ฝรั่งเศสเฉือนประเทศเขมรออกไปจากขอบขัณฑสีมาด้วยความขมขื่นพระทัย
เมื่อสิ้นสมเด็จพระหริรักษ์ฯ ในปี ค.ศ. 1860 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาพระนโรดมฯ ผู้ซึ่งเติบโตในกรุงเทพฯ ให้ออกไปครองเมืองเขมร พระราชทานพระนามว่าสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ กรุงปารีสเห็นเป็นจังหวะดีจึงส่งนายพลกรองดิแยร์เข้ามาขอเฝ้ากษัตริย์เขมรองค์ใหม่ แล้วเลยถือโอกาสแย้มให้เห็นผลประโยชน์ที่เขมรจะได้รับถ้าทำสัญญากับฝรั่งเศส ข่าวนี้รั่วไหลเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเล็งเห็นถึงอันตรายที่เมืองประเทศราชเขมรอันเป็นที่รักกำลังใกล้ที่จะแยกตัวออกไปในไม่ช้า
ในปีเดียวกันนั้นเอง มีพระราชดำริให้รื้อปราสาทเขมร 2 องค์ เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงตลอดไป ทรงกำหนดให้ขนย้ายมาไว้ที่เขามหาสวรรค์องค์หนึ่งและที่วัดปทุมวันอีกองค์หนึ่ง ทรงคัดเลือกปราสาทตาพรหมอันงดงามเป็นองค์แรกแต่ก็ไม่สำเร็จ บังเอิญเกิดอาเพศมีกองทหารเขมรโบราณฮือออกมาจากป่าฆ่าขุนนางไทยผู้ควบคุมการรื้อถอนจนเสียชีวิต จึงโปรดให้ระงับแผนทั้งหมดทันที แล้วโปรดให้จำลองปราสาทนครวัดอย่างย่อ เข้ามาสร้างไว้แทนภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
กระทั่งปี ค.ศ. 1863 สมเด็จพระนโรดมฯ ทรงยอมทำสัญญาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลกรุงปารีส ฝ่ายฝรั่งเศสประกาศว่าเป็นไปโดยความสมัครใจของสมเด็จพระนโรดมฯ เอง เพราะอยู่ภายใต้อารักขาของสยามไม่ผาสุก ในขณะที่ตัวสมเด็จพระนโรดมฯ ทรงส่งพระราชสาส์นเข้ามากราบทูลว่า ถูกแม่ทัพฝรั่งเศสบีบบังคับให้ทำสัญญาฉบับนี้
นายเดวิด แชนด์ เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารเขมรบันทึกเพิ่มเติมอีกว่า สมเด็จพระนโรดมฯ ทรงยอมยกกรุงกัมพูชาให้อยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส เพื่อปกป้องความมั่นคงของราชบัลลังก์และพิทักษ์อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองของพระองค์ แต่ก็ระบุไว้อย่างสงสัยว่า ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดถึงพระราชประสงค์ที่แท้จริงในการตัดสินพระทัยครั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์ที่จะรักษาฐานะเจ้าอธิราชอันชอบธรรมของพระองค์ไว้ เพื่อผูกมัดราชสำนักเขมรไว้กับสยามต่อไป จึงได้ทำ “สัญญาลับ” กับเขมรขึ้นฉบับหนึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1863 ในสัญญานั้น ฝ่ายสยามอ้างสิทธิ์ในการประกอบพิธีราชาภิเษกกษัตริย์เขมร ซึ่งในขณะนั้นพระนโรดมฯ ยังไม่ได้รับการราชาภิเษก แต่ฝรั่งเศสก็หาทางขัดขวางไว้เช่นเคย ในที่สุดฝ่ายไทยก็ต้องยอมให้พระนโรดมฯ ทำพิธีราชาภิเษกที่เมืองอุดงมีชัยในเขมรแทนที่กรุงเทพฯ
กงสุลฝรั่งเศสชื่อนายโอบาเรต์ (M. Aubaret) พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้สัญญาลับฉบับนี้เป็นโมฆะ เพื่อให้รวดเร็วขึ้นฝรั่งเศสส่งเรือรบชื่อ “มิตราย” เข้ามาข่มขู่ในน่านน้ำเจ้าพระยา ในที่สุดเจ้าพระยากลา โหม (ช่วง บุนนาค) จำยอมลงนามในสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 สาระสำคัญมีเพียง 4 ข้อ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขมรและสยามขาดกันโดยเด็ดขาด คือ
- พระเจ้าแผ่นดินไทยยอมรับว่าเขมรตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส
- สัญญาลับระหว่างสยามกับเขมรเป็นโมฆะ
- อาณาจักรเขมรเป็นอิสระ อยู่ระหว่างดินแดนในครอบครองของฝรั่งเศสและสยาม
- เขตแดน “เมืองบัตบอง นครเสียมราบ” และเมืองลาวของสยาม ซึ่งติดต่อเขตแดนเขมร ฝรั่งเศสยอมรับให้คงอยู่กับสยามต่อไป[5]
นับแต่นั้นมาฝรั่งเศสก็เดินหน้าขยายอำนาจในอินโดจีนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีเขมรเป็นที่มั่นใหม่ และฐานส่งกำลังบำรุงอันแข็งแกร่ง ในขณะที่ฝ่ายสยามหันหลังกลับไปล้อมรั้วเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้มั่นคง เพียงแค่รักษากรรมสิทธิ์ของขุนนางสยามเอาไว้ แต่ก็แทบจะไร้ความหมาย ในระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคตกะทันหัน ในปี ค.ศ. 1868 ภายหลังเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศักยภาพของสยามเหนือเขมรเข้าสู่ยุคอ่อนแอแบบไม่ทันตั้งตัวจนแทบจะเอาตัวไม่รอดเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสวยราชย์ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา พระองค์ทรงไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นเสาหลักให้หัวเมืองประเทศราชยึดเหนี่ยวได้เหมือนรัชกาลก่อนๆ
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชสำนักขาดสะบั้นลงแบบหักลำ เขมรส่วนในบัดนี้ตกอยู่ในความดูแลของครอบครัวเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์โดยสิ้นเชิง ตามกติกาเดิมสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ทุกฝ่ายยืนยันที่จะเคารพต่อไป แต่ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมเต็มที
ความตกลงฉันมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส กดดันให้สยามหาทางออกเรื่องเมืองเขมร
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่น่ากลัว และแสดงความก้าวร้าวเชิงนโยบายอย่างไม่ลดละ ภายหลังการเสด็จประพาสยุโรป ในรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1897 สถานภาพของสยามเริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้นำยุโรปชั้นแนวหน้ามากขึ้น แต่ชั่วเวลาไม่ถึง 7 ปี หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าอิทธิพลของมหาอำนาจขั้วใหม่ คือรัสเซียและเยอรมนีเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแถบนี้ อังกฤษ-ฝรั่งเศส จึงหาวิธี ปรองดองกันเพื่อกีดกันกระแสนิยมของชาติยุโรปอื่นๆ ออกไป
Anglo-French Entente หรือบางทีเรียก Entente Cordiale 1904 เป็นความตกลงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ภายหลังจากที่ทั้งสองมหาอำนาจตระหนักว่าผลประโยชน์ของตน เร่งเร้าให้ต่างฝ่ายต่างต้องสามัคคีกันแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่แล้วๆ มา โดยมีเจตนารมณ์แห่งการประนีประนอม เพื่อขจัดปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอียิปต์ โมร็อกโก แอฟริกา ตะวันตก มาดากัสการ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือประเทศสยาม[7]
ท่ามกลางบรรยากาศของความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่ได้มาจากการที่ฝรั่งเศสเองก็ต้องการปรับความเข้าใจกับอังกฤษ ตามแนวคิดของความตกลงฉันมิตรนั่นเอง ในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลสยามก็สามารถตกลงกับทางฝรั่งเศส เพื่อผ่อนปรนความเสียเปรียบบางประการโดยเฉพาะเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี อันเป็นหอกข้างแคร่ของฝ่ายไทยตั้งแต่อนุสัญญาฉบับ ร.ศ. 112 ถูกบังคับใช้เป็นต้นมา ข้อผ่อนผันนี้เรียกอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ฝรั่งเศสเร่งรัดอนุสัญญาฉบับนี้ให้เสร็จเร็วขึ้น ก็เพื่อรีบจัดโซนแนวชายแดนกับอังกฤษให้เป็นสัดส่วนโดยเร็วตามข้อตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส
ทว่าอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ก็ยังมีจุดอ่อนเป็นข้อผูกมัดที่ฝ่ายไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ดี กล่าวคือ ฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่มีข้อแม้ว่าจะสามารถไปตั้งค่ายใหม่ไว้ที่ตราดแทน นอกจากนั้นยังแสดงว่า ฝรั่งเศสเองก็ยังมีแผนการที่จะคงไว้ซึ่งอิทธิพลของตนในเขตแดนเขมรของไทยต่อไป เช่น การเรียกร้องสิทธิ์ที่จะสร้างทางรถไฟ เส้นทางฮานอย-พนมเปญ-พระตะบอง และร้องขอสิทธิ์ในการบังคับบัญชาตำรวจท้องที่ในเขตเขมรส่วนในซึ่งที่จริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของสยาม
ความตั้งใจของฝรั่งเศสในการครอบครองเขมรส่วนที่เหลือ กดดันให้สยามผ่อนปรนอภิสิทธิ์เหนือเขตปกครองพิเศษพระตะบองและเสียมราฐ ฝรั่งเศสเกรงว่าการผูกขาดของสยามแต่เพียงผู้เดียวย่อมเป็นตัวถ่วงความเจริญ มิให้อาณาจักรอินโดจีนของฝรั่งเศสครบถ้วนสมบูรณ์ได้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกเอกสิทธิ์พิเศษของขุนนางตระกูลอภัยวงศ์ในรัชสมัยนี้
เอกสารที่จิตร ภูมิศักดิ์ ตามหา
จิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์ไทยวิจารณ์ประเพณีกินเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ ในหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยเขียนพาดพิงถึงเขตปกครองพิเศษด้านพระตะบองและเสียมราฐเอาไว้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเนื้อหาน่ารู้ จึงนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
“การแบ่งสัดส่วนที่ดินยกให้แก่ข้าราชบริพารครอบครอง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือ การยกเขตแดนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2337 ครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ได้รั้งราชการกรุงกัมพูชาอยู่ช้านาน มีบำเหน็จความชอบแต่มิใช่พวกนักองค์เอง ซึ่งเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาขึ้นใหม่ จึงมีพระราชดำรัสขอเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ นักองค์เองก็ยินดีถวายตามพระราชประสงค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และเป็นต้นตระกูลวงศ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ซึ่งได้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองสืบมา
นี่เป็นหลักฐานเพียงบางส่วนเท่าที่หาได้จากเอกสารอันกระท่อนกระแท่นของเรา และก็เพราะเรามีเอกสารเหลืออยู่น้อยนี้เอง จึงทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นกระจ่างชัดนักว่าเราได้เคยมีการมอบที่ดินให้แก่กันจริงจังในครั้งใดเท่าใด และบางทีก็มองไม่เห็นว่าจะมอบให้กันอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราจะหันไปมองดูในประวัติศาสตร์ต่างประเทศที่มีการเก็บรักษาเอกสารไว้อย่างครบถ้วน เราก็จะมองเห็นได้ชัดขึ้น”[2]
ความรู้ที่ได้จากสำนวนนี้ คือ
- การครอบครองพระตะบองและเสียมราฐของขุนนางไทย เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตรงนี้เราไม่เคยทราบมาก่อน
- ข้อมูลเชิงลึกในเอกสารบ้านเราหาอ่านไม่ค่อยได้ ทำให้ต้องวิเคราะห์หาความจริงเอาเอง ในขณะที่เอกสารจากต่างประเทศเปิดกว้างมากกว่า แต่ก็หาอ่านลำบากอยู่ดี
วารสารร่วมสมัยที่พบต่อไปนี้ จึงน่าจะเป็นฐานข้อมูลที่คุณจิตรถามหาอยู่บ่อยๆ ในสมัยของคุณจิตร
วารสารนักล่าอาณานิคม ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ค.ศ. 1907
การตอบโต้ความตกลงฉันมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 คือการนำเอานโยบาย “ลู่ตามลม” กลับมาใช้ตามแผน “ยุทธศาสตร์กันชน” อีกครั้ง เพื่อที่จะอยู่ได้ท่ามกลางมวลหมู่จักรวรรดินิยมที่จ้องเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1907 ก็เพื่อเดินหน้าหาเสียงสนับสนุนจากบรรดาผู้นำประเทศในยุโรปที่ฝรั่งเศสเกรงใจ และต่อรองกับฝรั่งเศสโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้
การเสด็จไปเยือนผู้นำยุโรปของรัชกาลที่ 5 ในครั้งนี้สร้างความหนักใจให้ทางฝรั่งเศสอย่างมาก พันโทแบร์นาร์ (Colonel Bernard) หัวหน้าคณะปักปันเขตแดนของฝรั่งเศสเตือนรัฐบาลกรุงปารีสว่า การเสด็จมาจะเป็นอันตรายต่อแผนการของฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าแผ่นดินสยามสามารถร้องขอความเป็นธรรมให้ชาติที่เป็นกลาง (หมายถึง เยอรมนี เดนมาร์ก และอิตาลี) ยอมสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของตน อันจะเป็นการทำให้สิ่งที่ฝรั่งเศสพร้อมที่จะเสนอให้สยามหมดคุณค่าไป ดังนั้นการเจรจาใดๆ เพื่อให้รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยโดยรีบด่วน จึงมีความสำคัญเพื่อตกลงกันให้เรียบร้อย ก่อนการเสด็จประพาสยุโรปจะเกิดขึ้น
วารสารนักล่าอาณานิคม ชื่อ La Dépêche Coloniale ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1907 ชี้เบื้องหลังการเสด็จฯ ครั้งนี้ว่ามีเหตุผลทางการเมืองแฝงอยู่อย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในยุโรป โดยเฉพาะความตกลงฉันมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 เพิ่มความกดดันให้ผู้นำประเทศเล็กๆ แสวงหาความชอบธรรมที่จะคงอยู่บนแผนที่โลกต่อไป หนึ่งในหนทางที่เลือกใช้กันก็คือ “การประนีประนอม”[9]
“แท้จริงแล้ว สนธิสัญญาฉบับวันที่ 23 มีนาคม 1907 ระหว่างฝรั่งเศสและสยามก็คือ เพชรจากยอดมงกุฎ ที่แสดงให้เห็นคุณค่าของความพยายามที่จะตกลงกันที่ต่อยอดมาจากสนธิสัญญา ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 1904 และจากความพยายามที่จะปรองดองกัน ทำให้ได้ข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยที่จะไม่มีการเสียเปรียบเกิดขึ้นอีกเลย…เรายินดีที่จะยุติบทบาทของเราในเวลานี้ ขณะที่อำนาจของเรายังมีอยู่แลกกับดินแดนในอารักขาของเรา…หากสยามคล้อยตามสิ่งที่เราเสนอแล้ว สยามเองก็จะได้ข้อยุติที่ชาวสยามปรารถนา”[9]
และเนื่องจากวารสารฉบับนี้เป็นเอกสารกึ่งทางการ กึ่งข่าวสารมวลชน เนื้อหาของข่าวจึงได้รับการวิเคราะห์ให้เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป มากกว่าที่จะเป็นเอกสารของรัฐบาลอันกำกวม ดังใจความบางตอนที่จะไม่พบในต้นฉบับของสัญญาตัวจริงดังนี้
“การรื้อฟื้นเขตแดนเขมรในคราวนี้ จะทำให้เราได้จังหวัดอันมีค่า ที่เราสูญเสียไปกลับคืนมาด้วย รวมทั้ง
1. ขวัญและกำลังใจของชนชาวเขมรโดยรวม
2. ทรัพย์ในดินสินในน้ำอันมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของอินโดจีน
3. โบราณสถานอันล้ำเลิศของนครวัด[9]
เพื่อขจัดความบาดหมางและกินใจที่เคยมีต่อกันมา รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนดินแดนกัน แต่ในตอนแรกก็มีปัญหาอีกจนได้ เพราะเขมรส่วนในที่ฝรั่งเศสต้องการเป็นดินแดนกว้างใหญ่ถึง 30,000 ตารางกิโลเมตร และประชากรราว 3 แสนคน ประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนั้นไม่สมดุลกับการแลกเปลี่ยนกับเมืองตราด ที่มีเนื้อที่เล็กน้อยเพียง 4,000 ตารางกิโลเมตร กับประชากรเพียง 3 หมื่นคน ฝรั่งเศสจึงตกลงที่จะคืนเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) เพิ่มให้อีกและยอมยกเลิกสิทธิสภาพ นอกอาณาเขตให้ ซึ่งทำให้ฝ่ายสยามพอใจ”[9]
หนังสือพิมพ์ข่าวสารอาณานิคมอีกฉบับหนึ่งชื่อ Le Petit Journal MILITAIRE MARITIME COLONIAL ระบุอย่างโจ่งแจ้งว่า การเสด็จประพาสกรุงปารีสในรัชกาลที่ 5 เป็นเหตุผลทางราชการมากกว่าการเสด็จส่วนพระองค์ตามที่เข้าใจกัน และเพื่อจะได้ลงพระนามในสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนดินแดนกับทางฝรั่งเศส[10]
ข้อต่อรองในสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายนี้ ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนจนนาทีสุดท้าย แต่ก็พอมีร่องรอยปรากฏอยู่บ้างในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เช่น “อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง” (พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 24 ในไกลบ้าน)
นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัยของไทย บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย เล่าเหตุการณ์ขณะที่ครอบครัวของท่านกำลังถอยออกมา และสยามยอมสละดินแดนประเทศราชที่สยามหวง แหนที่สุดให้คนอื่นไป
“เรา [หมายถึงบรรพชนของท่าน] ได้ช่วยกันรักษาพระราชอาณาจักรให้ตลอดรอดฝั่งมาจนกระทั่งตอนหลังเขมรก็กลายเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็พยายามที่จะเอาแผ่นดินเหล่านี้กลับคืน จึงขอตั้งกงสุลขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง แล้วก็หาเรื่องหาราวต่างๆ ตระกูลของผมก็ช่วยกันผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา ภายหลังสัญญาปี 1904 ฝ่ายเราเจรจากันจนฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่ดันไปยึดตราดไว้แทน และขอเจรจาเรื่องมณฑลบูรพา (เขมรส่วนใน) ต่อไป ทางไทยเราก็ไม่มีหนทางที่จะทำอย่างอื่น ต้องเอากุ้งฝอยแลกปลากะพง
ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ผมฟังนั้น ได้มีพระบรมราชโองการเรียกเจ้าคุณพ่อของผมลงมากรุงเทพฯ และทรงรับสั่งถามความเห็น คุณพ่อของผมก็กราบบังคมทูลว่า เราควรจะเอาจังหวัดที่เป็นของไทยไว้ ส่วนที่เป็นจังหวัดเขมรถ้าจำเป็นจะต้องเสีย ก็ควรยอมเสียจังหวัดที่เป็นเขมร รักษาจังหวัดไทยไว้ดีกว่า ก็เป็นอันตกลงทำสัญญาคืนมณฑลบูรพาให้แก่เขมรไป ในการเจรจาขั้นต่อไปฝรั่งเศสได้บอกว่า สำหรับเจ้าคุณพ่อผมนั้นจะอยู่ที่พระตะบองต่อไปก็ได้ เขาขอร้องให้อยู่ ส่วนเกียรติยศเกียรติศักดิ์เคยมีมาอย่างไรก็จะขอให้อย่างนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ก็ทรงรับสั่งเรียกเข้ามาถามว่า ว่ายังไงจะอยู่ทางโน้นหรือจะคิดอย่างไร แต่เจ้าคุณพ่อของผมได้กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีนายแต่เพียงคนเดียว ขอกลับบ้านเดิม และเราก็อพยพมาในเวลานั้น…แน่ละการที่เราไปอยู่เมืองเขมรมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนกระทั่งปลายรัชกาลที่ 5 นั้น การปะปนระหว่างเขมรกับพวกผมนี่มีมากมาย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คราวนี้ท่านก็พิจารณาเอาเองเถิดว่าผมจะเป็นเขมรหรือเป็นไทย”[1]
ภายหลังเขมรตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์แล้ว สื่อมวลชนฝรั่งเศสตั้งตัวเป็นคนกลางสร้างกระแสนครวัด ให้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกษัตริย์เขมร นโยบายดังกล่าวคือการรณรงค์ให้มีการเพิ่มสำนึกในเอกลักษณ์ของชาติ โดยเชื่อมโยงเขมรเข้ากับยุคของเมืองพระนคร การหยิบยกนครวัดขึ้นมาก็เพื่อใช้เป็นภาพแทนศักดิ์ศรีของชาติ ซึ่งสื่อความหมายได้โดยง่าย
แต่สำหรับชาวฝรั่งเศสแล้ว เมืองพระตะบองและเสียมราฐดูจะมีประโยชน์และความสำคัญแก่ระบบการปกครอง และนักวิชาการชาวฝรั่งเศสมากกว่าชาวเขมรทั่วไป ภาพของอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ของนครวัด จึงถูกดึงขึ้นมาแทนที่สัญลักษณ์อื่นๆ ที่อธิบายจุดมุ่งหมายไม่ได้ การที่ชาวเขมรได้นครวัดกลับคืนไป ก็เท่ากับฝรั่งเศสได้ดินแดนที่นครวัดตั้งอยู่คืนไปด้วย ซึ่งหมายถึงอาณาเขตที่สมบูรณ์แบบของอินโดจีนที่ ฝรั่งเศสต้องการ
ทฤษฎีอื่นๆ ที่ฝรั่งเศสใช้ในการปลุกจิตสำนึกอย่างได้ผลสำหรับการสร้างสัญลักษณ์ก็คือ การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าศรีสวัสดิ์รับมอบดินแดนคืนจากสยาม ในปี ค.ศ. 1907 และการสร้างนครวัดจำลองไปอวดสายตาคนทั้งโลก ตามงานมหกรรมโลกที่ตนถนัด ซึ่งจัดอย่างสม่ำเสมอในฝรั่งเศส เช่น ในปี ค.ศ. 1867, 1878, 1900, 1922 และ 1932 ตามลำดับ
สำหรับชาวสยาม การโอนคืนพระตะบองและเสียมราฐ ถือเป็นการตัดสินใจเพื่อเกียรติภูมิของชาติเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ต้องปกปักรักษาไว้ก็คือเขตแดนสยามของเราเองโดยพฤตินัย ดังนั้นเมื่อข้อแลกเปลี่ยนอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ การเก็บรักษานครวัด ซึ่งมิใช่ของของสยามแต่ดั้งเดิมจึงไม่มีคุณค่าและไม่มีความหมายอีกต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้
อ่านเพิ่มเติม :
เอกสารประกอบการค้นคว้า
[1] ควง อภัยวงศ์, พันตรี. สุนทรพจน์เรื่องชีวิตของข้าพเจ้า. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์, 2526.
[2] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2548.
[3] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิสดาร). กรุงเทพฯ, 2509.
[4] เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2490.
[5] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539.
[6] สอ สัจจวาที. ความรู้เรื่องเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : สาส์นสวรรค์, 2507.
[7] สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A-B. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2531.
[8] สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539.
[9] La Dépêche Coloniale. Paris, 30 Juin 1907.
[10] Le Petit Journal MILITAIRE MARITIME, COLONIAL, Paris, 30 Juin 1907.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2562