“ไม่ได้ขโมย” แต่ “ยืมไปโชว์” ตามรอยนักสำรวจฝรั่งเศสสมัยร.5 ขนสมบัตินครวัด ไปปารีส

ม. เดอลาปอต ควบคุมลูกหาบครึ่งร้อยคนขนย้ายเทวรูปขนาดใหญ่ข้ามลำธารกว้าง (ภาพจาก L’ ILLUSTRATION, 22 Aout 1874) ภาพต้นฉบับจาก ไกรฤกษ์ นานา เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม 2562.

“นครวัด” ตามทัศนะของรัฐบาลสยาม

วัตถุโบราณจากนครวัดถูกขนย้ายออกนอกพื้นที่มาเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถประเมินว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าไร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จไปเยือน “นครวัด-นครธม” ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน-14 ธันวาคม 2467 (ค.ศ. 1924)

ทัศนะต่างๆ หลากหลายประเด็นของพระองค์ถูกบันทึกไว้ในนิราศนครวัด ช่วยเปิดโลกทรรศน์ให้เราเห็นถึงบทบาทและความคิดของชาวสยามในการปกปักรักษาและดูแลพื้นที่เมืองพระนครในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ที่น่าสนใจยิ่งแม้นว่าจะเป็นการยอมรับอยู่กลายๆ ว่าฝรั่งเศสมีผู้ชำนาญการมากกว่าที่จะเปิดเผยเรื่องของนครวัด ดังพระปรารภต่อไปนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“แต่เมืองนครธมร้างมาช้านานกว่าห้าร้อยปี บ้านเมืองราษฎรตลอดจนราชมนเทียรที่พระมหากษัตริย์เสด็จอยู่สูญเสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่สิ่งซึ่งสร้างด้วยอิฐและศิลาเป็นถาวรวัตถุ แม้สิ่งเหล่านั้นก็หักพังทำลายเสียโดยมาก ในบรรดาโบราณสถานแถวนี้ยังนับว่าคงดี (คือหักพังน้อย) มีแต่นครวัด ส่วนนครธมนั้นทั่วตัวเมืองและวัดวาปราสาทกลายเป็นเหมือนซ่อนอยู่ในป่าสูงอันรกชัฏ

แต่ก่อนนี้ใครจะไปดูของโบราณในนครธมก็ต้องขี่ช้างบุกป่า หาคนไปช่วยเฉพาะถางทางจึงไปดูได้ พึ่งเที่ยวดูได้สะดวกเมื่อฝรั่งเศสจัดการรักษาของโบราณในที่นี้ วิธีการที่จัดนั้น รัฐบาลมอบหน้าที่ให้สมาคมเอคโคลฝรั่งเศสเอกสตรีมออเรียนต์ ซึ่งศาสตราจารย์ฟีโนต์เป็นนายกอยู่ในบัดนี้ อำนวยการรักษาของโบราณ สมาคมจัดให้มีนายช่างฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการรักษาของโบราณ ตั้งทำการประจำอยู่ที่เมืองเสียมราษฐ์คนหนึ่ง มีที่พักสำนักงานและคลังเป็นสาขาอยู่ที่ในนครธมอีกแห่งหนึ่ง ใช้เขมรเป็นนายงานและจ้างราษฎรเป็นคนรองงานประจำทำการราว 300 คน จ่ายเงินอยู่เดี๋ยวนี้ประมาณปีละ 50,000 บาท เป็นเงินของรัฐบาลกรุงกัมพูชาจ่ายส่วนหนึ่ง

สมาคมแบ่งเงินที่รัฐบาลฝรั่งเศสอุดหนุนสมาคมมาช่วยด้วยอีกส่วนหนึ่ง วิธีที่ตรวจรักษาของโบราณสถานนั้น เริ่มต้นเขาลงมือทำทะเบียนให้รู้จำนวนและตำแหน่งแห่งที่ของโบราณว่ามีอยู่ที่แห่งใดๆ บ้าง ข้อนี้ได้ยินว่าโบราณสถานที่เขาจดทะเบียนไว้แล้วในเขตแดนกรุงกัมพูชามีถึง 600 แห่ง

การค้นพบโบราณสถานที่ยังไม่พบนั้นตั้งสินบนไว้ ถ้าคนในพื้นเมืองใครไปพบปะมาบอกผู้จัดการ และเขาไปตรวจพบได้ความจริงแล้วก็ให้สินบนเป็นเหน็จรางวัลแก่ผู้มาบอกเป็นเครื่องล่อให้คนอื่นช่วยค้นหาด้วย

ส่วนโบราณสถานที่พบแล้วนั้นชั้นแรกเขาไปตรวจดูให้รู้ชนิดว่าเป็นฝีมือก่อสร้างอย่างดีหรือเป็นแต่ปานกลางและอย่างเลว เลือกรักษาแต่สิ่งที่ดีมิให้เป็นอันตรายหายสูญหรือหักพังเสียชั้นหนึ่งก่อน ของดีที่ยกขนได้เก็บส่งไปรักษาไว้ยังพิพิธภัณฑสถาน สิ่งที่จะยกย้ายไม่ได้แห่งใด ควรก่อคอนกรีตค้ำหรือเอาเหล็กรัดรักษามิให้พังก็ทำการรักษาไว้เสียชั้นหนึ่งก่อน ยังไม่แผ้วถางบริเวณสถานนั้นๆ การแผ้วถางค่อยทำไปทีละแห่งๆ แห่งใดที่แผ้วถางแล้วก็มิให้กลับรก บางแห่งก็ถึงพยายามขุดค้นชิ้นศิลาที่หักพังกระจายอยู่ เอากลับขึ้นเรียบเรียงให้ดีอย่างเดิม แต่ทำเช่นนั้นเฉพาะที่เป็นของงามแปลกประหลาด ถ้าเป็นของสามัญก็เป็นแต่ถางไว้ให้เตียน” [4]

กล่าวโดยสรุปอีกครั้งว่านอกจากข้าหลวงไทยจากเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ จะปกครองดูแลนครวัด-นครธมแบบหลวมๆ แล้ว รัฐบาลสยามยังไม่มีศักยภาพหรือความรอบรู้ทางโบราณคดีโดยสิ้นเชิง อีกทั้งรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ก็ยังขาดความสนใจในอนาคตของพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้ [1]

นักสำรวจยัน “ไม่ได้ขโมย” แต่เอาของไปโชว์ที่ปารีส

นักสำรวจยุคแรกผู้เดินทางไปถึงนครวัด (ม. อองรี มูโอต์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 – ผู้เขียน) กล่าวถึงเขมรว่า “กัมพูชาเป็นแผ่นดินที่ร่ำรวยมหาศาล แต่มีกษัตริย์ (สมเด็จพระนโรดม) ผู้อ่อนแอและกำลังละเลยราชสมบัติของพระองค์” [9]

ทรงชื่นชมกับของบรรณาการที่ฝ่ายฝรั่งเศสนำมาถวาย และข้อเสนอที่จะอุปถัมภ์ราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยการแลกเปลี่ยนกับสัมปทานการทำป่าไม้และสิทธิ์ในการสำรวจแหล่งแร่ธาตุ เป้าหมายของฝรั่งเศสมีแรงจูงใจคือการค้าขาย เนื่องจากพนมเปญเป็นเมืองใหญ่ที่ติดต่อใกล้ชิดกับหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ตังเกี๋ย หรือนครเว้ อีกทั้งมีทางออกทะเล (จีนใต้) อยู่ไม่ไกล จึงเป็นที่ตั้งเมืองที่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์

ช่วงทศวรรษ 1866-76 จึงนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับฝรั่งเศส เพราะอาณานิคมใหม่อย่างเขมรตกอยู่ในกำมือของข้าราชการหนุ่มไฟแรงและมีหัวก้าวหน้า เขาเหล่านี้กระหายชื่อเสียง ตำแหน่ง และหลงใหลในความแปลกใหม่ของดินแดนที่ค้นพบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากโลกอันป่าเถื่อนอย่างทวีปแอฟริกา โบราณสถานอย่างนครวัดในเขมรจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นที่น่าตื่นเต้นกว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาสำหรับชาวฝรั่งเศส [9]

หัวหน้าทีมผู้ขนย้ายสมบัตินครวัดออกนอกประเทศสำเร็จมีนามว่า หลุยส์ เดอลาปอต (Louis Delaporte) เขาประทับใจในความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมร และต้องการอวดคนทั้งโลกในสิ่งที่เขาค้นพบเพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความปราดเปรื่องของนักวิชาการฝรั่งเศสให้ประจักษ์[10]

เขาได้รับมอบหมายให้นำทีมนักสำรวจจากไซ่ง่อนเดินทางสู่ตังเกี๋ย ระหว่างทางปักธงไว้ล่วงหน้าที่จะศึกษาและสำรวจนครวัดอย่างจริงจังกว่าทุกคณะที่ผ่านมา เป้าหมายสำคัญคือการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างจากที่นั่น และนำ “ตัวอย่างโบราณวัตถุกลับไปปารีสเพื่อศึกษา แต่เดอลาปอตได้ทำมากกว่านั้น

ม. เดอลาปอตมีลูกหาบและลูกมือทีมใหญ่ที่สุดติดตามไปด้วยถึง 50 คน ที่เมืองพระนครเขาได้วาดภาพพิมพ์เขียวฉบับสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกับแผนงานที่จะถ่ายสำเนาแผนภูมิทุกอย่างของนครวัด-นครธมอย่างที่ไม่เคยมีทีมงานชุดใดทุ่มเทมาก่อน

เขาสามารถนำโบราณวัตถุชิ้นงามๆ มากกว่า 70 ชิ้น โดยมากเป็นรูปแกะสลักขนาดใหญ่และขนาดกลางกลับไปปารีส ซึ่งเดอลาปอตอ้างว่าได้ซื้อหรือแลกเปลี่ยนกับของมีค่าที่ติดตัวไป เช่น รูปปั้นเทพเจ้ากรีกและภาพวาดภาพเขียนโดยจิตรกรยุโรป อันเป็นที่โปรดปรานของพระนโรดม เขาได้ชักจูงกษัตริย์เขมรให้เชื่อในชื่อเสียงเกียรติยศที่พระองค์จะได้รับแลกกับรูปปั้นที่ทิ้งร้างอยู่ในป่า [10]

ทั้งนี้ ม. เดอลาปอตได้ยืนยันกับพระนโรดมอย่างแข็งขันว่า

“ทางการฝรั่งเศสจะได้มอบของขวัญอันมีค่าจากกรุงปารีสเป็นสินน้ำใจเพื่อตอบแทนไมตรีจิตที่พระองค์มอบให้”

ทีมนักล่าสมบัติคาดหวังว่าจะได้นำวัตถุโบราณอันน่าตื่นเต้นจากเขมรไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แต่ของทั้งหมดกลับถูกส่งไปพักไว้ ณ พระราชวังกองเปียญ…เพื่อการนำไปโชว์ภายในงานมหกรรมโลก หรือ Universal Exposition ของปารีสในปี 1878

ตราบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าวัตถุโบราณจากเมืองมรดกโลกจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ถูกนำออกนอกประเทศโดยชาวฝรั่งเศส

แต่ก็เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายว่าของทั้งหมดตกค้างอยู่ ณ กรุงปารีสมานานกว่า 140 ปีแล้วภายในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่จัดแสดงอยู่มากมายก่ายกองที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ (Guimet Museum) อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดย ไม่มีใครกล้าแตะต้อง [10]

ชมไกรฤกษ์ นานา เล่าบริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสยาม กัมพูชา และฝรั่งเศสจากคลิปด้านล่างนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “นักสำรวจฝรั่งเศสยุครัชกาลที่ 5 ผู้ขนย้ายสมบัตินครวัด แจง ‘ไม่ได้ขโมย’ แต่ ‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้’ (ตอนที่ 1),” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 40 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2562), น. 62-82.

[4] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิราศนครวัด. สำนักพิมพ์มติชน, 2545.

[9] Chandler, David. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

[10] Dagens, Bruno. Angkor Heart of an Asian Empire. London : Thames & Hudson, 1989.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “นักสำรวจฝรั่งเศสยุครัชกาลที่ 5 ผู้ขนย้ายสมบัตินครวัด แจง ‘ไม่ได้ขโมย’ แต่ ‘ยืมเอาไปโชว์ที่ปารีส’ (ตอนจบ)” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564