“อองรี มูโอต์” ผู้ปลุกกระแสความนิยม “นครวัด” 

นครวัด

อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงเรื่องการค้นพบนครวัด (อีกครั้ง/ครั้งใหม่) จนทำให้ชาวตะวันตกตกตะลึงในความยิ่งใหญ่ของปราสาทหินเขมร

อองรี มูโอต์ มีชื่อเต็มว่า อเล็กซองดรฺ อองรี มูโอต์ (ALexandre Henri Mouhot) เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1826 (พ.ศ. 2369) ที่เมืองมงเบลิยารด์ แคว้นดูบ์ ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวฐานะปางกลาง ที่บิดาและมารดารับราชการครู

Advertisement

มูโอต์สำเร็จการศึกษาด้านนิรุกติศาสตร์ วิชาที่ว่าด้วยที่มาของคำ และภาษากรีก แต่ในเรื่องความชื่นชอบส่วนตัวนั้น เขาสนใจศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) ทำให้เขาสนใจศึกษาธรรมชาติในต่างแดน 

เมื่อมูโอต์อายุได้ราว 30 ปี เขาได้อ่านหนังสือ “ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม” (The Kingdom and the People of Siam) ของเซอร์จอห์น เบาริ่ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ได้อาศัยข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (Descripthion de Royaume Thaï ou Siam) ของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ก็ทำให้มูโอต์กระหายใคร่รู้ดินแดนอันห่างไกลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากเดินทางออกไปผจญภัย

27 เมษายน ค.ศ. 1858 (พ.ศ. 2401) มูโอต์ในวัย 32 ก็เดินทางออกจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ล่องเรือข้ามน้ำข้ามทะลหลายเดือน จนถึงวันที่ 12 กันยายน ในปีเดียวกันนั้น เขาก็เดินทางมาถึงสยามประเทศ

มูโอต์เดินทางสำรวจผจญภัย และเก็บข้อมูลตัวอย่างพืชและสัตว์ในดินแดนแถบนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกไปอยุธยา พระพุทธบาท และพระพุทธฉาย สระบุรี, ครั้งที่สอง ไปเขมรผ่านทางจันทบุรี, ครั้งที่สาม ไปเพชรบุรีที่กำลังก่อสร้างพระนครคีรี และครั้งที่สี่ ไปภาคอีสานของสยาม และหลวงพระบาง

อองรี มูโอต์

อองรี มูโอต์ กับนครวัด

มูโอต์ไม่ใช่ชาวต่างชาติคนแรกที่ได้ไปเยือนนครวัด ก่อนหน้านี้มีทั้ง โจวต้ากวน ราชทูตชาวจีน, เคนเรียว ชิมาโน ชาวญี่ปุ่น, อันโตนิอู ดา มักดาเลนา บาทหลวงโปรตุเกส, บาร์โตโลเม เด อาร์เฆ็นโซลา ชาวสเปน เป็นต้น

แต่เพราะมูโอต์คือคนแรกๆ ที่พรรณนานครวัดอย่างยิ่งใหญ่ นำปราสาทหินแห่งนี้ฉายออกสู่สายตาชาวโลกในช่วงยุคสมัยที่เหมาะเจาะ (ยุคจักรวรรดินิยม/ล่าอาณานิคม) ทำให้ชื่อของมูโอต์กับนครวัดสอดคล้องเป็นเรื่องสำคัญคู่กัน จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า มูโอต์คือผู้ค้นพบนครวัด แต่อาจจะเรียกได้ว่า มูโอต์คือผู้ค้นพบนครวัดครั้งใหม่

มูโอต์บรรยายถึงนครวัดไว้ตอนหนึ่ง ความว่า

“เมืองพระนคร หรืออังกอร์ (Ongkor) เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ หรือที่เรียกกันว่าอาณาจักรเขมรในอดีต ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในบรรดารัฐต่างๆ แถบอินโดจีน ในบันทึกจดหมายเหตุฉบับเดียวที่ค้นพบ ระบุไว้ว่า ดินแดนนี้ประกอบด้วยหัวเมืองประเทศราช 120 แห่ง กองทัพขนาดมหึมาไพร่พลทหาร 5,000,000 คน แม้เพียงตัวอาคารท้องพระคลังหลวงก็กินเนื้อที่กว้างไกลหลายลิเออ 

บนเส้นรุ้งที่ 14 องศา และเส้นแวงที่ 102 องศาทางทิศตะวันออกของกรุงปารีสในเขตหัวเมืองชื่อเดียวกันนี้ ปรากฏซากโบราณสถานอันงดงามอลังการ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโตนเลสาบ เป็นผลงานสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ เพียงได้เห็นก็เกิดความรู้สึกชื่นชมอย่างลึกซึ้ง จนเราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติที่ทรงอำนาจ ทรงภูมิปัญญา และมั่งคั่งด้วยอารยธรรมซึ่งเรายกย่องให้เป็นเจ้าของผลงานสุดอลังการนี้

หนึ่งในหมู่ศาสนสถานที่เราได้เห็น สูงส่งทรงเกียรติเทียบเคียงได้กับโบสถ์วิหารเก่าแก่งดงามที่สุดของทางเรา และยังยิ่งใหญ่อลังการกว่างานสถาปัตยกรรมฝีมือชาวกรีกและโรมันเสียด้วยซ้ำ ทว่าโบราณสถานแห่งนี้แตกต่างออกไปอย่างน่าเศร้า ชวนให้สลดสังเวชใจกับสภาวะป่าเถื่อนที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตชนรุ่นหลังของประชาชาติผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของผลงานที่ปรากฏสู่สายตาเหล่านี้

โชคร้ายที่ปัจจัยของกาลเวลาไม่อยู่ใต้อาณัติใคร ผนวกกับการรุกรานจากชาวบ้านป่าเมืองเถื่อนทั่วทุกทิศทาง ล่าสุดคือจากชาวสยาม ในยุคนี้ และอาจมีเหตุแผ่นดินไหวด้วยก็เป็นได้ ส่งผลให้โบราณสถานอันยิ่งใหญ่นี้เสียหายไปเป็นส่วนมาก การทำลายล้างยังคงดำเนินต่อไป แม้ในกลุ่มสถาปัตยกรรมที่ยังคงตั้งตระหง่านอย่างงดงามอลังการท่ามกลางซากปรักหักพังที่รายล้อม 

นอกจากหลักฐานความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าขี้เรื้อนซึ่งว่ากันว่าคือกษัตริย์ผู้สถาปนาศาสนสถานแห่งสำคัญที่สุด ที่ยังคงเหลืออยู่นี้แล้ว ก็หาได้พบหลักฐานข้อมูลอื่นใดไม่ แม้จะมีผู้พยายามเพียรค้นคว้าร่องรอยของกษัตริย์พระองค์อื่นๆ ที่สืบทอดราชบัลลังก์ของอาณาจักรมหานครเขมรรุ่นต่อๆ มาด้วยก็ตาม จึงเท่ากับว่าเรื่องราวอื่นๆ ที่เหลือได้ถูกลบไปจากความทรงจำ 

แม้จารึกบางหลัก ที่ปรากฏบนผนังกำแพง ก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์ชาวเขมรคนใดสามารถอ่านถอดความได้ ครั้นเมื่อเราซักถามคนพื้นถิ่นที่นี่ว่าใครเป็นผู้สถาปนานครวัด มักได้รับคำตอบวนอยู่ใน 4 ข้อที่ยกมาต่อไปนี้ ‘นี่เป็นผลงานของพระอินทร์ เจ้าแห่งเทพเทวา’ หรือ ‘นี่เป็นฝีมือของยักษ์’ ไม่ก็ ‘พระเจ้าขี้เรื้อนคือองค์พระผู้สร้าง’ หรือจบลงด้วยว่า ‘ปราสาทแห่งนี้เกิดขึ้นมาอย่างนั้นเอง’ 

คำตอบที่ว่า ‘เป็นฝีมือของยักษ์’ น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องในเชิงเปรียบเปรย เมื่อคำนึงถึงงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ เพียงมองด้วยตาเนื้อย่อมรู้สึกได้ว่าผลงานชิ้นนี้น่าจะก้าวล่วงกำลังแรงมานะอดทน และพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์เรา และคงต้องทิ้งประเด็นนี้ไว้ให้เป็นเรื่องของจินตนาการ โดยยกข้อพิสูจน์เรื่องพลังความสามารถและการสร้างสรรค์นี้ไว้กับชนรุ่นหลังแทน…”

นครวัด

มูโอต์บันทึกและวาดภาพสเก๊ตช์ และเปรียบเทียบสิ่งที่ได้พบเห็นเข้ากับความรู้เดิมของชาวตะวันตก (ว่านครวัดยิ่งใหญ่อลังการกว่างานสถาปัตยกรรมกรีกโรมัน) ทำให้นครวัดปรากฏสู่ชาวตาชาวโลกได้อย่างสมจริงเป็นครั้งแรก

บันทึกและวาดภาพสเก๊ตช์ในบันทึกของมูโอต์มีเนื้อหาเพียง 50 หน้าจากจำนวนหน้ากระดาษในสมุดบันทึกราว 382 หน้า แต่ว่ากลับประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะผู้อ่านเห็นภาพนครวัดที่ชัดเจนราวกับเห็นด้วยตาตนเอง 

นี่จึงส่งพลังสั่นสะเทือนต่อการรับรู้เรื่องนครวัด และได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวตะวันตกดั้นด้นเดินทางไกลกว่าครึ่งค่อนโลกมาชื่นชมสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของเขมรที่ซ่อนเร้นอยู่กลางป่ารกชัฏ จนทำให้มูโอต์ได้รับการยกย่องว่าเป็น ผู้ค้นพบนครวัดอีกครั้งหนึ่ง

“…ปราสาทนครวัด ซึ่งสวยงามที่สุดและยังคงสภาพไว้ได้ดีที่สุดในโบราณสถานกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่แห่งแรกที่สร้างรอยยิ้มต้อนรับนักเดินทางที่มาเยือนเมืองพระนคร ทำให้เขาลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ยังความรู้สึกชื่นชมให้บังเกิด

อีกทั้งเติมเต็มความสุขใจอย่างล้นเหลือ ยิ่งกว่าความสดชื่นที่รู้สึกเมื่อได้พบแหล่งน้ำเย็นฉ่ำกลางทะเลทรายเสียเป็นไหนๆ นี่คือความสุขใจอย่างยิ่งในชั่วพริบตา เมื่อเขารู้สึกว่าตนหลุดพ้นจากความป่าเถื่อนไปสู่ความศิวิไลซ์ จากห้วงเหวลึกมืดมนสู่แสงสว่างอันเจิดจ้า…”

คำพรรณนาของมูโอต์ในย่อหน้านี้ คงจะพอทำให้เห็นภาพแล้วว่า ผลของการสำรวจนครวัด และเขียนบันทึกเกี่ยวกับที่แห่งนี้ ส่งผลให้ชาวตะวันตกอยากมาเที่ยวชมนครวัดมากแค่ไหน

มูโอต์เสียชีวิตในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) ด้วยอาการป่วยไข้ ที่หลวงพระบาง ในวัยเพียง 35 ปี ปิดฉากนักธรรมชาติวิทยา นักสำรวจ และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้ปลุกกระแสความนิยม “นครวัด”

อองรี มูโอต์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2547)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยามกัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ. (2558). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 

กัณฐิกา ศรีอุดม. (กันยายน, 2547). อองรี มูโอต์ ผู้ค้นพบเมืองพระนคร (อีกครั้ง) ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2567