เผยแพร่ |
---|
เจ้านายไทยยุคแรกที่เริ่มเปรยถึงการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินตามรูปแบบประชาธิปไตยแบบยุโรปนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2428 พระองค์มีบทบาทในการร่วมค้นคว้าเอกสารและร่างเอกสารที่เอ่ยถึง “รัฐธรรมนูญ” ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นมหาอำมาตย์เอก มหาเสวกเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์) ประสูติเมื่อ 22 ธันวาคม 2408 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เป็นพระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์
พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ร่วมทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดินในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเนื้อหาในหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดินนี้เริ่มต้นจากที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตผู้แทนพระมหากษัตริย์และรัฐบาลสยามประจำราชสำนักต่างๆ ในยุโรป ร่วมประชุมกับเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูต ดังเนื้อหาในบันทึกที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์อธิบายไว้ว่า
“ก็ได้ตกลงกันเปนอันจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นร่วมกัน รับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งเป็นความเห็นของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณโดยมากข้อ (คือหมายความว่าเป็นส่วน ใหญ่ของสาระสําคัญที่กราบบังคมทูล) ข้าพเจ้าเป็นผู้รวมเรียบเรียง กรมหมื่นนเรศร์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตฯ พระองค์เจ้าสวัสดิ์ฯ เป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เสร็จแล้วก็พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์พื้นตะไบ 4 ฉบับ สําหรับส่งเข้าไปให้สมาชิกสโมสรหลวง สุดแต่จะมีผู้ใดเต็มใจลงนามร่วมเห็นพ้องด้วย ทูลเกล้าถวาย 1 ฉบับ, สําหรับพวกราชทูตลงนามทูลเกล้าฯ ถวาย 1 สำหรับสำนักทูตทั้ง 2 เมือง สำนักละ 1 ฉบับ ให้นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) นำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายแลชักชวนผู้อื่นให้ลงนามด้วย”
อ่านเพิ่มเติม : นักปฏิรูปยุคแรกของสยามสมัยใหม่ใน ร.ศ. 103 และข้อเสนอเพื่อปฏิรูปแผ่นดิน
ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา อธิบายข้อมูลบรรยากาศในช่วงเวลานั้นว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงถือโอกาสคิดร่างรัฐธรรมนูญถวายโดยมอบให้พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (ด้านกฎหมาย) ค้นคว้าร่างเอกสารขึ้นมา แล้วชักชวนให้เจ้านายและข้าราชการสถานทูตในอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมกันลงพระนามลงชื่อเป็นหางว่าวกราบบังคมทูลถวายเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2428
ภายหลังการกราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านาย 3 พระองค์ที่ร่วมลงชื่อ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้าราชการผู้ใหญ่บางนายเดินทางกลับสยาม พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2429 ภายหลังก็กลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ถือเป็นพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ และยังเป็นผู้ถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6) ในช่วงที่พระองค์เสด็จไปศึกษาในสหราชอาณาจักรและยุโรป (คลิกอ่านเพิ่มเติม : บัณฑิตจากออกซฟอร์ด “ครูฝรั่ง”ของเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ)
ในหนังสือบันทึกเรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” โดยม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ในช่วงที่บรรยายถึงเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ตอนหนึ่งเล่าเหตุการณ์ช่วงต้นรัชสมัยอันเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและจะมีการตัดทอนรายจ่ายของประเทศว่า
“…มีพิเศษในเรื่องจะตัดทางราชสำนัก, ซึ่งค้างมาแต่ในรัชกาลที่ 6 ในตอนก่อนเสด็จสวรรคต. ฉะนั้น ข้อแรกก็ต้องสางบัญชีในราชสำนัก, ได้ความว่ารายจ่ายท่วมรายรับจนมีหนี้อยู่ราว 4-5 ล้านบาท. บัญชีรายจ่ายมีหลักฐานอยู่ว่ามีเพียงค่าไฟฟ้าส่วนพระองค์ก็เดือนหนึ่งถึง 200,000 บาท และยังมีบ้านข้าราชการบางบ้านที่ใช้เปล่า โดยไม่ต้องเสียทั้งค่าติดและแรงไฟ.
เจ้านายบางพระองค์ที่ทรงขุ่นเคืองว่าในหลวงทรงถูกปอกลอกจนมีหนี้สินอยู่แล้ว, ก็ทรงแนะนำว่าให้ใช้ชำระโดยเปิดเผยให้เห็นผิดและชอบ…
ต่อมาก็ถึงรายจ่ายอีกอย่างหนึ่ง คือบำนาญข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานไว้ในพระราชพินัยกรรม.
สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ตรัสว่า-ไม่ต้องให้, เพราะตามกฎหมายผู้ตายมีแต่หนี้. เมื่อใครจะเอาให้ได้ก็ให้ไปฟ้องศาลเถิด.
แต่ในหลวงตรัสว่า-พระองค์ท่านและพระราชินีก็ไม่มีลูก, ขอแต่มีพอใช้ไปชั่วชีวิตก็พอแล้ว. ฉะนั้นรัฐบาลจะขอตัดจาก 11 ล้าน เป็น 6 ล้านท่านก็ทรงยอม. ส่วนพระราชพินัยกรรมก็อยากจะรักษาคำของพระเชษฐาธิราชไว้, จะปล่อยให้ไปถึงโรงศาลให้เป็นการประจานนั้นไม่ได้. ทรงขอให้เอาเงินส่วนรายได้ของทูลกระหม่อมประชาธิปกฯ แจกไปตามคำสั่งก็แล้วกัน. ขอแต่เพียงว่าจะให้ได้ตามพระราชพินัยกรรมนั้นไม่มีเพียงพอ, ให้จ่ายไปเพียงเท่าที่เขาจะยังชีวิตอยู่ได้ เช่นคนที่ได้เดือนละ 2,000 บาท ก็จะพระราชทานได้เพียง 1,200 แทน. ทุกพระองค์เห็นชอบตามพระราชกระแส
เขาเล่ากันว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ฉุนจนตรัสว่า-‘มันจะช่วยใช้หนี้กันไหมเล่า?’
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันเพียงผู้ที่เกี่ยวข้อง, ฉะนั้นไม่ช้าก็ได้ยินว่าพวกที่ถูกลดถูกถอนโกรธเคืองว่าทรงล้างพระราชพินัยกรรมกันมากมาย…”
เมื่อสิ้นพระชนม์ 10 ธันวาคม 2478 ทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์
คลิกอ่านเพิ่มเติม : วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง” (ข้อมูลว่าด้วยหนึ่งในวังของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ)
อ้างอิง:
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, ดร. “ทำไมร.5 ทรงห้าม ‘พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ เหยียบแผ่นดินรัชกาลพระองค์จนชีวิตยากไร้”. ใน ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2549
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ดร. ราชทูตแห่งกรุงสยาม ประสบการณ์ของอดีตนักการทูตไทยในยุคบุกเบิก พ.ศ. 2427-2429. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2547
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์. ประวัติย่อ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์. ฉบับพิมพ์ใหม่ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงเอนกนัยวาที (ม.ร.ว.นารถ ชุมสาย), 2513
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). กรุงเทพฯ : มติชน, 2557
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. เอกสารทางการเมือง การปกครองไทย. โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2562