ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
เปาบุ้นจิ้น ขุนนางผู้ผดุงความยุติธรรม ที่แม้แต่ผีสางก็อยากให้ช่วยพิจารณาคดีให้
เปาบุ้นจิ้น เป็นบุคคลมีตัวตนจริง เป็นคนดีที่น่าทึ่งน่าศึกษาคนหนึ่ง มีผลงานเยี่ยมหลายอย่างควรสดุดี ที่รู้จักกันไปทั่วคือ “ความซื่อตรง” จึงขอพลิกปูมเปาบุ้นจิ้นที่น่าสนใจบางแง่มาเสนอ ทั้งในด้านเรื่องจริงและนิยายให้อ่านสนุกๆ ได้ทั้งความรู้ ความบันเทิง และแง่คิดไปด้วยกัน
เปาบุ้นจิ้นเป็นทายาทรุ่นที่ 35 ของเซินเปาซูวีรชนจีนร่วมยุคกับไซซี เกิดเมื่อ พ.ศ. 1542 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 1605 อายุ 63 ปี (สุสานของเปาบุ้นจิ้นอยู่ที่อำเภอเหอเฝย มณฑลอานฮุย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีน) ชีวิตราชการอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าซ่งเหญินจงซือครองราชย์ ช่วง พ.ศ. 1543-1606 นับเป็นขุนนางคู่พระบารมี เปาบุ้นจิ้นมีผู้สืบวงศ์ตระกูลมาจนถึงปัจจุบัน เปาอี้ว์กัง (พ.ศ. 2461-2534) ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของจีนในยุคปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 29 ของเปาบุ้นจิ้น

หนังสือนามานุกรมบุคคลสำคัญของจีนของสำนักพิมพ์จงหัวซึ่งมีชื่อเสียงมานาน บันทึกเรื่องของเปาบุ้นจิ้นไว้อย่างสังเขปว่า “เปาจิ้น” เป็นชาวเมืองเหอเฝย (เมืองหับปุ๋ยในเรื่องสามก๊ก ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอานฮุย) สอบได้ชั้นจิ้นสื้อ แล้วบรรจุเป็นพนักงานวิจารณ์ศาลฎีกา ต่อมาเป็นนายอำเภอเจี้ยนชาง สมัยพระเจ้าซ่งเหญินจง เป็นราชบัณฑิตประจำราชบรรณาลัย ข้าหลวงเมืองไคเฟิง แล้วเป็นรองอัครมหาเสนาบดี เปาจิ้นข้าราชการเข้มแข็งจริงจัง พระราชวงศ์และขันทีต้องหดมือให้ (เกรงกลัว) ผู้ได้ยินชื่อยำเกรง
แม้หญิงชาวบ้านและเด็กๆ ก็รู้จักชื่อเสียงดี เรียกท่านว่า “ท่านเปาผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” ในเมืองหลวงกล่าวกันว่า “สินบนเข้าไม่ถึงยมราชเปา” ตำแหน่งสุดท้ายของเปาบุ้นจิ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงพิธีการ เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้วได้รับพระราชทานสมัญญาว่า “เซี่ยวซู่-ผู้เคร่งขรึมกตัญญู” เปาจิ้นมีนิสัยแกร่งกร้าวตรงไปตรงมา คนชั่วยำเกรงต้องหันมาทำดี
ตัวละครในนิยายและในงิ้วนิยมเรียกเปาบุ้นจิ้นตามฉายาสดุดีว่า “เปาชิงเทียน” ชิงเทียน แปลว่า ฟ้าสีน้ำเงินใส ชิงคือสีน้ำเงินของฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก ฟ้าใสปราศจากเมฆหมอกเป็นสัญลักษณ์ของความถ่องเที่ยงยุติธรรม เนื่องจากเปาบุ้นจิ้นเป็นผู้ผดุงความยุติธรรม คนจึงตั้งฉายายกย่องท่านว่า “เปาชิงเทียน” คือผู้ทำให้ฟ้าเป็นสีน้ำเงินใส ให้ความยุติธรรม
ภาพยนตร์ชุดเปาบุ้นจิ้นที่เคยโด่งดัง บ้างก็ตั้งชื่อภาษาจีนตามฉายาท่านว่า “เปาชิงเทียน” ก็มี
เปาบุ้นจิ้น เป็นคนเคร่งขรึมจริงจัง ในวัยเด็กก็ไม่ค่อยเล่นหัวอย่างเด็กทั่วไป เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยยิ้มหรือหัวเราะให้ใครเห็น จนถึงกับกล่าวกันว่าถ้าเปาบุ้นจิ้นยิ้มหรือหัวเราะ แม่น้ำฮวงโหซึ่งปกติขุ่นเป็นสีเหลืองอยู่ตลอดเวลาถึงกับใสทันที แม่น้ำฮวงโหใสยากฉันใด เปาบุ้นจิ้นก็ยิ้มยากฉันนั้น คนยิ้มยากหน้าเคร่งขรึมนั้นภาษาจีนเรียกว่า “เหลิ่งเมี่ยน” แปลว่า หน้าตาย หน้าเคร่งขรึม ความตรงไปตรงมาไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด ทำให้คนเรียกว่า “เถี่ยเมี่ยนอู๋ฉิง” แปลว่า หน้าเหล็กไม่เห็นแก่หน้าใคร
บุคลิกเคร่งขรึมหน้าตายและนิสัยซื่อตรงไม่เห็นแก่หน้าใครนั้น เมื่องิ้วเล่นใช้สีดำทาหน้าผู้แสดง เพราะสีดำเป็นสีแห่งความซื่อตรง และแสดงถึงหน้าเคร่งขรึมอีกด้วย จึงเป็นที่มาของตำนานเปาบุ้นจิ้นหน้าดำ

ส่วนพระจันทร์เสี้ยวกลางหน้าผากนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการทำฟ้าให้แจ่มใสให้ความยุติธรรม และทำให้ตัวละครมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ตามตำนานเล่าว่า เปาบุ้นจิ้น มีรูปพระจันทร์เพ็ญอยู่กลางหน้าผาก เป็นลักษณะและอำนาจที่ได้รับมาจากสวรรค์ให้ตัดสินคดีของเหล่าผีสางได้ด้วย แต่เมื่อเล่นงิ้วจะวาดพระจันทร์เต็มดวงไม่ได้ เพราะเหมือนเปาบุ้นจิ้นทุกประการ ทำให้บรรดาผีคิดว่าเป็นเปาบุ้นจิ้นตัวจริง พากันมาร้องทุกข์จนงิ้วโรงแตกทุกทีไป
นิทานชาวบ้านเล่าถึงเหตุที่เปาบุ้นจิ้นหน้าดำไว้สนุกมากอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อครั้งเทพเท้าเปล่าจุติลงเกิดเป็นพระเจ้าซ่งเหญินจงนั้น พอประสูติปุบก็กันแสงไม่หยุด เพราะรู้ดีว่าภาระปกครองบ้านเมืองในชาตินี้หนักนัก เทพไท้แป๊ะกิมแชจึงมากระซิบข้างพระกรรณว่า “อย่าวิตกไปเลย เพราะเง็กเซียงฮ่องเต้เทวบดีได้ให้ดาวบุ๋นเคียกแช และดาวบู๊เคียกแชมาเกิดคู่บารมีช่วยราชกิจอยู่แล้ว” พระราชกุมารนั้นจึงหยุดกันแสง
ดาวบุ๋นเคียกแชคือดาวนักปราชญ์รูปร่างหล่อเหลา ส่วนดาวบู๊เคียกแชคือดาวนักรบ หน้าดำห้าวหาญ ในการจุติมาเป็นคู่บารมีเทพเท้าเปล่าครั้งนี้ ดาวบู๊เคียกแชรู้ว่าดาวอิมนึ้งแชจันทรเทวีได้จุติลงไปเป็นนางโปยโปกงจู๊ ธิดาของเจ้าเมืองฮวน ซึ่งจะต้องทำศึกกับจีนราชวงศ์ซ่ง
โปยโปกงจู๊จะได้ของวิเศษจากอาจารย์ถึง 8 อย่าง มีฤทธิ์เหนือใครๆ ทั้งหมด เพราะแม้แต่เซียนแต่ละองค์ในคณะโป๊ยเซียนยังได้ของวิเศษจากอาจารย์คนละอย่างเท่านั้น ย่อมเกินความสามารถที่ดาวบู๊เคียกแชซึ่งจะไปเกิดเป็นเต๊กเช็ง (ตี้ชิง) จะสู้โปยโปกงจู๊ได้
ไท้แปะกิมแชจึงทูลเง็กเซียงฮ่องเต้ให้ดาวทั้งสองเปลี่ยนหัวกัน เพื่อให้ดาวบู๊เคียกแชได้ใบหน้าหล่อเหลาของดาวบุ๋นเคียกแช ไปเป็นอาวุธผูกมัดใจให้นางโปยโปกงจู๊เสน่หายอมสวามิภักดิ์ ส่วนดาวบุ๋นเคียกแชแม้จะได้หน้าดำของดาวบู๊เคียกแชไปก็ไม่เป็นไร เพราะรับราชการฝ่ายบุ๋นอยู่ในเมือง อาศัยปัญญาต่อสู้กับพวกขุนนางกังฉินพอไหว
เหตุฉะนี้เปาบุ้นจิ้นซึ่งเป็นดาวบุ๋นเคียกแชหน้าขาวจึงเกิดมาหน้าดำ และเต๊กเช็งซึ่งเป็นดาวบู๊เคียกแชหน้าดำกลับหน้าขาวหล่อเหลา เอาชนะใจนางโปยโปกงจู๊ได้จริง ดังปรากฏในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องโหงวโฮ้วเพ่งไซ
แต่ตามความจริงในประวัติศาสตร์ เปาบุ้นจิ้นตัวจริงหน้าขาว เพียงแต่ยิ้มยาก จึงถูกแต่งเรื่องให้หน้าดำสอดคล้องกับบุคลิกและให้เป็นสัญลักษณ์ของความดี
บุคลิกเด่นของเปาบุ้นจิ้นมี 2 ประการ คือ กตัญญูและเคร่งขรึมสุจริต
เปาบุ้นจิ้นมีความกตัญญูต่อบิดามารดาเป็นเลิศ ตัวเองเป็นคนเรียนเก่ง สอบจิ้นสื้อซึ่งฝรั่งเทียบเป็นระดับปริญญาเอกได้เมื่ออายุ 29 ปี รับราชการอยู่ปีเดียวก็ลาออกไปดูแลบิดามารดาซึ่งแก่ชราจนท่านทั้งสองล่วงลับแล้วไว้ทุกข์ตามประเพณีครบ 3 ปี ทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี แล้วยังเฝ้าอยู่ที่สุสาน (ฮวงซุ้ย) ด้วยความอาวรณ์รำลึกถึงอยู่อีก 2 ปี ผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลมาขอร้องจึงยอมกลับเข้ารับราชการใหม่
เปาบุ้นจิ้นเข้ารับราชการใหม่เมื่ออายุย่างเข้า 39 ปี แต่ด้วยความเก่งและสุจริตจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนได้เป็นรองอัครมหาเสนาบดี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบการปฏิบัติราชการของขุนนางทั้งแผ่นดินแม้แต่ตัวอัครมหาเสนาบดีเอง ว่าถูกต้องตามกฎหมายและสุจริตถ่องเที่ยงหรือไม่ ซึ่งเปาบุ้นจิ้นทำหน้าที่นี้อย่างไม่เห็นแก่หน้าใคร จนเป็นเค้าให้คนนำมาแต่งนิยายเป็นคดีความต่างๆ มากมาย
ความเป็นคนมือสะอาดของเปาบุ้นจิ้นนั้น เขาเคยเป็นข้าหลวงเมืองตวนโจว (อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตจานฝนหมึกดีที่สุดของจีน เมื่อพ้นตำแหน่งชาวเมืองเอาจานฝนหมึกชิ้นดีเยี่ยมมามอบให้ แต่พอวันเดินทางจากเมืองตวนโจวมา เขาเอาจานฝนหมึกโยนทิ้งไว้ในแม่น้ำสายหลักของเมืองนั้น เพราะไม่ต้องการให้มัวหมองว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนแม้เพียงน้อยนิดก็ตาม ปฏิปทานี้เป็นที่ลือลั่นในยุคนั้นและสรรเสริญกันสืบมาจนปัจจุบัน
แต่เปาบุ้นจิ้นเป็นคนเคร่งขรึมและตรงไปตรงมามาก จนออกจะไม่น่ารัก เพราะมีเรื่องขัดแย้งและล่วงเกินผู้อื่นอยู่ไม่น้อย จนฮ่องเต้ต้องทรงแนะนำพร่ำสอนอยู่เสมอ และเคยถูกโอวหยางซิว ขุนนางตงฉินผู้เป็นกวีเอกฟ้องร้องว่า ทำงานแบบเอาดีใส่ตัว และทำตัวเด่นเหนือคนอื่น แต่คนดีกับคนดีขัดแย้งกันย่อมไม่กลายเป็นปัญหาของบ้านเมือง เพราะซ่งเหญินจงฮ่องเต้เป็นกษัตริย์ประเสริฐองค์หนึ่ง จึงทรง “คุม” เปาบุ้นจิ้นและกล่อมเกลาอบรมให้สมบูรณ์ขึ้น จน ดร. หูซื่อ (พ.ศ. 2434-2505) ปราชญ์เอกคนหนึ่งของจีนถึงกับกล่าวว่า “เปาบุ้นจิ้นเป็นขุนนางที่โชคดีที่สุดในประวัติศาสตร์จีน” เพราะได้ฮ่องเต้ดีหนุนหลังและช่วยเป็นครูฝึกที่ดีให้อีกด้วย
ด้วยบุคลิกที่เคร่งขรึม แต่ซื่อสัตย์ยุติธรรม กตัญญูต่อบ้านเมือง ทั้งความประพฤติส่วนตัวก็สมถะและกตัญญูต่อบิดามารดาอย่างหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ดังนั้นเมื่อถึงแก่อนิจกรรม ราชสำนักจึงให้สมัญญาสดุดีว่า “เซี่ยวซู่” หมายถึง “ผู้เคร่งขรึมกตัญญู” เป็นสมัญญาที่เหมาะสมกับบุคลิกและปฏิปทาของเปาบุ้นจิ้นอย่างยิ่ง
ชื่อสุดท้ายที่คนนิยมเรียกเปาบุ้นจิ้นอีกก็คือ “เปากง” คำนี้ความจริงเป็นคำเรียกยกย่อง “กง” ในที่นี้หมายถึงขุนนางผู้ใหญ่ สมัยโบราณเทียบได้กับ “เจ้าพระยา” ของไทย เมื่อใช้คำนี้มาเรียกยกย่องขุนนางที่ดีก็มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า ใต้เท้า หรือ ฯพณฯ ของไทย เปากง ก็คือ ฯพณฯ เปาบุ้นจิ้นนั่นเอง
ด้วยเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ เปาบุ้นจิ้น จึงได้รับคัดเลือกจากทางราชการแลนักวิชาการของจีนให้เป็นหนึ่งใน “ร้อยยอดคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน”
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดชะตาชีวิต “หลี่ว์เหมิงเจิ้ง” บัณฑิตตกยากที่มีแค่น้ำต้มหมูไหว้ตรุษจีน
- ลูกหลาน “จีนโพ้นทะเล” ใช้ข้อมูลอะไร? เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อจะกลับบ้านที่เมืองจีน
- วรรณกรรม “สามก๊ก” ภาพสะท้อนความเป็น “อนิจจัง” ของประวัติศาสตร์จีนที่ต้อง “แตกแยก”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เปาบุ้นจิ้นกับวัฒนธรรมชื่อของคนจีน” เขียนโดย หลินยุ่นซี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2550 และนำมาเรียบเรียงใหม่โดยกองบก.ออนไลน์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2563