“หลี่ว์เหมิงเจิ้ง” บัณฑิตตกยาก มีเพียงน้ำต้มหมูไหว้ตรุษจีนจนเทพเซียนเห็นใจ

หลี่ว์เหมิงเจิ้ง
หลี่ว์เหมิงเจิ้ง หรือ หลื่อหม่งเจ่ง ในภาษาแต้จิ๋ว

เปิดชะตาชีวิตของ “หลี่ว์เหมิงเจิ้ง” บัณฑิตตกยาก ที่มีแค่น้ำต้มหมูไว้สำหรับไหว้เจ้าในช่วง “ตรุษจีน”

ช่วงเทศกาลตรุษจีน มีคำแนะนำมากมายว่า ต้องใช้อะไรไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษ, ควรไหว้อย่างไร ฯลฯ จะได้เฮง จะได้รวย จะได้สมหวัง ที่เริ่มตั้งแต่ข้าวของทั่วไปจนถึงของหายากราคาแพง แต่ใช่ว่าของที่น้อยด้อยค่าไหว้แล้วจะไม่สมปรารถนา

พงศาวดารกระซิบของจีน มี “บัณฑิตตกยาก” ที่ไหว้เพียง “น้ำต้มหมู” จนเทพเซียนเห็นใจมาแล้ว

เขาก็คือ หลี่ว์เหมิงเจิ้ง (พ.ศ. 1487-1554) เสียงจีนแต้จิ๋วว่า หลื่อหม่งเจ่ง บ้านเกิดอยู่ที่ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน หลี่ว์เหมิงเจิ้ง มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีตำแหน่งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดีที่มีผลงานยอดเยี่ยมชื่อเสียงดีงาม ทั้งยังเป็นบุคคลที่เปาบุ้นจิ้นยกย่องถือเป็นแบบอย่างที่ต้องการเจริญรอยตาม

หากชีวิตก่อนหน้านี้ของหลี่ว์เหมิงเจิ้งนั้นยากจนข้นแค้นยิ่ง

เขายากจนขนาดที่เรียกว่า “ไม่มีบ้านให้อาศัย” จึงได้แต่อาศัยเตาเผาถ้วยชามร้างเป็นที่พักพิง หลี่ว์เหมิงเจิ้งรับจ้างเขียนหนังสือ แต่งโคลงกลอนยังชีพ เพราะมีความรู้ดี ดีชนิดที่ว่าได้เข้าสอบจอหงวนทีเดียว ภายหลังแม้หลี่ว์เหมิงเจิ้งแต่งงานกับแม่นางจากตระกูลหลิวที่มั่งคั่ง แต่ครอบครัวฝ่ายหญิงรังเกียจ จึงต้องอยู่อย่างยากจนต่อไป

ความจนของหลี่ว์เหมิงเจิ้งสะเทือนฟ้าสะเทือนดิน จนเทพเซียนทนไม่ได้

ตำนานเล่าว่า ใกล้ เทศกาลตรุษจีน เขาไม่มีเงินจะจับจ่ายซื้อหาข้าวของมาไหว้พระเจ้าบรรพชน แม่นางหลิว ผู้เป็นภรรยา มอบตุ้มหูทองสมบัติติดกายชิ้นสุดท้ายให้ไปใช้ซื้อของไหว้ แต่พ่อค้าของใจร้ายให้หมูมาชิ้นเดียว หลี่ว์เหมิงเจิ้งนำกลับมาต้ม เตรียมจะไหว้เจ้าเตาไฟในวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์

แต่พ่อค้าที่ขายหมูให้กลับคิดเอาเองว่า หลี่ว์เหมิงเจิ้งยากจนถึงเพียงนี้ ตุ้มหูทองที่เอามาแลกของ เห็นทีจะเป็นของปลอมเป็นแน่ จึงตามชิงเอาหมูที่ต้มเสร็จกลับไป ด้วยความโมโหก็หยิบขี้เถ้าซัดใส่น้ำต้มหมูด้วย หลี่ว์เหมิงเจิ้งเสียใจมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้แต่เพียงใช้น้ำต้มหมูปนขี้เถ้าไหว้เทพเจ้าด้วยความเคารพเต็มเปี่ยม

เจ้าเตาไฟนำเรื่องไปรายงานบนสวรรค์ เหล่าเทพเซียนต่างตื้นตันใจมาก

การสอบจอหงวนในฤดูใบไม้ผลิปีใหม่ที่กำลังจะถึง หลี่ว์เหมิงเจิ้งหนุ่มอายุ 20 ปีได้คะแนนเท่ากับ เหลียงเฮา เฒ่าอายุ 77 ปี ผู้สอบตกมาหลายครั้งแต่ไม่ท้อ ทว่าทวยเทพซาบซึ้งในศรัทธาของหลี่ว์เหมิงเจิ้ง ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า เหลียงเฮาเป็นคนมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แต่หลี่ว์เหมิงเจิ้งยากจนถึงเพียงนี้ หากไม่เร่งช่วยเหลือ ชีวิตนี้คงจบสิ้น

เทพเซียนจึงดลใจฮ่องเต้ให้เลือกหลี่ว์เหมิงเจิ้งเป็นจอหงวนในปีนั้น ส่วนเหลียงเฮาเข้าสอบอีกในรอบถัดไปซึ่ง 3 ปีสอบครั้ง จึงได้เป็นจอหงวนเมื่ออายุ 80 ปี (ตามประวัติศาสตร์จริง เหลียงเฮา (พ.ศ. 1506-1547) สอบจอหงวนได้เมื่ออายุ 22 ปี หลี่ว์เหมิงเจิ้งสอบได้เมื่ออายุ 33 ปี)

เรื่องเล่าของหลี่ว์เหมิงเจิ้ง มีการนำเนื้อหาไปแสดงเป็น “บทเบิกโรงอวยพร ป่วงเซียง(扮仙)” เป็นสิริมงคล ชื่อเรื่องว่า จิงเฉิงหุ้ย (京城会) แต้จิ๋วว่า “เกียเซี้ยหวย” แปลว่า “พบกันที่เมืองหลวง” โดยให้ตัวพระตัวนางแสดงเป็นหลี่ว์เหมิงเจิ้งเมื่อสอบจอหงวนได้แล้ว รับฮูหยินมาอยู่ที่เมืองหลวง มีความหมายถึงความสุขสมหวัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557

พรพรรณ จันทโรนานนท์. “งิ้วเบิกโรง: เรื่องสิริมงคลของชาวจีน” ใน, งิ้ว, โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ร่วมกับคณะศิลปะศาสตร์ และโครงการจัดตั้งคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565