ไหว้อะไร? ในเทศกาลตรุษจีนที่ไทยมี แต่ที่จีนแทบไม่มีการไหว้

ไหว้ตรุษจีน ไหว้บรรพบุรุษ ตรุษจีน
การไหว้บรรพบุรุษที่เสียไปแล้วของคนจีน (ภาพประกอบจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

ไหว้ตรุษจีน ไหว้อะไร? เช้ามืดเห็นอาม่าข้างบ้านลุกขึ้นมาไหว้, สายหน่อยเห็นที่บ้านตั้งอาหารเต็มโต๊ะไหว้, บ่ายๆ เห็นร้านค้าข้างทางเอาเสื่อมาปูวางของไหว้ ที่หน้าร้านบ้าง นอกร้านริมทางบ้าง, ดึกๆ ยังตั้งโต๊ะตัวเล็กไหว้ เรียกว่าคึกคักเป็นพิเศษในช่วง “ตรุษจีน”

บรรยากาศตรุษจีนแบบนี้ ท่านทั้งที่เป็นลูกหลานจีน, มีญาติ มีคนรู้จักเป็นจีน หรือแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนจีนเลย ก็คงเคยเห็นกันมาบ้าง

คนจีนในไทยไหว้ใคร? ในเทศกาลตรุษจีน

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” หลายฉบับ ก่อนจะพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” (สนพ. มติชน, มีนาคม 2557) พอสรุปได้ว่า

ไหว้ตรุษจีน ในไทยแต่เดิมไหว้ 3 เวลา คือ

ตอนเช้ามืด “ไหว้เจ้า-ไป๊เหล่าเอี๊ย” แต่จริงๆ ไม่ได้ไหว้แค่ “เจ้า” หากรวมเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพทั้งหลาย ตั้งแต่เจ้าจีนต่างๆ ในบ้าน, พระพุทธรูปบนหิ้งในบ้าน, ศาลพระภูมิในบ้าน, ศาลเจ้าประจำชุมชน (เช่น ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ในตลาด, พระภูมิหน้าหมู่บ้าน) ฯลฯ ไหว้หมด ส่วนของที่ไหว้ส่วนใหญ่ คือ ขนมประจำเทศกาล, ผลไม้, น้ำชา, เป็ดไก่ ฯลฯ

สายมาหน่อย “ไหว้บรรพบุรุษที่เสียไปแล้ว-ไป๊กงม่า” ไป๊กงม่า แปลว่า ไหว้ปู่ย่า แต่ตามธรรมเนียมไหว้ขึ้นไป 3 ชั่วคน (พ่อแม่, ปู่ย่า และปู่ทวดย่าทวด) ของประมุขของบ้าน โดยตั้งโต๊ะไหว้ในบ้าน ของที่ไหว้มี ข้าวสวย, กับข้าวหลายชนิด, เป็ดไก่ต้มทั้งตัว, ขนมประจำเทศกาล, ผลไม้, น้ำชาและเหล้า, เครื่องกระดาษ ฯลฯ ตามประเพณีปฏิบัติของแต่ละบ้าน

ตอนบ่าย “ไหว้ผีไม่มีญาติ-ไป๊ฮอเฮียตี๋” มักเอาเสื่อหรือผ้ายางปูที่พื้นนอกชายคาบ้านหรือร้านค้า ของไหว้คล้ายๆ กับไหว้บรรพรุษที่เสียไปแล้ว แต่มักจะมีปริมาณมากกว่า เช่น ผัดหมี่ไหว้บรรพบุรุษใส่จาน ไหว้ผีไม่มีญาติอาจใส่ถาด ถ้าเป็นแกงจืดก็ใส่มาเป็นหม้อ ฯลฯ เพราะถือว่าไหว้คนจำนวนมาก

ช่วงประมาณ 10 กว่าปี เมืองไทยเกิดฮิตไหว้ “เทพแห่งทรัพย์ (ไฉ่ซิ้ง)”

ตอนดึกๆ ประมาณ 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน จึงตั้งโต๊ะไหว้เทพแห่งทรัพย์สิน เพิ่มเข้ามาอีกรายการ

ตรุษจีนเมืองจีนเขาไหว้เยอะขนาดนี้ไหม?

คงตอบยาก เพราะหลังจากเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และการปฏิวัติวัฒนธรรม วิถีชีวิตและคติความเชื่อจีนเปลี่ยนไปเยอะมาก นอกจากนี้แต่ละชุมชน แต่ละครอบครัวก็มีความเชื่อส่วนบุคคลอีกต่างหาก

ไหว้ผีไม่มีญาติ หรือ “ไป๊ฮอเฮียตี๋” (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

แต่ที่เมืองจีนแทบจะไม่มีใครไหว้ “ไหว้ผีไม่มีญาติ” ที่เรียกว่า “ไป๊ฮอเฮียตี๋”

ฮอเฮียตี๋ (好兄弟) แปลว่า “พี่น้องที่ดี” แต่ในความจริงส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่พี่น้องกัน ไม่มีเกี่ยวพันกันทางสายเลือด เป็นเพียงการเรียกอย่างให้เกียรติเท่านั้น

เมื่อไม่ใช่ญาติพี่น้องจึงไม่ไหว้ในบ้าน ส่วนใหญ่จึงมักจัดไหว้ที่นอกชายคาบ้าน ส่วนใหญ่ใช้เสื่อปูกับพื้นวางของเซ่นไหว้ แต่ก็มีบ้างที่สถานที่ไม่อำนวยต้องจัดไหว้ในพื้นที่บ้านก็มี และเวลาไหว้จะปักธูปไว้ตามอาหารแต่ละจานจนครบ

การไหว้ผีไม่มีญาติ หรือ “ไป๊ฮอเฮียตี๋” เป็นขนบที่เกิดจากชาวจีนโพ้นทะเล “ผีไม่มีญาติ” ในที่นี้หมายเฉพาะเจาะจงถึง “คนจีนโพ้นทะเลที่เสียชีวิต” ไม่ใช่ผู้เสียชีวิตอื่นๆ ทั่วไป

เหตุที่คนจีนโพ้นทะเล มีธรรมเนียมการไหว้นี้ขึ้น เพราะว่าในอดีตการเดินทางสู่โพ้นทะเล มีความเสี่ยงสูง หลายคนเสียชีวิตระหว่างเดินทาง เมื่อถึงแผ่นดินปลายทาง “ซินตึ๊ง-จีนใหม่” ส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตจากเหตุต่างๆ เช่น สภาพอากาศที่แตกต่างกับบ้านเกิด, อาหารที่ไม่คุ้นเคย, ถูกหลอกให้ใช้แรงงานฟรี ฯลฯ

การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในต่างแดน กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนไม่มีคนเซ่นไหว้ เพราะส่วนใหญ่ทางบ้านไม่ทราบข่าวว่าคนในครอบครัวได้จากไปแล้ว คงเป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับคนที่รอด จึงมีธรรมเนียมการไหว้นี้ขึ้น

เช่นนี้ การไหว้ผีไม่มีญาติ-ไป๊ฮอเฮียตี่ จึงไม่ค่อยพบในเมืองจีน เมืองไทยปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีคนไหว้แล้ว ส่วนหนึ่งว่าคนจีนโพ้นทะเลเหล่านั้นไปเกิดหมดแล้ว ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความสิ้นเปลืองและยุ่งยาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2566