ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สี่แยกบ้านแขก คือบริเวณที่ถนนอิสรภาพตัดกับถนนประชาธิปก ย่านนั้นเป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี และเพราะชื่อย่านส่วนมากในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย มักตั้งตามสภาพภูมิประเทศ หรือกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น บ้านแขก ก็เช่นกัน เป็นที่อยู่ของ “แขก” แล้วแขกนี้มีที่มาจากไหน?
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “แขก” ไว้ว่า คำเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล ชวา มลายู ชาวเอเชียตะวันออกกลางและตะวันออกใกล้ ยกเว้นชาวยิว แอฟริกาเหนือ และ นิโกร
เมื่อแขกเข้ามาในสยามก็ตั้งรกรากในหลายพื้นที่ รวมทั้งฝั่งธนบุรี เป็นที่มาของ “บ้านแขก” และเมื่อเมืองขยายตัวก็มีการตัดถนน จึงเกิดเป็น “สี่แยกบ้านแขก”
“แขก” ที่นี่ มีทั้งแขกมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งอพยพมาจากทางใต้ของไทย และ “แขก” ที่อพยพมาจากบริเวณรัฐปัญจาบ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย โดยเข้ามาในสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มักเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายผ้า เดิมมักอาศัยอยู่บริเวณบ้านหม้อและพาหุรัด
เมื่อแยกย่อยลงไปอีก จะพบว่าแขกที่มาจากรัฐปัญจาบ มี 3 กลุ่ม คือ
แขกซิกข์ คือกลุ่มผู้นับถือศาสนาซิกข์ ผู้ชายจะโพกศีรษะ ไม่ตัดผมหรือโกนหนวด ไม่กินเนื้อวัว
แขกนามธารี คือกลุ่มผู้นับถือศาสนาซิกข์ นิกายนามธารี แขกกลุ่มนี้ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด สวดมนต์อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ผู้ชายโพกผ้าแต่เฉพาะสีขาวเท่านั้น ส่วนผู้หญิงห้ามแต่งหน้าและประดับเครื่องประดับ
แขกฮินดู คือกลุ่มผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือเทพเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือ พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์
เมื่อย่านพาหุรัดกลายเป็นตลาดค้าผ้าแหล่งใหญ่ กิจการก้าวหน้ารุ่งเรือง แขกที่ลงหลักปักฐานสร้างตัวได้แล้วจึงชักชวนญาติพี่น้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาอยู่ด้วยกันในไทย และขยับขยายไปทำมาค้าขายในทำเลอื่นๆ เช่น สุขุมวิท บางแค สี่แยกบ้านแขก ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม :
- “วงเวียนใหญ่” คือที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก แล้ว “วงเวียนเล็ก” อยู่ที่ไหน?
- “ถนนสมเด็จเจ้าพระยา” ย่านคลองสาน มีสมเด็จเจ้าพระยาท่านไหนบ้าง?
- หลักหนึ่ง-หลักสาม-หลักห้า อยู่ที่ไหน ใกล้กับ หลักสอง-หลักสี่ หรือไม่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2567