ย้อนที่มา “ขนมหม้อแกง” จากขนมไฮโซของท้าวทองกีบม้า ทำใส่หม้อทองคำ-ทองเหลือง  

ขนมหม้อแกง ขนมไทย ท้าวทองกีบม้า
(ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ)

ขนมหม้อแกง แรกเริ่มมีมาเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อได้ว่าเป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคชาวไทยเป็นแน่ เห็นได้จากขนมหม้อแกง ยี่ห้อ “แม่…” หลายแม่ ที่ขายกันหลายสิบเจ้า

ขนมหม้อแกงเป็นของหวานที่มีวิวัฒนาการจากขนมหวานต่างชาติ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงขนมที่มีที่มาจากต่างประเทศ ชื่อที่หลายคนนึกถึงก็คือ “ท้าวทองกีบม้า” หรือ มารี กีมาร์ เธอเกิดในญี่ปุ่น มีแม่เป็นญี่ปุ่น ส่วนพ่อเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส ท้าวทองกีบม้ามีฝีมือในเรื่องขนมหวาน ดังจดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับหนึ่งที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“…ภรรยาเป็นท่านท้าวทองกีบม้า ได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ขนมผิง ขนมขิง ขนมไข่เตา ขนมทองม้วน ขนมสำปันนี ขนมหม้อแกงและขนมสังขยา…”

เดิมขนมหวานของไทย มีส่วนผสมหลักๆ จากแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก โดยแป้งที่ว่าก็มักจะเป็นแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเหนียวเป็นส่วนมาก ส่วนน้ำตาลก็เป็นน้ำตาลมะพร้าว ขณะที่ขนมหวานของท้าวทองกีบม้า มีส่วนผสมสำคัญคือ ไข่ แป้ง และน้ำตาลทราย ตามสไตล์ขนมโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ขณะที่บางรายการดัดแปลงจากการหยิบยืมวัตถุดิบอื่นที่มีในไทยมาใช้ อย่าง ขนมบ้าบิ่น สังขยา และขนมหม้อแกง

มีข้อสันนิษฐานว่า “ขนมหม้อแกง” มีต้นเค้ามาจาก “ขนมกุมภมาศ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ขนมหม้อทอง” ซึ่งท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดทำดัดแปลงจากขนมยุโรป เพื่อถวายเป็นของเสวย จัดใส่ภาชนะที่มีค่า เช่น หม้อทองเหลือง หม้อทองคำ นำไปผิงไฟอ่อนๆ ให้ความร้อนกระจายทั่วทุกส่วนของหม้อจนขนมสุก

ต่อมาเมื่อขนมแพร่หลายไปสู่สาธารณะ ภาชนะที่ใช้ใส่ขนมจึงเปลี่ยนเป็นหม้อแกงธรรมดา ซึ่งมีราคาถูกและหาได้ง่าย จึงเรียกว่า “ขนมหม้อแกง” แม้ปัจจุบันเปลี่ยนจากหม้อแกงมาเป็นใส่ถาดก็ยังเรียกขนมหม้อแกง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”, สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566