ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ท้าวทองกีบม้า เป็นผู้คิดค้นสูตร ขนมไทย ต่าง ๆ นา ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ ขนมเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมชื่นชอบไม่น้อยมาถึงปัจจุบัน
ปรามินทร์ เครือทอง เขียนเรื่อง “ท้าวทองกีบม้า ได้ “สูตรขนมไทย” ทองหยิบ ฝอยทองจากโปรตุเกส หรือญี่ปุ่น?” ไว้ในหนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ” สำนักพิมพ์มติชน 2556 ไว้ว่า
ชีวิตช่วงหนึ่งของท้าวทองกีบม้าตกอับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2233 ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส และถูกบังคับให้ทำอาหารหวานส่งเข้าวังตามอัตราที่กำหนด เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันในออกไป
ตามหลักฐานของบาทหลวงโอมองต์ (Fr. Aumont) บันทึกไว้ว่า มาดามฟอลคอน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นชาววิเสทประจำห้องเครื่องในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ส่วน แกมเฟอร์ (Kaempfer) ซึ่งมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2262 บันทึกว่า เห็นท้าวทองกีบม้ากับลูกชาย เที่ยวเดินขอทานตามบ้านพวกเข้ารีต และชาวต่างชาติ ซึ่งบันทึกข้อนี้ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่เพราะชาวคาทอลิก และพระญาติพี่น้องของท้าวทองกับม้าในหมู่บ้านโปรตุเกส ไม่น่าทอดทิ้งกัน
อีกบันทึกของอเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน อ้างว่าได้พบกับมาดามฟอลคอนในปี พ.ศ. 2262 ขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการห้องเครื่องต้นแผนกหวาน มีผู้คนรักใคร่นับถือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของ มองสิเออร์โซมองต์ อ้างว่ามาดามก็องสตังซ์ เป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหวาน เป็นหัวหน้าเก็บภูษา และฉลองพระองค์และยังเป็นผู้เก็บผลไม้เสวยด้วย
ในจดหมายท้าวทองกีบม้าที่เขียนถึงบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนกล่าวไว้ว่า
“ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยาก และระกำช้ำใจ มืดมนธ์อัธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่นอนที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักที่มุมห้องเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังรักษาเฝ้าห้องเครื่องนั้น”
แม้ประวัติช่วงนี้ของท้าวทองกีบม้าจะไม่ตรงนัก แต่ก็รับได้ว่า ท้าวทองกีบม้าเคยไปทำงานในวังจริง และเป็นคนทำขนมหวานตำรับโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง จนเป็นสูตรให้คนทำสืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน
มีการตั้งข้อสงสัยกันอยู่ว่าท้าวทองกีบม้าคิดสูตร ทองหยิบ ฝอยทอง ด้วยตัวเอง โดยเอาวัตถุดิบพื้นเมืองสยามมาดัดแปลงให้เข้ากับตำรับโปรตุเกสหรือมีคนสอนให้ทำ?
เรโกะ ฮาดะ (Reiko Hada) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้และได้เขียนบทความชื่อ Madame Marie Guimard Under the Ayudhya Dynasty of the Seventeenth Century ลงในวารสารสยามสมาคม (J.S.S., V.80, Part I,1992)
ฮาดะได้เสนอไว้ว่า ที่จริงท้าวทองกีบม้าได้สูตร หรือถูกสอนให้ทำขนมลักษณะนี้มาจากแม่ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ชาวโปรตุเกสเข้าไปในญี่ปุ่นมากขึ้น ก็ได้สอนให้ชาวญี่ปุ่นหัดทำขนมโปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันขนมญี่ปุ่นหลายชนิดก็เป็นตำรับโปรตุเกส ขนมญี่ปุ่นบางอย่างมีลักษณะเหมือนฝอยทอง ยังคงทำกันอยู่ที่เกียวโตและคิวชู ในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน
ขนมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเหมือนฝอยทองตามความเห็นของฮาดะน่าจะหมายถึงขนมที่มีชื่อว่า เครันโชเมน ซึ่งมีหน้าตาและสีสันคล้ายกับฝอยทองอย่างมาก
หากเป็นเช่นนี้จริง เท่ากับว่า ขนมไทย สูตรท้าวทองกีบม้าคือสูตรขนมญี่ปุ่นตำรับโปรตุเกส ที่ญาติพี่น้องของท้าวทองกีบม้าถ่ายทอดสืบต่อกันมา ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดในสยาม!
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดจดหมาย “มารี กีมาร์” เล่าถึงความทุกข์ยากหลังฟอลคอนตาย
- อยุธยาเมืองขนม ทำไมเรียก “ขนม” ทำไมชื่อ “อาลัว”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2561