จุดจบกรีกโรมัน ถึงกำเนิดโป๊ป ฤๅเป็นภาพสะท้อนสุโขทัย-อยุธยา ระบอบเสรี VS บังคับ

ภาพทหารโรมันขับไล่ศัตรูต่างชาติ เป็นส่วนหนึ่งของภาพเขียน "Expulsion of Heliodorus from the Temple" โดย ราฟาเอล คาดว่า วาดในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1512-1514

อาณาจักรโรมันหายไปไหน? สมเด็จพระสันตะปาปาคือใคร? และกีฬาโอลิมปิคเล่นกันทําไม?

วันนี้นายไมเคิล ไรท์ เปลี่ยนโฉมหน้า คือหันหลังให้ลังกาและชมพูทวีป และแปรพักตร์จากแดนสยาม มามองความเป็นไป และความเป็นมาของสถาบันในยุโรป

เพื่อนคนไทยหลายคนเคยดูภาพยนตร์เรื่องสมัยโรมันเรืองอํานาจ เช่น Spartacus เคยอ่านประวัติศาสตร์ยุโรป และเคยไปเที่ยวชมความมโหฬารของโบราณสถานในกรุงโรม แล้วเพื่อนเหล่านั้นงง อยากรู้อยากเห็นว่า กรุงโรมโบราณนั้นพังเพราะเหตุใด? เมื่อไร? และเป็นไปอย่างไร?

ในขณะเดียวกัน เพื่อนคนไทยดูรายงานข่าวในจอโทรทัศน์ และรู้เรื่องศาสนาคริสต์พอสมควร แต่สงสัยว่า ท่านโป๊ปทำไมถึงสำคัญนักหนา และสมณศักดิ์นี้มีความเป็นมาอย่างไร?

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเพื่อนคนไทยคือความเป็นมาและความเป็นไปของกีฬาโอลิมปิค เหตุไฉนพวกกรี๊กจึงจัดให้มีขึ้น? และทำไมหนอมันถึงวุ่นวายทุกวันนี้?

จะขอจับเรื่องกีฬาโอลิมปิคก่อน เพราะเหตุว่ามันเกิดก่อนเพื่อน

1 กีฬาโอลิมปิค – บูชาพระอินทร์

เมื่อประมาณสามสี่พันปีมาก่อน ชาวกรี๊ก (หรือที่เรียกตัวเองว่า ชาว “เฮ็ลเลเน”) อพยพจากทุ่งในเอเชียกลาง มาอยู่ในแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าประเทศกรี๊ซและประเทศใกล้เคียงชาวเฮ็ลเลเนเป็นเผ่าพเนจร เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพและล้วนเป็นนักรบ

ส่วนคนพื้นเมืองเดิมในแหลมกรี๊กทำไร่ทำนาและจับปลาเป็นอาชีพ ชาวเฮ็ลเลเนจึงเรียกคนพื้นเมืองเดิมว่า “ชาวดิน” หรือ “ชาวหาด” เมื่อชาวพื้นเมืองเดิมทํามาหากินกับดิน เขาก็นับถือเจ้าแม่ที่อยู่ในดิน ที่ตั้งท้องทุกปีในฤดูใบไม้ผลิ แล้วคลอดออกมาซึ่งข้าวและของกินทั้งหลาย ฝ่ายเฮ็ลเลเนไม่เคยยุ่งกับดิน อยู่กับสัตว์เลี้ยงกลางทุ่งและมองแต่ฟ้า เขาจึงนับถือเจ้าพ่อฟ้า คล้ายพระอินทร์ โดยมากท่านใจดี ให้ฝนตามฤดูกาลทําให้หญ้าเขียวชะอุ่ม โคม้ากินดี แต่ถ้าโกรธก็ขว้างวชิระ (สายฟ้าแลบ) เหมือนพระอินทร์ของพราหมณ์

เมื่อชาวเฮ็ลเลเนประสมกับชาวดินแล้ว ก็มีการยืมเทวดากันบ้าง ดูเหมือนชาวเฮ็ลเลเนจะยืมพระโปเซอีดอนจากชาวหาด เทวดาองค์นี้อยู่ในทะเลคล้ายพระวรุณ แต่ถือตรีศูลคล้ายพระอิศวร เมื่อท่านโกรธ ท่านทําแผ่นดินไหว

จุดสําคัญที่ท่านผู้อ่านควรเข้าใจคือ ชาวดินและชาวเฮ็ลเลเนไม่เคยก่อให้มีประเทศ “กรี๊ซ” ขึ้นมา เขาอยู่กันเป็นนครรัฐต่างหาก ซึ่งแต่ละนครรัฐจะอิสระจากกัน และแต่ละคนในสังคม (ที่ไม่ใช่ทาส) ก็มีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเอง (Individuality) นอกจากจะเสียภาษี ทําตามกฎหมายบ้านเมือง (ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะช่วยกันกําหนด) และช่วยกันป้องกันศัตรูของนครรัฐแล้ว เขามีสิทธิ์จะคิดอย่างไร และพูดอย่างไรตามใจชอบ เรื่องนี้เป็นที่เกิดแห่งวิทยาศาสตร์และปรัชญาสมัยใหม่ และยังเป็นพื้นฐานแห่งหลักการ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งกําลังดังอยู่ในสมัยนี้ (2527 – โดยกองบก.ออนไลน์)

จุดที่สําคัญคือชาวกรีกโบราณล้วนเป็นนักรบป้องกันครอบครัวของตนเองและป้องกันนครรัฐไม่ให้ถูกบุกรุก หนุ่ม ๆ ทุกคนจึงต้องหัดรบ การหัดรบนี้แหละที่เราเรียกกันว่า “กีฬา” และในเมื่อคนเรามักจะเชื่อว่า ผีสางเทวดาน่าจะมีรสนิยมคล้ายมนุษย์ เทวดาของกรีกก็โปรดการกีฬาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะ “เซ่นพลีไหว้ถูก” ก็ต้องจัดการแข่งขันหน้าวิหาร คล้ายคนจีนจัดงิ้วหน้าศาลเจ้า

นครรัฐแต่ละรัฐจึงมีกีฬาเซ่นผีสางเทวดาไม่ขาดสายทั้งปี และด้วยเหตุว่าทุกนครรัฐล้วนแต่เคารพพระ “เซอุส” ซึ่งตรงกับพระอินทร์ และในเมื่อพระ “เซอุส” สถิตอยู่บนยอดเขาโอลิมปุส (ภูเขาทอง) นครรัฐทุกแห่งจึงรวมกันจัดกีฬาเซ่นไหว้พระเซอุส สี่ปีครั้ง และจะจัดกันที่เชิงเขาโอลิมปุส กีฬานี้จึงได้ชื่อว่า “กีฬาโอลิมปิค”

แต่ทำไมหนอ ที่นครรัฐต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ขัดแย้งกันและทำสงครามต่อกัน ทำไมเขาจึงเข้ากีฬาโอลิมปิคโดยไม่ห้ำหั่นกัน?

ก็เพราะทุกฝ่ายเกรงกลัวพระอาญาของเทวดานั่นเอง ใครละเมิดความศักดิ์สิทธิ์และความสงบของพิธีบูชานี้ มีหวังถูกสายฟ้าแลบของพระเซอุสเป็นแม่นมั่น

ต่อมาเมื่อประมาณต้นคริสกาล อาณาจักรโรมันตีหมู่นครรัฐของกรี๊กแล้วเข้าครองเป็นเมืองขึ้น กีฬาโอลิมปิคจึงเลิกรากัน ชาวยุโรปเพิ่งรื้อฟื้นขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 หรือราวร้อยปีก่อนนี้เอง จนทุกชาติทั่วโลกเข้ามาแข่งด้วย แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนกีฬาโอลิมปิคจะมีมลทิน คือมีการเมืองเข้ามาทำความมัวหม่น ใคร ๆ ก็อยากใช้เป็นเวทีโฆษณาลัทธิของตน และยังมีการนองเลือด จนนักคิดชาวยุโรปบางท่านถามกันว่า “ทำไมหนอ เราจึงไม่สามารถจะรักษาความบริสุทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของโอลิมปิคเอาไว้ได้?” ทำให้นักคิดบางคนโต้ตอบด้วยความรำคาญว่า “เหล่านครรัฐของกรี๊กเข้าร่วมเล่นกีฬากันได้โดยสันติภาพก็เพราะเขาทุกคนนับถือผีสางเทวดาชุดเดียวกัน แล้วเราชาวโลกปัจจุบัน นับถือยำเกรงเทวดาที่ไหนเล่า? ใครใคร่ห้ำห้ำ ใครใคร่หั่นหั่น มิน่าถามเลย!”

นี่แหละความเป็นมาและความเป็นไปของกีฬาโอลิมปิค จะเป็นบทเรียนที่มีความสำคัญสำหรับชาวสยามหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ แต่น่าจะเป็นบทเรียนที่มีความหมายยิ่งสำหรับชาวโลกทั้งปวง

ตะกี้ว่ากีฬาโอลิมปิคเลิกรากันในครั้งโบราณเพราะโรมันบุกยึดแผ่นดินกรี๊ก ต่อไปนี้จึงขอเล่าสู่กันฟังถึงความเป็นมาและความเป็นไปของอาณาจักรโรมัน

เทวทูตแห่งความตายเอาชีวิตชาวโรมัน (ภาพโดย Jules-Elie Delaunay)

2 อาณาจักรโรมันหายไปไหน?

กรุงโรมเริ่มก่อตัวเป็นจักรวรรดิด้วยการใช้อำนาจอย่างเฉียบขาดไม่ยั้งมือ แต่ก่อนชาวกรี๊กมีจุดเด่นตรงที่รักเสรีภาพ แต่ละนครรัฐเป็นอิสระจากกัน และภายในรัฐพลเมืองมีเสรีภาพในการคิดและแสดงออก เขาจึงเจริญก้าวหน้าในเรื่องศิลปะและวิทยาศาสตร์ และยังได้ปูพื้นฐานสำหรับความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบันนี้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็อ่อนแอ เพราะรวบรวมอำนาจไม่เป็น จึงแพ้แก่โรมันอย่างง่ายกาย ฝ่ายโรมันนั้นตรงข้ามกับกรี๊ก รู้จักแต่อำนาจเป็นสรณะ จะปราบทั้งโลกให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกรุงโรม ไม่ให้ใครเป็นตัวของตัวเอง ทั้งนครรัฐอื่นและบุคคลจะต้องถูกประทับตรา “โรมัน” ถึงจะให้อยู่ได้

ถ้าจะเปรียบเทียบกรี๊ซกับสุโขทัยและโรมันกับกรุงศรีอยุธยา จะพอไปได้ไหม?

ฝ่ายกรี๊กรุ่งโรจน์อยู่หลายร้อยปีแล้วพังเพราะความอ่อนแอภายใน แต่ความคิดและศิลปวิทยาของกรี๊กยังรอดอยู่ และเป็นที่สรรเสริญจนทุกวันนี้ ส่วนกรุงโรมดูแข็งแกร่งกว่าและอยู่ได้หลายร้อยปี แต่แล้วก็ทลายลงในที่สุดด้วยเหตุผลที่ผิดกับการอวสานของกรี๊ก

นักปราชญ์หลายท่านหาเหตุผลว่าทำไมกรุงโรมถึงมีอันเป็นไป บางท่านว่าเกิดมีปัญหาสาธารณสุข ระบบส่งน้ำดันทำให้เขตรอบกรุงเป็นหนองเพาะยุง จนประชาชนอ่อนแอด้วยไข้จับสั่น บ้างว่าโรมันหมักเหล้าองุ่นในหม้อตะกั่ว ทำให้สารตะกั่วขังอยู่ในร่างคนจนงอมแงม บ้างว่าศาสนาคริสต์มีคนนับถือมากขึ้น ทำให้ใจอ่อนมีเมตตา ไม่ยอมสู้รบ (ฟังคล้ายปราชญ์ยุโรปว่าพระนครเขมรพังเพราะพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ผมรับฟังไม่ได้)

ในสายตาผม ผมเห็นว่ากรุงโรมพังเพราะเหตุสองประการที่มีความต่อเนื่องกัน :

ประการแรก ในสังคมใดที่ถือว่าอำนาจเป็นยอดความดี (Might is right) เช่น ในกรุงโรม ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับว่า ใครจะครองราชย์ จะต้องตัดสินกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บ จะมีการประนีประนอมกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินกันก็ต้องมีการนองเลือดทุกครั้งและในการนองเลือดที่ใด คนดีจะต้องถูกประหัตประหาร และคนที่สุดจะทารุณจะต้องรับชัยชนะ จะทะเลาะกันด้วยปากด้วยปากกาและด้วยความคิดดังในนครรัฐของกรีกไม่ได้

ประการที่สอง ในการขยายอํานาจ จากตะวันออกกลางตลอดจนถึงเกาะอังกฤษ และป่าเยอรมัน โรมันได้กินอะไรเข้าไปมากมายจนเกินกว่าที่จะย่อยได้ อิทธิพลจากสิบทิศไหลเข้ากรุงโรมจนกรุงโรมไม่เป็นตัวของตัวเองอีกแล้ว ประเพณีเคร่งครัดเก่า ๆ ถูกลบจนฟื้นไม่ขึ้น และยิ่งกว่านั้น เจ้านายนายทัพที่ไปปราบชาวป่าในแดนไกลก็ย่อมนําทัพชาวป่า เหล่านั้นกลับเข้ากรุงเพื่อใช้เป็นฐานอํานาจของตน จนในไม่ช้า กองทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิโดยมากจะเป็นทหารเยอรมัน ชาวโรมันพื้นเมืองกลัวกันนักเพราะพวกนี้ บ้าระห่ำ

จนในที่สุด กรุงโรมอยู่เป็นกรุงโรมไม่ได้ ชาวป่าล้อมรอบและยังมีชาวป่าเต็มเมืองด้วยซ้ำไป ในกรณีเช่นนี้มีจักรพรรดิที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นมาครองอํานาจ ชื่อคอนซตันตีน (Constantine) พระเจ้าคอนซตันตีนได้ทําอะไรบางอย่างที่สําคัญยิ่งสําหรับอนาคตของกรุงโรม และอนาคตของยุโรป

เมื่อพระองค์ได้ราชสมบัติ มีทัพชาวป่าล้อมรอบกรุง พระองค์ฝันว่า มีเทวดามาบอกว่า หากท่านใช้ไม้กางเขนเป็นธงชัย ท่านจะได้รับชัยชนะ พระองค์ทําตามเทวดาสอนจึงได้ชนะชาวป่าจริง พระองค์จึงกลับใจเข้ารีต อนุญาตให้ชาวโรมันนับถือคริสตศาสนา (ซึ่งแต่ก่อนห้ามเด็ดขาค) และให้เลิกบูชาเทวดาเก่าของโรมัน เพราะถือว่าเทวดาเหล่านั้นทอด ทิ้งกรุงโรม

ต่อจากนั้นอีกหลายปี ชาวป่ามาล้อมกรุงโรมอีกหลายระลอก จนพระองค์และเจ้านายฝ่ายอาณาจักรทั้งหลายเห็นว่ากรุงโรมไม่เป็นชัยภูมิเสียแล้ว ป้องกันไม่ได้จึงดําริที่จะย้ายจักรกลการปกครองทั้งหมดจากกรุงโรมในแหลมอิตาลี ไปอยู่กันที่กรุงปีสันทอม (ภาษา กรี๊ก แปลว่า (ราชบุรี) เรียกใหม่ว่า “Nava Roma” (โรมใหม่) หรือ Constantinopolis (คอนซตันตีนปุระ) ปัจจุบันชื่อกรุงอิสตันบุล อยู่ในประเทศตุรกี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดในคริสตศตวรรษที่ 4 และโรมันยังปกครองอยู่ที่ Constantinopolis โดยใช้ภาษากรีกเป็นภาษา ราชการตลอดมาจนถึงคริสตวรรษที่ 15 เมื่อเสียกรุงแก่ทัพอิสลามแห่งตุรกี

ส่วนกรุงโรมเก่านั้น ปราศจากเจ้านาย ฝ่ายอาณาจักรและทหารจึงตกอยู่ใต้การปกครองของสงฆ์ในคริสตศาสนา โดยสังฆราชแห่งกรุงโรม (the Bishop of Rome) เป็นประธาน พระสังฆราชองค์นี้แหละ ในวันหน้าจะกลายมาเป็นตําแหน่ง “โป๊ป” หรือ “สันตะปาปา” แต่ก่อนจะพิจารณากันถึงความเป็นมาของตําแหน่งนี้ ผมใคร่ขอกลับไปดูวิวัฒนาการของ “โรมใหม่”

ที่ในชัยภูมิใหม่นี้ จักรพรรดิโรมันปลอดภัยจากชาวป่าแห่งยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ ก็มีการรวบรวมอํานาจเหมือนอย่างในโรมเก่า หัวเมืองรอบ ๆ ต้องราบคาบ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายต้องถูกศูนย์กลางยึดเป็นของตน ประชาชนห้ามคิดห้ามพูด ในด้านการศาสนา พระจักรพรรดิเป็นผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ และสงฆ์ต้องอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรโดยที่จักรพรรดิเป็นผู้แต่งตั้งพระราชาคณะ ศิลปวิทยานิ่ง เพราะในลัทธินี้ถือว่า “ความเปลี่ยนแปลง” เท่ากับ “การทำลาย” ภาษาศาสตร์เป็นพยานในเรื่องนี้ คำภาษากรี๊กโบราณที่แปลว่า “ปรับปรุงให้ดีขึ้น” ในภาษากรี๊กภายหลังแปลว่า “การทุบทำลาย”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในราวคริสตศตวรรษที่ 10 ชาวป่าทางรุสเซียกำลังแสวงหาอารยธรรมที่นั่น ทั้งศาสนาและลัทธิการปกครอง ซึ่งดูเหมือนจะดำรงมาจนทุกวันนี้ ในคริสตศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ยุโรปตะวันตกกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ในขณะที่รุสเซียแข็งตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนถึงค.ศ. 1917 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบตาลิปัตร แต่รุสเซียเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ? จากการเปลี่ยนแผ่นดินครั้งประธานเบรชเนฟสิ้นพระชนม์ กับครั้งล่าสุดที่อันโดรพอฟพิราลัย ผมดูว่าสะท้อนการพระราชพิธีศพสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงโรมได้ไม่ผิดมากนัก ไม่ใช่ว่าผมจะไม่รักกรุงรุสเซีย แต่ดูงานพระศพเป็นพยานเถิด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลัทธิรวบรวมอำนาจได้โยกย้ายจากโรมเก่าไปสู่เบื้องตะวันออกจนตกค้างอยู่ในกรุงมอสควาจนทุกวันนี้ (2527) (แต่ละหัวเมืองเป็นเอกเทศ และคนในสังคมเป็นตัวของตัวเองได้ค่อย ๆ เคลื่อนไปสู่ตะวันตกผ่านกรุงโรม (ที่จักรพรรดิทิ้งแล้ว) จนในที่สุดกลายเป็นเสรีนิยมใหม่ (Modern Liberalism)

ดังนั้นจะว่าโรมันสาบสูญจึงไม่เป็นความจริง มันย้ายกิจการไปเปิดร้านใหม่ในที่ต่างๆ แต่มันยังเป็นโรมันเจ้าเก่านั่นเอง

ส่วนเรื่องลัทธิกรี๊กเคลื่อนไปสู่ตะวันตกนั้น เป็นเรื่องชาวป่าและสันตะปาปา ซึ่งจะได้เล่าสู่กันฟังในกัณฑ์ที่จะถึงนี่เอง

จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ในนครรัฐวาติกัน ระหว่างพิธีปลงพระศพโป๊ปยอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อ 8 เมษายน ค.ศ. 2005 (ภาพจาก STR / POLIZIA MODERNA / AFP)

3 ความเป็นมาและความสำคัญของโป๊ป

ศาสนาคริสต์เกิดขึ้นในดินแดนอิสราเอล โดยมีลักษณะเป็นองค์การปฏิวัติต่อชนชั้นนำของชาวยิว และต่อจักวรรดินิยมโรมัน ซึ่งผู้นำของชาวยิวเชิญเข้ามาปกครองแดนอิสราเอลเพื่อป้องกันข้าศึกชาวอาหรับที่ล้อมรอบ (เหตุการณ์ในตะวันออกกลางไม่ใช่ของใหม่…แต่ดำเนินมาสามสี่พันปีแล้ว) ศาสนาคริสต์ไม่ค่อยติดในแดนอิสราเอล เพราะพ่อบ้านเจ้าเมืองทั้งยิวและโรมันช่วยกันประหารพระเยซู และปราบปรามสานุศิษย์จนรักษาสถานการณ์ไว้ได้ ศาสนา (หรือองค์การปฏิวัติ) นี้จึงย้ายไปเจริญงอกงามในหมู่นครรัฐของกรี๊กต้นฉบับของพระคัมภีร์ใหม่ (The New Testament) และหลายผูกของพระคัมภีร์เก่า (The Old Testament) จึงเขียนเป็นภาษากรี๊ก และในระยะที่กำลังเติบโตในแดนกรี๊ก ศาสนาคริสต์ก็ได้รับอิทธิพลของปรัชญากรี๊ก ด้วยเหตุนี้และเหตุว่าศาสนานี้ยังมีลักษณะต่อต้านฝ่ายบ้านเมือง เขาจึงชูความเป็นเอกเทศของบุคคล และความเป็นเอกเทศของศาสนจักร

ต่อจากนั้นคริสตศาสนาก็ไปงอกงามขึ้นในกรุงโรม แต่ด้วยเหตุว่าเป็นองค์การต่อต้านราชการ จึงจำเป็นต้องเป็นองค์การใต้ดินตลอดมาจนถึงรัชกาลของจักรพรรดิคอนซตันตีนในคริสตศตวรรษที่ 6

เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิคอนซตันตีนทรงกลับใจเข้ารีต (เพราะเทวดาเข้าฝัน) พระองค์ก็รับรองฐานะของสังฆราช (Bishop) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและพระสงฆ์ มิได้ถูกแต่งตั้งจากฝ่ายบ้านเมือง และแล้วพระจักรพรรดิเกิดมีเหตุผลที่จะย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรไปอยู่โรมใหม่ (คอนซตันตีโนโปลิส) โดยยกไปหมดทั้งกระลาโหมและกระทรวงพลเรือนให้โรมเก่าอยู่ในความปกครองของสังฆราช

นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นของ “โป๊ป”

หลังจากที่จักรพรรดิอพยพไปอยู่ที่เมืองใหม่ไม่ช้าไม่นาน มีทัพชาวป่ามาล้อมกรุงโรมอีก ทําอย่างไรได้? สังฆราชจึงขี่ลาออกไปเจรจากับเจ้าชาวป่าด้วยพระองค์เองโดยเสนอว่า “กรุงโรมนี้ไม่มีทหารเหลือให้ท่านรบเสียแล้ว ท่านจะปล้นก็ปล้นเถิด ไม่มีใครห้ามได้ แต่แล้วท่านจะไปปล้นที่ไหนอีกเล่า? แต่ถ้าหากว่าท่านจะยั้งมือ เราจะสอนศิลปะวิทยาให้ สอนให้อ่านเขียนเป็น ท่านจะได้กลายเป็นชาวเมือง เลิกเป็นกองโจรปล้นเมือง จะได้อยู่เป็นที่เป็นบ้านเป็นเมือง ไม่ใช่พวกพเนจรอย่างแต่เดิม ท่านจะรับไหม?”

พวกเจ้านายของทัพชาวป่าปรึกษาหารือกัน และเห็นพ้องกันว่าจะรับข้อเสนอของสังฆราชแห่งกรุงโรม

กรุงโรมจึงพอรอดจากการปล้นสะดม แม้วิหารหลายแห่งและรัฐสภาจะต้องกลายเป็นคอกวัวคอกม้าของชาวป่าที่อยากกลับใจเป็นชาวเมือง อย่างไรก็ดี ในความคิดเห็นของชาวป่าในยุโรปโดยทั่วไป กรุงโรมได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากเมืองยักษ์ที่จะส่งทัพไปปราบอย่างแสนทารุณ มาเป็นเมืองที่ส่งธรรมทูตไปสอนศิลปะวิทยา มีเวทมนต์อาคมที่จะปราบผีปีศาจที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และเพราะไม่มีกองทัพของตนเอง ก็ยังสามารถที่จะเล่นบทบาทเป็นกลางเมื่อเจ้านายชาวป่าที่เข้ารีตจะทะเลาะกัน

ชาวยุโรปจึงเรียกสังฆราชแห่งกรุงโรมว่า “สันตะปาปา” หรือ “ป๋าแห่งสันติภาพ” จนทุกวันนี้ คือท่านเป็นสงฆ์ ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายบ้านเมือง ท่านจึงเป็นกลางได้

อังกฤษกับฝรั่งเศสเคยตีกันหลายต่อหลายครั้ง เพราะอยู่ใกล้ชิดกัน คล้ายไทยกับพม่า แต่มีอยู่หลายครั้งที่อังกฤษกับฝรั่งเศสไปฟ้องสันตะปาปากัน ท่านตัดสินอย่างไร อังกฤษและฝรั่งเศสยอม ทั้งด้วยความเคารพเกรงใจท่าน และกลัวท่านคว่ำบาตร

แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่ชาวตะวันตกไม่เกรงไม่กลัวเทวดาเสียแล้ว แต่สันตะปาปายังมีความสําคัญไม่น้อย เมื่อปีก่อน (หมายถึง พ.ศ. 2526 – กองบก.ออนไลน์) ประเทศชิลีกับประเทศอาร์เจนตินาทะเลาะกันจะแย่งเกาะที่อยู่นอกฝั่งเล็กน้อย เกือบจะเดินทัพเข้าขยี้กัน แต่ขอให้สันตะปาปาตัดสิน ท่านตัดสินอย่างไร ทั้งสองประเทศยอมรับโดยไม่ขายหน้า เพราะในการรับคําตัดสินของสันตะปาปา เขาทั้งสองฝ่ายได้แสดงว่าเขาเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นชาวโลกที่มีอารยธรรม ไม่ใช่ชาวป่าที่เที่ยวเกเรเบียดเบียนกัน

แม้กระทั่งอเมริกาที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (ปฏิเสธอํานาจของกรุงโรม) ก็ยังต้องฟังเสียงของสันตปาปา และแม้กระทั่งกรุงมอสควา ที่ปฏิเสธทุกศาสนา ก็ยังจําเป็นต้องฟังในเมื่อสันตะปาปาพูด เพราะดูเหมือนกับว่าในสถานการณ์ที่สับสนและวุ่นวายยิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ท่านยังพยายามที่จะวางพระองค์เป็นกลาง

ชาวยุโรปอยู่กับสันตะปาปาอย่างใกล้ชิดจนเขาแทบจะดูไม่ออกว่า “สันตะปาปา” คืออะไร แต่ผมสังเกตว่า ชาวจีนที่อยู่ห่างไกลพระองค์เข้าใจได้ดีเยี่ยม ชาวจีนเรียกสันตะปาว่า “จักรพรรดิของชาวป่า(ยุโรป)”

อนึ่ง ที่เห็นในภาพข่าวว่า สันตะปาปา ลงจากเครื่องบินทีไร ต้องจุมพิตแผ่นดินทุกครั้ง ชาวยุโรปหลายคนหาว่าท่านบ้า ทั้งนี้เพราะเขาลืมอดีต เขาไม่รู้ว่าเมื่อก่อนชาวคริสต์มีประ เพณีว่า ตื่นขึ้นมาจะต้องลงกราบแผ่นดินโดยสวดว่า “ขอขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าที่สร้างแผ่นดินให้คนบาปอย่างเราอยู่” และก่อนหน้านั้นอีก ชาวกรี๊กตื่นขึ้นมาจะไหว้ฟ้า (เจ้าพ่อ) และดิน (เจ้าแม่) ทุกครั้ง

พอเปรียบได้กับประเพณีพราหมณ์ ที่ตื่นขึ้นมาต้องกราบเจ้าแม่ธรณี โดยสวดว่า “ขออภัยที่ลูกคนเลวนี้บังอาจเหยียบย่ำอกแม่”

ถ้าองค์สันตะปาปาจะลงจากเครื่องบินแล้วจุมพิตแผ่นดินไทย ท่านผู้อ่านโปรดอย่าได้หาว่าท่านเสียสติ ท่านจุมพิตเพราะแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เป็นเอกราช เป็นเอกเทศ ตามที่โบราณาจารย์ชาวกรี๊กเขาเข้าใจกัน

คำขออภัย

ที่ผมเขียนประวัติศาสตร์ยุโรปสองพันกว่าปีลงในไม่กี่หน้ากระดาษนี้ เขาเรียกกันว่า “ประวัติศาสตร์อัดกระป๋อง” (Potted History) ถึงจะอัดได้ก็ต้องย่อลง ทำให้ง่ายลงและวาดภาพเป็นดำขาว คือผมให้กรี๊กเป็นฝ่ายขาวหมด โรมันเป็นฝ่ายดำหมด คริสต์ตะวันตกเป็นขาว คริสต์ตะวันออกเป็นดำ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อจะหลอกใครเข้ารีต แต่เพื่อให้เนื้อเรื่องมีขนาดเข้ากระป๋องได้ และเพื่อเน้นให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ประวัติศาสตร์ยุโปรนั้นเดินไปด้วยความขัดแย้งระหว่างลัทธิเสรี (แบบกรี๊ก) และลัทธิใช้อำนาจบังคับรวมศูนย์ (แบบโรมัน)

เท่าที่ผมดูประวัติศาสตร์ยุโรป ผมว่าลัทธิหนึ่งลัทธิใดอย่างเดียวใช้งานไม่ได้ กรี๊กเจริญทางศิลปะวิทยาเพราะเสรีภาพ แต่พังในที่สุดเพราะรวมศูนย์ไม่ได้ ต่อไปนั้นโรมันรุ่งโรจน์เพราะอำนาจบาตรใหญ่ แต่พังในที่สุดเพราะความขัดแย้งภายในที่เกิดจากอำนาจนั้นเอง

ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้อาจจะมีประโยชน์สำหรับคนสยามบ้าง เพราะน่าจะใช้เป็นคันฉ่องส่องหน้าได้ ทั้งนี้เพราะผมรู้สึกว่า ในประวัติศาสตร์สยามมีอะไรคล้ายกันกับยุโรป คือมีความขัดแย้งกันระหว่างสุโขทัย (ธรรมราช-เสรีภาพ) กับอยุธยา (เทวราช-บังคับ) ทั้งสองลัทธินี้ยังประลองยุทธกันจนทุกวันนี้ และคงเป็นเช่นนี้อีกในอนาคต เพราะสังคมสยามกำลังวิวัฒนาการเหมือนทุกสังคมในโลกนี้ มันยังไม่ถูกอัดกระป๋อง ว่างั้นเถิด

ผมเชื่อแน่วแน่ว่า ถ้าให้สองลัทธินี้ต่อสู้กันหรือห้ำหั่นกัน ก็จะมีแต่การล้มลุก แต่ถ้าหากว่าเรามีปัญญาเอาสองลัทธินี้มาประสานกันเพื่อผลประโยชน์ของแผ่นดินแล้ว แดนสยามจะไม่ห่างจากสวรรค์มากนัก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 12 เมษายน 2483 วันเกิดไมเคิล ไรท “ฝรั่งคลั่งสยาม” นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง


หมายเหตุ : บทความเดิมเผยแพร่ในคอลัมน์ “หลายรสหลายเรื่องของไมเคิล ไรท์” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2527

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562