ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ไมเคิล ไรท์ (Michael Wright) หรือชื่อไทยว่า เมฆ มณีวาจา “ฝรั่งคลั่งสยาม” นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2483 ในวัยหนุ่มเขาละทิ้งบ้านเกิดที่เมือง Southampton เดินทางมาอินเดีย แล้วมาศรีลังกา ในช่วงเวลา 1 ปีที่ศรีลังกา นอกจากเรื่องทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิถีชีวิตของคนที่นั่นแล้ว เขายังได้เรียนภาษาบาลีและสันสกฤตด้วย
จากศรีลังกาเขามาประเทศไทย สอนภาษาอังกฤษอยู่พักหนึ่ง พร้อมๆ กับเรียนภาษาไทยไปด้วย ต่อมาได้เข้ามาทํางานที่ธนาคารกรุงเทพ แรกเริ่มงานในตำแหน่งพนักงานแปลเอกสาร และได้ทําอยู่จนเกษียณอายุในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า จากนั้นจึงมาประจําที่ บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
เมื่อมาใช้ชีวิตในไทยได้ระยะหนึ่ง ไมเคิล ไรท์ก็โอนสัญชาติเป็นไทย โดยใช้ชื่อไทยว่า “เมฆ มณีวาจา”
ด้วยความรู้ในภาษาและวรรณคดีไทยจนถึงขั้นอ่านศิลาจารึกได้ ไมเคิล ไรท์เริ่มต้นเขียนบทความครั้งแรกเป็นภาษาไทยลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ (พฤศจิกายน 2522) บทความชิ้นนั้นเป็นการพิสูจน์เรื่อง “ส้วมในสมัยสุโขทัย” โดยเทียบโบราณวัตถุที่พบที่สุโขทัยกับส้วมในศรีลังกา
จากบทความชิ้นนั้น เขาก็เขียนเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงศิลปวัฒนธรรมติดต่อกันเรื่อยมา รวมถึงเขียนบทความลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
บทความจํานวนกว่าสองร้อยชิ้นเหล่านั้น ในปี 2541 และหลังจากนั้นมาได้ถูกคัดและนํามารวมเป็นเล่มในชุด ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดยสํานักพิมพ์มติชน
นอกจากนี้เขายังมีงานอื่นๆ อีก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม : วิธีอ่าน) จัดพิมพ์โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2526 และบทความภาษาอังกฤษจํานวนหนึ่งที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ The Nation และวารสารสยามสมาคม
งานของไมเคิล ไรท์ เป็นคุณูปการที่เขาสร้างไว้ให้กับสังคมไทย ซึ่งเป็นที่ตระหนักของผู้อ่านทั่วไปและนักวิชาการ ศัพท์คําหนึ่งที่เขาผูกขึ้น คือ “อุษาคเนย์” เพื่อใช้แทนที่คําว่า “เอเชียอาคเนย์” นั้น กลายเป็นคําที่ติดอยู่ในภาษาไทย และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทำให้เขาได้รับการเรียกขานว่า “ฝรั่งคลั่งสยาม” เนื่องจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย
จากผลงานเหล่านี้ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ยกย่องเป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา และเป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น โดยกระทรวงวัฒนธรรม
ไมเคิล ไรท์ อ่านและเขียนตลอดมา จนกระทั่งป่วยและถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ่านเพิ่มเติม :
- ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย
- ไขรหัสคำ “Museum” จากต้นเค้าภาษากรีก เหตุใดหมายถึงที่สถิตของเทพธิดาทั้งเก้า?
- ฝรั่งมองฝรั่ง และฝรั่งมองไทย มุมมองของไมเคิล ไรท์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2563